"บริษัทจอห์น แฮนค๊อก มิวชวล ไลฟ์ อินชัวรันส์" ชื่อนี้อาจยังไม่ค่อยคุ้นหูคนไทยเท่าไรนัก
หากแต่ในสหรัฐอเมริกาบริษัทนี้นับได้ว่าดังพอสมควรทีเดียว จากข้อมูลของนิตยสาร
"ฟอร์จูน อินเตอร์เนชั่นแนล" ฉบับวันที่ 9 มิถุนายน 1986 "จอห์น
แฮนค๊อก" มีสินทรัพย์ รวม 26,256.4 ล้านดอลล่าร์ มีทุนประกัน 158,973.2
ล้านดอลล่าร์ ในปี 1985 มีรายได้จากเบี้ยประกันและรายได้อื่น ๆ ถึง 2,351.1
ล้านดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา มีจำนวนพนักงานทั้งสิ้น 19,037 คน จัดอยู่ในอันดับที่
6 ของ 50 อันดับบริษัทประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา
"จอห์น แฮนค๊อก" ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2405 หรือประมาณ 124 ปีมาแล้ว
โดยคณะกรรมการร่างกฎหมายแห่งจักรภพแมสซาชูเซทส์ กำหนดให้มีลักษณะการดำเนินงานแบบ
MUTUAL LIFE INSURANCE COMPANY คือเป็นบริษัทรับประกันชีวิตที่ตั้งขึ้นโดยไม่มีการเรียกหุ้น
แต่จัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือของผู้เอาประกันไม่รับเงินปันผล บริษัทก็จะหักเงินจำนวนนั้นออกจากเบี้ยประกันให้เหลือน้อยลงตามสัดส่วน
กว่า 100 ปีที่ดำเนินกิจการมา "จอห์น แฮนค๊อก" ได้ขยายสาขาออกไปมากมายโดยมีสำนักงานใหญ่ที่อยู่ที่บอสตัน
กิจการที่ขยายออกไปนั้นมีลักษณะเป็น LOCAL BUSSINESS คือมีการเติบใหญ่อยู่แต่ภายใน
มิได้ขยับขยายออกมา ภายนอกสหรัฐอเมริกาเลยดังนั้นในปี 2528 "จอห์น แฮนค๊อก"
จึงได้เริ่มมองหาทำเลในภูมิภาคอื่นภายนอกสหรัฐอเมริกาเพื่อที่จะขยายออกมาตั้งสาขาเป็นฐานแก่การทำธุรกิจของบริษัทต่อไป
การสำรวจพิจารณาถึงความเหมาะสมของภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก "จอห์น แฮนค๊อก"
ก็เห็นว่าทำเลที่เหมาะสมที่จะไปลงทุนที่สุดขณะนี้คือภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
และประเทศที่มีความเหมาะสมที่สุดคืออินโดนีเซียและประเทศไทย...น่าภูมิใจไหมเล่า
"ทาง "จอห์น แฮนค๊อก" ได้พิจารณาอย่างละเอียดในทุก ๆ จุดแล้วก็มีความเชื่อมั่นว่าในอนาคตอีกประมาณ
20 ปี ธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทยจะมี PROTENTIAL สูงที่สุดในภูมิภาคต่าง
ๆ ทั่วโลก" นรฤทธิ์ โชติกเสถียร รองกรรมการผู้จัดการอาคเนย์ประกันภัย
ให้เหตุผลว่าทำไม "จอห์น แฮนค๊อก" จึงเลือกที่จะมาลงทุนในประเทศไทย
ซึ่งถ้าดูจากเหตุผลดังกล่าวก็น่าจะเป็นไปได้ เพราะจากตัวเลขล่าสุดในปี
2527 เปอร์เซนต์ของผู้ทำประกันชีวิต ในประเทศไทย ถ้าเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดแล้ว
มีอยู่เพียง 3.6 เปอร์เซนต์เท่านั้น ดังนั้นโอกาสที่จะขยายตลาดออกไปให้กว้างขวางขึ้นอีกในอนาคตจึงมีอยู่ค่อนข้างสูง
เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะมาลงทุนในประเทศไทย ขั้นตอนต่อไปคือการหาบริษัทที่จะเข้าไปร่วมทุนด้วยซึ่ง
"จอห์น แฮนค๊อก" มีหลักในการพิจารณาคือ
1. ต้องเป็นบริษัทประกันชีวิตที่ไม่ได้อยู่ในเครือของธนาคารใด
2. ต้องเป็นบริษัทของคนไทยไม่มีต่างชาติหนุนหลัง
3. มีผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจ
4. มีลักษณะการทำงานที่น่าจะเข้ากันได้ดีในระยะยาว
ในครั้งแรก "จอห์น แฮนค๊อก" ได้ติดต่อไปที่บริษัทเมืองไทยประกันชีวิตก่อน
แต่ถูกปฏิเสธ
"เราไม่คิดว่า เราจะมีความจำเป็นต้องเอาบริษัทต่างชาติเข้ามาอยู่ เพราะไม่มีเทคโนโลยีอะไร
เราไม่ใช่โรงงานผลิตสินค้า โพธิพงษ์ ล่ำซำ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการเมืองไทยประกันชีวิต
เคยให้สัมภาษณ์นิตยสารฉบับหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้
ตรงข้ามทางด้านอาคเนย์ประกันภัย คู่แข่งในอันดับสูสีกับเมืองไทยประกันชีวิต
จากตัวเลขล่าสุด ในปี 2527 บริษัทอาคเนย์ประกันภัยมีรายได้จากเบี้ยประกันรับจำนวน
254.6 ล้านบาท มีรายได้จากการลงทุนและรายได้อื่น ๆ อีก 76.8 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวม
789.8 ล้านบาท จัดอยู่ในอันดับที่ 5 ของบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย รองจากบริษัทเมืองไทยประกันชีวิตอยู่เพียงอันดับเดียว
และในปีเดียวกันนี้เองอาคเนย์ประกันภัยได้ออกแผนการดำเนินงานที่เรียกว่า
"แผนพัฒนา 5 ปี" เป็นแผนการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในด้านต่าง
ๆ ให้สูงยิ่งขึ้นเริ่มตั้งแต่การพัฒนาความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ด้านคอมพิวเตอร์
เพื่อนำมาช่วยระบบการขายและบริการหลังการขายให้คล่องตัวและรวดเร็วยิ่งขึ้น
การพัฒนาบุคลากรและการพัฒนาการให้บริการให้มีประสิทธิภาพ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะขยายส่วนแบ่งตลาดเบี้ยประกันชีวิต
จากปัจจุบันที่ครองอยู่ 6-7 เปอร์เซ็นต์ ให้เพิ่มขึ้นถึง 12.5 เปอร์เซ็นต์
ในปี พ.ศ. 2531
โดยเฉพาะการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์เพื่อที่จะ COMPUTERIZE ระบบงานทั้งหมดนั้น
ถือได้ว่าเป็นหัวใจของแผนดังกล่าวทีเดียวเพราะในสภาพตลาดที่มีการแข่งขันกันสูงเช่นนี้
อาคเนย์ประกันภัยคิดว่า ตนเองยังเสียเปรียบคู่แข่งในด้านดังกล่าวอยู่พอสมควร
ในเดือนสิงหาคม 2528 เมื่อ "จอห์น แฮนค๊อก" ซึ่งเพิ่งถูกปฏิเสธมาจากเมื่องไทยประกันชีวิตติดต่อทาบทามขอเข้าร่วมทุนด้วย
จึงเป็นโอกาสอันดีที่อาคเนย์ประกันภัยไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะหากว่าอาคเนย์ประกันภัยได้เทคโนโลยีที่
"จอห์น แฮนค๊อก" ได้ใช้ระยะเวลาพัฒนามากว่า 100 ปี มาประยุกต์ใช้แล้ว
ก็จะเป็นการร่นระยะเวลาทำให้อาคเนย์ประกันภัยเติบโตจนบรรลุเป้าหมายได้เร็วกว่าที่คิดไว้อย่างแน่นอนที่สุด
"สิ่งที่เราคิดว่าจะได้จากเขาก็คือ การพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ การฝึกอบรมพนักงานและการพัฒนาประสิทธิภาพการขายซึ่งความจริงเทคโนโลยีเหล่านี้เราก็สามารถพัฒนาได้เอง
แต่มันจะต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะพัฒนาได้เท่าเขา สู้นำเทคโนโลยีที่เขาพัฒนาแล้วมาประยุกต์ใช้จะดีกว่า
จะช่วยประหยัดเวลาได้มากซึ่งเรื่องเวลานี้ในทางธุรกิจ เราถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด"
นรฤทธิ์ โชติกเสถียร บอกกับ "ผู้จัดการ"
อย่างไรก็ตาม การที่จะให้บริษัทต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในอาคเนย์ประกันภัยซึ่งเป็นบริษัทของคนไทยแท้
ๆ และมีอายุการดำเนินงานมาถึง 40 ปีนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะพูดคุยตกลงกันง่าย
ๆ เพราะถึงแม้ว่าเป้าหมายของทั้งสองฝ่ายจะเอื้ออำนวยและเป็นผลดีต่อกันก็ตาม
เงื่อนไขต่าง ๆ ที่แต่ละฝ่ายเสนอจะต้องให้มีการพิจารณากันอย่างละเอียดรัดกุมที่สุด
ดังนั้นในช่วงระยะเวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา จึงเป็นเวลาที่ทุกฝ่ายใช้ไปกับการปรับเงื่อนไขให้เข้ากันได้มากที่สุด
"ทุกสิ่งทุกอย่างคาดว่าภายในสิ้นปีนี้คงจะรู้ผล" นรฤทธิ์ สรุป
ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีบริษัทประกันชีวิตอยู่ทั้งสิ้น 12 บริษัท เป็นสาขาของบริษัทต่างประเทศอยู่เพียง
1 บริษัท คือบริษัทอเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล แอสชัวรันส์ จำกัดหรือ เอไอเอและมีบริษัทที่เคยเป็นสาขาของบริษัทต่างประเทศอยู่อีก
1 บริษัทคือ บริษัทไชน่าอันเดอร์ไรท์เตอร์ไลฟ์แอนด์เยเนรัลอินชัวรันส์ จำกัด
แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นในตอนกลางปี 2527 ทำให้มีคนไทยถือหุ้นเกินร้อยละ
50 ดังนั้นบริษัทนี้จึงกลายเป็นบริษัทของคนไทยนอกจากนี้ที่เหลืออีก 10 บริษัทเป็นบริษัทประกันชีวิตของคนไทยไม่มีบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศมีส่วนถือหุ้นอยู่เลย
ส่วนอาคเนย์ฯ นั้น ปัจจุบันอยู่ในอันดับ 4 ของธุรกิจประกันชีวิต ที่เป็นบริษัทของคนไทย
คือเป็นรอง ไทยประกันชีวิต, ไทยสมุทรฯ และเมืองไทยประกันชีวิต
อาคเนย์ฯ หมายมั่นปั้นมือมากที่จะขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่สูงขึ้น และจังหวะก้าวของความพยายามที่จะผสมผสานกับยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ
คราวนี้ก็เพื่อเป้าหมายดังกล่าวด้วย