แนววิชาธรรมกายนั้นอุบัติขึ้นที่วัดปากน้ำภาษีเจริญมากว่า 60 ปีแล้ว เริ่มต้นจากผู้สนใจศึกษาธรรมในวงแคบ
ขยายตัวอย่างเชื่องช้า แต่มาเฟื่องฟูอย่างก้าวกระโดดในยุคของวัดพระธรรมกายที่คลองสาม
ปทุมธานี หลายคนให้ข้อสรุปว่าเบื้องหลังความเฟื่องฟูนี้คือการเสนอสัจธรรมตามแนวทางการจัดการแผนใหม่
อาจจะเรียกว่าเป็นศาสดายุคไฮเท็คฯ ก็คงจะได้
"ธรรมกายหรือพระธรรมกาย คือพระที่อยู่ในกายของเรา ของมนุษย์ทุกคนในโลก
เป็นกายตรัสรู้ธรรม เป็นกายที่เปลี่ยนแปลงพระสิทธัตถะราชกุมารให้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพราะท่านตรัสรู้อริยสัจ 4 สัจธรรมทั้งหลายด้วยธรรมกายของพระองค์ท่าน แล้วในที่สุดท่านก็นำธรรมกายไปเผยแพร่ยังสาวกทั้งหลาย…"
หลวงพ่อธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เทศนาถึงแนวทาง "ธรรมกาย"
อันลือลั่นของท่าน
ขยายความมากขึ้น การบรรลุธรรมนั้น ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติ มิใช่การศึกษาเรียนรู้จากตำราหรือฟังธรรมสถานเดียว
เพราะ "นั่นแค่รู้จำ ไม่ใช่รู้แจ้ง การที่เราจะรู้แจ้งเห็นแจ้ง ต้องอาศัยธรรมกายที่อยู่ภายในตัว
เป็นกายที่ละเอียดที่สุด สวยงามที่สุด สมบูรณ์ด้วยสติปัญญา เรารู้จำด้วยกายมนุษย์
รู้แจ้งด้วยธรรมกาย…" หลวงพ่อธัมมชโยเทศนาอีกตอนหนึ่ง พร้อมกำชับว่า
"พระธรรมกายนี้มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกๆ คน เป็นแต่เพียงว่าคนทั่วไปไม่รู้หนทางที่จะเข้าถึง
ยกเว้นพระพุทธเจ้า"
และต้องนับเป็นบุญกุศลของมวลมนุษย์โลกที่การค้นพบหนทางเข้าถึงพระธรรมกายไม่สูญหายไปกับกาลเวลานานนับกว่า
25 ศตวรรษ
จากวัดปากน้ำภาษีเจริญมาสู่วัดพระธรรมกาย
จากพระเทพมงคลมุนีหรือหลวงพ่อวัดปากน้ำมาสู่หลวงพ่อธัมมชโย ภิกขุ การค้นพบหนทางเข้าถึงพระธรรมกายนี้แพร่กระจายด้วยวิธีที่สามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็วกว่าทุกๆ
วิธี (หลวงพ่อธัมมชโยยืนยัน)
"วิธีการเข้าถึงมีอยู่ทั้งหมดถึง 40 วิธีการ เพียงแต่วิธีที่หลวงพ่อปฏิบัติจะเข้าถึงได้เร็ว
เพราะทราบว่าพระธรรมกายอยู่ตรงไหน หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านทราบว่าธรรมกายอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่
7 (กึ่งกลางกายเหนือสะดือขึ้นมา 2 นิ้วมือ) เพราะฉะนั้นเวลาที่ท่านปฏิบัติ
ท่านจะเอาใจของท่านไปไว้ที่ตรงนั้นเลย วิธีการอื่นนั้นน่ะเข้ายังไม่ถึง เพราะไม่ทราบว่าธรรมกายอยู่ตรงไหน
จะวางใจไว้อย่างไร เวลาปฏิบัติไปเรื่อยๆ แล้วจึงไม่ทราบว่าจะเข้าถึงอย่างไร
พอเข้าไปถึงก็เลยไม่รู้จักธรรมกาย หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านผ่านการอบรมฝึกฝนครบทุกวิธีการมาแล้ว
และท่านก็มาสรุปว่าหนทางที่จะเข้าถึงมีวิธีเดียวใน 40 วิธีการ มีหนทางเดียวเท่านั้น…คือใจตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่
7…"
และนั่นเป็นการค้นพบของหลวงพ่อวัดปากน้ำที่เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายได้นำมาเผยแพร่
ว่าตามทัศนะเช่นนี้ "ธรรมกาย" ก็ไม่ใช่สิ่งใหม่
เป็นสิ่งที่ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อกว่า 2530 ปีมาแล้วโดยตถาคต เพียงแต่เกือบต้องสูญหายไปหากหลวงพ่อวัดปากน้ำไม่ได้ค้นพบเข้า
และการค้นพบสิ่งที่ตถาคตค้นพบนี้กลายเป็นแนววิชาของวัดปากน้ำภาษีเจริญมาตั้งแต่ราวๆ
ปี 2460 ท่ามกลางพุทธศาสนิกชนจำนวนจำกัดที่ให้ความสนใจ
ธรรมกายลือลั่นสนั่นไปทั้งเมืองเมื่อไปกี่ปีมานี้เอง
อาจจะเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่จริงๆ
เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสิ่งที่เป็นการค้นพบเก่าแก่โดยแท้
วัดพระธรรมกายทุกวันนี้ตั้งตระหง่านอยู่บนผืนที่ดินกว่า 2,000 ไร่บริเวณคลองสาม
จังหวัดปทุมธานี สิ่งปลูกสร้างตลอดจนการพัฒนาพื้นที่ให้มีสภาพร่มรื่นเหมาะแก่การเป็น
"ธุดงคสถาน" นั้นใช้เงินหว่านลงไปแล้วกว่า 200 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายประจำวันไม่น้อยกว่าเดือนละ
10 ล้าน และเฉพาะคนงานที่ต้องมีหน้าที่ดูแลบำรุงรักษาทุกตารางนิ้วของวัดต้องใช้อย่างน้อยวันละ
70 คน
รายได้นั้นมาจากทางเดียวคือการบริจาคของผู้มีจิตศรัทธา
"เดือนหนึ่งประมาณ 15 ล้านบาท ก็ถ้าไม่ได้ เราก็อยู่ไม่ได้…"
ธรรมทายาทรายหนึ่งกล่าว
"การสนับสนุนของผู้มีจิตศรัทธาต่อวัดธรรมกาย เป็นไปอย่างไม่น่าเชื่อ
บางรายบริจาคนับล้านบาท อย่างเช่นคุณประวาท บุนนาค ที่หนังสือกัลยาณมิตรของมูลนิธิธรรมกายฉบับเดือนกุมภาพันธ์ยกย่องให้เป็น
มหาอุบาสิกาตัวอย่างของโลก ได้ถวายเงินแก่หลวงพ่อเพื่อกิจการพระศาสนา ตั้งแต่ปี
2525 เป็นต้นมา ปีละ 1 ล้านบาท ไม่รวมครั้งย่อยๆ อีกครั้งละเป็นแสนสองแสน
นอกจากนั้นยังมีรายการพิเศษเมื่อปี 2526 ที่ท่านผู้นี้บริจาคอีก 10 ล้านบาทต่างหาก…"
ผู้มีจิตศรัทธาต่อวัดธรรมกายหลายรายกล่าวตรงกัน
และอีกมาก ฯลฯ
แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าสิ่งที่เจิดจรัสในทุกวันนี้จะมาจากประกายไฟเล็กๆ เมื่อย้อนกลับไปกว่า
10 ปีที่แล้ว
ธัมมชโย ภิกขุ ทัตตชีโวภิกขุ อุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง และผู้เลื่อมใสแนวทางธรรมกายอีกเพียงไม่กี่รายคือประกายไฟเล็กๆ
ที่กล่าวนั้น
ธัมมชโยภิกขุ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เมื่อเป็นฆราวาสมีนามว่า ไชยบูลย์
สุทธิผล เกิดที่ตำบลบ้านแป้ง อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี แล้วไปโตที่เพชรบุรี
เข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุได้ 7 ขวบ โดยเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนตะละภัฏศึกษาและโรงเรียนสตรีวรนารถ
กลับเพชรบุรีไปเรียนชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนอรุณประดิษฐ์ ย้ายมาต่อที่โรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัยที่บ้านโป่งราชบุรี
จนจบมอศอ 3 จากนั้นเข้าต่อระดับเตรียมอุดมที่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ
ไชยบูลย์ สุทธิผล เรียนระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มจากคณะเกษตรฯ
แล้วย้ายมาที่คณะเศรษฐศาสตร์ จนสำเร็จเป็นเศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ไชยบูลย์เริ่มสนใจทางธรรมมาตั้งแต่เล็กแล้ว
"จำได้ว่าตอนนั้นอายุ 13 ขวบ ได้จดบันทึกไว้ว่า ถ้าเรามาทางโลก ก็อยากจะไปให้สูงที่สุดในทางโลก
ถ้าหากว่าอยู่ในทางธรรมก็อยากจะไปให้สูงที่สุดในทางธรรม และก็จะนำพุทธศาสนาไปเผยแพร่ทั่วโลก
ช่วงนั้นมีความคิดอยู่อย่างหนึ่งว่า เราเกิดมาทำไม และเราจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร
แสวงหาคำตอบอยู่ตลอดเวลา ในระหว่างนั้นก็ค้นคว้าศึกษาตำรับตำรา ถามท่านผู้รู้
แต่ก็ยังไม่พบใครหรือคำตอบที่ถูกใจ จนกระทั่งมาพบคุณยาย…" ธัมมชโยภิกขุช่วยย้อนอดีต
"คุณยาย" นั้นหมายถึงอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง
อุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง เป็นศิษย์คนสำคัญในวิชาธรรมกายของพระเทพมงคลมุนีหรือหลวงพ่อวัดปากน้ำ
พื้นเพเดิมเป็นคนนครไชยศรี เริ่มศึกษาวิชาธรรมกายกับหลวงพ่อวัดปากน้ำตั้งแต่ปี
2486 โดยมาอาศัยอยู่ในวัดและสละฆราวาสวิสัยถือบวชเป็นอุบาสิกาเมื่ออายุ 29
กล่าวกันว่าก่อนหลวงพ่อวัดปากน้ำจะมรณะภาพ (เมื่อปี 2502) นั้น หลวงพ่อเคยเปล่งวาจายกย่องอุบาสิกาจันทร์ว่า
"ลูกจันทร์นี้หนึ่งไม่มีสอง" และอุบาสิกาผู้นี้เองที่ช่วยให้คำตอบกับไชยบูลย์
สุทธิผล "ท่านบอกว่าเราเกิดมาสร้างบารมี…เกิดมาแสวงหาหนทางนิพพาน พระนิพพานคือเป้าหมายของชีวิต"
เป็นคำตอบที่สามารถชักจูงใจจนไชยบูลย์ สุทธิผล ต้องศึกษาแนวทางธรรมกายอย่างต่อเนื่องนับแต่นั้น
ภายหลังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไชยบูลย์ก็ตัดสินใจบวชเป็นบรรพชิต
"ตรงกับวันที่ 27 สิงหาคม 2512 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 มีท่านเจ้าคุณธรรมธีระราชย์มหามณี
เจ้าอาวาสวัดปากน้ำเป็นพระอุปัชฌาย์" ไชยบูลย์ที่กลายเป็นธัมมชโยภิกขุไปแล้วกล่าว
ส่วนทัตตชีโวภิกขุที่ขณะนี้เป็นรองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เดิมชื่อ เผด็จ
ผ่องสวัสดิ์ เป็นอดีตนักศึกษาเกษตรรุ่นพี่ของธัมมชโยภิกขุที่สนใจแนวทางธรรมกายเหมือนๆ
กัน
ธัมมชโยภิกขุ ทัตตชีโวภิกขุ อุบาสิกาจันทร์ และผู้เลื่อมใสแนวทางธรรมกายนี้
ที่จริงต่างคิดถึงการแยกตัวเองออกมาจากวัดปากน้ำนานแล้ว "เรื่องมันเป็นอย่างนี้นะ
ตอนสมัยนั้น พอหลวงพ่อพบกับคุณยายครั้งแรกแล้วปฏิบัติธรรมมาเรื่อยๆ เป้าหมายชีวิตก็คิดว่าจะบวชตลอดชีวิตภายหลังจบการศึกษา
คุณยายท่านก็คิดอยู่ในใจว่า…งั้นก็ต้องมีสถานที่สักแห่งหนึ่ง ไม่ใช่ที่วัดปากน้ำ
ควรเป็นสถานที่ไปมาสะดวกแล้วก้อวิเวก ไม่ห่างไกลเมืองมากนัก สามารถอยู่ปฏิบัติธรรม
ก็คิดจะแสวงหาที่ตั้งแต่นั้นเรื่อยมา" ธัมมชโยภิกขุกล่าวกับผู้สื่อข่าวโดยบอกด้วยว่าเริ่มคิดถึงสถานที่บำเพ็ญภาวนาแห่งใหม่ตั้งแต่อายุ
18
และวันที่ 2 ตุลาคม 2512 ภายหลังการลาเพศฆราวาสของธัมมชโยภิกขุเพียงไม่กี่เดือน
ดูเหมือนจะเป็นวันที่แจ่มใสเป็นพิเศษ
วันนั้นเป็นวันที่คุณหญิงประหยัด แพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี บริจาคที่ดินจำนวน
196 ไร่ให้เพื่อสร้างวัดที่ปัจจุบันนี้คือส่วนหนึ่งของวัดพระธรรมกาย "พอดีเป็นวันเกิดของท่านเจ้าของที่
ผู้ที่ไปขอก็มีอาจารย์ถวิล วัติรางกูล คุณเผด็จ ผ่องสวัสดิ์หรือทัตตชีโว
ภิกขุ และคุณอดิศักดิ์หรือวิริยสักโกภิกขุ…" ผู้ที่ทราบความเป็นมาเล่าให้ฟัง
ที่ดินที่ได้รับบริจาคนี้ค่อยๆ ถูกพัฒนาขึ้นตามลำดับ ในปี 2518 ก็เริ่มต้นใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญภาวนาโดยเป็นสำนักสงฆ์ก่อน
จากนั้นจึงยกฐานะเป็นวัด ใช้ชื่อครั้งแรกว่า วัดวรณีธรรมกายาราม ตามชื่อบุตรสาวเจ้าของที่ดิน
และอีก 3 ปีให้หลังเปลี่ยนชื่อเป็นวัดพระธรรมกายด้วยเหตุผล "เพื่อความเหมาะสม"
จากปี 2518 กระทั่งปี 2525 นั้น ทุกอย่างดำเนินไปอย่างเชื่องช้าค่อยเป็นค่อยไปสำหรับวัดแห่งนี้
เช่นเดียวกับที่แนวทางธรรมกายยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก คงศึกษาปฏิบัติกันในหมู่ผู้สนใจธรรมะจริงๆ
ปี 2525 นั้นเป็นปีเดียวกับที่โบสถ์หรือพระอุโบสถรูปทรงแปลกตาสร้างเสร็จสมบูรณ์
ภายหลังสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ เสด็จแทนพระองค์เพื่อทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่
24 ธันวาคม 2520 และประกอบพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2523 ไปแล้ว
นับแต่ปี 2525 มานี้เองที่วัดพระธรรมกายและแนวทางธรรมกายเฟื่องฟูเข้าไปเกือบทุกอนูของกลุ่มของคนชนิดก้าวกระโดด
มีหลายคนที่เปรียบเทียบอย่างดุดันถึงการขยายตัวก้าวกระโดดของธรรมกายว่าเป็นการเสนอสินค้า
(หมายถึงธรรมของพุทธองค์) ต่อมหาชนแบบพลิกกลยุทธ์ที่ลดความดุดันลงบ้างก็ระบุว่าแนวทางธรรมกายนั้นที่แพร่หลายกว้างขวางก็เพราะเผยแพร่ด้วยวิธีใหม่ไม่ยึดติดรูปแบบเก่าๆ
และข้อวิจารณ์อีกหลายแง่มุมที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเติบโตของจำนวนผู้เลื่อมใสแนวทางธรรมกายจากเพียงจำนวนพันกลายเป็นจำนวนหมื่นและเป็นจำนวนแสน
ขณะที่เป้าหมายเฉพาะหน้าที่หลวงพ่อธัมมชโยตั้งไว้ในเร็ววันนี้คือ 1 ล้านคนไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป
"เราไม่ได้บิดเบือนสัจธรรมของพุทธองค์ และถ้าแนวทางการเผยแพร่ของเราแตกต่างไปจากที่เผยแพร่กันในอดีต
นั่นก็คงไม่ใช่สิ่งผิด พระธรรมสามารถเผยแพร่ออกไปได้อย่างกว้างขวาง ทำให้คนมีใจที่สงบ
ใฝ่สันติ ไม่ใช่สิ่งที่ผิดแน่นอน…" ธรรมทายาทผู้หนึ่งชี้แจงกับ "ผู้จัดการ"
สำหรับผู้เลื่อมใสแล้วบางทีสิ่งที่ได้ทำไปแล้วนี้ต้องนับเป็นความกล้าหาญชาญชัยด้วยซ้ำ
ธรรมกายนั้นขยายตัวทุกขั้นตอนอย่างมีเป้าหมายที่เด่นชัด
"จำนวนสูงสุดของผู้มาปฏิบัติธรรมนั้นถึงแสนคนไปแล้ว ค่อยๆ เพิ่มจากทีละ
5 เท่าเป็น 10 เท่า และจากแสนคนเป็น 1 ล้านคนนี้คือเป้าหมายต่อไป ก็เพิ่มอีก
10 เท่า…" ธัมมชโยภิกขุบอกกับผู้สื่อข่าว
มีคำถามอยู่ว่าทำไมต้องมีจำนวนเป็น 1 ล้านคนเฉพาะหน้านี้?
"หลวงพ่อคิดว่าพุทธศาสนาเป็นของดีแต่ว่าคนไม่ค่อยได้สนใจ ก็ต้องเกิดจากการรวมพลังหมู่ให้เกิดขึ้น
ด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรม อย่างน้อยหนึ่งล้านคน ภาพคนหนึ่งล้านคนที่มาปักกลด
อยู่ธุดงค์ ประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกัน แต่งสีขาวเหมือนกัน มันให้ความประทับใจ
และก็มีพลังต่อคนทั้งชาติ 50 ล้านคน พอเห็นแล้วเกิดความตื่นตัว ถ้าน้อยกว่าล้านคนจะไม่มีผล
เหมือนอย่างเราเห็นภาพการชุมนุมของมุสลิมที่เมกกะ คนตั้งเป็นล้านคน เห็นแล้วเรายังเกิดความประทับใจเลย
ถึงแม้เป็นศาสนิกอื่นก็ตาม แล้วมุสลิมที่มาชุมนุมกันนั้นก็สร้างพลังให้เกิดขึ้นแก่มุสลิมทั่วโลก…มันก็ตื่นตัว"
และเบื้องหลังของเป้าหมายแต่ละขั้นตอนนี้ก็คือการทำงานกันอย่างมีแผนงาน
โดยเฉพาะผู้ที่จะต้องทำหน้าที่เผยแพร่แนวทางธรรมกายเป็นสิ่งแรกสุดที่วัดพระธรรมกายตระหนักมากๆ
"ถ้าเรายอมรับกันว่ากลุ่มปัญญาชนวัยหนุ่มสาวนั้นคือกลุ่มที่มีพลังเร่าร้อนชอบแสวงหาและพร้อมที่จะเสียสละทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างสุดชีวิตแล้ว
การตัดสินใจของธรรมกายย้อนหลังกลับไปเมื่อหลายปีที่แล้วนั้น ต้องนับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องและส่งผลถึงปัจจุบันอย่างยิ่ง"
ผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มธรรมกายมาตั้งแต่ต้นเล่าให้ฟัง
ก่อนหน้าปี 2525 ธรรมกายพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะเข้าไปมีบทบาทในชมรมพุทธฯ
ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ และโครงการธรรมทายาทที่มีนิสิตนักศึกษาปลงผมถือบวชก็ตามมาไม่นานช้าหลังจากนั้น
ธรรมทายาทเหล่านี้เองที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการเติบโตขั้นต่อๆ มา
"หากเป็นบริษัท พวกเขาก็คือสต๊าฟฝ่ายขายที่ทำงานเข้มแข็งมาก"
บางคนเปรียบเทียบ
สำหรับกลุ่มปัญญาชนในรั้วมหาวิทยาลัยที่ศรัทธาแนวทางธรรมกายแล้ว ศูนย์กลางของพวกเขาก็คือ
"บ้านหนูแก้ว" สำนักงานสาขาส่วนหนึ่งของธรรมกายที่ตั้งอยู่แถวๆ
สีลม
"บ้านหนูแก้ว" ก่อตั้งขึ้นโดยศิษย์ธรรมกายคนสำคัญที่ชื่อ เสาวลักษณ์
เปี่ยมปิติ อาจารย์ประจำของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กล่าวกันว่าอาจารย์เสาวลักษณ์ผู้นี้เป็นเรี่ยวแรงสำคัญที่นำแนวทางธรรมกายเข้ายึดกุมนักกิจกรรมชมรมพุทธฯ
ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ และเป็นที่ทราบทั่วกันว่าโครงการธรรมทายาทนั้นเป็นโครงการที่ริเริ่มขึ้นจาก
"บ้านหนูแก้ว"
"บ้านหนูแก้ว" ในปัจจุบันนี้ยังคงทำหน้าที่เป็นแกนกลางประสานงานกลุ่มปัญญาชนอยู่อย่างเอาการเอางาน
แม้ว่าพัฒนาการอีกขั้นของธรรมกายจะได้มีการก่อตั้งกลุ่มกัลยาณมิตรให้เป็นแหล่งรวมของผู้ใฝ่ใจศึกษาและเผยแพร่ธรรมกายในวงกว้างแล้วก็ตาม
"ปัจจุบันบทบาทส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่กัลยาณมิตร บ้านหนูแก้วก็ยังมีอยู่เรียกว่าต่างฝ่ายต่างแข่งกันทำความดี
และแบ่งกัน คือบ้านหนูแก้วดูทางด้านนิสิตนักศึกษา ส่วนกัลยาณมิตรดูทุกกลุ่มชนทั่วประเทศ"
กัลยาณมิตรหรือผู้ที่จะต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงผู้ต้องการปฏิบัติธรรมตามแนวทางธรรมกายรายหนึ่งบอก
ก็มีเสียงกล่าวถึงเหมือนกันว่า ธรรมกายนั้นเติบโตถึงขั้นที่หากจะต้องโตต่อไปแล้วก็จะต้องมี
"สต๊าฟ" ที่มีลักษณะประจำมิใช่ทำหน้าที่เสมือนอาสาสมัครอีกต่อไป
สำนักงานกัลยาณมิตรตั้งอยู่ที่อาคารสมาคมนิสิตเก่าเกษตรฯ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นแกนนำนั้นมาจากหลายสาขาอาชีพ
และประสบการณ์ของหลายคนถูกนำมาใช้อย่างได้ประโยชน์และสอดคล้องกับกลุ่มคนชั้นกลางในสังคมอย่างเห็นได้ชัด
วัดธรรมกายนั้นไม่มีกิจกรรมในวันพระมานานแล้ว ที่นี่มีกิจกรรมในวันอาทิตย์ด้วยเหตุผลที่เป็นวันหยุด
ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถขึ้นรถที่วัดจัดไว้หลายจุดมาที่วัดได้โดยไม่ติดขัด
มีการรณรงค์ในช่วงวันสำคัญทางศาสนาอย่างต่อเนื่องเพียบพร้อมด้วยโปสเตอร์เอกสารชี้แจงชวนเชิญที่ประณีต
มีสื่อกลางเป็นหนังสือรายเดือนชื่อ "กัลยาณมิตร" บอกเล่าถึงความเคลื่อนไหวของมวลสมาชิกพร้อมกับเผยแพร่แนวทางธรรมกายไปด้วย
และนี่อาจจะเป็นโฉมหน้าใหม่ของการเผยแพร่พุทธศาสนาภายหลังรูปแบบเก่ายึดติดกันมานานนักหนาแล้ว