|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
สินค้าดาหน้าขึ้นราคา ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ สินค้าเกษตร ดันเงินเฟ้อก.พ. พุ่งพรวด 3.7% เพิ่มขึ้น5 เดือนติดต่อกัน “พาณิชย์” ฟุ้งเศรษฐกิจฟื้นตัว กำลังซื้อคืนชีพ คนกล้าจับจ่ายใช้สอย เล็งขอความร่วมมือตรึงราคาสินค้าต่อ สกัดเงินเฟ้อขยับแรง หลังเศรษฐกิจฟื้น ส่งออกดี สินค้าเกษตรราคาขึ้น
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนก.พ.2553 ที่สำรวจจากสินค้าและบริการ 417 รายการ เพิ่มขึ้น 3.7% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.2552 เป็นการเพิ่ม 5 เดือนติดต่อกัน และเมื่อเทียบกับเดือนม.ค.2553 เพิ่มขึ้น 0.56% ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 2 เดือนระหว่าง ม.ค.-ก.พ.2553 เพิ่มขึ้น 3.9% สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และกำลังซื้อจากภาคประชาชนที่กลับมาเป็นบวก
ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนก.พ.เมื่อเทียบปีต่อปีเพิ่มขึ้น มาจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่ม 5.1% สินค้าสำคัญที่เพิ่ม ได้แก่ ข้าวและผลิตภัณฑ์ทำจากแป้ง เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่สัตว์น้ำเพิ่ม ผัก ผลไม้ ไข่และผลิตภัณฑ์นม อาหารสำเร็จรูป รวมถึงดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 7.7% ได้แก่ ยานพาหนะ น้ำมันเชื้อเพลิง กระแสไฟฟ้า น้ำประปา ค่ายาเวชภัณฑ์ และค่ารักษาพยาบาล ผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกฮอล์ ส่วนสินค้าที่ลดลงมีเพียงเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า หมวดการบันเทิงการศึกษาและการศาสนา
ส่วนปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนม.ค.2553 มาจากราคาสินค้าและบริการปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 1.39% สินค้ารายการสำคัญ ได้แก่ เนื้อสุกร เป็นผลจากอากาศร้อนทำให้หมูน้ำหนักลดลงจึงปริมาณออกสู่ตลาดน้อย รวมถึงผัก ผลไม้ ไก่สด ข้าวสาร ไข่ ผลิตภัณฑ์นม ปลาและสัตว์น้ำ ขณะที่สินค้าราคาลดลง ได้แก่ อาหารสด นมข้นหวาน นมผง นมเปรี้ยว นมถั่วเหลือง
ขณะที่ดัชนีหมวดอื่นไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มปรับตัวขึ้น 0.07% เป็นผลจากราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน และดีเซลเพิ่ม รวมทั้งค่ายานพาหนะ เครื่องดื่มมีแอลกอฮอลล์ ค่าใช้จ่ายสินค้าส่วนบุคคล เช่น ยาสีฟัน ครีมนวดผม กระดาษชำระ ผงซักฟอก ขณะที่สินค้าลดลง ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง เครื่องรับอุปกรณ์สื่อสาร โทรศัพท์มือถือ
“ภาวะเงินเฟ้อเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ประชาชนมั่นใจในรายได้ของตนเองมากขึ้น ประกอบกับค่าครองชีพยังอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก แม้สินค้ากลุ่มอาหารจะเพิ่มขึ้นก็ตาม ส่งผลให้คนกล้ากลับมาจับจ่ายใช้สอยอีกครั้ง ขณะที่ผู้ผลิตมีแรงจูงใจผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาด และอาจเกิดการจ้างงานเพิ่มเติม ส่วนการทำงานภาครัฐควรเน้นใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบประมาณไทยเข้มแข็งให้ได้ตามแผน โดยนโยบายดอกเบี้ยเชื่อว่ายังไม่น่ามีการปรับในไตรมาสแรก”
นายยรรยงกล่าวว่า แม้เงินเฟ้อ 2 เดือนแรกสูงถึง 3.9% เกินเป้าหมายปี 2553 ที่ตั้งไว้ 3-3.5% แต่เชื่อว่าค่าเฉลี่ยทั้งปีทำตามได้เป้าหมายแน่นอน โดยเงินเฟ้อมี.ค. มีโอกาสปรับตัวบวกอยู่ และไตรมาสแรกจะเฉลี่ยที่ 3.7% แต่หลังจากนั้นจะค่อยปรับลดลงจนเท่ากับที่คาดการณ์เอาไว้ โดยมีสมมติฐานราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 31-33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และรัฐบาลคงมาตรการลดค่าครองชีพต่อไป แต่ยอมรับว่า การชุมนุมทางการเมืองที่จะเกิดขึ้น รวมถึงความผันผวนของราคาน้ำมัน หากรุนแรงก็ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อได้
“จะดูแลเงินเฟ้อไม่ให้สูงกว่าเป้า โดยขอความร่วมมือให้ภาคเอกชนตรึงราคาสินค้า 3 เดือน ถ้าต้นทุนยังไม่เพิ่มขึ้น ก็ขอให้ตรึงราคาต่อไปถึงไตรมาสสองปีนี้ โดยแนวโน้มเงินเฟ้ออนาคตขึ้นมีปัจจัยบวก จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกที่เร็วกว่าคาดการณ์ไว้ ยอดส่งออกและราคาสินค้าเกษตรที่ขยายตัวดีขึ้น รวมถึงการใช้งบไทยเข้มแข็ง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงมาจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นใช้จ่ายของประชาชน รวมถึงบางอุตสาหกรรมเริ่มขาดแคลนแรงงาน”นายยรรยงกล่าว
ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 300 รายการ หักกลุ่มอาหารสดและพลังงาน 117 รายการ เดือน ก.พ.2553 เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับก.พ.2552 และเพิ่มขึ้น 0.02% เมื่อเทียบกับเดือนม.ค.2553 มีสาเหตุจากราคาสินค้าสูงขึ้นและลดลงใกล้เคียงกัน โดยสินค้าที่เพิ่ม เช่น ยานพาหนะ เครื่องดื่มมีแอลกอฮอลล์ ของใช้ส่วนบุคคล สินค้าราคาลดลง ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง เครื่องถวายพระ และอุปกรณ์การสื่อสาร
|
|
|
|
|