ในปัจจุบันสงครามทางการค้าระหว่างประเทศกำลังทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ
สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศผู้นำอันดับหนึ่งทางเศรษฐกิจของโลกเสรี ต้องประสบกับวิกฤตการณ์การขาดดุลการค้าอย่างมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศญี่ปุ่น
ขณะที่ญี่ปุ่นมหาอำนาจสำคัญทางเศรษฐกิจก็เกิดปรากฏการณ์เงินเยนแข็งตัว ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวทางเศรษฐกิจขนานใหญ่
พร้อมกับการขยายการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เป็นโฉมหน้าใหม่ที่แตกต่างจากการลงทุนในศตวรรษที่แล้วมาอย่างน่าสนใจ
การลงทุนของญี่ปุ่นในทศวรรษ 1980 เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าตัวอย่างรวดเร็วจากช่วง
1970 ซึ่งการลงทุนโดยเฉลี่ยแต่ละปีจะมีประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์ แต่ในปี 1981
มีการลงทุนถึง 8.9 พันล้านดอลลาร์ และในปี 1984 สูงขึ้นในระดับ 10 พันล้านดอลลาร์
ทั้งนี้เพราะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมเพื่อแก้ปัญหาดุลการค้ากับประเทศคู่ค้า
ลักษณะการลงทุนของญี่ปุ่นในปัจจุบันและทศวรรษหน้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก
โดยมีเป้าหมายเพื่อบรรเทาความขัดแย้งทางการค้าทั้งกับประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา
และเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ค่าเงินเยนสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
การที่ค่าเงินเยนสูงขึ้น ทำให้การผลิตภายในญี่ปุ่นมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมาก
เพราะวัตถุดิบต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ค่าแรงงานสูงขึ้น ตลอดจนการขยายกำลังการผลิตมีขีดจำกัดเพราะค่าที่ดินแพงขึ้นและสถานที่ขยายกำลังการผลิตน้อยลง
ดังนั้นอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดย่อม จึงทยอยกันออกมาหาแหล่งผลิตที่ต้นทุนถูกกว่า
ซึ่งก็สอดคล้องกับความต้องการของประเทศคู่ค้าที่เรียกร้องให้ญี่ปุ่นไปลงทุนในประเทศตัวเองมากขึ้น
โดยมักจะตั้งกำแพงภาษีสำหรับสินค้าสำเร็จรูปและมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ
ดูเหมือนยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา
จะมุ่งไปที่การผลิตเพื่อการส่งออกเหมือนๆ กัน
ญี่ปุ่นจึงมีช่องทางเลือกหลายประการในการมาลงทุน อาจจะไปลงที่ยุโรป เอเชีย
หรืออเมริกา ที่ผ่านมาเขาก็จะลงทุนในส่วนที่สามารถหากำไรสูงสุด
ปัญหาที่ตามมาคือ ญี่ปุ่นจะเลือกมาลงทุนในไทยหรือไม่? และการลงทุนจากญี่ปุ่นจะช่วยให้เราพัฒนาเศรษฐกิจได้จริงหรือ?
ในความเห็นของผม ปัจจัยการเลือกลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทยมี 5 ประการใหญ่ๆ
คือ
1. ปัญหาความมั่นคงทางการเมือง
2. ทรัพยากรบุคคลและปัญหาแรงงาน
3. มาตรฐานของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องที่จะช่วย Support
4. โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ (Infra structure) ที่รองรับอุตสาหกรรมที่จะเข้ามา
5. กฎระเบียบต่างๆ , ภาษีที่เกี่ยวข้อง
ผมว่าในสายตานักลงทุนญี่ปุ่น การที่รัฐบาลเปรมอยู่ได้ถึง 6-7 ปี ความมั่นคงทางการเมืองก็นับว่าพอใช้ได้
ค่าแรงสูงขึ้นแต่ก็ถูกกว่าเขามาก ส่วนมาตรฐานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและ
Infra structure ยังไม่ค่อยพร้อมมากนัก สิ่งที่เขารู้สึกว่าเป็นปัญหามาก
คือเรื่องกฎระเบียบที่ยุ่งยาก และภาษีที่ซ้ำซ้อน แต่อาจจะดีขึ้นบ้างจากการที่กระทรวงการคลังประกาศจะปรับโครงสร้างภาษีและลดภาษี
วัตถุดิบ ที่นำเข้ามาผลิตเพื่อการส่งออก แนวโน้มโดยรวมผมคิดว่าสภาวะแวดล้อมอยู่ในระดับใช้ได้
และเมื่อเทียบกับประเทศอาเชียนความสนใจที่จะมาลงทุนของญี่ปุ่นอยู่ในระดับปานกลาง
การมาลงทุนของญี่ปุ่นในช่วง 1986 เป็นต้นไป ลักษณะที่เข้ามาคงทะลักเข้ามาอย่างสะเปะสะปะมาก
แนวโน้มที่จะเป็นการลงทุนที่ญี่ปุ่นมีปัญหา โดยมากจะเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรามีนโยบายที่จะรับมือกับการลงทุนจากญี่ปุ่นมากน้อยเพียงใด
ผมคิดว่าถ้าให้เอกชนลงทุนอย่างเสรีเขาก็จะลงทุนทุกโครงการที่ได้กำไร กำไรที่เกิดขึ้นก็จะเป็นกำไรส่วนเอกชน
โดยที่อาจจะไม่ช่วยเศรษฐกิจโดยรวมมากนัก
ผมคิดว่ารัฐบาลควรจะมีนโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่ชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่โดยกำหนดออกมาอย่างชัดเจนว่า
อุตสาหกรรมใดบ้างที่ส่งเสริมการลงทุน อุตสาหกรรมใดที่ห้ามหรือไม่ส่งเสริมควรจะมีแผนระยะยาวที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ
และเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต โดยมีพื้นฐานอยู่บนการพึ่งตนเองได้ในระยะยาว
อุตสาหกรรมที่ไม่น่าส่งเสริมคืออุตสาหกรรมที่คนไทยทำได้แล้ว เช่น วิทยุ
โทรทัศน์ ซึ่งผมคิดว่าควรที่จะส่งเสริมภายในประเทศให้เข้มแข็งขึ้น อุตสาหกรรม
บริการต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ภัตตาคาร ก็น่าส่งเสริมคนไทยมากกว่าคือถ้าปล่อยให้มีการลงทุนไปเรื่อยๆ
ผลที่สุดทุนพาณิชย์หรือบริการที่เป็นคนไทยจะค่อยๆ พ่ายไป เหมือนมวยรุ่นเฮฟวี่เวทกับฟลายเวทชกกัน
รุ่นเฮฟวี่เวทก็คงชนะไปในที่สุด
อุตสาหกรรมที่น่าส่งเสริมควรจะเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมพื้นฐานภายในประเทศ
ใช้วัตถุดิบหรือชิ้นส่วนต่างๆ ภายใน เราอาจจะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีหรือ KNOW
HOW จากเขา แต่ก็ควรตั้งเป้าว่า ภายใน 5-10 ปี เราจะต้องผลิตเอาได้ทั้งหมด
ทิศทางการลงทุนโดยทั่วไปของญี่ปุ่น คือการเข้ามาผลิตเพื่อการส่งออกแทนการส่งออกโดยตรงจากญี่ปุ่น
ผลดีสำหรับประเทศไทยคืออาจจะช่วยกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจให้ขยายตัวขึ้น ช่วยให้เกิดการจ้างงาน
แต่การผลิตเพื่อการส่งออกนั้น ควรที่จะพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าเกิดประโยชน์แก่ระบบเศรษฐกิจและคนส่วนใหญ่ของประเทศหรือไม่?
ซึ่งผมเห็นว่ามีข้อพึงระวังอย่างน้อยสองข้อ
ประการแรก ประเทศเรามีทรัพยากรจำกัด การทุ่มลงทุน เพื่อตอบสนองความต้องการของสินค้าจากต่างประเทศคือเพื่อผู้บริโภคต่างประเทศนั่นเอง
ขณะเดียวกันเราต้องถามว่า เรามีการลงทุนสำหรับความต้องการภายในอย่างเพียงพอหรือไม่
ถ้าเราจัดสัดส่วนการลงทุนเพื่อส่งไปต่างประเทศมากกว่าชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนไทยอาจจะไม่ดีขึ้นเท่าไหร่
และต้องดูว่าเงินที่ได้จากการส่งออกไปไหน? ส่งกลับไปญี่ปุ่นเกือบทั้งหมดหรือเปล่า
เอาเข้าจริงไทยเราอาจจะได้อยู่กับกรรมกรเพียงไม่กี่คน นายทุนไทยบางส่วนและรัฐอาจได้จากภาษีอีกเล็กน้อย
และถ้าเป็นการผลิตเพื่อส่งออก บางกรณีรัฐอาจต้องจ่ายเงินอุดหนุนอีกด้วยซ้ำ
ประการที่สอง เทคโนโลยีต่างๆ ที่เอาเข้ามามันเป็นเทคโนโลยีที่จะกระตุ้นให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาหรือเปล่า?
อาจจะเป็นการสร้างเกาะแก้วสวรรค์ขึ้นภายในประเทศ โดยไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจภายในเท่าไหร่เลยก็ได้
เช่น มินิแบร์ เข้ามาตั้งโรงงานแถวอยุธยา ทำเสร็จแล้วก็ส่งไปต่างประเทศเลย
โดยไม่เกี่ยวข้องกับไทยเลย นอกเหนือจากการจ้างงานประมาณ 200 คน ถ้าส่วนใหญ่เป็นไปในลักษณะนี้ไทยเราคงไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร
สำหรับนักลงทุนไทย ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเลือกพอสมควร ไม่ใช่อะไรก็ได้ที่ทำกำไรได้
ควรคำนึงถึงการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมด้วย ไม่ต้องกลัวว่าญี่ปุ่นเขาจะไม่มาลงทุน
เขามาแน่เพราะขณะนี้อเมริกาและยุโรปก็กำลังขยายการลงทุนในแถบนี้มากขึ้นเช่นกัน
ญี่ปุ่นจะต้องพยายามแข่งขันเพื่อรักษาฐานของเขาแน่นอน ดังนั้นนักลงทุนไทยควรที่จะเตรียมตัวเองให้พร้อมในทุกด้าน
ผมมีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับนักลงทุนไทย
เนื่องจากเราต้องพึ่งพิงการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ จากญี่ปุ่น เราควรที่จะเตรียมข้อมูลมากที่สุดเพื่อการเจรจาต่อรองที่ไม่เสียเปรียบ
บางที KNOW HOW บางอย่างไม่จำเป็นต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ ญี่ปุ่นก็คิด ความไม่เท่าทันทำให้เราเสียเปรียบ
นักลงทุนไทยมักจะคิดถึงกำไรเฉพาะหน้าเป็นหลัก ขอกำไรเพียงแค่ 10-20% ก็พอแล้ว
ทำให้เราเสียเปรียบและมีอำนาจต่อรองน้อยลง
ตรงกันข้ามกับนักลงทุนญี่ปุ่น เขาศึกษาประเทศไทยมาก การลงทุนแต่ละครั้งเขามีข้อมูลอย่างครบครันรอบด้าน
เขามีการกระจายข่าวสารและข้อมูลระหว่างบริษัทดีกว่าของเรามาก ผมคิดว่านักลงทุนไทยควรที่จะตระหนักถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนข่าวสารการตระเตรียมข้อมูลให้มากกว่านี้
ประการสุดท้ายที่ผมอยากจะเน้นคือการถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่ผ่านมายังมีน้อยมาก
ส่วนหนึ่งเพราะนักลงทุนไทย ยังไม่ตระหนักถึงการยืนด้วยลำแข้งของตัวเองในระยะยาวผมคิดว่าตรงนี้สำคัญมาก
เพราะถ้าในขั้นสุดท้ายหากเกิดการขาดทุน หรือมีที่อื่นที่น่าลงทุนกว่า หรือถ้าสถานการณ์เรื่องเงินเยนดีขึ้น
ญี่ปุ่นอาจจะถอนตัวออกไป ถึงตอนนั้นเราจะสามารถผลิตเองได้หรือไม่? เราควรที่จะเตรียมตัวรับวิกฤตการณ์ในอนาคต
โดยเตรียมวางแผนระยะยาวอย่างรอบด้านและรัดกุมที่สุด ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้