เพียงแค่ 10 ปีที่พญาปูนใหญ่ ย่างเท้าก้าวเข้ามาในอุตสาหกรรมกระดาษ ทุกสิ่งทุกอย่างก็ตกอยู่ในเงื้อมมืออย่างง่ายดาย
การผูกขาดในตลาดแห่งนี้ถึงแม้ขณะนี้ยังไม่เริ่มขึ้น แต่ทุกฝ่ายก็เชื่อว่า
อีกไม่นานที่จะถึงนี้ ไม่แน่นัก ขณะนี้ซิเมนต์ไทยครองตลาดกระดาษ 60 เปอร์เซ็นต์เข้าไปแล้ว
ส่วนที่เหลือก็อยู่ภายใต้การครอบครองของผู้ผลิตรายย่อยๆ ประมาณ 30 โรง แบ่งและก็แย่งชิงกันไป
ปูนฯ กำลังจะเป็นนักบุญหรือคนบาป?
นับตั้งแต่ปี 2528 ย้อนหลังกลับไปตลอดช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมานั้น ตำนานแห่งอุตสาหกรรมกระดาษเมืองไทย
เล่าขานกันมานานว่า อุตสาหกรรมประเภทนี้อยู่ภายใต้อุ้งมือการผูกขาดของกลุ่ม
5 เสือกระดาษมาตลอด
มาถึงวันนี้ของปีนี้ กลุ่ม 5 เสือกระดาษอันประกอบด้วย ฮั่วกี่ เปเปอร์,
เล่าฮั่วเชียง, ง่วนเอี่ยวฮวด, แสงฟ้าวิสาหกิจ และมิ่งแซ ล้วนถูกกระหน่ำด้วยภาวะอะไรต่ออะไร
กระเจิดกระเจิงบ้าง เลิกกิจการบ้าง ที่เหลือจำต้องลดตัวเองลงเป็นเพียงเอเย่นต์ขายกระดาษเอเย่นต์หนึ่ง
ตำนานแห่ง 5 เสือกระดาษในปัจจุบันเป็นเพียงตำนานแห่งประวัติศาสตร์ที่พอจะเล่าให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานฟังกันเพลินๆ
ไปเสียแล้ว
"มันเป็นเหมือนกันความฝันช่วงหนึ่ง ถอยหลังกลับไปเมื่อก่อนหน้านั้น
เราเคยเป็นเพียงเอเย่นต์ขายกระดาษ ต่อมาเราร่วมกันลงทุนสร้างโรงงานกระดาษเสียใหญ่โตจนไม่มีใครเทียบเราได้
แล้วถึงตอนนี้ เราก็กลับมาเป็นเพียงเอเย่นต์ขายกระดาษเหมือนเดิม มันช่างเหมือนความฝันช่วงหนึ่งจริงๆ…"
ประทีป ตันติศิริวัฒน์ แห่งแสงฟ้าวิสาหกิจ หนึ่งใน 5 เสือกระดาษที่เคยลำพองและขยุ้มตลาดนี้อยู่ในอุ้งมือ
รำพึงกับ "ผู้จัดการ" ในตอนบ่ายวันหนึ่งของกลางเดือนธันวาคม 2529
กล่าวได้ว่า ตั้งแต่เมื่อบริษัทโรงงานกระดาษสหไทย จำกัด ของกลุ่ม 5 เสือ
ต้องตกอยู่ภายใต้การครอบครองและการบริหารของกลุ่มซิเมนต์ไทยไป เมื่อปลายเดือนตุลาคมของปี
2528 แล้ว ตลาดกระดาษก็เปลี่ยนแปลงรูปโฉมอย่างเห็นได้ชัด
เพราะเมื่อถึงวันนี้ของปีนี้ ตลาดกว่า 50 เปอรเซ็นต์ได้ถูกกลุ่มซิเมนต์ไทยครอบครองแล้ว
การค่อยๆ คืบคลานเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ของกลุ่มซิเมนต์ไทย จนในปัจจุบันกลายเป็นพี่เอื้อยในอุตสาหกรรมแห่งนี้ไปแล้ว
ว่ากันว่า จะไม่หยุดลงเพียงแค่นี้เสียอีกด้วย
ในปัจจุบันกลุ่มซิเมนต์ไทย ก้าวเข้ามายืนอยู่ในตำแหน่งของ 5 เสือกระดาษในอดีตแต่มีความยิ่งใหญ่กว่าที่
5 เสือกระดาษเดิมเคยยิ่งใหญ่เกือบเท่าตัว!!
ในช่วงแรกที่กลุ่มซิเมนต์ไทย ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมกระดาษนั้น พญาปูนใหญ่อาจะไม่เคยคิดหรือมีความฝันอันใด
ที่จะยึดครองตลาดนี้ไว้เป็นของตนเอง ปูนใหญ่ก้าวเข้ามาในขณะนั้นเป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายย่อยๆ
ของบริษัทอุตสาหกรรมกระดาษไทย จำกัด (ชื่อเดิมของบริษัทสยามคราฟท์ จำกัด)
เท่านั้นเอง
เมื่อบริษัทอุตสาหกรรมกระดาษไทย จำกัด เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2508 นั้น
บริษัทปูนซิเมนต์ไทยถือหุ้นอยู่เพียง 11 เปอร์เซ็นต์ ในฐานะที่ตัวเองจำเป็นต้องใช้กระดาษคราฟท์ทำถุงปูน
เพียงปี 2513 บริษัทอุตสาหกรรมกระดาษไทย จำกัด ภายใต้การบริหารงานของบริษัทพาร์สัน
แอนด์วิทมอร์ อันเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องกระดาษของสหรัฐอเมริกาก็เริ่มที่จะสั่นคลอนเป็นครั้งแรกเมื่อทุนดำเนินการหมด
ในครั้งนั้นบริษัทอุตสาหกรรมกระดาษไทย มีหนี้สินอยู่ถึง 600 ล้านบาท และมียอดขาดทุนสะสมประมาณ
78 ล้านบาท ซิเมนต์ไทยก็ยังไม่ได้สนใจที่จะกระทำอันใด ทั้งๆ ที่บริษัทอุตสาหกรรมกระดาษไทยนั้น
เป็นบริษัทเพียงบริษัทเดียวในประเทศไทยที่รัฐบาลอนุญาตให้ทำการผลิตกระดาษคราฟท์ที่จะนำมาใช้ทำถุงปูน
กาลเวลาล่วงเลยจนถึงปี 2517 บริษัทอุตสาหกรรมกระดาษไทย ก็เริ่มที่จะโคลงเคลงอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อบัตรส่งเสริมที่ระบุให้บริษัทอุตสาหกรรมกระดาษไทยผลิตกระดาษคราฟท์แต่เพียงผู้เดียวหมดอายุลง
ลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทอุตสาหกรรากระดาษไทยในตอนนั้นคือ เฮี่ยงเซ้ง (บริษัทปัญจพบไฟเบอร์
คอนเทนเนอร์ จำกัด ในปัจจุบัน) ได้เริ่มสร้างโรงงานผลิตกระดาษคราฟท์ของตนเองขึ้นมา
และเริ่มผลิตทันทีเมื่อบัตรส่งเสริมของอุตสาหกรรมกระดาษไทยหมดอายุ
ปลายปี 2517 บริษัทอุตสาหกรรมกระดาษไทย จำกัด ขาดทุนมากจนหมดทุนดำเนินการอีกครั้งหนึ่ง
ยอดขาดทุนสะสมในตอนนั้นมีสูงถึง 234 ล้านบาท และมีหนี้สินท่วมเป็นพันล้านบาท
เดือนธันวาคมของปีนั้น คณะกรรมการของบริษัท และเจ้าหนี้ใหญ่ของบริษัทอันประกอบด้วยธนาคารชั้นนำของเมืองไทย
3 ธนาคาร และสถาบันทางการเงินขนาดใหญ่ของสหรัฐอีก 2 สถาบัน ก็ได้เข้าหาและขอร้องให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทยเข้าไปช่วยแก้ไขสถานการณ์
"เหตุผลที่สำคัญที่สุดและเป็นเหตุผลที่ทำให้ปูนซิเมนต์เข้าไปรับจัดการก็คือ
ทั้งคณะกรรมการและเจ้าหนี้ใหญ่บอกว่าหาคนอื่นไม่ได้แล้ว ถึงแม้เหตุผลบางประการอาจจะฟังดูทะแม่งๆ
แต่ว่าในขณะนั้นบังเอิญอุตสาหกรรมกระดาษไทยโชคดีคือ กรรมการผู้จัดการของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยขณะนั้นคือ
คุณบุญมา วงศ์สวรรค์ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในวงราชการและในสมัยที่ท่านเป็นปลัดกระทรวงการคลังเมื่อปี
2513 ท่านก็เคยช่วยให้อุตสาหกรรมกระดาษไทยรอดพ้นจากวิกฤติการณ์รอดพ้นจากการเจ๊งมาครั้งหนึ่งแล้ว
ท่านก็พิจารณาแล้วก็คงเห็นว่าปูนซิเมนต์ไทย น่าจะเข้าไปช่วยเหลือ อีกเหตุผลหนึ่งอาจจะพูดได้ว่า
ปูนซิเมนต์ไทยเป็นบริษัทคนไทยเพราะฉะนั้นก็คงจะทำอะไรแบบไทยๆ คือถ้าอยากจะทำอะไรก็ไม่ต้องมีเหตุผลมากนัก
ก็เลยตกลงรับช่วย" อมเรศ ศิลาอ่อน ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่สายการตลาดของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย
จำกัด เคยกล่าวบรรยายไว ณ ศูนย์สารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่
15 มีนาคม 2522
ก็เป็นเหตุผลที่ปูนซิเมนต์ไทย ก้าวเข้ามาในวงการอุตสาหกรรมกระดาษครั้งแรก
อย่างไรก็ดีอีกเหตุผลหนึ่งที่ปูนใหญ่ต้องเข้าไปก็คือ บริษัทอุตสาหกรรมกระดาษไทย
จำกัด ในตอนนั้นเป็นหนี้ปูนซิเมนต์อยู่เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน เนื่องจากปูนใหญ่ซื้อกระดาษคราฟท์ล่วงหน้าไว้เป็นจำนวนมากและหากปล่อยให้ล้มลง
นอกจากหนี้จะสูญ เงินลงทุนจะหายแล้ว ที่สำคัญก็คือ จะไม่มีกระดาษคราฟท์ที่ใช้ทำถุงปูนป้อนโรงงานปูนซิเมนต์ในจำนวนที่เพียงพอ
ก้าวย่างครั้งสำคัญของปูนใหญ่จึงต้องเริ่มขึ้น
และพญาปูนใหญ่ ยังไงก็เป็นพญาปูนใหญ่ การเข้าไปก็หาใช่ว่า เข้าไปอย่างอ่อนหัด
พญาปูนใหญ่แสดงความเหนือชั้นออกมาให้เห็นตั้งแต่เริ่มแรกที่มีการเจรจากัน
ปูนใหญ่พยายามสงวนท่าที ในการเข้ารับผิดชอบ ด้วยการต่อรองกับกลุ่มเจ้าหนี้และทำสัญญาอะไรต่อมิอะไรอย่างเหนือชั้น
โดยกำหนดแผนการของตัวเองในขั้นแรกไว้ 6 ขั้นตอน และทุกสิ่งทุกอย่างต้องผ่านขั้นตอน
6 ขั้นตอนี้เท่านั้น ปูนซิเมนต์ไทยจึงยอมรับเข้าดำเนินการ
แผนการ 6 ขั้นตอนที่ว่าก็คือ ขั้นแรกปูนฯ จะส่งทีมผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินเข้าไปสำรวจและวิเคราะห์สถานการณ์ก่อน
โดยในระหว่างที่เข้าไปวิเคราะห์สถานการณ์นี้ เจ้าหนี้ทั้งหมดไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก
จะต้องระงับการทวงถามทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นชั่วคราว ซึ่งหัวหน้าทีมที่ถูกส่งเข้าไปสำรวจในตอนนั้น
ก็คือ ชุมพล ณ ลำเลียง ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายการเงินในปัจจุบัน
ขั้นที่สอง เมื่อเข้าใจแนวโน้มของตลาดและสถานการณ์ที่เป็นจริงทั้งในตอนนั้นและอนาคตแล้ว
ก็ถอนทีมการเงินออกแล้วส่งทีมบริหารเข้าไปทดลองบริหารและเพื่อไม่ให้บริษัทล้ม
ซึ่งหัวหน้าทีมที่ถูกส่งเข้าไปบริหารในตอนนั้นก็คือ พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา
กรรมการผู้จัดการบริษัทปูนซิเมนต์ไทยในปัจจุบัน
ขั้นที่สาม ก็ส่งทีมการเงินไปเจรจากับธนาคารและเจ้าหนี้ใหญ่ทั้งของคนไทยและต่างประเทศ
เพื่อจะวางโครงการร่วมกันในการปรับปรุงกิจการ (FINANCIAL REORGANIZATION)
ขั้นที่สี่ ปูนซิเมนต์ไทยส่งทีมนักบริหารอีกทีมหนึ่ง ออกไปแสวงหาและเจรจากับบริษัทผู้ผลิตกระดาษต่างประเทศเพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องเทคโนโลยีของการผลิต
ขั้นที่ห้า เข้าเจรจากับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับโครงการปรับปรุงกิจการพูดง่ายๆ
ก็คือ เรียกเจ้าหนี้ทั้งหมดมาประชุม ถามว่าจะเอาอย่างไร และเป็นการเสนอเงื่อนไขให้กับเจ้าหนี้รับรู้
ว่าปูนซิเมนต์ไทยจะเอาอย่างไร จะทำเช่นไร ซึ่งถ้าเจ้าหนี้ไม่ยอมรับ ปูนซิเมนต์ไทยก็ทำไม่ได้
ขั้นที่หก เมื่อเจ้าหนี้ยอมรับและทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนแล้ว
ก็เป็นขั้นตอนของการเข้าบริหารอย่างจริงจัง
ในเดือนกรกฎาคมของปี 2519 ปูนซิเมนต์ไทยตกลงเซ็นสัญญาระยะยาวกับบริษัทในการเข้าปรับปรุงกิจการอย่างจริงจังเป็นเวลา
17 ปี ตั้งแต่ วันที่ 27 กรกฎาคม 2519 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2536
และในช่วงนี้เองที่ อมเรศ ศิลาอ่อน ได้เข้ามาโชว์ฝีมืออย่างเต็มตัว และก็มีการเปลี่ยนชื่อจาก
บริษัทอุตสาหกรรมกระดาษไทย จำกัด เป็น บริษัท สยามคราฟท์ จำกัด
ปูนซิเมนต์ไทย ได้ตัดสินใจเลือกเอาบริษัทฮอนชูเปเปอร์ ซึ่งเป็นบริษั่ผลิตกระดาษที่ใหญ่เป็นอันดับ
4 ของญี่ปุ่น เข้ามาเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางด้าน KNOW HOW
การดำเนินการของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ก็หาใช่ว่าจะสะดวกและง่ายอย่างที่คิด
ในปี 2520 บริษัทสยามคราฟท์ แทบจะล้มอีกครั้ง เมื่อศาลตัดสินคดีเรื่องเยื่อกระดาษ
(PULP-IN ROLL) ซึ่งถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศตั้งแต่สมัยบริษัทพาร์สัน แอนด์วิทมอร์เป็นผู้จัดการ
คือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันระหว่างหน่วยราชการต่างๆ ว่าแท้ที่จริงเป็นเยื่อกระดาษหรือเป็นกระดาษกันแน่
ควรจะได้รับการยกเว้นภาษีหรือไม่ และเรื่องนี้คดีก็ยืดเยื้อมานานจนถึงปี
2520 และในที่สุดศาลตัดสินว่า เป็นกระดาษ บริษัทสยามคราฟท์ ต้องจ่ายค่าปรับ
66 ล้านบาท ซึ่งถ้าต้องจ่ายค่าปรับจำนวน 66 ล้านบาทนี้ทันที บริษัทสยามคราฟท์ก็คงจะล้มทั้งยืนแน่
ในที่สุดก็ได้มีการฎีกาเกี่ยวกับระยะเวลาการชำระค่าปรับในปีต่อมา คือในปี
2521 ศาลฎีกาก็ได้ตัดสินให้บริษัทผ่อนชำระค่าปรับเป็นเวลา 9 ปี
การเข้าแก้ไขปรับปรุงกิจการของบริษัทที่มีหนี้สินรุงรังนับพันล้านบาทเช่นนี้
ไม่ใช่เรื่องง่ายในช่วงปี 2521 ปูนซิเมนต์เริ่มมีความคิดว่า การที่จะทำให้สยามคราฟท์อยู่รอดได้นั้น
ต้องมีอะไรที่จะต้องเข้ามาสนับสนุน พูดง่ายๆ ก็คือว่า ปูนซิเมนต์เริ่มที่จะมองว่า
สยามคราฟท์นั้นจะต้อง DIVERSIFY ทั้ง BACKWARD และ FORWARD เนื่องจากสยามคราฟท์นั้นเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ตรงกลาง
คือ ต้องซื้อเยื่อจากต่างประเทศแล้วขายให้กับโรงงานผลิตกล่องกระดาษ ซึ่งจะมีปัญหามากเมื่อเยื่อกระดาษขึ้นราคา
และยังต้องแข่งขันทางการตลาดกับเฮี่ยงเซ้งหรือบริษัทปัญจพลไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์
จำกัด อีกด้วย
บริษัทปัญจพลไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ นั้น มีกำลังการผลิตที่สูงกว่า ทางด้านเทคโนโลยี
ก็ไม่ด้อยกว่าสยามคราฟท์ และยังมีโรงงานผลิตกล่องกระดาษเป็นของตนเองซึ่งสามารถป้อนผลิตภัณฑ์กระดาษคราฟท์
ที่ตัวเองผลิตนำไปสู่ END USER ได้อีกด้วย
ดังนั้นก็จำเป็นอยู่เองที่สยามคราฟท์จะต้อง DIVERSIFY ทั้ง BACKWARD และ
FORWARD
พญาปูนใหญ่ค่อนข้างที่จะโชคดี เนื่องจากขณะนั้นมีโรงงานผลิตกล่องกระดาษในประเทศไทยบริษัทหนึ่ง
ชื่อว่าบริษัทสยามบรรจุภัณฑ์ จำกัด อันเป็นบริษัทที่ร่วมลงทุนกันระหว่างชาวออสเตรเลียและบริษัทเบอร์ลี่ยุคเกอร์
จำกัด กำลังมีปัญหาและเข้ามาเจรจาขายหุ้นให้กับปูนซิเมนต์ไทย
พญาปูนใหญ่ ก็ไม่รอช้า เข้าซื้อหุ้นและเข้าดำเนินการจัดการทันที แผนการ
DIVERSIFY FORWARD ก็เกิดขึ้น ณ จุดนี้ บริษัทสยามบรรจุภัณฑ์ จำกัด ตกเป็นของปูนซิเมนต์ไทยอีกบริษัทหนึ่ง
เมื่อหันมามองทางข้างหลัง พญาปูนก็เห็นว่าสมควร DIVERSIFY BACKWARD ไปตั้งโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ
เพื่อผลิตเยื่อกระดาษส่งให้กับสยามคราฟท์ ในการผลิตการดาษคราฟท์ต่อไป ซึ่งหากสำเร็จต่อไปปูนซิเมนต์ก็ไม่จำเป็นต้องสั่งเยื่อกระดาษจากเมืองนอกอีก
ความคิดเมื่อริเริ่ม การกระทำก็ต่อเนื่อง กลางปี 2522 บริษัทปูนซิเมนต์ไทยก่อตั้งบริษัทเยื่อกระดาษสยาม
จำกัด ขึ้นมา ด้วยทุนจดทะเบียนครั้งแรก เป็นจำนวนเงินแค่หนึ่งล้านบาท แต่ก็ได้มีการเพิ่มทุนกันอยู่เรื่อยๆ
จนถึง 500 ล้านบาท ณ เดือนสิงหาคม ของปี 2529
บริษัทเยื่อกระดาษสยามเริ่มดำเนินการผลิตเมื่อปี 2525 มีกำลังการผลิตเยื่อฟอกใยสั้นซึ่งนำมาใช้ทำกระดาษพิมพ์เขียน
กระดาษแข็ง กระดาษอนามัย ปีละ 24,000 ตัน ซึ่งก็ประมาณร้อยละ 25 ของความต้องการทั่วประเทศ
และมีกำลังการผลิตเยื่อเศษกระดาษ (คือการเอาเศษกระดาษมาทำเป็นเยื่อ) ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษคราฟท์อีกปีละ
75,000 ตัน
หากจะนับการก้าวย่างสู่อุตสาหกรรมกระดาษของพญาปูนใหญ่ โดยนับสยามคราฟท์เป็นก้าวที่หนึ่ง
บริษัทสยามบรรจุภัณฑ์ อันเป็นบริษัทผู้ผลิตกล่องกระดาษเป็นก้าวที่สอง และเยื่อกระดาษเป็นก้าวที่สามแล้ว
จะเห็นว่า ทั้งก้าวที่สองและก้าวที่สาม ล้วนแต่ถูกสร้างขึ้นมาช่วยเหลือสยามคราฟท์ให้มีอำนาจและพลังด้านการตลาด
และเพื่อการลดต้นทุนทั้งสิ้น
เพียงแต่ก้าวที่สาม คือโรงงานผลิตเยื่อกระดาษนั้น ก็จะพบว่ามีกำลังการผลิตที่เหลือเฟือในการที่จะส่งเยื่อกระดาษให้กับบริษัทสยามคราฟท์
บริษัทเดียว
เมื่อถึงจุดนี้ พญาปูนใหญ่ก็เริ่มมีความคิดที่เริ่มจะขยับปีกจะไม่ผลิตกระดาษคราฟท์ทำถุงปูน
หรือทำกล่องกระดาษเพียงอย่างเดียวแล้ว
ปี 2526 โครงการผลิตกระดาษขาวที่มีคุณภาพเริ่มขึ้น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย
จำกัดได้ร่วมกับบริษัท ยุน ฟุง ยู เปเปอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ของไต้หวันซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยี
ก่อตั้งบริษัท ผลิตภัณฑ์กระดาษไทย จำกัด ขึ้นด้วยทุนจดทะเบียนแรกเริ่มก่อตั้ง
100 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 250 ล้านบาทในปัจจุบัน
บริษัท ผลิตภัณฑ์กระดาษไทย จำกัด มีโรงงานขนาดใหญ่ของตัวเองตั้งอยู่ที่ตำบลท่าผา
อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี สามารถผลิตกระดาษพิมพ์เขียนที่ใช้ในระบบออฟเซท
กระดาษถ่ายเอกสาร กระดาษทำซองจดหมาย และกระดาษคอมพิวเตอร์ ด้วยกำลังการผลิต
16,500 ตันต่อปี
"กระดาษเหล่านี้ที่ปูนซิเมนต์เขาผลิต ถึงแม้ว่าจะสู้ของต่างประเทศไม่ได้ในทางด้านคุณภาพ
แต่ก็เรียกได้ว่าใกล้เคียง ลูกค้าสามารถใช้แทนได้สบาย และราคาก็ถูกกว่าเยอะทีเดียว"
เอเย่นต์ค้ากระดาษเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
ขณะที่โรงงานของบริษัทผลิตภัณฑ์กระดาษไทย กำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้างนั้น
ตลาดของอุตสาหกรรมประเภทนี้ ยังอยู่ภายใต้อุ้งมือของกลุ่ม 5 เสือกระดาษ ถึงแม้ว่า
5 เสือกระดาษในตอนนั้นจะเหลือเพียง 3 เสือ (ภายหลังการถอนตัวออกไปของบริษัท
มิ่งแซ และบริษัทแสงไฟฟ้าวิสาหกิจ) แต่บริษัทโรงงานกระดาษสหไทย ของกลุ่ม
5 เสือกระดาษ ก็ยังยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในช่วงนั้น คือมีกำลังการผลิตถึง
50,000 ตันต่อปี
"ตอนนั้นโรงงานสหไทยเขามีปัญหามาก นอกจากจะถูกหนังสือพิมพ์โจมตีทุกวันว่าผูกขาดตลาดแล้ว
เยื่อกระดาษยังขึ้นราคาอีกด้วย พอปลายปี 2527 โรงงานผลิตภัณฑ์กระดาษไทย เริ่มเดินเครื่อง
โรงงานกระดาษสหไทยของกลุ่ม 5 เสือก็ขาดทุนถึง 88 ล้านบาทในปี 2528 คือในปีถัดมา"
เอเย่นต์กระดาษรายหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
เมื่อพญาปูนใหญ่ เริ่มมีความคิดในการบุกตลาดนี้อย่างจริงจัง การวางแผนทางการตลาดต่างๆ
ก็เริ่มขึ้น ในปี 2527 โดยดึง บริษัทแสงฟ้าวิสาหกิจ หนึ่งใน 5 เสือที่แยกตัวออกมาล่าสุดเข้าเป็นเอเย่นต์ใหญ่ของตัวเอง
ร่วมกับเอเย่นต์รายใหญ่อื่นๆ อีก 4 เอเย่นต์คือ บริษัท เหรียญไทยบุญกิจ จำกัด
บริษัท สหยงพัฒนกิจ จำกัด บริษัท ไทยเรืองทอง จำกัด บริษัท เฮงเจียบฮง (เจี๊ยบ
หลี) จำกัด รวมเอเย่นต์กระดาษของปูนซิเมนต์ไทยในตอนนั้นก็มีอยู่ 5 เอเย่นต์
"คือทางปูนซิเมนต์เขาก็คัดเลือกเอาเอเย่นต์ที่เขาเห็นว่าใหญ่ และมีอำนาจในการซื้อและขายพอสมควร
รู้จักตลาดนี้ดี คุณจะเห็นว่าทุกเอเย่นต์ที่ปูนเขาตั้งขึ้นมาล้วนแล้วแต่เหนือเซียนทั้งนั้น
ในวงการกระดาษบ้านเรา" เอเย่นต์กระดาษพูดๆ กัน
อย่างไรก็ดีเมื่อพญาปูนใหญ่ย่างก้าวเข้ามาในวงการกระดาษนี้ ก็เจอการลองดีและปูนซิเมนต์เองก็จดจำเป็นบทเรียนจนถึงทุกวันนี้
ปลายปี 2527 เมื่อบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เริ่มกำหนดตัวเอเย่นต์ และทำการเปิดโรงงานผลิตภัณฑ์กระดาษไทยนั้น
เอเย่นต์ทั้ง 5 รายก็รวมกลุ่มกันไม่ติดเสียแล้ว
เฮงเจียบเฮง หนึ่งในห้าเอเย่นต์ ไม่ยอมเข้าร่วมประชุมกับเอเย่นต์รายอื่นๆ
อีกทั้งยังไม่ยอมไปในงานวันเปิดโรงงานของบริษัทผลิตภัณฑ์กระดาษไทยอีกด้วย
"คือผมก็ไม่ทราบว่า สาเหตุมันเป็นเช่นไร เขาไม่ยอมรวมกลุ่มกับเรา
เชิญมาประชุมเขาก็ไม่มา เราก็หาสาเหตุไม่ได้ว่าเพราะอะไร เรามารู้เอาทีหลังว่า
เขาพยายามแอบติดต่อและกดราคาเอากับทางปูนซิเมนต์ ทางปูนเขาก็ยังไม่เข้าใจตลาด
เขาเห็นมีคนมาติดต่อซื้อเอาล็อตใหญ่ๆ เขาก็ยายและขายในราคาถูกกว่าของเรา
ของเราก็ขายไม่ได้ พวกเราสี่เอเย่นต์ก็ไม่ยอม เมื่อกำหนดขึ้นมาว่ามีห้าเอเย่นต์
แล้วทำไมมีเอเย่นต์หนึ่งขายให้ราคาถูกมาก ทำไมของเราขายแพง " เอเย่นต์รายหนึ่งซึ่งเป็นหนึ่งใน
5 เอเย่นต์เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงความหลังยุคเริ่มแรกของบริษัทผลิตภัณฑ์กระดาษไทย
ว่ากันว่าในครั้งนั้น เฮงเจียบเฮง ทำเอาตลาดกระดาษที่ปูนฯ เพิ่งจะคืบคลานเข้ามา
แทบพังพินาศ เฮงเจียบเฮง นอกจากจะซื้อกระดาษได้ในราคาที่ถูกกว่าราคาของเอเย่นต์อื่นแล้ว
ที่เจ็บที่สุดก็คือ ยังขายราคาที่ต่ำกว่าที่ตัวเองซื้อมาจากโรงงานอีกด้วย
เพื่อเอาเงินมาหมุนและต้องการแสดงตัวเลขการขายให้กับปูนซิเมนต์เห็นว่าตัวเองเป็นเอเย่นต์แต่เพียงรายเดียวก็เหลือเฟือ
"มันทำเอาผมแย่เลยนะครับ ใครๆ ก็วิ่งไปหาเขากันหมด ในขณะที่กระดาษเรามีคุณภาพด้อยกว่าเขา
แต่ราคาเขากลับดั๊มลงมาใกล้เคียงกับเรา" เจ้าของโรงงานกระดาษแห่งหนึ่งเล่าให้
"ผู้จัดการ" ฟัง
สี่เอเย่นต์ที่เหลือ ต่างไม่พอใจ เข้าโวยวายและร้องเรียนกับปูนซิเมนต์
ว่าราคากระดาษเสียหมด และถ้าหากปูนซิเมนต์ไทยยังคงคิดที่จะตั้ง 5 เอเย่นต์เหล่านี้ต่อไปก็ควรที่จะขายในราคาที่เท่ากันหมด
หรือไม่ก็กำหนดราคาให้แจ่มชัดว่า ซื้อกี่ตันถึงจะได้ส่วนลดแค่นั้น
ในที่สุดทางปูนซิเมนต์ไทยก็ยินยอมและตัดเฮงเจียบเฮงออกจากการเป็นเอเย่นต์
และในปัจจุบัน บริษัท เฮงเจียบเฮง (เจี๊ยบหลี) จำกัด รายนี้ ก็กลายเป็นผู้ค้าส่งกระดาษปรู๊ฟ
(กระดาษที่ใช้ทำหนังสือพิมพ์) รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยไปแล้ว
ปี 2528 ภายหลังจากที่ โรงงานของบริษัทผลิตภัณฑ์กระดาษไทยเดินเครื่องไปได้ยังไม่ถึงหนึ่งปีดี
ทางฝ่าย 5 เสือกระดาษซึ่งเป็นคู่แข่งรายใหญ่ประเภทกระดาษขาวก็เริ่มที่จะสั่นคลอน
ความขัดแย้งในระดับบริหารของโรงงานกระดาษสหไทยของกลุ่ม 5 เสือ เข้าขั้นรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ
จนในที่สุดต้องเข้าชักชวนให้บริษัทปูนซิเมนต์เข้าซื้อหุ้นบางส่วน
"กลุ่ม 5 เสือเองก็ทราบดีว่า โดยแนวโน้มนั้น เขาต้องเสียเปรียบกลุ่มปูนซิเมนต์แน่ๆ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินทุน ฝีมือในการบริหารหรือความพร้อมในเทคโนโลยีอีกทั้งเครือข่ายในกลุ่มอุตสาหกรรมกระดาษของปูนฯ
ซึ่งมีบริษัทเยื่อกระดาษสยามคอยป้อนวัตถุดิบให้ กลุ่ม 5 เสือมีแต่ตายลูกเดียว
ถ้ายังพยายามจะดันทุรังเรื่อยไป" เอเย่นต์กระดาษเล่า
ขั้นแรก พญาปูนใหญ่ดูเหมือนจะไม่สนใจเท่าไหร่นัก จนเมื่อกลุ่ม 5 เสือซึ่งขณะนั้นเหลือเพียง
3 เสือเข้าอ้อนวอน บริษัทปูนซิเมนต์ไทย ถึงยอมพูดคุยด้วย โดยกลุ่ม 3 เสือเสนอให้ปูนบริหารบริษัทโรงงานกระดาษสหไทยและขายหุ้นให้ปูนซิเมนต์
40 เปอร์เซ็นต์ แต่ข้อเสนอนี้ของกลุ่ม 5 เสือ บริษัทปูนซิเมนต์ไทยไม่ยอมรับจนกระทั่งกลุ่ม
5 เสือต้องกลับไปนั่งคิดกันใหม่ ซึ่งวงการกระดาษบ้านเรา มีข้อสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง
นั่นก็คือ ก่อนที่ปูนซิเมนต์ไทยจะเข้ามาในวงการอุตสาหกรรมกระดาษนี้ เกือบทุกส่วนของอุตสาหกรรมประเภทนี้ตกอยู่ภายใต้การผูกขาดของคนจีนพูดไทยไม่ชัด
ตั้งแต่โรงงานไปถึงยี่ปั๊วรายย่อย แล้วแต่เป็นคนจีนเหล่านี้ทั้งนั้น จะหาฝรั่งหรือที่เป็นคนไทยดั้งเดิมนั้นยาก
และไม่มีเลยก็ว่าได้
การบริหารและการค้าแบบคนจีนสมัยเก่าจึงยังคงเป็นเอกลักษณ์ของอุตสาหกรรมประเภทนี้
บริษัทโรงงานสหไทย ก็ไม่ต่างจากที่กล่าวมา การทำงานและการดำเนินการลอกแบบจากรุ่นเก่ามาทั้งสิ้น
เป็นการบริหารแบบครอบครัว ทั้งยังไม่มีใครไว้ใจกัน ต่างครอบครัวต่างก็แย่งที่จะเป็นใหญ่กันเองในกลุ่ม
3 เสือที่เหลืออยู่
สำหรับลักษณะการทำงานของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยแล้ว คงจะรับลักษณะการทำงานแบบนี้ไม่ได้แน่นอน
ในขั้นแรกบริษัทปูนซิเมนต์ไทยจึงต้องปฏิเสธ
ในที่สุดกลุ่ม 5 เสือกระดาษซึ่งในขณะนั้นมีเหลืออยู่เพียง 3 เสือ ก็กลับมาเจี๊ยะเต้คุยกันใหม่ว่าจะเอากันอย่างไร
และก็ตกลงกันได้ว่า ยังไงเสียต้องกลับไปที่อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทยอีกครั้งหนึ่ง
ครั้งหลังนี้จึงตกลงกันได้โดยปูนซิเมนต์ไทยต้องการซื้อหุ้นที่บริษัทโรงงานกระดาษสหไทยนี้
51 เปอร์เซ็นต์ ด้วยราคาหุ้นละ 100 บาท ซึ่งเมื่อคำนวณจากทุนจดทะเบียน 430
ล้านบาทของบริษัทโรงงานกระดาษสหไทยแล้ว ก็เท่ากับกลุ่มปูนฯ ยอมควักเงินไปเหนาะๆ
เพื่อการนี้ 219.3 ล้านบาท
"ครั้งแรก เจ้าของเดิมเขาจะขายหุ้นให้ปูนซิเมนต์ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ปูนฯ
เขาไม่เอาด้วย เขาอยากเป็นเจ้าของและบริหารเอง" ประทีป ตันติศิริวัฒน์
แห่งแสงฟ้าวิสาหกิจ หนึ่งในห้าเสือเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
การที่ทางกลุ่มปูนซิเมนต์ไทยซื้อหุ้นเอาไว้ 51 เปอร์เซ็นต์ ทำให้กลุ่ม
5 เสือเหลือหุ้นที่ถืออยู่รวมกันแค่ 40 เปอร์เซ็นต์และหมดอำนาจลงทันที ส่วนอีก
9 เปอร์เซ็นต์ที่เหลืออยู่เป็นรายย่อยๆ
อย่างไรก็ดีปูนซิเมนต์ไทยก็ยังไม่ถึงกับทอดทิ้ง 3 เสือนี้เสียเลยทีเดียว
ยังคงตั้งให้เป็นเอเย่นต์ของบริษัทโรงงานกระดาษสหไทยต่อไป แต่ก็ยังไม่มีโอกาสที่จะจัดโควต้าเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองได้อีกแล้ว
หลังจากนั้นโรงงานกระดาษสหไทยซึ่งเป็นโรงงานผลิตกระดาษขาวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ก็ตกเป็นของพญาปูนฯ ใหญ่อีกบริษัทหนึ่ง
ถึงจุดนี้น่าจะเรียกได้ว่า อุตสาหกรรมกระดาษในประเทศไทยเรา ไม่มีใครที่จะยิ่งใหญ่เหนือกว่าพญาปูนฯ
ใหญ่อีกแล้ว การกำหนดชะตากรรมของอุตสาหกรรมประเภทกระดาษขาวนี้ก็ตกอยู่ภายใต้อุ้งมือของพญาปูนฯ
ใหญ่โดยสิ้นเชิง
และเมื่อถึงต้นปี 2529 ปูนซิเมนต์ก็โชคดี เมื่อราคาเยื่อกระดาษและกระดาษจากต่างประเทศขึ้นราคาสูง
อย่างชนิดว่าดึงไม่ลง
ปูนซิเมนต์ไทยแตกต่างกับกลุ่ม 5 เสือเดิม คือกลุ่ม 5 เสือเดิมนั้น เมื่อไรที่เยื่อกระดาษมีราคาสูงขึ้นเป็นต้องขาดทุนทุกที
"อะไรๆ มันผิดกัน อย่างสมัยที่ผมเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโรงงานกระดาษสหไทย
ผมจำได้ว่าปีนั้นมันเป็นปี 1973 ราคาเยื่อกระดาษเมืองนอกปาเข้าไปถึง 590
เหรียญต่อตัน แต่รัฐบาลบังคับให้เราขายกระดาษในราคา 12 บาทต่อกิโลกรัม คุณคิดดูซิว่ามันจะคุ้มเหรอ
เยื่อกระดาษราคา 590 เหรียญหากเราคิดออกมามันก็ปาเข้าไปถึง 11.8 บาทต่อกิโลกรัมเข้าไปแล้ว
แล้วให้เราขายราคา 12 บาท ต่อกิโลกรัม ภายหลังจากเอาเยื่อพวกนี้เข้าโรงงานและผลิตเป็นกระดาษสำเร็จรูปออกมา
มันก็ย่อมที่จะขาดทุนเป็นธรรมดา ทางออกของเราในตอนนั้นก็คือต้องเอาเศษกระดาษมาทำเป็นเยื่อ
คุณภาพก็ย่อมที่จะลดลงแล้วก็ถูกลูกค้าคือโรงพิมพ์ต่างๆ เขาก็ด่าเอาเป็นธรรมดา
แต่ปูนซิเมนต์ไทย เขาไม่เช่นนั้นนะ เมื่อครั้งที่ผ่านมาไม่กี่เดือน ทางกรมการค้าภายในเขาก็พยายามที่จะให้ปูนซิเมนต์ไทยลดราคากระดาษลงมา
แต่ก็ไม่สำเร็จ คุณก็รู้ว่าอิทธิพลของปูนฯ เขาระดับไหน" ประทีป ตันติศิริวัฒน์
แห่งแสงฟ้าวิสาหกิจ หนึ่งใน 5 เสือกระดาษเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
และเหตุการณ์ก็เป็นเช่นอย่างที่ประทีป ตันติศิริวัฒน์ว่าจริงๆ คือเมื่อประมาณกลางปี
2529 กรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์ ได้เชิญบริษัทต่างๆ ไปประชุมที่กระทรวงพาณิชย์
โดยนัดไปประชุมในวันที่ 28 และ 29 สิงหาคม 2529 เพื่อให้บริษัทต่างๆ ส่งต้นทุนการผลิตกระดาษให้กระทรวงได้รับทราบและทางกรมการค้าภายใน
จะได้ควบคุมราคาต่อไป และเพื่อไม่ให้เกิดการกักตุนกระดาษขึ้น
แต่ครั้งนี้ดูเหมือนกรมการค้าภายในจะโชคร้าย เมื่อสมาคมอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษไทย
ภายใต้การนำและการเข้าครอบครองของปูนฯ ปฏิเสธในเรื่องนี้พร้อมทั้งยังเรียกกรรมการสมาคมซึ่งเป็นผู้ผลิตกระดาษในประเทศทั้งหมดประชุม
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2529 อีกด้วย
วันนั้นประธานกรรมการหรือนายกสมาคม คือชำนาญ สุนทรวัฒน์ คนใหญ่ในปูนซิเมนต์
ติดธุระไม่ได้เข้าร่วม เหรัญญิก คือ วิโรจน์ ปานบุญล้อม แห่งบริษัทกระดาษศรีสยาม
จำกัด ผู้ผลิตกระดาษอีกเจ้าหนึ่งซึ่งไม่ใหญ่นัก แต่ก็อยู่ในวงการนี้มาช้านานทำหน้าที่แทนประธานในที่ประชุม
และแจ้งต่อที่ประชุมว่า
"เนื่องจากประธานไม่ว่าง จึงขอให้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า นายพงษ์
สารสิน ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองนายกรัฐมนตรีและควบคุมการปฏิบัติงานของกระทรวงพาณิชย์
รับว่าจะสั่งการให้กรมการค้าภายในลดการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของบริษัทต่างๆ
ลง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการค้าโดยเสรีของรัฐบาล และตามที่กรมการค้าภายในได้เชิญให้บริษัทต่างๆ
ไปประชุมในวันที่ 28 และ 29 สิงหาคม นั้น ได้ยกเลิกแล้ว แต่ยังคงขอร้องให้ตอบคำถามมา"
นั่นคือความยิ่งใหญ่ของปูนฯ ภายหลังจากที่เข้าคุมสมาคมอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษไทยไว้ในเงื้อมมือแล้ว
นอกเสียจากความยิ่งใหญ่ทางการค้าแล้ว และในเมื่อหน่วยราชการของประเทศยังไม่สามารถทำอันใดได้
เช่นนี้แล้วใครยังจะกล้ามาแตะต้องอีกเล่า?
ถึงวันนี้ของปีนี้ ปูนฯ มีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษของตนเอง มีโรงงานผลิตกระดาษคราฟท์
ซึ่งเป็นกระดาษที่จะนำไปใช้ทำถุงปูนและกล่องกระดาษ มีโรงงานผลิตกระดาษของตัวเอง
และยังมีโรงงานผลิตกระดาษขาวที่ใหญ่โตที่สุด โดยกำลังการผลิตนั้น ถ้ารวมเอาของบริษัทผลิตภัณฑ์ไทยกับของบริษัทโรงงานกระดาษสหไทยแล้วจะประมาณถึง
60% ของความต้องการภายในประเทศทีเดียว
มีใครบริษัทไหนในอุตสาหกรรมกระดาษที่จะยิ่งใหญ่เท่านี้อีกบ้าง ในประเทศนี้…
ย่อมไม่มีเด็ดขาด!!
การเคลื่อนตัวเข้ามาในอุตสาหกรรมประเภทนี้ของพญาปูนใหญ่ ทำให้ตลาดต่างพลิกโฉมไปโดยสิ้นเชิง
ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ เฮี่ยงเซ้งหรือบริษัท ปัญจพลไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด
จะมีกำลังการผลิตกระดาษคราฟท์ที่สูงกว่าสยามคราฟท์และคุมมาร์เก็ตแชร์ในตลาดประเภทนี้อยู่มากกว่าสยามคราฟท์ก็ตาม
แต่ในปัจจุบัน ภายหลังจากที่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทยได้ยุบสยามคราฟท์ และก่อตั้งบริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรมขึ้นมาแทนแล้ว
ท่าทีของทางเฮี่ยงเซ้งหรือปัญจพลไฟเบอร์ก็เปลี่ยนไปทันที
"ปีหน้า (2530) กำลังการผลิตจะเท่ากัน เขาก็ขยายแสนเก้าหมื่นตัน ผมก็ขยายแสนเก้าหมื่นตันเช่นกัน
ซึ่งผมคิดว่าปีหน้านี้ทั้งผมและสยามคราฟท์เมื่อขยายแล้วคงต้องวิ่งหาตลาดเมืองนอกกันแล้ว
เพราะว่าจริงๆ แล้วที่ผลิตกันอยู่ในตอนนี้มันก็ SURPLUS อยู่แล้ว ผมเองตอนนี้ก็ต้องไปหาตลาดต่างประเทศอยู่เรื่อยๆ
อย่างที่ผมเพิ่งไปประเทศจีนเมื่อเร็วๆ นี้ ตอนแรกคิดว่าจะขาย 5 หมื่นตันแต่ก็ขายไม่ได้
เนื่องจากของอเมริการาคาถูกกว่าของเรามาก และอเมริกาเขามีคอนเนคชั่นกับจีนดีมาก
ซึ่งต่อไปผมว่าทั้งผมและก็ปูนฯ คงจะรวมกันขาย เราคงต้องรวมกัน คงไม่มีการแข่งขันจนบริษัทใดบริษัทหนึ่งพังลงแน่นอน"
สุทัศน์ เตชะวิบูลย์ กรรมการผู้จัดการบริษัทปัญจพลไฟเบอร์ บอกกับ "ผู้จัดการ"
ถึงหนทางการค้าต่อไปในอนาคตด้วยน้ำเสียงศิโรราบ
ทางด้านตลาดกระดาษขาวหรือตลาดพิมพ์เขียน ก็ไม่ต่างกันเท่าใดนัก ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีโรงงานผลิตกระดาษอยู่เป็นจำนวนถึง
13 โรงงานแต่โรงงานที่พอที่จะผลิตกระดาษได้อย่างมีคุณภาพนั้นก็น้อยยิ่งกว่าน้อย
ก่อนที่ปูนซิเมนต์ไทยจะหันมาผลิตกระดาษประเภทนี้อย่างจริงจัง กระดาษที่ใช้พิมพ์หนังสือที่มีคุณภาพต่างๆ
ล้วนแต่ต้องสั่งจากเมืองนอกทั้งสิ้น โดยเฉพาะกระดาษอาร์ต (อย่างเช่นกระดาษที่ใช้พิมพ์หน้าสีในนิตยสาร
"ผู้จัดการ")
แต่หลังจากบริษัทผลิตภัณฑ์กระดาษไทยได้ก่อตั้งขึ้น กระดาษจากบริษัทผลิตภัณฑ์กระดาษไทยก็พอจะสู้กับของนอกใช้ทดแทนกันได้
และราคาก็ถูกกว่ามาก นับเป็นสิ่งที่จะต้องยกย่องกัน
แต่เผอิญลูกค้าของพญาปูนใหญ่ก็ดีใจอยู่ได้เพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น เนื่องจากภายหลังที่ราคาเยื่อกระดาษและกระดาษสำเร็จรูปของเมืองนอกขึ้นราคา
อย่างชนิดเบรคไม่อยู่ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันก็ยังมีแนวโน้มที่จะขึ้นไปอีกเรื่อยๆ
นั้น พญาปูนก็หาได้หยุดราคาไว้กับที่ไม่ กลับขึ้นราคาตามเมืองนอกเช่นกัน
"ปูนฯ เขามีข้อเสียอยู่ตรงนี้ คือคิดจะขึ้นราคาก็ขึ้น ไม่มีการบอกกล่าวกันล่วงหน้า
ให้เอเย่นต์เตรียมตัวกันบ้าง หรือไม่ก็ควรจะตั้งราคาเผื่อไว้สักประมาณเดือนหรือสองสามเดือน
ไม่ใช่ว่าคิดจะขึ้นก็ขึ้น และขึ้นเดือนหนึ่งสองสามครั้งอย่างนี้ ลูกค้าหรือเอเย่นต์ก็แย่
ปรับตัวไม่ทัน ขึ้นบ่อยๆ ก็ไม่ใช่ว่าดี ลูกค้าเขาก็หาว่าเราเอาเปรียบทั้งๆ
ที่บางทีเอเย่นต์เองก็พยายามตรึงราคาไว้ไม่ให้เสียลูกค้า แต่ก็เป็นไปได้ที่ทางปูนซิเมนต์ไทยเขาอาจจะคิดว่า
อย่างไรเสียลูกค้าจะต้องซื้อของเขาอยู่แล้ว" เอเย่นต์รายหนึ่งกล่าวกับ
"ผู้จัดการ"
อย่างไรก็ดีถ้าหากปูนใหญ่ไม่ขึ้นราคาแล้วละก้อ โรงงานกระดาษรายย่อยๆ ทั้งหลายคงแย่เหมือนกัน
เนื่องจากรายย่อยๆ อื่นๆ ไม่มีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษเป็นของตนเอง ต้องซื้อเยื่อกระดาษจากต่างประเทศหรือไม่ก็จากโรงงานฟินิคซ์พัลพ์ที่ขอนแก่น
ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเยื่อกระดาษในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวที่โรงงานผลิตกระดาษในบ้านเราพอจะยังซื้อได้
ส่วนโรงงานเยื่อกระดาษสยามของปูนซิเมนต์นั้นหมดสิทธิ์ เนื่องจากแค่ป้อนเยื่อกระดาษให้โรงงานผลิตกระดาษในเครือ
3 โรงงานก็ไม่พออยู่แล้ว
ซึ่งถ้าหากปูนซิเมนต์ไทยไม่ขึ้นราคากระดาษ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ โรงงานผลิตกระดาษรายย่อยจะไม่มีโอกาสได้ขยับตัวเด็ดขาด
เนื่องจากหากขยับตัวราคาก็จะขึ้นไปใกล้เคียงกับของปูนฯ ใหญ่ ในขณะที่คุณภาพของปูนฯ
ดีกว่ามาก
เมื่อพญาปูนใหญ่วางราคาทางการตลาดให้เหมือนหรือราคาใกล้เคียงในตลาดโลก
โดยขึ้นราคาตามตลาดโลก เช่นนี้บริษัทรายย่อยทั้งหลายต่างก็ตีปีกขยับขึ้นราคาพึ่บพั่บกันเช่นกัน
"ทุกสิ่งทุกอย่างตอนนี้มันอยู่ภายใต้อุ้งมือของเขาหมด รายย่อยๆ ก็พอได้หายใจบ้าง
แต่ก็ต้องรอดูท่าทีจากของเขาอยู่ตลอดเวลาว่า เขาจะขึ้นราคาเท่าไหร่ เพราะเมื่อไหร่ที่เยื่อกระดาษขึ้นราคา
เราจะขึ้นด้วยไม่ได้เด็ดขาดหากปูนใหญ่ไม่ขึ้น" ผู้ผลิตกระดาษรายย่อยบอกกับ
"ผู้จัดการ"
นี่แค่ว่า ซิเมนต์ไทย ผลิตแค่กระดาษชนิดที่มีคุณภาพสูงลงมาถึงปานกลางเท่านั้น
ยังไม่ทั้งหมดครบทุกประเภทด้วยซ้ำ
"ตอนนี้ยังไม่ใช่เป็นช่วงที่ถึงจุดสุดยอดของปูน ตลาดมันยังพอมีช่องว่างอยู่มาก
เนื่องจากกระดาษมันเป็นสิ่งจำเป็น ใครๆ ก็ต้องใช้กระดาษ แต่ผมว่าในอนาคต
เมื่อไรที่ปูนลงทุนเพิ่มอีกสักห้าหกร้อยล้านบาทเพื่อขยายการผลิตเพิ่มอีกเท่าตัวละก้อ
ผมว่าโรงงานอื่นๆ อย่างพวกผมคงต้องตกงานหรือไม่ก็ต้องใช้โรงงานทำเป็นโกดังแน่เลย"
เจ้าของโรงงานผลิตกระดาษรายหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
อาจจะกล่าวได้ว่า ปูนฯ ได้ก้าวเข้ามายืนอย่างมั่นคงแล้วในอุตสาหกรรมกระดาษพร้อมๆ
กับนำศักยภาพทุกด้านไม่ว่าจะเป็นทุน โนวฮาวและการจัดการที่มีประสิทธิภาพของปูนฯ
เข้ามาใช้อย่างเต็มเหยียดในอุตสาหกรรมนี้
คุณภาพของผลผลิตเป็นสิ่งที่สามารถตั้งความหวังได้ว่าจะต้องพัฒนาขึ้น เช่นเดียวกับผลผลิตจากอีกหลายอุตสาหกรรมที่ปูนฯ
เกี่ยวข้อง
และแนวโน้มก็ค่อนข้างชัดเจนว่าปูนฯ ยังจะต้องก้าวเข้าครอบครองตลาดเพิ่มขึ้นพร้อมๆ
กับการขยายกำลังการผลิตและฐานของผลผลิตในอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป
สิ่งที่จะต้องท้าทายชื่อเสียงของปูนฯ อย่างไม่มีวันจบสิ้นนั้น ก็เห็นจะได้แก่ความยุติธรรมที่ปูนฯ
จะให้กับผู้บริโภค เพราะทุกคนล้วนอยากเห็นสินค้าดี ราคายุติธรรมด้วยกันทั้งสิ้นมิใช่หรือ