มิตซุยเคยเข้ามาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อปี 2463 ในฐานะบริษัทการค้าระหว่างประเทศ
(TRADING COMPANY) นำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมหลายชนิดเข้ามาขายในประเทศไทย ทั้งยังส่งออกข้าวไทยไปยังต่างประเทศรายใหญ่อีกด้วย
ในช่วงปี 2473-2483 การค้าส่วนนี้ขยายตัวจนจัดเป็นหนึ่งในห้าของผู้ส่งออกข้าวไทย
เมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง มิตซุยก็จำต้องถอยทัพออกจากประเทศไทยด้วย
มิตซุยกลับมาอีกครั้งเมื่อปี 2501 มาพร้อมกับเพื่อนพ้อง อาทิ โตโยเมนก้า
ซีอีโต้ มิตซูบิชิ ซูมิโตโม่ และโนมูระเทรดดิ้ง อันเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศ
โดยการเชื้อเชิญต่างชาติเข้าร่วมทุน
บริษัทมิตซุย (ประเทศไทย) เข้ามาตั้งสาขาในประเทศไทยเพื่อดำเนินธุรกิจสนับสนุนการลงทุนในประเทศนี้
ทำหน้าที่ด้านการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบจากญี่ปุ่น
เก็บข้อมูลการลงทุนจึงไม่น่าแปลกใจในระยะแรกกิจการของมิตซุยเน้นหนักด้านการลงทุนและสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมโลหะ
และสิ่งทอ
เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายไทย มิตซุยจึงได้ตั้งบริษัทมิตรสยามอินเตอร์เนชั่นแนลขึ้นดำเนินกิจการนายหน้า
(BROKER) เมื่อปี 2511 โดยมิตซุยเข้าถือหุ้น 49%
ปัจจุบันมิตซุยได้เข้าไปลงทุน หรือ "ร่วมทุน" (JIONT VENTURE)
ในกิจการต่างๆ เกือบๆ 30 กิจการ (โปรดพิจารณาแผนภูมิประกอบ) ในอุตสาหกรรมโลหะ
รถยนต์ เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์อาหาร ตลอดจนธุรกิจที่อยู่อาศัย (REAL
ESTATE)
กลุ่มทุนไทยที่สำคัญที่มิตซุยเข้าไปเกี่ยวข้อง อาทิ ชำนิ วิศวผลบุญ คนไทยเชื้อสายจีน
เกิดในไต้หวัน แต่กลับมาเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรายใหญ่ที่สุดในประเทศก็ว่าได้
เขาเป็นประธานกรรมการบริษัทแผ่นเหล็กวิลาสไทย และบริษัทสังกะสีไทยที่มิตซุยร่วมทุนด้วย
จาก ชำนิ วิศวผลบุญ ย่อมจะนำไปเกี่ยวข้องอย่างแนบแน่นกับธนาคารแหลมทองและตระกูลบุญสูงด้วย
ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ มิตซุยได้ร่วมทุนอย่างน้อย 2 บริษัท (สยามเรชินฯ และสยามเท็กซ์ไทล์ฯ)
กับกลุ่มของ สุกรี โพธิรัตนังกูร เจ้าพ่อของวงการสิ่งทอไทยคนหนึ่งซึ่งในปัจจุบันกำลังมาแรงพอโชคช่วยตลาดสิ่งทอกำลังขยายตัว
ทั้งๆ ที่ 2-3 ปีที่ผ่านมาย่ำแย่เหลือกำลัง
สุกรี หรือกลุ่มทีบีเอส. เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
โดยส่วนตัวของสุกรีแล้วเป็นคนเก็บตัวมากๆ คนหนึ่ง ชำนิว่าเก็บตัวก็ยังไม่เท่าสุกรี
เอื้อชูเกียรติ และศรีเฟื้องฟุ้ง เป็นกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในประเทศไทยกลุ่มใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่ง
ที่มิตซุยจงใจเลือกเป็นหุ้นส่วน ศรีเฟื้องฟุ้ง ดำเนินธุรกิจกระจก (แทบจะผูกขาด)
ผลิตภัณฑ์พลาสติกพีวีซีรายใหญ่ที่สุดของไทย ในขณะเดียวกันเอื้อชูเกียรตินอกจากจะเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งในอุตสาหกรรมเหล่านั้นแล้ว
ก็ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารอย่างเด็ดขาดในธนาคารระดับปลายแถว-ธนาคารเอเชียซึ่งเพิ่งสร้างอาคารสำนักงานใหญ่เก๋เอาการเป็นรูปหุ่นยนต์
ริมถนนสาธร
มิตซุย เอื้อชูเกียรติ ศรีเฟื้องฟุ้ง ร่วมทุนในบริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์จำกัด
อันเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนฯ ที่มีกำไรค่อนข้างงามกิจการหนึ่ง
กิจการที่เหลือส่วนหนึ่งเป็นการร่วมทุนกับญี่ปุ่นด้วยกันเอง อาทิ กลุ่มฮีโน่
เป็นต้น
กลุ่มคนไทยบางรายที่มิตซุยเข้าไปเกี่ยวข้องบ้างพอสมควร ได้แก่ ตระกูลเกตุรายนาค
ร่วมทุนสร้างอาคารบุญมิตร ริมถนนสีลม เป็นสำนักงานใหญ่ให้เช่า ซึ่งปรากฏว่าบริษัทเชื้อสายญี่ปุ่นสิงสถิตกันแน่นเอียด
ฉัตรชัย บุญรัตน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมอาหารไทย ซึ่งมีบทบาทโดดเด่นในการต่อสู้กับการกีดกันสินค้าประเภทนี้กับสหรัฐอเมริกา
โดยเฉพาะทูน่ากระป๋อง ทั้งๆ ที่กิจการของตนผลิตผลไม้กระป๋องโดยมีมิตซุยถือหุ้นเล็กน้อย
อุตสาหกรรมน้ำตาล เป็นอีกแขนงหนึ่งที่มีเพียงมิตซุยเท่านั้น อันเป็นนักลงทุนต่างชาติเข้าไปมีบทบาทอย่างมาก
โดยเข้าถือหุ้นและมีบทบาทบริหารอย่างเด็ดขาดในบริษัทโรงงานน้ำตาลกุมภวาปี
ที่จังหวัดอุดรธานี และโรงงานน้ำตาลบางโรงของกลุ่มบ้านโป่ง
รายสุดท้ายก็คือ สว่าง เลาหทัย ผู้มีลีลาชีวิต และธุรกิจคล้ายๆ กับ สุกรี
โพธิรัตนังกูร นับเป็นก้าวแรกที่มิตซุยอันเป็นบริษัทญี่ปุ่นรายแรกที่กระโจนลงสู่ธุรกิจค้าพืชไร่
อันเป็นรากฐานของสังคมธุรกิจไทยอย่างเต็มตัว หรือหากจะมองย้อนกลับไปเมื่อประมาณ
70 ปีก่อน จะต้องถือได้ว่า มิตซุยกำลังหวนกลับไปมีบทบาทดุจยุคเริ่มแรกที่มิตซุยเข้ามาประเทศไทย
เพียงแต่คราวนี้ มิตซุย "จับ" ใหญ่มาก แทรกเข้าสู่ธุรกิจค้าผลิตภัณฑ์สำปะหลัง
(ที่มากด้วยการเมือง) ร่วมกับเจ้าของกิจการประเภทนี้ที่ใหญ่ที่สุด โดยมิตซุยมีบทบาทครอบงำอย่างเด่นชัด!!!!