|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
กางลายแทงรายได้แบงก์ ค่าธรรมเนียมบริการที่แบงก์เรียกเก็บสร้างรายได้มหาศาล ทั้งบัตรเดบิต ค่าธรรมเนียมโอน ขอ Statement ค่ารักษาบัญชี คิดกันทุกกระเบียดนิ้ว ลูกค้าโวยแบงก์ได้สิทธิพิเศษออกกฎคิดค่าธรรมเนียมได้เอง แถมหน่วยงานดูแลอย่างแบงก์ชาติยืนคนละฝั่งกับผู้ใช้บริการ ด้านแบงก์ชาติเพิ่งรู้ลูกค้าถูกเอาเปรียบหาช่องคุม
นับตั้งแต่เกิดวิกฤติสถาบันการเงินของไทยเมื่อปี 2540 เป็นต้นมา ธนาคารพาณิชย์ของไทยเข้มงวดในเรื่องการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากเกรงกันว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยจนทำให้สถาบันการเงินหลายแห่งต้องปิดตัวลง รวมถึงเรื่องกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องกันสำรองหนี้ที่ปล่อยออกไป จนกลายเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งของธนาคารพาณิชย์
เมื่อมีข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อ รายได้จากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่เคยเป็นรายได้หลักของธนาคารย่อมลดลง ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งต่างมุ่งไปสร้างรายได้จากบริการที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพื่อมาชดเชยรายได้ที่ขาดหายไป ดังนั้นค่าธรรมเนียมในการให้บริการของธนาคารต่อลูกค้าจึงมีค่าบริการที่ยิบย่อยหลากหลายรูปแบบ
การปรับเปลี่ยนแนวทางในการสร้างรายได้ของธนาคารพาณิชย์เริ่มลงมาสู่ภาคประชาชนที่เป็นรายย่อยมากขึ้น โดยที่เสียงบ่นหรือข้อร้องเรียนของผู้บริโภคต่อธนาคารผู้ให้บริการ ไม่ได้รับการตอบสนอง ทั้ง ๆ ที่เจ้าภาพในการดูแลธนาคารพาณิชย์นั้นอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย กลับทำได้เพียงให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ไว้ที่สาขาของธนาคาร ผู้บริโภครายใดเห็นว่าธนาคารไหนคิดค่าบริการแพงก็แนะนำให้ไปใช้บริการของธนาคารอื่น
แต่ในความเป็นจริงธนาคารแทบทุกแห่งคิดค่าบริการเหล่านี้ในอัตราเดียวกัน ดังนั้นไม่ว่าลูกค้าจะย้ายไปใช้บริการของธนาคารใดก็ไม่แตกต่าง
สอดคล้องกับงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ที่ระบุว่าการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดเพดานของธนาคารพาณิชย์ไว้ แบงก์ต่าง ๆ จึงยึดแนวทางดังกล่าวใช้คิดค่าธรรมเนียมกับลูกค้า ทั้ง ๆ ที่แบงก์ชาติมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ระบบการชำระเงินของประเทศไทยทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดการใช้กระดาษในธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์ให้น้อยลง แต่ค่าบริการที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ากลับมีค่าใช้จ่ายสูง
บางรายการธนาคารเรียกเก็บค่าบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์สูงกว่าการใช้บริการผ่านเคาน์เตอร์ของธนาคาร ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเป็นอุปสรรคต่อแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องการให้เกิดขึ้น
แบงก์ชาติยืนตรงข้ามผู้ใช้บริการ
นั่นเป็นเพียงปัญหาที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติของธนาคารพาณิชย์กับธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ค่าธรรมเนียมที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บต่อลูกค้าที่มาใช้บริการในอัตราที่สูง กลับกลายเป็นสิ่งที่ลูกค้าผู้ใช้บริการต้องแบกรับมาตลอด โดยไร้เจ้าภาพที่เข้ามาดูแล
ทุกวันนี้ผู้ใช้บริการของธนาคารพาณิชย์ต้องจำใจจ่าย เพื่อแลกกับบริการของธนาคารในการอำนวยความสะดวกทางการเงินให้กับลูกค้า โดยที่ไม่มีหน่วยงานใดตรวจสอบว่าค่าบริการดังกล่าวนั้นเป็นค่าบริการที่สูงกว่าความเป็นจริงหรือไม่
จากแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งเสริมให้ประชาชนใช้จับจ่ายใช้สอยผ่านเงินอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เพื่อลดการใช้ปริมาณธนบัตร ด้วยการผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ส่งเสริมบัตรเดบิตให้มากขึ้น เนื่องจากคุณสมบัติของบัตรเดบิต สามารถใช้ชำระค่าสินค้าและบริการได้ไม่ต่างจากบัตรเครดิต ซึ่งผู้ค้าและเจ้าของบัตรไม่ต้องกังวลในเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ เพราะเป็นการตัดจากเงินสดที่มีในบัญชี
ธนาคารทุกแห่งจึงเร่งผลักดันให้บัตรเดบิตเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนจำนวนบัตรเดบิตมีมากกว่าบัตรเอทีเอ็ม แต่ในด้านของร้านค้าที่พร้อมรับชำระค่าสินค้าด้วยบัตรเดบิตยังมีจำนวนจำกัด ดังนั้นสถานะของบัตรเดบิตในขณะนี้จึงไม่แตกต่างกับบัตรเอทีเอ็มที่ใช้เพื่อการกดเงินสดเป็นหลัก
แต่ภายใต้การผลักดันให้บัตรเดบิตเติบโตขึ้นมานั้น แบงก์ได้คิดค่าธรรมเนียมรายปีของบัตรเดบิตเป็น 200 บาทต่อปี ขณะเดียวกันก็ได้ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมรายปีของบัตรเอทีเอ็มขึ้นมาเป็น 200 บาทเท่ากับบัตรเดบิต วิธีการดังกล่าวเท่ากับเป็นการบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องเปลี่ยนมาใช้บัตรเดบิตแทนเนื่องจากมีคุณสมบัติที่มากกว่าบัตรเอทีเอ็ม แต่เสียค่าธรรมเนียมเท่ากัน
เฉพาะค่าธรรมเนียมรายปีที่ธนาคารพาณิชย์ได้รับจากผู้ถือบัตรเอทีเอ็ม 22.42 ล้านบาทและบัตรเดบิต 26.26 ล้านบาท(ข้อมูลปี 2551) แบงก์ทั้งระบบรับเงินจากลูกค้าไปแล้วราว 7.5 พันล้านบาท แบงก์ใดมีลูกค้าถือบัตรมากก็จะได้รับค่าธรรมเนียมมาก
บัตรเดบิตรายได้เพียบ
ภายใต้การใช้บัตรเดบิตยังมีโอกาสที่สร้างรายได้ให้กับธนาคารพาณิชย์นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมปี 200 บาท คือค่าแรกเข้า 100 บาท บางแห่งอาจยกเว้นให้กับลูกค้าเดิม ส่วนค่าบริการที่ธนาคารเรียกเก็บจากผู้ถือบัตรในการใช้บริการผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคาร รายการถอนเงินหรือโอนเงินภายในบัตรให้บุคคลอื่น ขั้นต่ำ 10 บาท กรณีข้ามเขตค่าคู่สายครั้งละ 10 บาท โอนเงินไปธนาคารอื่นไม่เกิน 1 หมื่นบาทเสีย 25 บาท เกิน 1 หมื่นบาทขึ้นไปถึง 3 หมื่นบาทครั้งละ 35 บาท
ส่วนการถอนเงินและโอนเงินภายในบัตรจังหวัดเดียวกันขั้นต่ำ 15 บาท ค่าคู่สายครั้งละ 10 บาท(ยกเว้นกรุงเทพและปริมณฑล) ส่วนการโอนเงินไปธนาคารอื่นคิดค่าบริการเท่ากัน แต่ที่หลายฝ่ายเสียเงินโดยไม่ตั้งใจคือการทำรายการในตู้เอทีเอ็มต่างธนาคารทั้งถอนเงิน โอนเงินและสอบถามยอดบัญชีเกินกว่าจำนวนครั้งที่ธนาคารเจ้าของบัตรกำหนดตรงนี้จะเสียค่าบริการครั้งที่เกินครั้งละ 5 บาท
บัตรเดบิตหากทำรายการในเครือข่าย Cirrus กรณีต่างประเทศ การถอนเงินจะเสียค่าบริการ 100 บาท ถามยอดคงเหลือครั้งละ 100 บาทและต้องมีค่าความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่เกินร้อยละ 2.5
นี่คือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของผู้ถือบัตรหากทำธุรกรรมทางการเงินผ่านบัตร ที่ต้องทนแบกรับภายใต้เงื่อนไขที่ธนาคารผู้ออกบัตรเป็นผู้กำหนด โดยไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาพิจารณาถึงความเหมาะสมในการกำหนดราคาค่าบริการของธนาคารพาณิชย์
สารพัดรายได้
ที่ผ่านมาช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากปรับขึ้นมา ขณะนั้นอัตราดอกเบี้ยผ่อนชำระของบัตรเครดิตอยู่ที่ 18% ทางชมรมบัตรเครดิตจึงขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 20% หลังจากนั้นเมื่อดอกเบี้ยในประเทศปรับลดลงตามเศรษฐกิจโลกจนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำมาก แต่กลับไม่มีผู้ให้บริการบัตรเครดิตรายใดยอมลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตลง เมื่อสื่อนำเสนอข่าวดังกล่าวจึงมีเพียงธนาคารกรุงเทพที่ยอมปรับลงมาอยู่ที่ 18%
นอกเหนือจากรายได้ที่คิดค่าบริการจากบัตรเดบิตแล้ว การใช้บริการผ่านเคาท์เตอร์ด้วยบัญชีที่ลูกค้าเปิดอยู่ก็เป็นช่องทางสร้างรายได้ให้กับแบงก์เช่นกัน เริ่มตั้งแต่การโอนเงินไปยังบัญชีอื่นข้ามจังหวัดหรือข้ามธนาคารก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมเช่นเดียวกับการทำธุรกรรมผ่านบัตรเดบิต
นอกจากนี้ธนาคารยังขอคิดค่าบริการในบัญชีลูกค้าที่ไม่เคลื่อนไหวเกินกว่าเวลาที่กำหนดส่วนใหญ่จะคิดที่ 1 ปีขึ้นไป โดยกำหนดวงเงินในบัญชีมียอดคงเหลือแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่จะคิดค่าธรรมเนียม 50 บาทต่อเดือน
บัญชีที่เปิดไว้ในลักษณะนี้น่าจะมีไม่น้อย เพราะด้วยระบบของธุรกิจของไทยที่ทำข้อตกลงไว้กับธนาคารใดก็มักจะบังคับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเปิดบัญชีของธนาคารนั้นเพื่อลดค่าใช้จ่าย จึงทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักจะมีบัญชีในลักษณะนี้ เมื่อไม่ได้ติดต่อหรือทำธุรกรรมร่วมกันเงินที่เหลือค้างในบัญชีจึงกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับแบงก์ ด้วยข้ออ้างเรื่องของค่าใช้จ่ายในการดูแลบัญชี
"เดือนละ 50 บาท ปีละ 600 บาท แบงก์ตัดเงินลูกค้าไปเป็นรายได้ของตัวเองได้โดยที่ไม่มีใครคัดค้าน ทั้งที่ข้อกำหนดเหล่านี้เป็นการกำหนดมาจากฝ่ายธนาคารเพียงฝ่ายเดียว ตรงนี้น่าจะมีหน่วยงานกลางเข้ามาพิจารณาว่าการออกกฎเกณฑ์ดังกล่าวนั้นเป็นธรรมต่อลูกค้าหรือไม่"
ค่าบริการต่อมาถือค่าธรรมเนียมในการขอ Statement ทางการเงินของลูกค้าก็ต้องเสียค่าบริการ ทั้ง ๆ ที่เป็นประวัติทางการเงินของลูกค้าเอง แม้ว่าแบงก์จะต้องย้อนข้อมูลของลูกค้า แต่ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการบริการที่ธนาคารมีให้ต่อลูกค้า เพราะบางครั้งลูกค้าก็ขอข้อมูลทางการเงินเพื่อไปทำบัตรเครดิตของแบงก์เองก็มี
บางธนาคารก็คิดมากน้อยแตกต่างกันไป ยิ่งถ้าเป็นข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป จะต้องเสียค่าบริการสูงถึง 500 บาทต่อครั้ง ประวัติทางการเงินของลูกค้าเองแท้ ๆ เจ้าของประวัติกลับต้องเสียเงินให้กับธนาคาร
จะเห็นได้ว่าลูกค้าธนาคารเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบธนาคารพาณิชย์ตลอด โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่แบงก์อ้างว่าเป็นต้นทุนในการดำเนินงาน ซึ่งทุกคนเข้าใจว่าแบงก์ต้องลงทุนในเรื่องของการให้บริการ แต่อัตราค่าบริการนั้นลูกค้าไม่มีโอกาสทราบได้เลยว่าค่าบริการที่แบงก์คิดนั้นเหมาะสมหรือไม่ เพราะเกือบทุกแบงก์ก็ใช้อัตราเดียวกันหมด
อย่าลืมว่าการร้องเรียนถึงพฤติกรรมต่าง ๆ ของธนาคารพาณิชย์นั้น ทางหน่วยงานอย่างกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ดูแลเรื่องของธนาคารพาณิชย์ แต่ขึ้นอยู่กับธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์
วันนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่งรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการ ที่ธนาคารพาณิชย์คิดค่าธรรมเนียมที่เรียกได้ตามใจชอบมาเป็นระยะเวลายาวนาน สร้างกำไรให้กับแบงก์ไปไม่น้อย แต่สิ่งที่แบงก์ชาติคิดจะเข้ามาดูแลเรื่องค่าธรรมเนียมที่แบงก์พาณิชย์คิดกับลูกค้านั้น ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะดำเนินอย่างไรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภค เนื่องจากหลายครั้งที่กฎระเบียบของแบงก์ชาติกลายเป็นการปูทางในการสร้างรายได้ให้กับแบงก์พาณิชย์ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
ค่าธรรมเนียมที่แบงก์เรียกเก็บจากลูกค้าตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ถือว่าเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง แต่ยังมีค่าธรรมเนียมอื่นที่แบงก์เรียกเก็บจากลูกค้า เช่น ค่าธรรมเนียมเช็คคืน ดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระหนี้ทั้งการผ่อนชำระอสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อบุคคลรวมถึงบัตรเครดิต และยังมีเรื่องของค่าธรรมเนียมในการชำระเงินทั้งเงินงวดค่าผ่อนบ้านในการชำระให้กับสถาบันการเงินอื่น
|
|
|
|
|