อัศวินวิจิตร เป็นที่รู้จักกันดีในวงการส่งออกข้าว โดยเริ่มจากอดีตเมื่อนับถอยหลังไปเกือบ
20 ปีแล้ว
อวยชัย อัศวินวิจิตร-หัวหน้าครอบครัวอัศวินวิจิตร เริ่มไต่เต้าจากทำงานเป็นลูกจ้างโรงสีแถวภาคเหนือของประเทศ
จนมาถึงถนนทรงวาด เป็นคนกลางขายข้าวหรือที่เรียกกันว่า “หยง”
เมื่อปี 2511 บริษัทแสงทองค้าข้าว (1968) ก็เกิดขึ้น และในเวลาต่อมาก็มีบริษัทในเครือเกิดตามกันมาอีกประมาณ
3 บริษัท คือ สินชัยคอมมอดิตี้ แสงทองอินเตอร์เนชั่นแนล และทองไทยค้าข้าว
โดยธุรกิจหลักคือธุรกิจเดียวที่ดำเนินงานคือส่งออกข้าวและข้าวโพด
ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาแสงทองฯ โด่งดังมาก กระทั่งได้รับการขนานนามว่า
“เจ้าพ่อข้าวนึ่ง” เพราะนอกจากจะเป็นผู้ส่งออกข้าว 1 ใน5 อันดับแรกแล้ว
ยังเป็นผู้ส่งออกข้าวนึ่งอันดับ 1 ของประเทศไทยก็ว่าได้ โดยเฉพาะตลาดในประเทศด้อยพัฒนาแถบแอฟริกาหรือเอเชียตะวันตก
แสงทองฯ เดินเข้าออกเป็นว่าเล่น
สไตล์การค้าของกลุ่มนี้ วิเคราะห์กันว่าลุ่มลึกเกาะติดลูกค้าเป็นตลาดๆ
ไปชนิดถึงลูกถึงคนประสานการฉาบโฉบอย่างรวดเร็ว รับออร์เดอร์นาน ๆ ครั้ง ครั้งละมาก ๆ
กรพจน์ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของอวยชัย อัศวินวิจิตร กล่าวหลายครั้งในปี
2528 ว่า “เราไม่ชอบเสี่ยงในการทำธุรกิจ การค้าข้าวยุคนี้เสี่ยงเหลือเกิน”
ถึงแม้กรพจน์จะไม่ขยายความก็พอจะเข้าใจได้ไม่ยาก เรื่องที่ไม่ชอบเสี่ยงหรือไม่ชอบหวือหวานั้น
ที่ผ่านมากลุ่มแสงทองฯ ได้ชื่อว่านักเสี่ยงคนหนึ่ง แต่อาจจะเริ่มเปลี่ยนแนวคิดซึ่งเป็นที่เข้าใจว่าแท้ที่จริงก็คือ
ธุรกิจนี้เสี่ยงเอามาก ๆ ตั้งแต่ Demand-Supply ที่ไม่สามารถควบคุมและหยั่งรู้ได้ตามที่ต้องการจะรู้
และที่สำคัญประการหนึ่งนโยบายของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็เสี่ยงน่าดูชม
อยู่ดี ๆ เปลี่ยนรัฐมนตรี ทุกอย่างก็หมุน 180 องศา มาปรับตัวและเริ่มต้นกันใหม่อย่างที่เห็นและเป็นอยู่
กลุ่มแสงทองฯ หรืออัศวินวิจิตรเริ่มมีทายาท 2 คนที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปศึกษายังต่างประเทศเดินทางกลับมา
สำหรับกรพจน์ หลังจากที่เรียนจบเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว
ก็ไปเรียน MBA ที่ Southern California U. ที่ลอสเองเจลิส หลังจากจบใช้เวลาฝึกงานที่
Investment Banker อีก 8 เดือน และเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อปลายปี 2525
เขากลับมาพร้อมสูตรสำเร็จสำหรับ MBA ว่าช่องทางธุรกิจที่จะ diversified
ซึ่งดูมั่นคงและมีอนาคตไกลมี 6 ประเภทด้วยกัน หนึ่ง-การขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนมาก
กรพจน์ว่ามีทุนไม่พอ สอง-ด้าน Advance Technology ก็ต้องวิ่งให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก
เป็นเรื่องหนักใจมาก สาม-สายการบิน แต่สำหรับบ้านเราถูกผูกขาดไว้เรียบร้อยแล้ว
สี่-อุตสาหกรรมรถยนต์ บ้านเรามีนักลงทุนมากเหลือเกินและแข่งขันกันมาก”
ดังนั้นก็เหลือ 2 ประเภทสุดท้ายคือ ประกันชีวิตหรือประกันภัย และธนาคาร
สูตรดังกล่าวนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากไม่มีทุนที่พ่อของเขา-อวยชัย อัศวินวิจิตร
สร้างขึ้นมา ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
เมื่อ 2 สิ่งประสานกัน อัศวินวิจิตรก็เดินเครื่อง!
อัศวินวิจิตรเริ่มงานพร้อมๆ กัน ต้นปี 2526 เริ่มระดมซื้อหุ้นไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตในช่วงที่เหมาะสมเหลือเกินที่แยกตัวออกจากกิจการประกันภัย
สำหรับแบงก์ยุคนั้นยุทธวิธีของอัศวินวิจิตรก็คือการ “แทรก” ตัวเข้าไป
(บ้านเราไม่มีทางจะตั้งใหม่) โดยจับแบงก์ที่เล็กที่สุดก่อน
อัศวินวิจิตรซื้อหุ้นในแหลมทองได้ประมาณ 3 % จากกลุ่มสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์
ผ่านทางวาณิช ไชยวรรณ แห่งไทยประกันชีวิต แต่เนื่องจากแบงก์นี้มีปัญหาขัดแย้งระหว่างสมบูรณ์
กับสุระ ดูไม่รู้จบง่ายๆ อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ จึงยุติการรุกคืบหน้า โดยคงหุ้น
3% ไว้ จนกระทั่งเมื่อปลายปี 2528 ได้ตัดสินใจขายให้สุระ “ก็เพราะราคามันดี”
แหล่งข่าวใกล้ชิดอัศวินวิจิตร กล่าว
ห้วงเวลาเดียวกันนั้นก็มุ่งหน้าไปยังสหธนาคาร ใช้เวลาระดมซื้อตลอดมาทั้งจากตลาดหลักทรัพย์ฯ
จากตระกูลเพ็ญชาติ และแม้กระทั่งจากชลวิจารณ์เอง ถึงต้นปี 2528 อัศวินวิจิตรมีหุ้นในแบงก์นี้ประมาณ
2.7 แสนหุ้นหรือประมาณ 11%
และอีก 3-4 เดือนต่อมา อวยชัยจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการแบงก์สหธนาคาร
ผู้สันทัดกรณีวิจารณ์บทบาทของอัศวินวิจิตรว่า ในด้านแบงก์ยากจะรุกคืบไปได้มากกว่าที่เป็นอยู่
“เพ็ญชาติกับชลวิจารณ์คงไม่ยอมแน่ๆ โดยเฉพาะคุณบรรเจิดประกาศอยู่ตลอดเวลาว่าจะอยู่กับแบงก์นี้ไปตลอดชีวิต
เพราะเขาไม่มีธุรกิจอื่นอีกแล้ว”
ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า จุดมุ่งของอัศวินวิจิตรวันนี้ก็ต้องมาอยู่ที่ไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตแห่งนี้
ที่นี่จะเป็นรากฐานธุรกิจของอัศวินวิจิตรแห่งใหม่!