แสงทองค้าขาวของตระกูลอัศวินวิจิตร มียุทธวิธีทำงานที่ลุ่มลึก สลับการฉาบโฉบอย่างครึกโครมเป็นระยะๆ
จนดันกิจการส่งออกข้าวพุ่งโลดอยู่ในระดับทอปไฟว์… เมื่ออัศวินวิจิตร DIVERSIFIED
เข้าสู่ธุรกิจประกันชีวิต เขาก็ดำเนินแผนอย่างเงียบเชียบ จู่โจมเข้าจับจนมั่น
บริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตวันนี้ถึงจะเล็กที่สุดแต่มีอยาลากรุ๊ฟ เจ้าพ่อธุรกิจใหญ่แห่งฟิลิปปินส์เป็นผู้บริหารงาน
ยิ่งไปกว่านั้นอัศวินวิจิตรกำลังดึงอภิมหาเศรษฐีน้ำมัน-สุลต่านแห่งบรูไน เข้ามาเป็นฐานทางการเงิน…ธุรกิจของอัศวินวิจิตรกำลังจะเปลี่ยนฐานที่มั่นอย่างชัดเจน…
ไทยเศรษฐกิจประกันชีวิต บริษัทที่ประกอบธุรกิจประกันชีวิตรายล่าสุดของเมืองไทย
เพิ่งได้รับอนุญาตให้ดำเนินการเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2526 ตามคำขอของผู้บริหารบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัยที่ต้องการแยกธุรกิจประกันชีวิตออกไปจากธุรกิจประกันภัยที่ดำเนินการอยู่
และก่อตั้งบริษัทอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2526
“ที่ผ่านมาเป็นช่วงสะสางปัญหาเก่าที่ได้รับจากบริษัทเดิม การจัดรูปบริหารใหม่เพิ่งจะเข้ารูปเข้ารอย
และดำเนินธุรกิจตามปกติเมื่อกลางปี 2528 นี้เอง” ผู้บริหารของบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตบอก
“ผู้จัดการ”
นอกจากนี้ยังเป็นบริษัทประกันชีวิตที่เล็กที่สุดใน 12 บริษัทปัจจุบัน จากตัวเลขมกราคม-กันยายน
2528 ไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตได้รับเบี้ยประกันเพียง 1,024,000 บาท และค่าสินไหม
33,000 บาท ในขณะที่ บริษัท เอ.ไอ.เอ.ครองอันดับหนึ่งได้เบี้ยประกันถึง 2,991,023,000
บาท และค่าสินไหม 410,272,000 บาท
บริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตเกิดขึ้นพร้อมกับการขาดทุนที่ติดพันมาจากงานด้านประกันชีวิตของบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย
2,412,728 บาท เพียงดำเนินการอย่างไม่เป็นทางการตามงบบัญชี ณ สิ้นปี 2527
สามารถทำกำไรตีตื้น 194,149 บาท อนาคตน่าจะแจ่มใสไม่เบาทีเดียว
หากจะบันทึกประวัติศาสตร์ช่วงกำเนิดของบริษัทนี้ย่อมแยกไม่ออกจากบทบาทอันสำคัญของบุคคล
3 คน ที่เป็นผู้อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลัง คือ โพธิ์ จรรย์โกมล ศาสตราจารย์บุญชนะ
อัตถากร และอวยชัย อัศวินวิจิตร…
โพธิ์ จรรย์โกมล รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ที่สำคัญเขาเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัยในช่วงที่บริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตแยกตัวออกจากบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย
โพธิ์ เป็นคนเซ็นอนุมัติเองเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2526 หลังจากคำขอนั้นถูก
“ดอง” ถึง 9 เดือน โดยอ้างในหนังสือฉบับนั้นว่ารัฐมนตรีพาณิชย์เห็นชอบในหลักการแล้ว
การอนุมัติครั้งดังกล่าว มีเงื่อนไขที่เป็นสาระสำคัญ 4 ประการ หนึ่ง-ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า
20 ล้านบาท สอง-มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย ไม่น้อยกว่า 75% สาม-กรรมการผู้จัดการและพนักงานระดับบริหารให้ใช้กรรมการชุดปัจจุบันของบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย
และสี่-รับโอนบรรดาทรัพย์สินและความผูกพันที่มีต่อผู้เอาประกันและเจ้าหนี้ของบริษัทในส่วนที่เกี่ยวกับการประกันชีวิตทั้งหมดของบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย
และแล้วโพธิ์ก็โบกมืออำลาเก้าอี้ผู้อำนวยการฯ ไปในเดือนพฤษภาคม 2526 หลังจากบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตได้รับใบอนุญาตอย่างเป็นทางการ
จากเก้าอี้ที่โพธิ์นั่งนานที่สุดถึง 6 ปี นับตั้งแต่หน่วยงานนี้ยกฐานะเทียบเท่ากรม
โพธิ์ ได้ชื่อเป็นผู้อยู่เบื้องหลังคนแรกในการผลักดันให้บริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตเกิดขึ้น
สำหรับผู้ถือหุ้นหรือผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์จากผลประกอบการบริษัทน่าจะระลึกถึงโพธิ์ไม่ลืม
เขาจึงได้บำเหน็จความพยายามนั้นด้วยการเป็น “ที่ปรึกษากรรมการ”
เศรษฐกิจประกันชีวิต
ศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร (อายุ 76 ปี) ประธานกรรมการบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิต ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดของบริษัทนี้
เหตุผลประการแรก-ศาสตราจารย์บุญชนะเป็นตัวแทนของบริษัทข้าวไทยซึ่งถือหุ้นใหญ่
(กว่า 40%) ในบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย กล่าวกันว่าเขาคือบุคคลที่เสนอให้แยกบริษัทฯ
ขณะเดียวกันก็คือผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจนั้นอย่างแท้จริง เมื่อมาที่บริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิต
ศาสตราจารย์บุญชนะก็ยังเป็นตัวแทนบริษัทข้าวไทยและบุคคลที่ยอมรับนับถือที่มีหุ้นในบริษัทใหม่
แม้ว่าตระกูลอัตถากรจะถือหุ้นเพียง 8% ก็ตาม (ณ วันที่ 29 เมษายน 2528)
ที่น่าสังเกต ดูเหมือนจะมีความจงใจชูบทบาทศาสตราจารย์บุญชนะให้สูงเด่น
แม้โฆษณาบางชิ้นในนิตยสารรายเดือนก็กล่าวอย่างภาคภูมิและน่าเชื่อถือว่า “…บริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิต ภายใต้การนำของศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร…” กล่าวได้ว่าเขาเป็นผู้บริหารเพียงคนเดียวที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั้งภาครัฐและเอกชน
นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์งานประกันชีวิตมาไม่น้อย ในฐานะกรรมการบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัยตั้งแต่ปี
2514 และดำรงตำแหน่งนายกกรรมการบริษัทนี้จากปี 2527 จนถึงปัจจุบันอีกด้วย
“ผู้จัดการ” เคยรายงานว่า ธุรกิจประกันชีวิตจะประสบความสำเร็จได้อย่างน้อยต้องประกอบด้วย
2 สิ่งคือภาพพจน์ และฝีมือผู้บริหาร ไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตคงจะได้ภาพพจน์ที่ดีจากภาพศาสตราจารย์บุญชนะไปบ้าง
(อ่าน “ผู้จัดการ” ฉบับที่ 20 เดือนเมษายน 2528)
อวยชัย อัศวินวิจิตร คนนี้วงการค้าข้าวรู้จักเขาดีในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทแสงทองค้าข้าว
(1968) ซึ่งมีบริษัทในเครืออีก 3-4 บริษัท และเป็นผู้ส่งออกข้าวยักษ์ใหญ่ทอปไฟว์ของบ้านเรา
กับวัย 68 ปีของเขา อวยชัย อัศวินวิจิตร ไม่ได้ผ่านไปสูญเปล่า เส้นทางชีวิตของเขาดูจะไม่แตกต่างกับ
“เจ้าสัว” คนอื่นๆ เริ่มต้นจาก “เสื่อผืนหมอนใบ” อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่
จนเป็นเจ้าสัวที่มีเงินระดับพันล้านบาทผ่านมือไปมาไม่ยากเย็นนัก ขณะเดียวกันก็มี
คอนเนกชันกับนักธุรกิจใหญ่และข้าราชการที่มีอำนาจที่แน่นอน แม้กระทั่งเจ้าสัวชิน
โสภณพนิช แห่งแบงก์กรุงเทพก็สนิทสนมกันมาก คงจำกันได้งานเปิดสำนักงานใหม่ของบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตที่อาคารสาทรธานีเมื่อปีที่แล้วนั้น
เจ้าสัวชินมาเป็นประธานตัดริบบิ้นเอง และวันนั้นนายแบงก์ใหญ่ ๆ หลายคนโคจรมาพบกัน
รวมทั้งรัฐมนตรีบางคน งานอย่างนี้ปีหนึ่งมีไม่กี่ครั้งหรอก!
วันนั้นอวยชัย กุลีกุจอ แนะนำฝากเนื้อฝากตัวลูกชาย-กรพจน์ อัศวินวิจิตร
ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิต วัย 29 ปี กับผู้หลักผู้ใหญ่หลาย ๆ
คน
ช่วงเดียวกัน (ต้นปี 2528) อวยชัยถูกกล่าวถึงในคราวเกิด “ศึกสองตระกูล”
ระหว่างชลวิจารณ์กับเพ็ญชาติ ในสหธนาคาร ข่าวว่าอวยชัยเข้ามาหนุนเพ็ญชาติพยายามโค่นอำนาจบริหารแบงก์ของบรรเจิด
ชลวิจารณ์ ที่นั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่มายาวนานเกือบ 30 ปี แต่เหตุการณ์ก็สงบลงเมื่อแบงก์ชาติยื่นมือเข้าไปไกล่เกลี่ย
ซึ่งดูเหมือนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ประมาณ 3 เดือนให้หลัง อวยชัยก็ได้รับตำแหน่งเป็นกรรมการแบงก์สหธนาคารคนที่
10 ในฐานะตัวแทน “อัศวินวิจิตร” ที่ถือหุ้นในแบงก์ถึง 10 %
เขาได้ชื่อว่าเป็นผู้ส่งออกข้าวเพียงคนเดียวที่เป็นกรรมการแบงก์
จะว่าไปแล้วที่ไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตนี่เองคือที่ที่อัศวินวิจิตร diversified
ออกจากธุรกิจค้าส่งออกพืชไร่เป็นครั้งแรก เพราะอัศวินวิจิตรคือผู้ถือหุ้นใหญ่แท้จริงของบริษัทประกันชีวิตนี้
จากการตรวจสอบ “ผู้จัดการ” พบว่ากลุ่มนี้มีหุ้นถึง 45% (29 เมษายน 2528) ในการนี้อวยชัย ส่งลูกชาย “หัวแก้วหัวแหวน” 2 คนเข้าเป็นกรรมการคือธีรพงษ์และกรพจน์
เมื่อ 20 กรกฎาคม 2527 ไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตได้ทำสัญญาการจัดการกับบริษัทอยาลา
อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) เป็นเวลา 5 ปี ตามเงื่อนไขของสัญญา อยาลาจะบริหารและดำเนินธุรกิจทั้งหมด และอยาลาจะได้รับผลตอบแทนเป็นค่าธรรมเนียมเอัตราส่วนร้อยละ..ต่อเบี้ยประกัน ตัวเลขนี้ผู้บริหารไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตขอร้องไม่ให้
“ผู้จัดการ” เปิดเผย
อยาลา อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) คือบริษัทลูกของอยาลากรุ๊ป ซึ่งมี ENRIQUE
ZOBEL เป็นผู้บริหารคนสำคัญของกรุ๊ป ได้แอบมาจดทะเบียนในไทยประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา
แต่ไม่มีบทบาทอะไรเด่นชัด สำนักงานอยู่ที่อาคารเอแอนด์ดี ถนนสีลม พร้อมกันนี้
อยาลากรุ๊ปได้ส่งบริษัทในเครือจากฮ่องกง 4 บริษัท รวมกับในไทยอีก 1 บริษัทถือหุ้น
25 % ในบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิต หรือ 90,000 หุ้นจากจำนวน 360,000 หุ้น
(36 ล้านบาท) ซึ่งประกอบด้วย TISDAL LTD., AYALA INSURANCE HOLDING LTD.,
AYALA INTERNATIONAL (H.K) CO.LTD., A.Z. NOMINEES LTD.
“ตอนขายหุ้นนี้ ผู้ถือหุ้นเดิมขายให้ราคา 200 บาทต่อหุ้นหรือสูงกว่าราคาพาร์
2 เท่า” กรพจน์เคยคุยกับแหล่งข่าว “ผู้จัดการ”
อวยชัยก็คือผู้ที่ชักชวนอยาลากรุ๊ปแห่งฟิลิปปินส์เข้ามา ความจริงข้อนี้ไม่มีใครพูดถึงนัก
แม้อวยชัยจะดู Low Profile แต่ก็มีตำแหน่งทางสังคมหลายตำแหน่ง เขาเป็นอุปนายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศคนที่ 2 กงสุลกิตติมศักดิ์โอมานประจำประเทศไทย และรองประธานหอการค้าฟิลิปปินส์-ไทย
ตำแหน่งสุดท้ายนี้บ่งถึงคอนเนกชันกับฟิลิปปินส์ได้เป็นอย่างดี
ว่ากันว่าเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ฟิลิปปินส์ขาดแคลนข้าว หาซื้อที่ไหนก็ไม่ได้ ได้มาเจรจาซื้อจากพ่อค้าไทยหลายแสนตันแต่ไม่มีใครกล้าขาย
เพราะแอล/ซี ที่เปิดมาจากแบงก์ชาติของฟิลิปปินส์ไม่มีแบงก์พาณิชย์หรือพ่อค้าไทยกล้ารับ
มีแต่แสงทองค้าข้าวโดยอวยชัยเท่านั้นที่กล้าเสี่ยง การกระทำของเขาครั้งนั้นนอกจากจะทำกำไรเป็นกอบเป็นกำแล้ว
ยังสร้างความประทับใจแก่ฟิลิปปินส์อย่างมากๆ
จึงไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า ภายหลังต่อมาอวยชัยได้รู้จักกับ ENRIQUE ZOBEL
แห่งอยาลา กรุ๊ป-ยักษ์ใหญ่ภาคธุรกิจในฟิลิปปินส์ซึ่งมีประวัติยาวนานถึง 150 ปีเป็นอย่างน้อย
คอนเนกชันอันลึกซึ้งกับฟิลิปปินส์ก่อผลดีต่ออวยชัยอย่างต่อเนื่อง เมื่อใดที่ประเทศนี้ต้องการซื้อธัญญาหาร เขาจะนึกถึงแสงทองค้าข้าวเป็นรายแรก บางครั้งแม้จะเปิดประมูลทั่วไป แต่แสงทองฯ
ก็พลิกล็อกชนะเสมอๆ
“คุณอวยชัยใช้ความพยายามเจรจากับ ZOBEL ถึง 5-6 เดือนจึงสำเร็จ”
ผู้รู้เรื่องดีกล่าวถึงบทบาทของอวยชัยในการดึงอยาลามาร่วมทุนในบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิต
ไม่เพียงแต่เท่านี้ อวยชัยกับ ZOBEL กำลังหาลู่ทางลงทุนธุรกิจประกันชีวิตในจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย
เมื่อกลางปีที่แล้ว นิตยสาร ยูโรมันนี่ ร่วมกับแบงก์ระดับใหญ่ของโลกจัดสัมมนาลู่ทางการลงทุนในจีน
ที่กรุงปักกิ่ง มีนักธุรกิจไทยเพียง 3 คนเท่านั้นที่ได้รับเชิญเข้าร่วมสัมมนา
ซึ่งมีอวยชัยรวมอยู่ด้วย (ที่เหลือคือกิตติ ดำเนินชาญวนิชย์ แห่งเกษตรรุ่งเรืองพืชผล ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 สองปีติดกันและตัวแทนค่ายปูนใหญ่)
เขาได้ชื่อว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตคนสำคัญอีกคนหนึ่ง
แต่ก็นั่นแหละอวยชัยไม่ได้ลงแรงเหนื่อยเปล่าเพราะผลที่จะได้ตามมาก็ยังอยู่กับ
“อัศวินวิจิตร” ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดอยู่ดี
ความสำเร็จทั้งหมดนี้ คนที่อวยชัยจะลืมเสียไม่ได้ก็มีอย่างน้อย 2 คน
คนแรก ศาสตราจารย์บุญชนะ ผู้ซึ่งเกื้อกูลกันมานานตั้งแต่สมัยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐการและครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่สำคัญมาก
ส่วนอีกคนคือ วัลลภ เคียงศิริ ที่เทหุ้นของตระกูลเคียงศิริทั้งหมดในเวลาต่อมาให้กับอัศวินวิจิตรมีอำนาจชี้ขาดในไทยเศรษฐกิจประกันชีวิต
“เคียงศิริมีธุรกิจใหญ่อยู่แล้ว ย่อมไม่มาพะวงกับบริษัทประกันชีวิตเล็ก ๆ ที่เกิดใหม่” ผู้สันทัดกรณีวิเคราะห์กัน
ปัญหาเผชิญหน้าของกลุ่มอัศวินวิจิตรจากนี้ไป มีเพียงประการเดียว คือการระดมทุนเพื่อขยายกิจการและสร้างความมั่นคง เพราะในการประชุมตั้งบริษัทเมื่อ 2 กันยายน 2526 นั้นได้มีมติพิเศษเพิ่มทุนจาก 30 ล้านบาทเป็น 100 ล้านบาทภายในเวลา 5 ปี ขณะนี้ผ่านไปแล้วครึ่งทางแล้วเพิ่งระดมได้ 36 ล้านบาท ก็ยังห่างไกลเป้าหมายมากทีเดียว อัศวินวิจิตรยังต้องลุ้นหนักต่อไป
เงื่อนไขในการตั้งบริษัทอีกประการหนึ่งบังคับไว้ว่าผู้ถือหุ้นไทยต้องครอบครองหุ้นไม่ต่ำกว่า
75 % ซึ่งอยาลาได้ใช้สิทธิ์นี้เต็มที่แล้ว เพียงแต่อวยชัยต้องเจรจาให้รักษาสัดส่วนนี้ต่อไป
จำนวนเงินก็ไม่มากมายอะไรประมาณ 16 ล้านบาทเท่านั้น คงไม่เป็นปัญหาสำหรับอยาลา
อยาลากรุ๊ปเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในฟิลิปปินส์ ธุรกิจหลักได้แก่
Real Estate เป็นเจ้าของพลาซ่าใหญ่ที่สุดในมะนิลา เจ้าของแบงก์ใหญ่อันดับสอง
แต่ในปี 2521 กลุ่มนี้แตกตัวครั้งใหญ่ แยกสินทรัพย์ออกเป็น 2 ส่วน คือ ธุรกิจในฟิลิปปินส์
อาทิ Real Estate อุตสาหกรรมเบียร์ ผู้บริหารคือ ZOBEL DE AYALA กับกลุ่มต่างประเทศ นำโดย
ENRIQUE ZOBEL ซึ่งมีบริษัทอยาลา อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศไลบีเรียเป็นแกน
โดยมุ่งลงทุนในธุรกิจประกันภัย และธนาคารเป็นหลัก
สำหรับประเทศไทยอยาลาเคยมีบทบาทเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทซียูแอลประกันชีวิต
ซึ่งต่อมาได้ขายหุ้นให้กับ จอร์จ ตัน ก่อนที่แคร์เรียนจะล้มไป เมื่อเร็วๆ
นี้อยาลาได้จับมือ MARRILL LYNCH ยักษ์ใหญ่โบรกเกอร์สหรัฐฯ บุกเอเชีย ทำธุรกิจที่ปรึกษา
และ Real Estate มีสำนักงานอยู่ที่สิงคโปร์ “กลุ่มนี้กำลังสนใจทำธุรกิจ
Sport Club ในไทยด้วย” แหล่งข่าวในวงการ Sport Club แย้มๆ ให้ “ผู้จัดการ”
ฟัง
นอกจากนี้ ZOBEL ยังเป็นประธาน ISLAND DEVELOPMENT BANK (IDB.) ที่บรูไนในฐานะผู้ถือหุ้น
20% อีก 20%เป็นหุ้นของ DAI-ICHIKANGYO BANK แบงก์ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของ
IDB. คือน้องสาวสุลต่านแห่งบรูไน ชื่อ RASHIDAH ซึ่งถือหุ้นถึง 60%
สุลต่าน ฮัสซัน โบเกียร์ แห่งบรูไนนั้นว่ากันว่าชอบเมืองไทยมาก เดินทางมาเที่ยวอย่างเงียบๆ
ปีละหลายครั้ง และได้ชื่อว่าสนใจธุรกิจเป็นพิเศษ
ห้วงเวลาที่ผ่านมา สุลต่านโบเกียร์ถูกขนานนามว่าเป็นเจ้าบุญทุ่มมือหนักในตลาดหุ้นและวงการ
Real Estate เมื่อต้นปี 2528 มีข่าวซื้อกิจการโรงแรมเก่าที่อังกฤษ ขณะนี้ลือกันว่ากำลังกว้านซื้อทองคำขนานใหญ่จนราคาวูบวาบ
เมื่อถึงตรงนี้อวยชัยจึงไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจจะเจรจาชักชวน IDB. มาถือหุ้นในไทยเศรษฐกิจประกันชีวิต
เพราะจำนวนเงินดังกล่าวเล็กน้อยเหลือเกินสำหรับสุลต่านอภิมหาเศรษฐีแห่งบรูไน
และที่แน่ๆ ZOBEL เพื่อนที่แสนดีก็หนุนอยู่เต็มตัวอีกด้วย
อวยชัยมีเหตุผลอย่างน้อย 2 ข้อในการใช้ความพยายามครั้งนี้
หนึ่ง-IDB. เข้าร่วมก็หมายถึงสุลต่านบรูไนเข้าร่วม ภาพพจน์ของไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตจะดีขึ้น
เป็นภาพที่มั่นคงยากจะคลอนแคลน
สอง-คอนเนกชันกว้างออกไป เรื่องอย่างนี้อวยชัยสายตายาวเสมอ “ในอนาคต
คุณอวยชัยอาจจะขอร้องให้สุลต่านมาถือหุ้นในสหธนาคาร หรือแม้กระทั่งให้กู้เงินก้อนเล็กๆ
สักก้อนมาถมหุ้นในไทยเศรษฐกิจฯ”
ทั้งไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตและประกันภัย!
ข่าวล่าสุด (ขณะเขียนต้นฉบับ 5 กุมภาพันธ์ 2529) บริษัทข้าวไทย ผู้ถือหุ้นกว่า
40% ของไทยเศรษฐกิจประกันภัย (162,858 หุ้น) ได้มอบหมายให้โพธิ์ จรรย์โกมล
กรรมการคนหนึ่ง เร่ขายหุ้นให้กับผู้สนใจ แน่ละ ต้องเป็นเอกชน ตามข่าวจะขายหุ้นละ
144.2 บาท ซึ่งนับว่าเป็นราคาไม่แพงเลย!
ในบรรดาผู้ที่ “วิ่งเต้น” ขอซื้อหุ้นจำนวนดังกล่าว อีกนัยหนึ่งก็คือ
ใครสามารถกว้านซื้อจำนวนดังกล่าวได้ทั้งหมดก็เรียกว่า “เทกโอเวอร์”
ย่อมมีอัศวินวิจิตรอยู่อย่างแน่นอน บางกระแสข่าวระบุว่ามีสูตรสำเร็จอยู่แล้ว
ก่อนที่โพธิ์จะเสนออาสาเร่ขายหุ้นวงในรู้กันดีว่า คอนเนกชันกับอัศวินวิจิตรนั้นล้ำลึกเพียงใด
อวยชัยดูเหมือนจะวางแผนการนี้ไว้เนิ่นนาน ราวกับจะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับบริษัทข้าวไทย
ตรงนี้จึงสรุปได้ไม่ยากว่าการมาของ IDB. ที่สำคัญอยู่ที่บริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย
เงินเพียง 24 ล้านบาท สำหรับสุลต่านบรูไนนับว่าเล็กน้อย แต่มีความหมายอย่างมากๆ
สำหรับอัศวินวิจิตร รายงานข่าวระบุว่าสุลต่านพยักหน้า “เอายังไงก็เอากัน”
แค่นี้อัศวินวิจิตรก็ยิ้มออก!