|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
หนึ่งในแนวคิดในการบริหารธุรกิจที่ไม่เหมือนใคร และคงไม่มีใครเหมือนได้ คิดค้นโดย 2 ผู้บริหารแฝดในธุรกิจอีเวนต์ เกรียงกานต์ และเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ พาองค์กรเดินหน้า ในชื่อ Spider Web Strategy ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อปีที่ผ่านมา วันนี้ใยแมงมุมของพี่น้องเมฆ-หมอก เริ่มขยายโครงข่ายให้ได้เห็นแล้ว
Spider Web Strategy คือการบริหารองค์กรด้วยการขยายขอบข่ายธุรกิจให้กว้างออกไป แต่ทุกธุรกิจล้วนมีความเชื่อมโยงไปกับธุรกิจเดิม บนพื้นฐานการคิดในแบบ Digital Thinking เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นจากวิชั่นของสองพี่น้องที่เล็งเห็นว่า ธุรกิจอีเวนต์ที่เป็นแกนหลักของอินเด็กซ์ฯ ได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว การจะยืนหยัดรักษาภาพของความเป็นผู้นำในธุรกิจอีเวนต์ โดยไม่คิดจะก้าวขาออกไปหาธุรกิจใหม่ๆ คือ การเปิดประตูรับความถดถอยขององค์กร แต่การขยายธุรกิจใหม่ๆ ที่จะยืนยันโอกาสความสำเร็จได้นั้น ก็จำเป็นที่จะต้องเป็นธุรกิจที่เชื่อมโยงมาจากธุรกิจที่อินเด็กซ์ฯ มีอยู่เดิม
ในปีที่ผ่านมา Spider Web Strategy เริ่มนำอินเด็กซ์ กางโครงข่ายออกไปจากธุรกิจอีเวนต์ไปสู่ธุรกิจสื่อสารการตลาดด้านอื่น ๆ ทั้งธุรกิจโฆษณา, ธุรกิจนิวมีเดีย ทั้งออนไลน์ โมบาย และอินเตอร์แอคทีฟ มีเดีย รวมไปถึงธุรกิจ Personal Branding ทำรายได้ผนวกกับการรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจอีเวนต์ที่รักษาการเติบโตไว้ อย่างต่อเนื่อง แม้ตลาดรวมจะมีมูลค่าลดลง ทำให้อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ ปิดงบปี 2551 ด้วยรายได้ 1,505 ล้านบาท เติบโตถึง 11%
ในปีนี้แนวโน้มการเติบโตของอินเด็กซ์ฯ กลับยิ่งสดใสกว่า เพราะเพียงแค่โปรเจ็กต์ Thailand Pavilion ในงานเวิล์ดเอ็กซ์โป 2010 ที่เมืองเซียงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ทำรายได้ก้อนใหญ่ให้แล้ว แต่ Spider Web Strategy กลับทำให้ Thailand Pavilion เป็นเครื่องมือในการขยายโครงข่ายธุรกิจตามมาอีกมหาศาล นับตั้งแต่การจับมือกับบริษัททัวร์สตาร์บริดจ์ ของสาธิต ยุวนันทการุญ เป็นเอเยนซีจัดนำเที่ยวงานเวิลด์เอ็กซ์โปในครั้งนี้ ไปจนถึงการรับเป็นตัวแทนจำหน่ายบัตรเข้าชมงานเวิล์ดเอ็กซ์โป จากรัฐบาลจีนแต่ผู้เดียวในเมืองไทย และจับมือกับโทเทิล รีเซอร์เวชั่น ในการจำหน่ายในเมืองไทย ที่ลงนามกันมาตั้งแต่ปีก่อน ก็น่าจะส่งดอกออกผลได้ในปีนี้
แต่ Spider Web Strategy ที่มีงานเวิลด์เอ็กซ์โปเป็นศูนย์กลาง ไม่ได้ขยายโครงข่ายธุรกิจไปเพียงแค่นั้น หนึ่งในไฮไลต์สำคัญที่จะดึงดูดให้ผู้เข้าชมงานจากทั่วโลก เดินเข้าสู่ Thailand Pavilion คือเจ้าหุ่นยนต์ยักษ์ตัวเขียว อินทรชิต ที่ผลิตโดยบริษัทโคโรโร่ ผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบผลิตหุ่นยนต์ งานเอนิเมทรอนิกส์ ในเครือซานริโอ้ เจ้าของคาแรกเตอร์การ์ตูนคิตตี้ที่โด่งดังไปทั่วโลกจากประเทศญี่ปุ่น กลายเป็นที่มาของการขยายโครงข่ายธุรกิจแรกภายใต้เป้าหมาย 10 โครงการธุรกิจใหม่ ในปีนี้ ของอินเด็กซ์
เกรียงไกร กาญจนะโภคิน หนึ่งในประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ กล่าวว่า ธุรกิจแรกของปีนี้ ที่อินเด็กซ์ฯ เปิดตัว เป็นความร่วมมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างอินเด็กซ์ฯ และโคโรโร่ ในการนำองค์ความรู้ในด้านการพัฒนาหุ่นยนต์ ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ที่โดดเด่นของอินเด็กซ์ มารุกตลาดในการทำพิพิธภัณฑ์มีชีวิต หรือ Live Museum ในประเทศไทย
'ประเทศไทยถือว่ามีพิพิธภัณฑ์มากที่สุดในโลก ทั้งพิพิธภัณฑ์ของรัฐ, พิพิธภัณฑ์เอกชน และที่มีมากที่สุดคือพิพิธภัณฑ์ในท้องถิ่น แต่น่าเสียดายที่ส่วนใหญ่ถูกปล่อยทิ้งไว้ ไม่สามารถดึงดูดให้ประชาชนเข้าชมได้ รวมถึงไม่มีระบบการจัดการที่ดี แต่การที่นโยบายของภาครัฐ โดยกรมศิลปากร มีโครงการที่จะทุ่มงบหลายร้อยล้านบาทในการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศให้ มีชีวิตสามารถสร้างรายได้ได้ เราจึงเห็นโอกาสในธุรกิจนี้ ซี่งความจริงแล้วก็ไม่ได้ถือเป็นธุรกิจใหม่ เพราะอินเด็กซ์ฯ ก็เคยทำงานในลักษณะนี้อยู่บ้าง แต่ไม่ได้โฟกัส เมื่อได้โคโรโร่ ที่มีโนว์ฮาว เทคโนโลยี และโปรไฟล์มากมายมาร่วม จึงถือเป็นโอกาสที่เราจะรุกอย่างเต็มตัว'
โดยแนวคิดในการทำพิพิธภัณฑ์มีชีวิตของอินเด็กซ์ฯ คือ การนำเทคโนโลยี สื่อมัลติมีเดีย และการครีเอทเข้าไปปรับปรุงให้พิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมมีความน่าสนใจ มีการให้หุ่นยนต์มาเป็นจุดดึงดูด มีระบบการจัดการที่สามารถสร้างรายได้ให้คุ้มกับการลงทุน และมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดผู้ชมด้วย
ด้านฮิโร นิชิโม Area Manager of Asia บริษัท โคโรโร่ จำกัด จากประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า แนวคิดในการสร้างหุ่นยนต์เพื่อโชว์ในงานต่างๆ ของโคโรโร่ ไม่ได้ทำเพียงแค่อะนิเมชั่นโชว์ แต่ต้องเป็นไลฟ์โชว์ที่มีเรื่องราวสร้างความน่าสนใจ ในส่วนของการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ก็เช่นเดียวกัน พิพิธภัณฑ์ไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่ให้ความรู้ แต่ต้องสามารถสร้างความน่าสนใจ ดึงดูดให้ประชาชนเดินทางมาชมได้ เพราะในวันนี้ความรู้สามารถหาได้จากสื่อใหม่ๆ อย่างอินเทอร์เน็ตได้ไม่ยาก
'การร่วมมือกับอินเด็กซ์ฯ ที่มีความเป็นมืออาชีพในธุรกิจอีเวนต์อันดับ 1 ของประเทศไทย และเป็นอันดับ 9 ของโลก สร้างผลงานที่มีความโดดเด่นด้านงานครีเอทีฟ และการบริหารธุรกิจด้วยกลยุทธ์แปลกใหม่ ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถนำองค์ความรู้ด้านการผลิตหุ่นยนต์ของโคโรโร่ มาขยายช่องทางต่อยอดธูรกิจ เสริมแต่งไอเดียอย่างสร้างสรรค์ ด้วยสื่อและเครื่องมือด้านการตลาดที่เหมาะสม'
เกรียงไกรกล่าวว่า ธุรกิจพิพิธภัณฑ์มีชีวิตนี้ วางเป้าหมายที่จะรุกทั้งในส่วนของการสร้างพิพิธภัณฑ์ใหม่ และการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่แล้ว แต่ทั้งหมดจะต้องอยู่ภายใต้โครงการของภาครัฐ อินเด็กซ์ฯ ไม่มีแนวคิดในการลงทุนสร้างพิพิธภัณฑ์เอง โฟกัสแต่การรับปรับปรุง พัฒนา สร้างชิ้นงาน รวมถึงการบริหารการจัดการ ทำประชาสัมพันธ์ สร้างจำนวนผู้ชมให้เหมาะสมกับสถานที่ แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธุรกิจนี้ตนมองเป็นธุรกิจระยะยาวที่แม้จะเริ่มวางแผนแล้วในขณะนี้ แต่กว่าจะเห็นผลงานอย่างเร็วก็คงต้องเป็นปีหน้า แต่มั่นใจว่า จะเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล เพราะจะมีหลากหลายหน่วยงานที่มีพิพิธภัณฑ์อยู่ในการดูแล เป็นลูกค้าเป้าหมาย
และนี่คือโครงข่ายใยแมงมุมเส้นแรก ใน 10 เส้น ที่อินเด็กซ์ฯ จะขยายออกในปีนี้ เมื่อรวม 10 โปรเจ็กต์ธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ผนวกกับอีก 14 ธุรกิจเดิมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอีเวนต์ และสื่อสารการตลาด เกรียงไกรมั่นใจว่า สิ้นปี 2533 จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,800 ล้านบาท แน่นอน
|
|
|
|
|