จริง ๆ แล้วถ้าจะวิเคราะห์กันให้ถึงแก่นก็ต้องยอมรับกันว่ารากฐานของความเป็นมาของธนาคารกรุงไทยนั้น
ได้เกิดขึ้นมาอย่างทุลักทุเลบนสภาวะของธนาคาร 2 แห่งที่ใกล้จะล้ม คือธนาคารเกษตรและธนาคารมณฑล
การรวม 2 ธนาคารเข้าด้วยกันนั้นเป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนั้น แต่จากการที่ทั้ง 2 ธนาคารเคยล้มเหลวมาเพราะผู้บริหารคนก่อนทำกัน
ทำให้รัฐบาลซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาก็มักจะแก้ปัญหาด้านการสร้างปัญหา
ด้วยความที่ต้องการจะล้อมคอกเมื่อวัวหาย ก็เลยล้อมเสียอย่างแน่นหนา และนี่ก็เป็นวิธีการทำงานของระบบราชการไทย
เมื่อเป็นเช่นนี้แทนที่จะจัดตั้งระบบที่มันยืดหยุ่นเพื่อให้การบริหารธนาคารเป็นไปเพื่อขยายฐานของธนาคารกรุงไทยให้กว้างขึ้น
คณะกรรมการของธนาคารกรุงไทยยุคนั้นก็เลยเริ่มต้นด้วยตัวแทนจากหน่วยงานราชการทั้งสิ้น
และการปฏิบัติงานก็เป็นไปในลักษณะของการระมัดระวังตัวจนเกินไป เลยมีการจำกัดอำนาจของกรรมการผู้จัดการที่เข้มงวดพอสมควร
บางคนก็อาจจะเถียงว่านี่ขนาดจำกัดอำนาจกันขนาดนี้ยังมีปัญหาที่ใหญ่ขนาดนี้ ถ้าไม่จำกัดอำนาจกันจะขนาดไหน?
ซึ่งก็เพราะมีการจำกัดอำนาจกันหนักหนาแบบนี้ก็เลยทำให้ตัวองค์กรของธนาคารกลายเป็นเพียงเครื่องจักรชิ้นหนึ่งที่ทำเรื่องทำราวใส่พานส่งไปให้
คณะกรรมการเองก็ไม่ได้มีประสบการณ์หรือมีความรู้ความชำนาญในเรื่องการธนาคาร ก็ต้องเออออห่อหมกไปตามเรื่องตามราว
ฉะนั้นปัญหาที่กรุงไทยประสบอยู่ในขณะนี้แท้ที่จริงแล้วก็คือ ปัญหาที่คณะกรรมการต้องรับผิดชอบกันทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อโรงงานสับปะรดของ เสธ.พล เริงประเสริฐวิทย์ หรือกลุ่มศรีกรุงของสว่าง
เลาหทัย หรือของสุระ จันทร์ศรีชวาลา ซึ่งคณะกรรมการจะบอกไม่รู้ไม่ได้ เพราะอำนาจของตามใจไม่ได้มีมากขนาดนั้น
ในมุมกลับถ้ามีการกระจายอำนาจกันลงมาและคณะกรรมการก็ใจกว้าง สามารถจะสร้างระบบที่ใช้เป็นลักษณะ
collective decistion making กันได้และการเสนอขึ้นไปสู่คณะกรรมการให้ต้องมานั่งตามจดตัดสินใจกันเองก็คงจะน้อยลง
จริง ๆ แล้วธนาคารกรุงไทยนั้นถึงจะอยู่ในระบบที่เป็นของราชการ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำอะไรไม่ได้เลย
เพราะทั้งหมดแล้วขึ้นอยู่กับคณะกรรมการของธนาคารเท่านั้นที่จะแก้ไขและเปลี่ยนแปลงกฎและระเบียบต่างๆ
ได้