ดวงตราของธนาคารกรุงไทยหรือเรียกทับศัพท์ว่า “โลโก” เป็นรูปนกที่รู้จักกันดีในชื่อของ
“นกวายุภักษ์” หรือเป็นโลโกที่ยืมมาจากกระทรวงการคลัง เช่นเดียวกันกับสำนักงานสลากกินแบ่ง
กรมสรรพสามิต กองกษาปณ์ และกรมบัญชีกลาง
เหตุที่ต้องยืมโลโกของกระทรวงการคลังมาใช้ก็เนื่องจากชื่อของธนาคารกรุงไทยเป็นชื่อใหม่เพราะเกิดจากการควบธนาคารมณฑลและธนาคารเกษตร
2 ธนาคารที่มีปัญหาเข้าด้วยกัน โดยมีกระทรวงการคลังเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ในเมื่อเป็นธนาคารพาณิชย์แรกที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ไม่น่ารังเกียจรังงอนอะไรที่จะใช้โลโกแบบเดียวกัน
ดีเสียอีกจะได้เป็นยันต์กันผีช่วยยืนยันให้ประชาชนมั่นใจในแบงก์ใหม่เพิ่มขึ้น
แบงก์สยามก็มาในอีหรอบเดียวกัน นี่แหละเพราะโลโกชื่อย่อตัว “เอส”
ดูยังไงก็หนีไม่พ้นนกพันธุ์เดียวกัน
ทีนี้มาว่ากันถึงที่มาของดวงตรานกวายุภักษ์กันสักหน่อย เพราะข้องใจสงสัยมานานเต็มทีแล้วว่าเอามาจากไหน
ตามหนังสือที่ระลึกพิธีเปิดธนาคารกรุงไทยเมื่อปี 2525 เขียนไว้ดังนี้
“ตรานกวายุภักษ์นี้เริ่มใช้กันมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด
มีผู้กล่าวเป็นตำนานต่อ ๆ กันมาว่านกชนิดนี้เป็นนกที่บินอยู่สูงจนไม่มีใครเคยเห็นตัว
ได้ยินแต่เสียงร้องซึ่งไพเราะจับใจ การบินอยู่สูงจึงกล่าวกันว่านกนี้มีลักษณะคล้ายนกการเวกซึ่งมีเสียงร้องไพเราะจับใจเช่นกัน”
หนังสือเล่มเดียวกันนี้ยังบอกอีกว่า กระทรวงการคลังได้ใช้ตรานกวายุภักษ์เป็นตราประจำของกระทรวงการคลังเรื่อยมา
(แต่ไม่บอกว่าเมื่อไหร่) จนกระทั่งปัจจุบัน
เหตุที่ “ผู้จัดการ” สงสัยก็เนื่องจากการเลือกใช้ดวงตราวายุภักษ์เป็นเครื่องหมายของกระทรวงการคลังนั้นดูไม่สู้มีเหตุผลเกี่ยวเนื่องกับงานของกระทรวงการคลังเท่าไร
ไม่เหมือนอย่างตราราชสีห์ของกระทรวงมหาดไทย ตราชูของกระทรวงยุติธรรม ฯลฯ
ดูแต่เมื่อครั้งมีการตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย โลโกที่ใช้ผู้ใหญ่สมัยนั้นยังคิดกันแล้วคิดกันอีก
ก่อนที่จะตกลงใช้ดวงตราเป็นรูปพระสยามเทวาธิราช โดยดัดแปลงจากรูปทรงจริงในท่าประทับยืนมาเป็นประทับนั่งถือถุงเงินและคทากร
ทั้ง ๆ ที่แบงก์ชาติยุคก่อตั้ง ผู้ใหญ่เกือบทั้งหมดก็มาจากกระทรวงการคลัง และความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานก็จำต้องใกล้ชิดประสานกัน
จะเอาดวงตรานกวายุภักษ์มาใช้ก็ไม่น่าแปลกอะไร เหตุที่ไม่ใช้ถ้าจะให้เดาก็คงเห็นว่าตรานกวายุภักษ์นั้นไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องเงินเรื่องทอง