ถ้าถามคนหลาย ๆ คนว่าเวลาเอ่ยชื่อ ตามใจ ขำภโต เขาจะคิดถึงอะไรก่อน ก็คงได้รับคำตอบไปคนละทิศละทาง แต่ที่น่าจะตรงกันก็คือเรื่อง “หนวด” และ “เสียง” ที่แหบพร่าอันเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว
ในบรรดานักธุรกิจที่มีเอกลักษณ์ด้วยการไว้หนวดที่โด่งดังเป็นที่รู้จักกันดี ก็เห็นจะเริ่มจากบุญชู
โรจนเสถียร (ตอนนี้โกนหนวดแล้ว) และบรรดาสานุศิษย์ใกล้ชิดในกลุ่มพีเอสเอ
ได้แก่ พร สิทธิอำนวย และสุธี นพคุณ เรียกว่าถ้าเอามานั่งเรียงแถวกันก็แทบจะคล้ายมนุษย์ใหม่-พันธุ์นักบริหารมืออาชีพ
ใส่แว่นกรอบเหลี่ยม ไว้หนวดเรียวเหมือนกันเด๊ะ
แต่หากจะสังเกตดูให้ดีแล้ว หนวดของบุญชูและพวกเป็นหนวดที่ได้รับการดูแลตกแต่งเป็นอย่างดี
ส่วนของตามใจ ขำภโต นั้นจะปล่อยให้ยาวห้อยย้อยจนกระทั่งคลุมริมฝีปากด้านบน
การไว้หนวดแบบนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านนรลักษณ์ศาสตร์ (โหงวเฮ้ง) ชี้แจงว่าเป็นการไว้หนวดเป็นรูปเลขแปดจีนหรือ
“โป๊ยหยีชิว” เข้ามากันตำแหน่ง “ผี่คะเฮียง” คือปลายจมูกเหินรั้น
อำนาจหรือเงินทองจะรั่วไหล จึงต้องไว้หนวดเป็นเลขแปดจีนเป็นทำนบกั้น
อีกลักษณะหนึ่งที่เป็นจุดเด่นของตามใจ ขำภโต ก็คือน้ำเสียงที่แหบพร่าเหมือนตัวดาร์ธ
เวเดอร์ ในหนังเรื่องสตาร์วอร์ ซึ่งเป็นจุดด้อยสำหรับโหงวเฮ้ง เพราะผู้นำที่ดีนั้นจะต้องมีเสียงดังกังวานหรือ
“ตังฉั่งลัก” เป็นเสียงที่มีอำนาจ ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเหตุนี้หรือเปล่า
ทำให้เกือบตลอดชีวิตของตามใจ ขำภโต จำต้องหาหลักเกาะจากผู้มีอำนาจอยู่เสมอ
ไม่ทางด้านการเมืองก็ด้านการทหาร
และมีอีกคำถามหนึ่งที่น่าสนใจก็คือตามใจ ขำภโต เป็นอะไรกันแน่ ระหว่างนักบริหารมืออาชีพกับนักการเมือง
ในเมื่อบทบาทที่แท้จริงของเขาในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา คือแบงเกอร์ ในธนาคารของรัฐ
แต่ขณะเดียวกันกลับถูกกล่าวขวัญถึงราวกับเป็นนักการเมืองคนหนึ่ง ไม่เหมือนนายแบงก์ของรัฐคนอื่น ๆ
ไม่ว่าจะเป็น จำลอง โต๊ะทอง หรืออย่างดุษฎี สวัสดิ-ชูโต มีภาพพจน์ที่ต่างกันออกไป
อดีตของการเป็นนักเรียนที่สอบได้ที่หนึ่งของประเทศไทย เป็นเครื่องรับประกันอย่างดีสำหรับระดับสติปัญญาของตามใจ
ยิ่งไปจบปริญญาตรี-โท จากมหาวิทยาลัยโตเกียว สาขาวิศวกรรมศาสตร์ พ่วงเข้ามาอีกก็คงไม่ต้องบอกแล้วว่าคนคนนี้ มีสมองเฉียด ๆ ขั้นอัจฉริยะเลยทีเดียว
และประเทศไทยยังมีนักธุรกิจที่จบจากมหาวิทยาลัยโตเกียวอีกคนหนึ่งในสาขาชีววิทยาเมื่อปี
2503 ชื่อว่า พร สิทธิอำนวย ซึ่งในปีนั้นตามใจ ขำภโต อายุได้ 24 ปี (พร อายุ
19) จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ทั้งคู่เริ่มรู้จักกันมาตั้งแต่สมัยยังเรียนด้วยกันที่ญี่ปุ่น?
พอกลับเมืองไทยตามใจก็เข้าทำงานที่สำนักงานพลังงานแห่งชาติ ทำได้ไม่นานก็ลาออกมาเป็นกรรมการผู้จัดการทั่วไปของบริษัทกระจกไทยอาซาฮี ที่มีตระกูล
“อดิเรกสาร” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่ง
มองประวัติชีวิตของตามใจ ขำภโต ในช่วงนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาเป็นเพียงแค่นักบริหารมืออาชีพคนหนึ่งที่ทำมาหากินโดยอิงกับวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมา
จุดหักเหสำคัญในชีวิตมาถึงเมื่อปี 2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี
โดยมีบุญชู โรจนเสถียร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกรุงไทยก็ว่างลง เนื่องจากเกื้อ สวามิภักดิ์ ลาออก
“คุณบุญชูท่านมีความคิดว่ารัฐวิสาหกิจหรือประเทศควรจะมีการบริหารแบบเดียวกับธุรกิจเอกชน
ฉะนั้นรัฐวิสาหกิจทั้งหลายท่านก็พยายามเน้นหรือต้องการนักธุรกิจภาคเอกชนที่มีความสามารถเข้ามาทำงาน
คุณตามใจก็เป็นคนหนึ่งที่อยู่ในข่ายพิจารณา และเมื่อเจรจาตกลงกันได้คุณตามใจก็เข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการเมื่อเดือนธันวาคม
2518” พนักงานเก่าแก่ของแบงก์กรุงไทยเล่าให้ฟัง
ถึงตอนนี้ก็อาจยังสรุปไม่ได้ว่าตามใจ ขำภโตเริ่มถูกอิทธิพลการเมืองเข้าครอบงำโดยสายของบุญชู
โรจนเสถียร แห่งพรรคกิจสังคม เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริงจะอธิบายได้อย่างไรว่า
เมื่อปี 2520 ที่มีรัฐบาลของธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ชอบหน้าบุญชูหรือพรรคการเมือง ไม่ว่าหน้าไหน
คงไม่ยอมต่อสัญญาให้ตามใจ ขำภโต เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่อีก 4 ปี เป็นแน่
หรือถ้าจะมองในมุมกลับก็อาจจะเป็นได้ว่าตามใจ ขำภโต เริ่มสำแดงฝีมือเดินหมากกลทางการเมืองได้อย่างแยบยลจนทำให้ฝ่ายรัฐบาลขวาจัดตอนนั้นไว้วางใจว่าไม่เป็นภัยต่อตัวเอง
ซึ่งต่างกับอำนวย วีรวรรณ ปลัดกระทรวงการคลัง ที่เพียงแค่ใกล้ชิดและเป็นคนที่บุญชูแต่งตั้งให้เป็นปลัดกระทรวงการคลัง ยังต้องถูกสั่งพักราชการ
(ผู้จัดการ ฉบับที่ 1) อย่างไม่มีสาเหตุชัดเจน
พอถึงปี 2523 กิจสังคมเข้าร่วมกับรัฐบาลเปรม 1 บุญชู โรจนเสถียร เข้าร่วมกับนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ
ตามใจก็ถูกเรียกมาช่วยงานอีกในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยควบไปกับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย
นั่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ได้ไม่ถึงปีเจอหนังสือพิมพ์ตีเละ ทั้งเรื่องการนั่ง
2 เก้าอี้และการสั่งน้ำตาลทรายเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาน้ำตาลขาดตลาด ตามใจก็โบกมืออำลากลับไปอยู่กรุงไทยที่เดียว โดยได้รับการต่อสัญญาอีก
5 ปี เป็นรางวัลปลอบใจ
กาลเวลาผ่านไป บารมีของบุญชู โรจนเสถียร ถึงยุคถดถอยทั้งเชิงการเมืองและธุรกิจอย่างที่ทราบกันดี ในขณะที่พลเอกอาทิตย์
กำลังเอก ได้ก้าวขึ้นสู่จุดสุดยอดของชีวิตข้าราชการทหาร คือได้เป็นทั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบก
ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ทรงอิทธิพลยิ่งของการเมืองไทยทุกสมัย
ตามใจ ขำภโต อดีตนักรักบี้ของทีมมหาวิทยาลัยโตเกียว ก็เริ่มเป็นข่าวว่าหันมาสนใจกีฬาแบดมินตันอย่างเอาจริงเอาจัง
และลงสนามประลองฝีมือกับพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ที่ชอบกีฬาประเภทนี้อยู่บ่อยๆ
ซึ่งทักษะในเรื่องการตีแบดมินตันนั้นตามใจเรียนรู้ที่บ้านพักอยู่สบายที่หัวหินของบุญชู
โรจนเสถียร อยู่พักหนึ่งในทุกวันหยุด
ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ยิ่งใหญ่แห่งกองทัพไทยกับผู้ยิ่งใหญ่ของแบงก์กรุงไทยมาชัดเจนเอาเมื่อวันเพ็ญคืนลอยกระทง
วันที่ 7 พฤศจิกายน 2527 ตามใจ ขำภโต ก็บินด่วนไปที่โคราชเพื่อช่วยโค้ชพลเอกอาทิตย์
กำลังเอก เมื่อครั้งที่ท่านไม่เห็นด้วยกับการลดค่าเงินบาท ที่สมหมาย ฮุนตระกูล
ประกาศตูมเดียว 14.8 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ (ผู้จัดการฉบับที่
15)
แม้เหตุการณ์ในครั้งกระนั้นจะคลี่คลายไว้ด้วยความสงบ แต่สำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
สมหมาย ฮุนตระกูล แล้ว การกระทำของตามใจ ขำภโต เท่ากับไม่ไว้หน้าเจ้ากระทรวงที่ถือหุ้นอยู่ในธนาคารกรุงไทยกว่า
92 เปอร์เซ็นต์เลยแม้แต่น้อย
เรื่องแบบนี้มีหรือที่รัฐมนตรีคลังผู้มีสมญานามว่า “ซามูไรบ้าเลือด”
จะยอมให้ผ่านไปง่าย ๆ ข่าวลือจึงออกมาเป็นระลอกว่าจะมีการปลดตามใจ ขำภโต ออกจากตำแหน่งก่อนที่จะมีอายุงานครบสัญญา
แต่ซามูไรที่ลับไว้อย่างคมกริบก็ได้แต่เงื้อแล้วเงื้ออีก ไม่ยอมฟันสักทีเพราะถ้าฟันไปแล้วคนที่โดนคงไม่ใช่ตามใจคนเดียว
คณะกรรมการที่ส่วนใหญ่มาจากกระทรวงการคลังก็จะพลอยโดนด้วย
“ตอนต้นปี 2527 คือประมาณเดือนเมษายนก็ได้มีการเรียกประชุมด่วนของคณะกรรมการของธนาคารที่มีคุณพนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน พิจารณาเรื่องที่คุณตามใจปล่อยกู้ให้กลุ่มของคุณสุระ
จันทร์ศรีชวาลา อย่างมากมายโดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันที่เพียงพอ ประชุมอยู่
2 วันเต็ม ก็บอกอ้อมแอ้มว่าไม่มีปัญหา โธ่...จะมีได้ยังไง ผู้จัดการใหญ่ของกรุงไทยมีอำนาจอนุมัติสินเชื่อโดยไม่ผ่านคณะกรรมการแค่
5 ล้านบาท นี่เงินเป็นพันล้านบาท จะมาบอกว่าตัวเองไม่รู้ไม่เห็นได้อย่างไร
แต่ทำไมอนุมัติก็คงบอกได้ว่ามันเป็นเรื่องเทคนิคที่คณะกรรมการเขาอาจไม่ทันเกม”
พนักงานกรุงไทยระดับสูงอีกคนหนึ่งเล่าให้ฟัง
พนักงานคนเดิมเล่าต่อไปอีกว่าเหตุผลอีกประการหนึ่งที่สมหมาย ฮุนตระกูลไม่ยอมลงซามูไรฟันตามใจ
ขำภโต ก็คือไม่อยากให้รอยร้าวระหว่างตนกับผู้บัญชาการทหารสูงสุดต้องขยายกว้างไปมากกว่าที่เกิดขึ้นในช่วงลดค่าเงินบาท
นอกจากนั้นแล้ว พ.อ.พล เริงประเสริฐวิทย์ นักการเมืองระดับทศกัณฑ์ก็ยังมีศักดิ์เป็นญาติกับตามใจ
ขำภโต และความเป็นญาตินี้ก็ส่งบุญกุศลให้สามารถใช้เงินธนาคารกรุงไทยมาค้ำจุนธุรกิจสับปะรดที่ไม่ค่อยเป็นสับปะรดเท่าไร
พ.อ.พล หรือที่เขาเรียกกันว่า เสธ.พล ใช้กุศโลบายช่วยชีพตามใจมาแล้วครั้งหนึ่ง
โดยในการอภิปรายไม่ไว้วางใจสมหมาย ฮุนตระกูล ครั้งนั้นลูกพรรคของ เสธ.พลได้เทคะแนนเสียงช่วยสมหมายไว้จนรอดปากเหยี่ยวปากกา
และข้อแลกเปลี่ยนในครั้งนั้นก็คือการที่ป๋าเปรมไปเยี่ยมโรงงานสับปะรดของ
เสธ.พล ที่ชะอำ แล้วก็บอกสมหมายว่าธุรกิจ เสธ.พล นี้น่าจะช่วยเกื้อหนุนไว้และป๋าเน้นกับสมหมายว่าตามใจนั้นก็เป็นคนดีคนเก่งน่าจะเก็บเอาไว้ใช้
ปี 2528 จึงเป็นปีที่คณะกรรมการธนาคารกับฝ่ายบริหารที่มีตามใจ ขำภโต
เป็นตัวแทน คุมเชิงซึ่งกันและกัน แต่ก็ไม่ว่ายเจอลูกเล่นของตามใจเข้าจนได้
(แบงก์กรุงไทยเสี่ยงพวงมาลัยหาผู้จัดการใหญ่) ทำให้ตามใจค่อนข้างมั่นใจสถานภาพของตัวเองว่า อย่างไรเสียเมื่อครบสัญญาในวันที่ 20 มกราคม 2529 ตนคงจะได้รับการต่อสัญญาอีกระยะหนึ่ง
ถึงกลับเรียกประชุมสัมมนาผู้จัดการสาขาทั่วประเทศเป็นครั้งแรกเพื่อชี้แจงแนวนโยบายธนาคารเมื่อต้นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว
ไม่ว่าตามใจ ขำภโต จะมั่นใจว่าจะได้รับการต่อสัญญาแค่ไหน ความจริงก็ปรากฏแล้วว่า
คณะกรรมการของธนาคารกรุงไทยมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าไม่มีการต่อสัญญาสำหรับกรรมการผู้จัดการใหญ่คนนี้อีกเด็ดขาด
ตามใจ ขำภโต จึงกลายเป็นคนตกงานชั่วคราวเมื่ออายุได้ 49 ปีกับอีก 2 เดือน
(เกิด 12 พ.ย.2479)
“ผู้จัดการ” ยอมรับว่ามองตามใจ ขำภโต ด้วยความทึ่ง ไม่ใช่ทึ่งในความเก่งกล้าสามารถด้านสติปัญญาของเขาหรอก
แต่ขอยกย่องในเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์แทบทุกยุคทุกสมัยไม่ว่าใครจะมาเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
เริ่มต้นด้วยการเป็นนักบริหารในธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์กับพรรคชาติไทยอย่างแนบแน่น อย่างบริษัทกระจกไทยอาซาฮี
จู่ๆ ก็ข้ามทั้งสายงานและสายสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมือง คือจากผู้บริหารบริษัทอุตสาหกรรมมาเป็นนายธนาคาร
และจากสายสัมพันธ์กับพรรคชาติไทยมาเป็นพรรคกิจสังคม
ครั้นรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นครองเมืองและตั้งใจว่าจะเสียสละเพื่อวางโครงสร้างประชาธิปไตยให้กับประเทศไทยนานถึง
12 ปี จึงมองพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคกิจสังคม ด้วยสายตาไม่สู้ดีนัก บุญชู
โรจนเสถียรเองช่วงนั้นยังต้องหลบเข้าไปอยู่ในถ้ำของธนาคารกรุงเทพ ใครต่อใครที่เกี่ยวข้องกับบุญชูต่างต้องระวังตัวกันแจเพราะไม่รู้ว่าจะโดนลูกหลงจากรัฐบาลชุดหอยเมื่อไหร่
ตามใจยังนั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของกรุงไทยอยู่ได้ แถมยังได้รับการต่อสัญญาในเทอมที่ยาวกว่าสมัยบุญชูเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสียด้วยซ้ำ
พอบุญชู โรจนเสถียร กลับมาเป็นใหญ่อีกครั้งก็อุตส่าห์ดึงตามใจมารับตำแหน่งสำคัญอย่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์โดยไม่ต้องลาออกจากธนาคารกรุงไทย
อยู่ได้ไม่นานก็ต้องกลับไปอยู่ที่กรุงไทยเหมือนเดิม เพราะโดนหนังสือพิมพ์จวกแหลกไม่เว้นแต่ละวัน
อุปนิสัยของตามใจนั้นชอบเดินหมากอยู่ข้างหลังคนอื่น ให้ออกหน้าออกตาไปเป็นเป้าก็อย่าได้หมายว่าจะยอมให้เปลืองตัว
แค่จะพูดกับคนยังไม่ค่อยยอมสบตาด้วยเลย หากมีเรื่องขัดแย้งกันแล้วตามใจไม่เคยออกหน้า
ขัดแย้งกับสมหมาย ฮุนตระกูล ก็เพราะท่านผู้บัญชาการทหารสูงสุดเรียกใช้งาน
ขัดแย้งกับสหภาพแรงงานก็เพราะประธานคณะกรรมการไม่ยอมเซ็นอนุมัติขึ้นเงินเดือน
ฯลฯ
ในระยะ 10 ปีที่ตามใจ ขำภโต เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่อยู่ที่กรุงไทยแม้จะมีศัตรูอยู่บ้าง
แต่ก็ได้ให้ความช่วยเหลือกับคนหลายกลุ่ม หลายคน ซึ่งก็คงไม่เสียแรงเปล่า
อานิสงส์นั้นคงจะหวนกลับมาตอบสนองในเร็ว ๆ นี้...คอยฟังข่าวเอาก็แล้วกัน
ถึงตอนนี้ก็คงขมวดท้ายเป็นปมจบได้แล้วว่าตามใจ ขำภโต นั้นแม้จะเป็นนักบริหารมืออาชีพ
แต่ก็ทำงานด้วยการอิงเส้นสายผู้มีอำนาจแล้วใช้กโลบายทางการเมืองมาตลอด กโลบายทางการเมืองนี้ไม่ได้มาจากตำราพิชัยสงครามของซุ่นหวู่หรือของใครทั้งนั้น
ตามใจเอามาจากวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ทั้งดุ้น นั่นก็คือ
“...รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี...”