Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2529
แบงก์กรุงไทยเสี่ยงพวงมาลัย หาผู้จัดการใหญ่ หาคณะกรรมการชุดใหม่ด้วยเลยจะดีไหม?             
 


   
search resources

ธนาคารกรุงไทย
Banking
ตามใจ ขำภโต




ที่ธนาคารพาณิชย์อื่นเขาฟ้องร้องกันในศาล เขาเล่นเกมกันเท้าแทบพลิกเพื่อแย่งกันบริหาร มาถึงแบงก์กรุงไทยที่เป็นธนาคารพาณิชย์ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ แถมกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทำไมจึงหาตัวผู้จัดการใหญ่ได้ยากเย็นแสนเข็ญ ไปติดต่อทาบทามใครเขาก็ปฏิเสธกันทุกราย ราวกับว่าตำแหน่งที่ดูยิ่งใหญ่นี้ไม่มีความหมายอะไรเลย ลองมารื้อ “กอไผ่” ซุ้มนี้ดูกันดีกว่าว่ามีอะไรแอบแฝงอยู่ข้างใน

ธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐและเป็นแบงก์พาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ มีทรัพย์สินเมื่อสิ้นปี 2528 สูงถึง 92,875.0 ล้านบาท เงินฝาก 79,084.5 ล้านบาท และสินเชื่อ 61,940.8 ล้านบาท

มีกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่เพิ่งพ้นตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2529 เนื่องจากอายุงานครบตามสัญญาว่าจ้างชื่อ ตามใจ ขำภโต เป็นข่าวดังในวงการสื่อมวลชนแนวธุรกิจ เริ่มตั้งแต่มีข่าวว่าอาจจะมีการต่อสัญญาอีกเพราะเคยต่อมาแล้ว 2 ครั้ง (อ่าน “ตามใจ นาย (จันหนวด) เขี้ยว แห่งค่ายกรุงไทย)” หรือการกะเก็งไล่ลูกระนาดกันอุตลุดว่าใครบ้างที่จะมานั่งตำแหน่งนี้แทน

คณะกรรมการของธนาคารกรุงไทยประชุมกันมา 2 ครั้งคือวันที่ 16 มกราคม และวันที่ 23 มกราคม 2529 จนตอนที่เขียนต้นฉบัยนี้อยู่ก็ยังไม่รู้ว่าจะหาใครมานั่งตำแหน่งแทนตามใจ ขำภโต

ดูกันแค่นี้ก็พอจะรู้ว่าทำไมธนาคารกรุงไทยถึงหล่นจากธนาคารพาณิชย์อันดับที่ 2 มาเป็นอันดับที่ 3 และอีกไม่กี่ปีก็คงถูกธนาคารไทยพาณิชย์ที่เป็นอันดับ 4 แซงเอาจนได้ ถ้าไม่เปลี่ยนแนวการบริหารงาน

ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่รู้กันอยู่ตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อนว่าจะต้องมีการเปลี่ยนตัวบุคคลเมื่อครบสัญญาหรือแม้จะไม่แน่ใจว่าจะมีการต่อสัญญา หรือไม่อย่างน้อยก็ควรเตรียมการทาบทามผู้ที่เหมาะสมเอาไว้ล่วงหน้าเพราะเผื่อถูกปฏิเสธจะได้ไม่ต้องวิ่งวุ่นไปหาคนอื่นจนปั่นป่วนไปหมด ทั้งคนที่ถูกทาบทามและ...เอ้อ...คนทำข่าว

รายที่เป็นสุดปรารถนาของคณะกรรมการธนาคารกรุงไทยที่มีพนัส สิมะเสถียร ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานก็คือ ศุกรีย์ แก้วเจริญ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป ในที่ประชุมกรรมการถึงกับระบุชื่อออกมาเลยว่าอยากได้คนคนนี้มาบริหารที่แบงก์กรุงไทย มิไยศุกรีย์ แก้วเจริญ จะปฏิเสธมาแล้ว ก็ยังถือว่าเป็นหมายเลขหนึ่งที่จะต้องเกลี้ยกล่อมมาให้ได้

“คุณศุกรีย์ได้รับการทาบทามตอนปลายปีที่แล้วแต่ก็ปฏิเสธไป ทีนี้ข่าวลือเกี่ยวกับเรื่องนี้มากเหลือเกิน คุณศุกรีย์ถึงกับต้องเรียกประชุมพนักงานบรรษัทเงินทุนชี้แจงให้ฟังว่า อย่างไรเสียก็จะทำงานที่บรรษัทฯ ต่อไป ที่ทำอย่างนั้นด้านหนึ่งก็เป็นการให้ความมั่นใจกับพนักงาน อีกด้านหนึ่งก็คือเพิ่มน้ำหนักในการปฏิเสธให้เด็ดขาดยิ่งขึ้น” คนใกล้ชิดกับศุกรีย์เล่าให้ “ผู้จัดการ” ฟัง

“เรื่องคุณเธียรชัยปฏิเสธไม่ยอมรับตำแหน่งต่อจากคุณตามใจนั้น ผมว่าเอาอย่างนี้ดีกว่าไม่ว่าใครก็ตามก็อยากที่จะก้าวหน้า และการก้าวหน้าที่เป็นจุดสุดยอดก็คือการได้เป็นผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงาน...ผมว่าคณะกรรมการเขาไม่แต่งตั้งมากกว่า” พนักงานกรุงไทยคนหนึ่งพูด

ยังมี ร.ท.อนันต์ พันธ์เชษฐ อีกคนหนึ่ง ซึ่งว่ากันว่าเป็นนักวิ่งมหากาฬระดับชาติ ที่วิ่งทุกตำแหน่งที่มีในประเทศไทยแต่ไม่เคยถึงป้าย ร.ท.อนันต์เคยเป็นผู้ช่วยผู้จัดการอยู่ไทยทนุ อายุประมาณ 50 ปี

สำหรับเริงชัย มะระกานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการธนาคารแห่งแบงก์ชาติที่ “ไต้ฝุ่น” คอลัมนิสต์ของไทยรัฐ เก็งในข้อเขียนหลายครั้งว่า จะมานั่งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของกรุงไทย เมื่อ “ผู้จัดการ” ได้มีโอกาสพบและไต่ถามเรื่องนี้ ท่านก็ตอบสั้นๆ ว่า “ผมไปคนเดียวผมก็ตายสิ”

“คนดีมีฝีมือเขาไม่อยากไปที่กรุงไทยหรอก เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าถ้าเข้าไปจะต้องไปขุดคุ้ยเรื่องอะไรมิต่ออะไรหลายเรื่องเหลือเกิน เมื่อก่อนเราก็เคยตรวจสอบว่าเขากระทำผิดกฎของธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งหลายครั้ง ก็ได้แต่แจ้งไปยังกระทรวงการคลังต้นสังกัดของเขา” อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนหนึ่งเล่าให้ฟัง

“ผู้จัดการ” จึงคิดว่าคงจะต้องมีเบื้องหลังอะไรอยู่มากพอสมควรในธนาคารพาณิชย์ของรัฐแห่งนี้ จนทำให้ใครต่อใครที่ถูกทาบทามให้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่พากันส่ายหน้าไม่ยอมเป็นกันหมด

“ก่อนคุณตามใจ ขำภโต จะมีอายุงานครบตามสัญญามีพนักงานระดับบริหาร 2 คน ได้ลาออกก่อนเพียงแค่สัปดาห์เดียว ก็คือคุณบุญเลิศ สอดตระกูล หัวหน้าหน่วยนโยบายและประสานงานและ ดร.วรุณ กาญจนกุญชร รองผู้จัดการฝ่ายวิชาการและวางแผน คุณตามใจบอกว่าที่ 2 คนนี้ลาออกเพราะมีปัญหาเรื่องแรงกดดันในการทำงานหากมีผู้จัดการใหญ่คนใหม่เข้ามา แต่คนข้างในรู้กันดีว่าไม่ใช่ และไม่ใช่ลาออกด้วยสปิริต เนื่องจากเป็นทีมงานของคุณตามใจด้วย” พนักงานแบงก์กรุงไทยเล่าให้ฟัง

พนักงานรายเดียวกันนี้เล่าให้ฟังอีกว่า กรณีของบุญเลิศ สอดตระกูล นั้นก่อนที่จะลาออกคณะกรรมการของธนาคารได้แต่งตั้งกรรมการชุดหนึ่งที่ประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่บริหาร 5 คน เพื่อสอบสวนการปล่อยกู้โอดีรายที่สำคัญ ๆ และทำให้ธนาคารเสียหาย โดยให้สอบทั้งผู้อนุมัติและสนับสนุนด้วยซึ่งเดิมจะสอบเฉพาะตัวลูกค้า ซึ่งลูกค้าเหล่านี้บุญเลิศมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยทั้งสิ้น จึงชิงลาออกไปก่อน

“พอมีการลาออกไปแล้วการสอบสวนมันก็มีปัญหาว่าจะเรียกเขาไปสอบได้หรือในเมื่อเขาหมดสภาพการเป็นพนักงานไปแล้ว การลงโทษอะไรทางวินัยก็ทำไม่ได้ คือพวกเราเชื่อกันว่าต้องมีการกระซิบบอกกันว่าคุณลาออกไปดีกว่า เพราะถูกกรรมการสอบสวน เผลอ ๆ อาจจะถูกไล่ออก มันไม่ใช่เรื่องแรงกดดันภายในอย่างที่คุณตามใจพูด ที่จริงมันเป็นเรื่องความผิดอย่างร้ายแรงในการบริหาร”

สิ่งที่เกิดขึ้นเสมอ ๆ ในการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจรายใหญ่ของธนาคารกรุงไทยก็คือแทนที่เรื่องจะถูกแทงขึ้นมาตามสายงานอย่างน้อยก็น่าจะผ่านฝ่ายสินเชื่อของสำนักงานใหญ่ กลับกลายเป็นว่าเรื่องจะถูกหอบใส่แฟ้มโดยบุญเลิศ สอดตระกูล ไปวางบนโต๊ะทำงานของตามใจ ขำภโต และก็จะถูกตั้งแท่นไปให้คณะกรรมการอนุมัติ

“คุณอย่าลืมว่าคณะกรรมการของธนาคารต่างก็เป็นข้าราชการระดับสูงทั้งนั้นไม่ค่อยมีใครเข้าใจในเรื่องธุรกิจเอกชนหรือธุรกิจธนาคาร เมื่อคุณตามใจบอกว่ารายนี้สมควรอนุมัติเพราะมีหลักประกันคุ้มก็เซ็นกันไป จะเอาเวลาที่ไหนมาตรวจสอบว่าคุ้มจริงหรือเปล่า หรือแทบไม่เคยรู้ว่าธุรกิจที่มาขอกู้นั้นหน้าตาจริงๆ มันเป็นอย่างไร ใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง บางทีชื่อบริษัทไม่เหมือนกันอย่างกลุ่มกิจการของคุณสุระ จันทร์ศรีชวาลา แต่เจ้าของก็คือคุณสุระทั้งหมด อย่างนี้เป็นต้น” พนักงานแบงก์กรุงไทยอีกรายหนึ่งเล่าให้ฟัง

และกลุ่มธุรกิจที่เป็นลูกหนี้รายใหญ่มากของธนาคารกรุงไทยที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจมีอยู่ 3 กลุ่มด้วยกันคือกลุ่มของสุระ จันทร์ศรีชวาลา กลุ่มของ พ.อ.พล เริงประเสริฐวิทย์ และกลุ่มศรีกรุงของสว่าง เลาหทัย ที่มีวงเงินกู้รวมกันไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท...นี่เป็นตัวเลขของปี 2527 เท่านั้น จนทุกวันนี้ไม่รู้ว่าถึง 7,000 ล้านบาทหรือยัง

“เราตรวจสอบพบว่าการให้กู้ของกลุ่มทั้ง 3 กลุ่มนี้มันมากมายผิดปกติก็สั่งให้เขาเอาหลักฐานค้ำประกันมาให้ดูเอาแค่โรงงานสับปะรดของ พ.อ.พล เริงประเสริฐวิทย์ ที่มีวงเงินกู้โอดี ตามหลักประกัน 500 ล้านบาท แต่กู้จริงปีหนึ่งก็พันกว่าล้านบาท แล้วป่านนี้จะเป็นเท่าไร หลักทรัพย์ค้ำประกันที่เราเห็นมีไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของหนี้ทั้งหมด แบบนี้ไม่เรียกว่าเละเทะและจะเรียกว่าอะไร” อดีตผู้บริหารระดับสูงของแบงก์ชาติเปิดเผยให้ “ผู้จัดการ” ฟัง

นโยบายการให้กู้แบบนี้ไปถามพนักงานกรุงไทยที่เข้าทำงานได้สัก 5-6 ปีรู้กันดีถึงกับมีการตั้งชื่อเรียกว่า นโยบาย “รวมไข่หลายใบใส่กระจาดเดียวกัน” คือการอนุมัติให้กู้จะแตกแขนงออกไปให้แก่หลายบริษัทหลายกิจการ แต่พอไปดูที่ปลายทางคนที่อยู่เบื้องหลังกิจการหลายๆ แห่งนั้นก็คือคนคนเดียว”

“พนักงานระดับสูงของแบงก์กรุงไทยอีกคนหนึ่ง ที่พวกเรากำลังดูๆ อยู่ว่าท่านจะอยู่ หรือจะไปก็คือคุณไพบูลย์ ปุสสเด็จ เพราะในฐานะผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อสำนักงานใหญ่ จะบอกไม่ได้ว่าตนเองไม่รู้ไม่เห็นไม่ได้” พนักงานกรุงไทยคนเดิมบอกเพิ่มเดิม

คงพอจะมองเห็นปัญหาของกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่กันแล้วว่าแค่เรื่องตามสะสางหนี้ที่มีปัญหาก็แทบจะไม่ต้องไปทำอย่างอื่นแล้ว และการสะสางก็หนีไม่พ้นที่ต้องควานหาตัวผู้ที่รับผิดชอบ ซึ่งก็ได้แก่เจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งหลายของธนาคารแห่งนี้ สภาพการทำงานมันจะยุ่งอีนุงตุงนังแค่ไหนลองหลับตานึกภาพดูเอาเองก็แล้วกัน

รวมทั้งปัญหาของธนาคารกรุงไทยไม่ได้มีแต่เพียงเรื่องหนี้เสีย หนี้ที่มีปัญหายังมีอีกหลายเรื่องที่รอการปะทุอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับเงินเดือนพนักงานคนละ 2 ขั้น ที่กำลังฟ้องร้องกันอยู่ในศาล ที่มีเงื่อนงำลึกซึ้งอยู่ไม่น้อย หรือเรื่องที่คณะกรรมการยังไม่ยอมเซ็นรับอาคารสำนักงานใหญ่มูลค่า 335.41 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดิน ค่าออกแบบและค่าควบคุมการก่อสร้าง)

ในเรื่องการปรับเงินเดือนของพนักงานนั้นสืบเนื่องมาจากการปรับเงินเดือนบรรดารัฐวิสาหกิจทุกประเภท เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณที่ขาดดุลมากอยู่แล้วมาตั้งแต่ปี 2524 แต่พนักงานกรุงไทยก็ยังคงได้โบนัส 4 เดือนตามปกติ (ธนาคารออมสินจ่ายเดือนเดียว ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ จ่ายหนึ่งเดือน แต่จ่ายแบบผ่อนส่ง งวดหนึ่ง 5 วัน 10 วัน)

ในปี 2527 ธนาคารกรุงไทยประกาศว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการในการในการทำบัญชีแบบใหม่ ทำให้ผลกำไรเมื่อสิ้นปี 2526 เพิ่มขึ้นเป็น 572 ล้านบาท ในขณะที่กำไรปี 2525 มีอยู่เพียง 262 ล้านบาท หรือกำไรเมื่อปี 2524 ก็มีอยู่เพียง 215 ล้านบาท ตามใจ ขำภโต ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ จึงประกาศว่าจะขึ้นเงินเดือนให้พนักงานคนละ 2 ขั้น แต่คณะกรรมการของธนาคารที่มีพนัส สิมะเสถียร เป็นประธานไม่ยอมเซ็นไปตามคำขอเพราะขัดกับมติคณะรัฐมนตรีเดิม

ก็ไม่ต้องพูดถึงวิธีการทางบัญชีที่มีการปรับปรุงอีท่าไหนไม่รู้ทำให้ธนาคารมีกำไรพรวดพราดอีก 1 เท่าตัว เอาแค่เรื่องการขอขึ้นเงินเดือนให้พนักงานอย่างเดียวผู้จัดการใหญ่คนใหม่ก็ต้องกุมขมับแล้ว

“ตอนที่มีการขอปรับเงินเดือนโดยสหภาพแรงงานพนักงานธนาคารกรุงไทย คุณสงวน สาครินทร์ เป็นผู้จัดการฝ่ายพนักงาน ที่เพิ่งรับตำแหน่งเป็นปีแรก คุณสงวนที่เรารู้กันดีว่าเวลาไปเจรจาอะไรกับแก แกเซย์โนตลอด แต่พอเรื่องปรับเงินเดือนแกกลับเซย์เยส เราก็รู้เลยว่าเรื่องนี้คุณตามใจจะต้องให้การอนุมัติมาแล้ว รวมทั้งไม่ว่าเรื่องไหนคุณตามใจไม่บอกให้ทำแกจะไม่ทำเด็ดขาด” เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานแบงก์กรุงไทยเล่าให้ฟัง

และเนื่องจากสงวน สาครินทร์ เป็นตัวแทนของฝ่ายบริหารของธนาคารมาเซ็นสัญญาตกลงกับสหภาพยินยอมให้ปรับเงินเดือนให้พนักงานคนละ 2 ขั้น ทั้งๆ รู้เต็มอกว่าขัดมติของ ครม. ก็ทำให้คณะกรรมการต้องปลดจากผู้จัดการฝ่ายพนักงานไปเป็นผู้จัดการฝ่ายธุรกิจ ที่มีขอบเขตอำนาจน้อยกว่ากันมาก โดยที่ผู้อยู่เบื้องหลังคือตามใจ ขำภโต ไม่ค้านเลยสักแอะเดียว งานนี้ผู้ใกล้ชิดกับสงวน สาครินทร์ เล่าให้ฟังว่า วันเก็บข้าวของย้ายฝ่าย สงวนพูดกัดกรามน้ำตาคลอว่า “ทำกับผมแบบนี้เหรอ...”

ส่วนเรื่องคณะกรรมการของธนาคารกรุงไทยไม่ยอมเซ็นรับสำนักงานแห่งใหม่ก็ยังเป็นความลับดำมืดของธนาคารแห่งนี้ เพราะเปิดทำการมาตั้งแต่ปี 2525 เงินทองก็จ่ายไปหมดแล้ว ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในเมื่อเวลาถูกพนักงานถาม ตามใจ ขำภโต ก็บอกแต่เพียงว่าผมจะจัดการเรื่องนี้เอง ทีนี้ “ผม” ออกจากตำแหน่งไปแล้ว ก็ต้องรอ “ผม” หรือผู้จัดการใหญ่คนใหม่มาจัดการเสียละมั้ง

จะเห็นได้ว่าปัญหาแต่ละอย่างของธนาคารกรุงไทย ที่รอผู้บริหารคนใหม่เข้าไปสางนั้น มีอยู่มากมายหลายเรื่อง ก็ให้สงสัยว่าคณะกรรมการมัวทำอะไรกันอยู่ จึงไม่สามารถจัดการกับตามใจ ขำภโต สมัยที่ยังเป็นผู้จัดการใหญ่อยู่ที่นี่

ข้อสรุปก็คือ คณะกรรมการของธนาคาร (อ่านเรื่อง “กรรมการแบงก์กรุงไทย”) ไม่ทันเกมของตามใจ เพราะมาจากภาคราชการเกือบทั้งหมด ที่พอจะรู้เรื่องบ้างอย่างเธียรชัย ศรีวิจิตร ก็เป็นสุภาพบุรุษนักเรียนนอกจากอังกฤษเสียจนยอมหงอกับตามใจและพรรคพวกแทบทุกเรื่อง

หลายต่อหลายเรื่องที่กว่าคณะกรรมการจะรู้ ก็หลวมตัวเซ็นอนุมัติไปแล้ว โดยเฉพาะเรื่องเงินให้กู้เพราะลูกเล่นของผู้ที่เสนอเรื่องมาให้กู้นั้นมากมายเหลือเกิน เช่นการปล่อยให้เงินกู้กับสถาบันการเงินของสุระ จันทร์ศรีชวาลา ก็เป็นเพราะนโยบายของกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติ ที่ต้องการให้แบงก์กรุงไทยให้กู้กับสถาบันการเงินที่มีปัญหาเนื่องจากประชาชนขาดความเชื่อมั่นเมื่อปลายปี 2526 เป็นต้นมา

ผลก็คือธนาคารกรุงไทยให้กู้กับกิจการสถาบันการเงินเฉพาะกลุ่มของสุระ จันทร์ศรีชวาลา กลุ่มเดียวเป็นเงินถึง 2,596 ล้านบาท เวลาถูกกรรมการซักก็ยืนกระต่ายขาเดียวว่าตนทำตามนโยบายของทางการ (ผู้จัดการฉบับที่ 8) ทั้งที่สถาบันการเงินที่มีปัญหาตอนนั้นมีแทบจะทุกกลุ่ม นอกจากไม่น่าสงสัยว่าทำไมกิจการสถาบันการเงินของสุระจึงอยู่รอดปลอดภัยอยู่ได้ ในขณะที่กลุ่มบริษัทเงินทุนอิสระอื่นๆ พังกันเป็นแถบๆ

พนักงานธนาคารกรุงไทยระดับสูงคนหนึ่งเปิดเผยว่า ได้มีการเสนอไปยังกระทรวงการคลังหลายครั้งให้มีการปรับโครงสร้างคณะกรรมการเสียใหม่เพราะมีแต่ข้าราชการที่ไม่ค่อยมีเวลามาบริหารแบงก์ ทั้งๆ คณะกรรมการมีความสำคัญมาก เช่น กำหนดนโยบาย ออกหลักเกณฑ์อนุมัติเงินกู้ในกรณีที่วงเงินสูง แต่คนที่มาเกี่ยวข้องกลับไม่ค่อยรู้เรื่องในธุรกิจเอกชน

“ไม่ต้องอะไรมาก อย่างเรื่องการพิจารณาขึ้นเงินเดือน พอเห็นเงินเดือนผู้บริหารแบงก์กับเงินเดือนตัวเองก็เหี่ยวแห้งแล้ว เงินเดือนปลัดกระทรวงแค่ 18,000 บาท เงินเดือนพนักงานธนาคารระดับกลางๆ ก็ประมาณ 20,000 บาทขึ้นไป แล้วจะมีกะจิตกะใจอะไรมาทำงาน เวลาจะออกระเบียบอะไรก็เหมือนกัน ท่านชำนาญแต่ระเบียบราชการท่านก็ยกระเบียบราชการมาใช้ ทั้งๆ ที่ธุรกิจของธนาคารกับงานราชการมันคนละเรื่องกันเลย”

พนักงานคนเดิมเปิดเผยต่อไปว่าโครงสร้างของคณะกรรมการที่ดี ควรจะแบ่งเป็น 3 ส่วนคือจากกระทรวงการคลัง 1 ใน 3 จากผู้บริหารระดับสูง 1 ใน 3 และจากพนักงาน 1 ใน 3 หรือจะปรับเป็นอย่างอื่นก็ได้ แต่ควรเปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้เรื่องธุรกิจเอกชนเข้ามาด้วย

“เขาก็ไม่ยอมเพราะนโยบายของกระทรวงการคลังต้องการเอาตัวแทนของหน่วยงานต่างๆ เข้ามาดูแล สรุปแล้วคณะกรรมการทั้งหมดก็เป็นตัวแทนของกระทรวงการคลังทั้งนั้น เวลาประชุมทีมีเอกสารส่งไปให้ศึกษาก่อน ไม่ต้องอะไรมาก เปิดดูในรถให้รู้ว่าเขาจะพูดกันเรื่องอะไรมั่งก็ดีถมถืดแล้ว แบบนี้จะมาควบคุมดูแลอะไรได้”

ถึงตอนนี้สมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเห็นด้วยกับ “ผู้จัดการ” บ้างไหมว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในกรุงไทยนั้น ลำพังจะหากรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่เข้าไปแค่คน เดียว เห็นจะทำอะไรไม่ได้ เพราะปัญหาที่นี่ไม่ใช่ขาดแคลน “ผู้บริหาร” แต่ขาดแคลน “ทีมงาน” ผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพ

ใครเข้ามาตอนนี้แบบข้ามาคนเดียวมีแต่ตายกับตาย และต้องทำโดยเร็วเนื่องจากตอนนี้มีคนที่รักษาการแทนคือ เธียรชัย ศรีวิจิตร กำลังจะทนแรงกดดันแทบไม่ไหวอยู่แล้ว คณะกรรมการก็รู้เต็มอก ขืนช้าอาจจะต้องหากรรมการรองผู้จัดการใหญ่เพิ่มขึ้นอีกตำแหน่งหนึ่ง

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us