Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2528








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2528
CORPORATE PUBLIC RELATION การประชาสัมพันธ์ โดยมุ่งสร้างความรู้ถ้ารู้จักใช้ มันจะให้ผลมหาศาลแก่องค์กร             
โดย ดารณี ชัยพันธ์
 


   
search resources

Advertising and Public Relations
Education
เพรสโก้ พับบลิค รีเลชั่นส์




ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ประเทศต่างๆ ในโลกต่างก็อยู่ในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคืองทำให้ผู้บริหารธุรกิจต่างๆ จำเป็นที่จะต้องดำเนินแผนกลยุทธ์การตลาดของตนอย่างรอบคอบเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย หนทางหนึ่งที่จะช่วยได้อย่างมากคือการใช้ประโยชน์จากการประชาสัมพันธ์มาสนับสนุนการตลาด

เอสโก เค. พายาซาลมิ กรรมการผู้จัดการบริษัท เพรสโก้ พับบลิค รีเลชั่นส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่รับทำการประชาสัมพันธ์เคยกล่าวไว้ว่า บทบาทสำคัญประการหนึ่งของการใช้ประชาสัมพันธ์สนับสนุนการตลาดคือช่วยให้สินค้าบริการ หรือตัวบริษัทได้รับการรับรองจากคนทั่วไปหรือความเชื่อถือไว้วางใจในตัวสินค้าหรือบริษัทเกิดขึ้นจากการได้รับรู้ข่าวสารในทางที่ดีต่อตัวสินค้าหรือบริษัทผ่านทางสื่อมวลชน เช่น วิทยุ, โทรทัศน์ เป็นต้น

กล่าวกันว่าการประชาสัมพันธ์ที่มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับการโฆษณาจะก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ มากมาย สามารถเข้าถึงคนทั่วไปได้ แม้กระทั่งการทำให้เข้าใจในนโยบายของบริษัทได้ด้วย ฉะนั้นเราจึงมักจะเห็นว่าในระยะหลังๆ นี้มีโฆษณาบางชิ้นที่ไม่ได้มุ่งขายผลิตภัณฑ์หรือสินค้า แต่มุ่งสร้างทัศนคติที่ดีให้แก่สถาบัน เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์อันงดงามของบริษัทขึ้นในใจของลูกค้า และประชาชนทั่วไปโฆษณาประเภทนี้เรียกว่า โฆษณาบริษัทหรือโฆษณาสถาบัน (CORPORATE ADVERTISING)

มูลเหตุของการโฆษณาชนิดนี้เกิดจากการมีความคิดว่าการทำให้ผู้ชื้อพอใจบริษัทหรือมีความรู้สึกที่ดีต่อบริษัทจะมีผลทำให้ลูกค้าอยากซื้อของบริษัทนั้นๆ แทนที่จะเป็นบริษัททั่วๆ ไป การโฆษณาแบบนี้มุ่งที่จะใช้เพื่อหวังผลทางการประชาสัมพันธ์หรือบริการสังคม

ในขณะที่เศรษฐกิจตกต่ำลง การโฆษณาสถาบันมีบทบาทมากในฐานะเครื่องมือในการทำประชาสัมพันธ์ มีตัวอย่างเกิดขึ้นมาแล้วในต่างประเทศ เมื่อเกิดวิกฤตน้ำมัน ประชาชนพากันเกลียดชังบริษัทน้ำมันหาว่าเป็นตัวการในเหตุการณ์นี้ บริษัทน้ำมันฟิลิปได้ทำการโฆษณาสถาบันโดยเน้นที่ผลงานของบริษัทที่ค้นพบสิ่งใหม่ๆ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของมนุษยชาติ ปรากฎว่าการรณรงค์หาเสียงของบริษัทในครั้งนี้ได้รับผลสำเร็จงดงาม เพราะว่าทัศนคติของมวลชนต่อบริษัทนี้ดีขึ้นและดีกว่าบริษัทคู่แข่งซะอีก

สำหรับในเมืองไทย วิธีการอย่างเดียวกันนี้เริ่มกำลังเป็นที่นิยม และเป็นที่กล่าวขวัญกันมากในหมู่ผู้แสวงหาความรู้ ดูเหมือนว่าจะมีอยู่ 3 รายการที่เห็นได้ชัดคือ รายการความรู้คือประทีป, ไอคิว 180 และรายการหนึ่งในร้อย (อ่านรายละเอียดจากเรื่องล้อมกรอบ)

รายการความรู้คือประทีปผู้อุปถัมภ์รายการคือบริษัทเอสโซ่สแตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด

“เรามีวัตถุประสงค์ที่จะให้ความรู้แก่ผู้ชมและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีกับบริษัทโดยไม่มีการโฆษณาสินค้า แต่เราคิดว่าในระยะยาวเราจะได้ความรู้สึกที่ดีว่าบริษัทต่างชาติอย่างเอสโซ่ได้สร้างอะไรให้กับสังคมไทย และเพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเอสโซ่และหน่วยงานต่างๆ ที่เราติดต่อด้วย” ไพศาล สุริยะวงศ์ไพโรจน์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบรายการนี้โดยตรงกล่าวกับ “ผู้จัดการ”

รายการไอคิว 180 ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด

“โดยเนื้อหาของรายการไม่ได้เน้นโฆษณาสินค้าแต่เป็นการให้ความรู้เพื่อ refresh ความรู้ของเด็กๆ ถือว่าเป็นการส่งเสริมการศึกษาอย่างหนึ่ง ที่จริงเรามีสินค้าหลายตัวที่จะโฆษณาได้แต่เราก็ไม่เอาเพราะเราถือว่ารายการนี้เป็นรายการประชาสัมพันธ์โดยตรงว่าเรามีความรับผิดชอบต่อสังคม คล้ายกับว่าเราเป็นติวเตอร์ให้กับนักเรียนที่บ้าน” ธนิต ศิริธร ประชาสัมพันธ์อาวุโสของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ให้ความเห็นกับเรา

รายการหนึ่งในร้อยเป็นรายการของธนาคารกรุงเทพ จำกัด

“นโยบายที่เราจัดทำรายการนี้เพื่อจะส่งเสริมภาพลักษณ์ของธนาคารว่า ธนาคารมีความรับผิดชอบต่อสังคมในด้านการให้ความรู้และความบันเทิงโดยผ่านสื่อโทรทัศน์ เราจะไม่โฆษณาอะไรในรายการเลย เพราะการประชาสัมพันธ์สถาบันของเรา เราถือว่าการไม่โฆษณาก็คือการโฆษณาเพราะยิ่งโฆษณามากเท่าใดคนจะยิ่งมีความรู้สึกว่าเราจะเอาเงินจากเขา เพราะฉะนั้นเราจึงคิดว่าไม่ควรยัดเยียดโฆษณาให้เขา” วิไล เพ็ชรเงาวิไล ผู้ดำเนินรายการและรับผิดชอบในรายการนี้พูดกับ “ผู้จัดการ”

มีข้อที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งว่าบริษัทธุรกิจรายย่อยมักจะไม่รู้จักการใช้โฆษณา แต่ในบริษัทใหญ่ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือมีส่วนกระทบกระเทือนต่อประชาชนและสังคมมากและเป็นธุรกิจที่มีภาพลักษณ์เป็นส่วนสำคัญของการอยู่รอดและรุ่งเรืองเช่นธนาคารหรือบริษัทอุตสาหกรรมที่สำคัญต่างๆ เหล่านี้ การโฆษณาจึงมักจะออกมาจากแผนกประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้เพื่อมุ่งสร้างภาพลักษณ์ (Image) ที่ดีให้เกิดขึ้นแก่สถาบันของตนอันเป็นหน้าที่ที่สำคัญอันหนึ่งของการประชาสัมพันธ์

เคยมีนักวิชาการด้าน Masscommunication ท่านหนึ่งกล่าวว่า “ยิ่งธุรกิจใดมีกิจการ กว้างขวางใหญ่โตและเกี่ยวข้องผูกพันกับประชาชนจำนวนมากๆ สื่อมวลชนก็มีบทบาทต่อสถาบันนี้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว”

การที่บริษัทเอสโซ่, ปูนซิเมนต์ไทย และธนาคารกรุงเทพ จำกัด จัดทำรายการโทรทัศน์เพื่อการประชาสัมพันธ์อย่างรายการความรู้คือประทีป, ไอคิว 180 และหนึ่งในร้อยขึ้นมา จุดประสงค์ที่เห็นเด่นชัดคือเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้เกิดขึ้นแก่สถาบันของตนโดยเลือกเอาสื่อโทรทัศน์เป็นเครื่องมือช่วยประชาสัมพันธ์

โทรทัศน์นับว่าเป็นเครื่องมือสื่อสารมวลชนที่มีผลต่อประชาชนมากที่สุด เนื่องจากมีแรงจูงใจในการรับชมคือมีทั้งภาพและเสียง สามารถดึงดูดใจให้ผู้รับชมหันมาสนใจรายการได้ง่าย และข้อพิเศษของสื่อชนิดนี้คือผู้ชมได้แทบทุกบ้านแม้ในสถานที่หวงห้ามอย่างเช่นห้องนอนก็ตาม นอกจากนี้ยังสามารถให้เจ้าของสื่อนี้เลือกอิริยาบถในการนั่งหรือนอนชมก็ได้ ความได้เปรียบของสื่อชนิดนี้จึงมีมากกว่าสื่อชนิดอื่น

การที่หน่วยงานประชาสัมพันธ์ของผู้สนับสนุนรายการทั้งสามคือเอสโซ่, ปูนซิเมนต์ไทย และธนาคารกรุงเทพ จำกัด เลือกโทรทัศน์เป็นสื่อเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของบริษัทว่าเป็นสถาบันทางธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม จึงนับว่าเป็นการเลือกใช้เครื่องมือได้เหมาะสม แต่จะสามารถสื่อได้ผลสำเร็จมากน้อยเพียงใดนั้น เสียงสะท้อนกลับของประชาชนคือสิ่งที่ตอบได้

จากความคิดเห็นที่ “ผู้จัดการ” ได้สอบถามนักเรียน, นักศึกษาซึ่งเป็นกลุ่มผู้ชมเป้าหมายโดยทั่วไปของรายการเหล่านี้

“เคยดูบางครั้งเท่านั้น แต่ไม่ถึงกับติดอย่างรายการไอคิว 180 ก็ดีสำหรับเด็กที่อยู่ในระดับชั้นนั้นๆ ทำให้เด็กมีการใฝ่หาความรู้เพิ่มขึ้น รายการหนึ่งในร้อยไม่ค่อยจะได้ดูเพราะเวลาตรงกับละคร สนใจละครมากกว่า รู้สึกว่าคนอายุมากจะชอบดูรายการนี้มากกว่านะ ส่วนความรู้คือประทีปได้ดูบ้าง ไม่ดูบ้าง เพราะเปลี่ยนแปลงบ่อยจนไม่รู้ว่าอยู่เวลาไหน และเราไม่ได้ติดตามดูบ่อยๆ ด้วย พอนึกอยากจะดู อ้าว หายไปไหนแล้วก็ไม่รู้” เป็นคำตอบจากนักศึกษาคนหนึ่งของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง

“ไม่ได้ติดตามรายการพวกนี้โดยตลอดหรอกนะ แต่คิดว่าเป็นรายการที่ดีทั้ง 3 รายการเพราะเป็นรายการที่ให้ความรู้ดี” นักศึกษาคณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดถึงรายการทั้งสาม

“ดีที่มีรายการอย่างนี้มา เพราะทุกวันนี้โฆษณาที่มาจากสื่อต่างๆ ดูเหมือนจะขาดความรับผิดชอบต่อสังคมเท่าที่ควรจะเป็น หวังจะได้ประโยชน์จากการขายสินค้าได้มากเพียงอย่างเดียวเท่านั้น” นักศึกษารามคำแหงระบายคำพูดออกมา เมื่อเราถามถึงรายการเหล่านี้

“ยอมรับว่ามีความคิดสร้างสรรค์ไม่เลวเลยเป็นการโฆษณาที่ไม่หวังผลด้านการค้าอย่างเดียว แต่ทำเพื่อสังคมส่วนรวมด้วย น่าจะมีการทำรายการอย่างนี้ออกมามากๆ นะ” นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความเห็น

และสำหรับความเห็นของคนอีกหลายคนที่ได้สอบถามความคิดเห็นมาพอที่จะสรุปได้ว่า การผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อการประชาสัมพันธ์อย่างนี้คนส่วนหนึ่งมีความเห็นว่าเป็นความคิดที่ดี แต่ก็ยังมีบุคคลอีกบางกลุ่มที่ยังไม่เคยได้รู้จักรายเหล่านี้เลย หรือมีบางกลุ่มถึงจะรู้แต่ก็ไม่ติดตามอยู่ทุกครั้งเพราะเนื้อหาของรายการที่เป็นประเภทวิชาการความรู้ จึงค่อนข้างหนักพอสมควร เพราะโดยธรรมชาติของคนที่ดูโทรทัศน์มักจะเพียงเพื่อหาความบันเทิงมากกว่า (ซึ่งเห็นได้จากความนิยมรายการละครหรือเกมส์โชว์ต่างๆ) นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงพิธีกรและการโยกย้ายเวลาของรายการเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การรับชมสะดุดลง ฉะนั้นผู้จัดจึงต้องมีการปรับปรุงรูปแบบการนำเสนออยู่หลายครั้ง เพื่อเรียกความสนใจของผู้ชมกลับคืนมา แม้ว่าจะไม่หวังให้มีผู้ชมมากถึง 100% แต่อย่างน้อยการตอบสนอง (feed back) จากผู้ชมก็เป็นสิ่งที่ผู้จัดควรจะทราบทั้งนั้นไม่ว่าจะดีหรือร้ายก็ตาม

“เคยมีเด็กอายุ 7 ขวบเขียนจดหมายมาให้กำลังใจแก่เรา เราทราบดีว่าผู้ชมตอบสนองต่างรายการของเราดีมากโดยดูจากจดหมายที่เข้ามาปีละ 8,000-9,000 ฉบับ คือเราเปิดรับสมาชิกและจดหมายเหล่านี้ก็เข้ามาขอสมัครเป็นสมาชิกเพราะอยากได้เนื้อหารายการที่ออกไปแล้วซึ่งตอนแรกเราก็พิมพ์เป็น Sheet แจก แต่เมื่อมีสมาชิกมากแล้วก็เคยคิดจัดพิมพ์เป็นเล่ม ก็คงแจกให้ได้ในปีนี้”

“…มีโรงเรียนหนึ่งขนเทปวิดีโอ 36 ม้วน มาให้เราช่วยอัดรายการความรู้คือประทีปให้ และบางคนก็มาหาเราที่สำนักงานเพื่อขอให้เรา dubbing ให้ เพราะไปขออัดจากร้านวิดีโอแล้วไม่มี ตอนนี้มีคนส่งเทปมาให้เราอัด มีที่ยังไม่เสร็จอีก 100 กว่าม้วน” ไพศาลเล่าถึงผู้ชมรายการความรู้คือประทีปให้เราฟัง

“เราเคยทำ Survey กับกลุ่มคนเล็กๆ กลุ่มหนึ่งรู้สึกมีคนชอบเรามากขึ้น เพราะเมื่อเราถามถึงความรู้คือประทีป เขารู้ว่าเอสโซ่ทำ ผิดกับเมื่อ 3-4 ปีแรกเขาคิดว่าเชลล์ทำ แต่ตอนนี้อย่างน้อยหน่วยงานต่างๆ ก็รู้จักมากขึ้น ก็มีคนมาติดต่อขอร่วมทำรายการกับเราเพราะถือว่าเอสโซ่เป็นบริษัทหนึ่งซึ่งให้สิ่งตอบแทนที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม นักศึกษาก็รู้จักเราดี ความรู้คือประทีปที่เราสร้างขึ้นมาใช้เงินลงทุนตอนละ 3 หมื่นกว่าบาทเกือบ 4 หมื่นบาท จึงช่วยให้คนทั่วไปมองเห็นว่าเอสโซ่ไม่ได้เอาเปรียบสังคมให้ความรู้แก่ผู้ชมอย่างเต็มที่โดยไม่มีการโฆษณา” ไพศาลเล่าต่อถึงการรับชมรายการความรู้คือประทีป

ส่วนผลการรับชมจากรายการไอคิว 180 ที่มีผู้ชมส่วนใหญ่เป็นเยาวชนของชาติ “จดหมายติชมค่อนข้างจะมากทีเดียว ส่งมาทางรายการ ส่งมาทางปูนซิเมนต์ไทย มาทางช่อง 9 อสมท และส่งมาถึงผม โทรศัพท์ถึงผมก็มี และบางทีเจอหน้าก็ซัดกันเลยกลางพลาซ่าว่าถึงรายการตอนนั้นๆ บางครั้งผมก็ไม่ได้ดูต้องย้อนกลับไปนั่งดู และมีอยู่ครั้งหนึ่งเราเคยไปจัดรายการสดกันที่สวนอัมพรในสัปดาห์วันเด็กแห่งชาติ คนที่รู้ข่าวจากสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยก็ไปนั่งรอกันเต็มเลย เพื่อที่จะถรมว่าที่เขาสมัครตอบปํญหาในรายการมาตั้งหลายเดือนแล้วทำไมยังไม่ได้สักที คือมีหลายคนที่อยากจะรู้ว่าเขาแน่แค่ไหนโดยที่เอารายการของเราเป็นเครื่องวัด” อาจารย์ชัยณรงค์ มณเทียรวิเชียรฉาย ผู้ดำเนินรายการไอคิว 180 ตอบคำถามของเราถึงผลการรับชมของรายการนี้

“เมื่อเริ่มรายการใหม่ๆ มีคนมาติดต่อขอคำถาม-คำตอบเข้ามาเสมอ ตอนนั้นฝ่ายประชาสัมพันธ์ปูนซิเมนต์ไทยช่วยพิมพ์โรเนียวให้และส่งให้ผู้สนใจ ปรากฏว่ามีจำนวนคนขอเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ ในที่สุดปูนฯ จึงสั่งพิมพ์รวบรวมเป็นเล่มขึ้นมาและจัดจำหน่ายตามราคาต้นทุนโดยปูนฯ ออกค่าพิมพ์ให้ และเงินที่ได้ก็นำกลับไปช่วยการศึกษา ตอนหลังจำนวนเพิ่มมากขึ้นเพราะต้องพิมพ์เพิ่มหลายครั้ง ปูนฯ จึงต้องวางนโยบายจัดงบประมาณมาให้ก่อนดำเนินงาน เมื่อขายได้แล้วเงินจำนวนนั้นก็จะเก็บเป็นทุนในการพิมพ์คราวต่อไป ส่วนกำไรที่เหลือจะนำไปช่วยสมาคมหรือมูลนิธิที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา”

“ในระยะแรกของรายการเราเน้นปูนซิเมนต์ค่อนข้างมาก กล้องหันไปทางไหนก็เจอแต่ปูนตราช้าง มาระยะหลังเริ่มลดน้อยลง จากการสำรวจวิจัยแทบจะเป็นอัตโนมัติไปแล้วว่ารายการไอคิว 180 กับปูนซิเมนต์เป็นสัญลักษณ์คู่กันไปเลย เมื่อเดือนที่แล้วผมลงไปใต้เพื่อหยั่งเสียงว่ามันจะมีผลอย่างไรบ้าง หลังจากขยายรายการไปภาคใต้ด้วย ปรากฏว่าพอลงจากรถเด็กมาล้อม เราก็รู้แล้วว่าคนดูเราถึงแล้ว เข้าถึงมาเลเซียก็เป็นแฟนเราหมด” อาจารย์ชัยณรงค์เล่าต่อถึงผลการรับชม

“เราใช้เงินลงทุนในรายการนี้ครั้งละประมาณ 4 หมื่นเศษ ตอนนี้ขยายไปทางปักษ์ใต้เพราะเรามีโรงงานอยู่ที่นั่น เรามีสำนักงานขายอยู่ที่นั่น เราก็อยากทำประชาสัมพันธ์ให้สินค้าของเราหรือผู้ที่สนใจสินค้าของเรารู้ว่าเราทำประโยชน์ ส่วนเงินที่ได้จากการขายหนังสือไอคิว 180 เราจะนำมาสนับสนุนมูลนิธิเพื่อสร้างสถาบันการศึกษาวิชาการจัดการแห่งประเทศไทย และมูลนิธิช่วยนักเรียนขาดแคลนในพระบรมราชินูปถัมภ์” ธนิต ศิริธร ประชาสัมพันธ์อาวุโสช่วยอธิบายถึงรายการนี้ต่อ

สำหรับรายการหนึ่งในร้อยเป็นขวัญใจนักอนุรักษนิยมและผู้รักศิลปะทุกแขนง

”เราใช้เงินงบประมาณครั้งละประมาณ 4-5 หมื่นบาท ผลจากที่เราได้รับคือหนังสือชมเชยจากหลายสถาบัน feed back ในตอนแรกๆ ที่เข้ามาจะมีคนเข้ามาบอกว่าวันนั้นนะ ฉันได้ดูรายการอันนั้นนะดี๊ดี แต่แล้วมันก็หายไป เพราะเค้าไม่ได้ติดตามดู แต่เขาก็บอกว่าเขาดูทีไรก็ชอบทุกทีแต่เขาก็ไม่รู้ว่ามันมาเมื่อไหร่และมันไปเมื่อไหร่ มีนักศึกษาเขาเคยทำวิจัยรายการของเรา ปรากฏว่าคนยังไม่รู้จักรายการเท่าที่ควรเพราะเราไม่ได้มีการโปรโมตรายการ”

“…มีคนเขียนจดหมายมาหาเราและมักจะถามว่าคนที่มาออกรายการของเราเขาอยู่ที่ไหน หรือถามว่าเขาจะไปเรียนบัลเลต์ได้ที่ไหนเพราะเขาได้ดูจากรายการของเรา เราก็เลยกลายเป็นสื่อกลางของเขาไปเลยก็มี บางทีก็มีคนส่งเรื่องและที่อยู่ของคนที่เขาคิดว่าเราน่าจะไปสัมภาษณ์มาให้ อันนี้เราก็เลือกเพราะเราไม่รู้จุดประสงค์ของใครจะใช้เราเป็นเครื่องมือโฆษณาให้เขาหรือเปล่า และที่เขียนชมรายการก็มี เขียนมาติว่าพิธีกรพูด “ส” ไม่ชัดก็มี ก็ไม่รู้จะแก้ไขยังไง เพราะมันเป็นมาตั้งแต่เกิดแล้วนี่คะ” วิไล เพ็ชรเงาวิไล ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด และเป็นผู้รับผิดชอบ-พิธีกรของรายการนี้กล่าวอย่างติดตลกถึงผลจากผู้รับชมรายการที่มีเข้ามา

ปฏิกิริยาที่ผู้ชมมีต่อรายการทั้งสามนี้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับรู้ของผู้ชมต่อสถาบันที่สนับสนุนรายการเหล่านี้แบบยอมรับมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่ความถี่ในการรับชมด้วย หากรายการหนึ่งมีการย้ำอยู่บ่อยๆ ในที่สุดความคุ้นเคยก็จะเกิดขึ้น อันเป็นผลดีต่อการประชาสัมพันธ์

การที่เราเลือกรายการทั้งสามนี้มากล่าวถึงมิใช่เป็นการแสดงรายการยอวาที หากแต่เป็นเพราะเราต้องการจะยกตัวอย่างการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานธุรกิจขึ้นมาพูดถึง เนื่องจากในปัจจุบันการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานใหญ่ๆ ดังเช่นสามสถาบันที่เป็นเจ้าของรายการดังกล่าวมาแล้วนั้นได้เริ่มเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปแล้ว

จากเริ่มแรกที่มุ่งโฆษณาขายสินค้าอย่างเดียว เริ่มหันมามีความรับผิดชอบต่อรายการมากขึ้น โดยแสดงออกมาในรูปของรายการส่งเสริมความรู้ให้แก่ประชาชนมากกว่าจะคำนึงถึงโฆษณาสินค้าของตน ซึ่งสำหรับนักประชาสัมพันธ์ที่เข้าใจโฆษณาสมัยใหม่จะเห็นว่าการโฆษณานั้นเป็นมากกว่าการขายสินค้าธรรมดาๆ เท่านั้นและการที่เอสโซ่, ปูนซิเมนต์ไทยและธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้เสนอออกมานี้เป็นการประชาสัมพันธ์ทางอ้อมที่มีผลต่อชื่อเสียงของสถาบันในระยะยาว เป็นการสร้างสมความเชื่อถือและไว้วางใจในสถาบันของตนให้เกิดขึ้นในใจของประชาชนทีละเล็กทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว เป็นทำนองก้าวช้าแต่มั่นคง

หมากตานี้ดูเริ่มเห็นผลมาบ้างแล้วจากกรณีข่าวลือเรื่องธนาคารกรุงเทพ จำกัด หากฝ่ายประชาสัมพันธ์ของกรุงเทพไม่ได้สร้างสมความไว้วางใจในสถาบันอย่างแข็งแรงพอผลกำไรของแบงก์ก็คงจะไม่ครองอันดับหนึ่งไว้ได้อย่างเดิมเป็นแน่ แม้ว่ายอดเงินกำไรจะตกลงไปบ้างแล้วก็ตามเนื่องจากข่าวลือที่เกิดขึ้น และกรณีเดียวกันนี้ใช่ว่าจะเกิดขึ้นในเมืองไทยเท่านั้น ยังมีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกามาแล้วคือมียาแก้ปวดศีรษะชนิดหนึ่งได้รับความนิยมมากโดยดูจากที่สามารถเจาะตลาดที่ยาแอสไพรินครอบครองอยู่ได้ วันหนึ่งมีคนบ้าจิตไม่ปกติใส่ยาพิษเข้าไปในแคปซูลยาบางขวดทำให้มีคนตายมาก ยอดขายยาชะงักลงทันที แม้ว่าผู้ผลิตจะปิดผนึกยาให้แน่นขึ้นถึง 3 ชั้นก็ตาม แต่นักธุรกิจทั้งหลายต่างก็ทำนายว่าบริษัทผู้ผลิตยานี้ต้องเจ๊งแน่ๆ ปรากฏปัจจุบันยาดังกล่าวกลับขายดิบขายดี ว่ากันว่าการฟื้นตัวของตลาดในครั้งนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าการปิดผนึกยาให้แน่นขึ้น หรือมีการโฆษณาอย่างเข้มแข็ง

เหตุผลส่วนใหญ่มาจากความไว้วางใจในบริษัทผู้ผลิตซึ่งพยายามอยู่เสมอที่จะปรับปรุงภาพลักษณ์ของตนในด้านศีลธรรมและรู้จักรับผิดชอบของตนให้ดีขึ้น เพราะชื่อเสียงที่ได้สะสมไว้มานานนี่เอง เมื่อเกิดปัญหาและบริษัทยืนยันว่าได้แก้ไขปัญหาร้ายแรงนี้ได้สำเร็จสิ้นลงแล้วลูกค้าก็กลับมาอุดหนุนเหมือนเดิม กรณีที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐฯ ครั้งนี้ก็คล้ายกับกรณีที่เกิดข่าวลือเรื่องแบงก์กรุงเทพ จำกัด และปัญหาที่ร้ายแรงก็สงบลงได้เพราะการปฏิบัติเช่นเดียวกัน

การจะเชื่อแต่เพียงคำพูดบางคำจากฝ่ายต่างๆ และดู feed back เพียงเท่านี้ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะสรุปว่ารายการเหล่านี้ได้รับความสำเร็จหรือไม่ แต่ต้องมีเหตุผลมาสนับสนุนเพิ่มขั้นอีก และก็มีผู้มาช่วยสนับสนุนรายการเหล่านี้ให้แล้ว

รายการความรู้คือประทีปได้รับรางวัลเมขลา ประเภทส่งเสริมความรู้ทั่วไปดีเด่นจากสมาคมผู้สื่อข่าวแห่งประเทศไทยและรายการผู้ดำเนินรายการดีเด่น (อาจารย์ชัยณรงค์) รวม 2 รางวัล และรายการส่งเสริมความมั่นคงจากกองบัญชาการทหารสูงสุดในปี 2524 และในปี 2526 ก็ได้รับรางวัลเมขลาอีก 2 ตัวในประเภทเดียวกับในปี 2524 (พิธีกรที่ได้รับคือ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล) พร้อมกับได้รับรางวัลจากคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ (สยช.) อีกหนึ่งรางวัล

ในปี 2527 รายการนี้ก็ได้รับรางวัลจาก สยช. อีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับรางวัลส่งเสริมสิ่งแวดล้อมจากสมาคมสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ นอกจากนั้นกระทรวงการต่างประเทศยังได้ขออัดเทปเรื่องลิเกและโขนไปเผยแพร่ให้ชาวต่างประเทศชม

รายการไอคิว 180 ได้รับรางวัลเมขลาเมื่อ 2 ปีที่แล้วในฐานะที่เป็นรายการถามตอบดีเด่นของปี

รายการหนึ่งในร้อย มหาวิทยาลัยปักกิ่งได้ขอเทปรายการนี้ไปสอนนักศึกษาภาควิชาภาษาตะวันออกที่เรียนภาษาไทยเป็นการประกอบการสอน และในปี 2527 ได้รับรางวัลจากคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ (สยช.)

ดังนั้นจึงเป็นอันว่ารายการประเภทนี้จะดีมากน้อยเพียงใดจึงมิใช่มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่ตัดสินได้ แต่ยังมีปัจจัยอีกหลายตัวที่จะช่วยตัดสินได้ เช่น ผู้ชม เป็นต้น และรางวัลที่ได้รับก็เป็นปัจจัยอีกตัวที่มาช่วยสนับสนุนอีกแรงหนึ่ง

งบประมาณที่บริษัทผู้ผลิตได้ลงทุนไปเป็นจำนวนตัวเลขระหว่าง 3 หมื่นบาทจนถึง 5 หมื่นบาท เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้แก่สถาบันดูจะมิใช่เงินจำนวนมากเลยเมื่อเทียบกับผลที่ได้ออกมาซึ่งมีค่ามหาศาลเกินกว่าจะคำนวณเป็นตัวเลขได้ เพียงแต่ภาพลักษณ์ที่เพียรสร้างขึ้นมานี้หมายถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวของกิจการเลยทีเดียว

และเหนือสิ่งอื่นใดนอกจากผลดีจะเกิดขึ้นแก่สถาบันนั้นๆ แล้ว การช่วยนำความรู้มาสู่ประชาชนเพื่อช่วยยกระดับการศึกษาของประชาชนถือเสมือนว่าเป็นการช่วยชาติอีกทางหนึ่งด้วย ดังที่เอสโซ่ได้พูดไว้ในหนังสือความรู้คือประทีป ฉบับ 90 ปีแห่งความก้าวหน้าว่า “เอสโซ่ตระหนักดีว่าในฐานะองค์กรหนึ่งของสังคมเรามีหน้าที่ที่จะรับผิดชอบและช่วยเหลือสนับสนุนกิจกรรมด้านการศึกษาของชาติให้เจริญก้าวหน้าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้ว่าเป็นเพียงเศษส่วนหนึ่งของกิจกรรมทั้งหมดก็ตาม เราเชื่อมั่นว่าความรู้ที่เกิดจากการสนับสนุนหรือการจัดโครงการเพื่อสังคมต่างๆ ของเราที่มุ่งมอบให้แก่ประชาชนชาวไทยนั้นจะเป็นเชื้อเพลิงส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดพลังแสงสว่าง ซึ่งเปรียบเสมือนดวงประทีปที่จะส่องนำทางชีวิตของทุกคนให้รุ่งโรจน์ตลอดไป”

การประชาสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแนวจากการหวังผลเพียงแค่ขายสินค้าอย่างเดียวมาเป็นการมุ่งเน้นสร้างสรรค์และรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นโดยมีสถาบันใหญ่ๆ กล้าลงทุนริเริ่มจัดทำจึงเป็นความคิดที่น่าสนับสนุนและมิใช่มีเพียงรายการที่ยกตัวอย่างมากล่าวถึงเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายรายการที่มิได้นำมาพูดในที่นี้ อาทิ รายการชีพจรลงเท้า ซึ่งจัดว่าเป็นรายการที่ให้ความรู้ดีอีกรายการหนึ่ง และผู้สนับสนุนรายการประเภทนี้ก็คงจะตระหนักถึงหน้าที่ของตนในฐานะเป็นองค์กรหนึ่งของสังคมด้วยกัน

รางวัลที่รายการเหล่านี้ได้รับเป็นข้อสนับสนุนได้ดีอีกอย่างหนึ่งว่าการผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของผู้สนับสนุนรายการให้ผลดีแก่องค์กรนั้นๆ แม้ว่าการประชาสัมพันธ์รูปแบบนี้จะไม่มีผลในทันที แต่ในระยะยาวเราย่อมจะเห็นแล้วว่าผลที่ได้รับนั้นมันหยั่งรากลึกเพียงใด และเรื่องที่เป็นกรณีศึกษาที่สนันสนุนคำกล่าวนี้ได้ดี คือกรณีข่าวลือเรื่องธนาคารกรุงเทพกับผลกำไรในปี 2527 ของปูนซิเมนต์ไทย (ซึ่ง “ผู้จัดการ” ฉบับที่ 20 เคยลงไปแล้วในหัวข้อ “2527 อีกปีหนึ่งที่ปูนใหญ่กำไรจนเขิน”) ในภาวะเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาอย่างนี้ก็ทำให้เห็นได้ชัดเจนเพียงพอแล้ว

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us