Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2528








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2528
เรื่องวุ่นๆ ในวงการคอมพิวเตอร์เมื่อเอ็นซีซีถูกจับขึ้นเขียงชำแหละ             
 


   
search resources

Computer
คณะกรรมการคอมพิวเตอร์ของรัฐ
ไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ์




ใบปลิวเถื่อนหรือบัตรสนเท่ห์นั้นเป็นผลพวงของความขัดแย้ง

อย่างที่ว่ากันว่าที่ใดมีความขัดแย้งที่นั่นมีการต่อสู้ และถ้าสู้กันตรงไปตรงมาไม่ได้ก็ต้องหลบลงสู่ใต้ดิน โดยอาศัยใบปลิวเถื่อนเป็นการต่อสู้รูปแบบหนึ่ง

และก็เป็นรูปแบบที่ใช้กันแพร่หลายแทบทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นวงการเมือง วงการราชการหรือวงการธุรกิจ

คณะกรรมการคอมพิวเตอร์ของรัฐหรือที่เรียกกันว่าเอ็นซีซีตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อกลั่นกรองการติดตั้งคอมพิวเตอร์ของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจทุกหน่วย

โครงการติดตั้งทุกๆ โครงการจะสามารถดำเนินการไปได้หรือไม่ได้นั้นก็อยู่ที่ว่าเอ็นซีซีจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ จะช้าหรือเร็วก็อยู่ที่คณะกรรมการคณะนี้ หรือถ้าพิจารณาจากผลประโยชน์ของผู้ขายคอมพิวเตอร์ ตลาดคอมพิวเตอร์ในภาครัฐเป็นตลาดใหญ่ตลาดหนึ่งจะเปิดกว้างหรือปิดแคบแค่ไหนก็อยู่ที่เอ็นซีซีเช่นกัน

อำนาจของเอ็นซีซีจึงเป็นอำนาจที่หลีกเลี่ยงความขัดแย้งได้ยาก

อย่างเช่นอาจจะต้องขัดแย้งกับหน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่โครงการไม่ผ่านการอนุมัติหรือกว่าจะอนุมัติได้ก็ล่าช้าจนเกิดความเสียหายแก่แผนงานติดตั้งคอมพิวเตอร์ และอาจจะต้องขัดแย้งกับผู้ขายคอมพิวเตอร์บางรายซึ่งมองว่าเอ็นซีซีลำเอียงหรือไม่มีความยุติธรรมเพียงพอในการอนุมัติโครงการ เนื่องจากไปเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ขายรายหนึ่งรายใดเข้า จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ว่ากันไป

เพราะฉะนั้นเมื่อเดือนเศษๆ มานี้จึงปรากฏใบปลิวชุดหนึ่งแจกจ่ายไปตามผู้ขายคอมพิวเตอร์หน่วยราชการ พรรคการเมืองและสื่อมวลชนหลายแห่ง

เป็นใบปลิวเถื่อนที่มีเนื้อชำแหละเอ็นซีซีอย่างชนิดที่พูดได้เต็มปากเต็มคำว่า “ตีไม่เลี้ยง”

”เวลานี้ก็คงได้อ่านกันทั่วถึงแล้ว และก็มีคำถามที่ติดตามมาเหมือนๆ กัน คือเนื้อหาที่เขียนนั้นเชื่อได้แค่ไหน กลุ่มใดเป็นผู้ทำและผู้ทำมีเจตนาที่แท้จริงอย่างไร….” กรรมการผู้จัดการบริษัทขายคอมพิวเตอร์สกุลอเมริกันแห่งหนึ่งออกความเห็น

ใบปลิวเถื่อนชุดนี้มีทั้งหมด 5 หน้ากระดาษพิมพ์ดีด เนื้อหาพอจะแบ่งได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนที่หนึ่งเป็นการกล่าวหาเอ็นซีซีว่าทำงานล่าช้าให้เกิดความเสียหายแก่โครงการติดตั้งคอมพิวเตอร์หลายสิบโครงการ อีกทั้งกรรมการบางคนก็มีความโน้มเอียง ไม่ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม และส่วนที่สองเป็นการชี้ทางออกว่าควรจะทำอย่างไรกับเอ็นซีซีเพื่อแก้ปัญหาหรือถ้าจะบอกว่าเป็นเจตนารมณ์ของใบปลิวเถื่อนชุดนี้ก็คงจะบอกได้เช่นกัน

เพียงแต่เจตนาอันนี้อาจจะมีบางสิ่งเคลือบแฝงอยู่ก็เป็นได้

ใบปลิวเถื่อนดังกล่าวได้เริ่มเรื่องด้วยการแบ่งคณะกรรมการเอ็นซีซีออกเป็นกลุ่มๆ จำนวน 4 กลุ่ม จากนั้นก็วิพากษ์แต่ละกลุ่มว่ามีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง (โปรดอ่านจากล้อมกรอบ) ซึ่งดูเหมือนว่ากลุ่มที่โดนวิพากษ์หนักที่สุดก็คือกลุ่มที่ 1 กลุ่มที่ 3 และกลุ่มที่ 4

กลุ่มที่ 1 คือตัวประธานเอ็นซีซีหรือคือ ไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกนั้นโดนวิพากษ์จากใบปลิวเถื่อนว่า “ใช้อำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจให้ความเห็นชอบโครงการต่างๆ โดยขาดพื้นฐานความรู้ความสามารถ…” นับเป็นการกล่าวหาเพียงสั้นๆ แต่ก็ว่ากันว่าสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับไชยศิริมาก

กลุ่มที่ 3 หรือกลุ่มกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นนักวิชาการก็โดน 3 ข้อหาใหญ่ซึ่งจากการตรวจสอบกับแหล่งข่าวหลายๆ สายแล้วพบว่ามีทั้งจริงและเท็จ

อย่างเช่นในข้อหาที่ 1 ที่ระบุว่า “กรรมการท่านหนึ่งเคยเดินทางไปร่วมสัมมนาด้านการธนาคารที่ฮ่องกงในเดือนมีนาคม 2528 ในฐานะตัวแทนเป็นทางการของบริษัทผู้ขายคอมพิวเตอร์ญี่ปุ่นในประเทศบริษัทหนึ่ง” ข้อหานี้เจตนาของผู้ทำใบปลิวเถื่อนก็ต้องการจะชี้ว่า กรรมการท่านนี้มีฐานะผูกพันกับผู้ขายคอมพิวเตอร์บางราย เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะให้ความช่วยเหลือกัน โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่จึงมีความเป็นไปได้มากซึ่งสำหรับคนในวงการแล้วจะทราบทันทีว่า กรรมการที่ถูกกล่าวถึงนี้คือ ดร.วิชิต หล่อจีระชุณห์กุล อาจารย์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

เมื่อเดือนมีนาคม 2528 ดร.วิชิตเดินทางไปสัมมนาที่ฮ่องกงจริงและก็ไปในนามตัวแทนของบริษัทดาต้าแมทตัวแทนจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ของญี่ปุ่นยี่ห้อเอ็นซีซี และโดยส่วนตัว ดร.วิชิตก็มีความสนิทสนมเป็นอย่างดีกับมนู อรดีดลเชษฐ์ กรรมการผู้จัดการดาต้าแมทอีกด้วย

“แต่นั่นก็คงไม่ได้หมายความว่า ดร.วิชิตจะเป็นคนของเอ็นอีซี ดร.วิชิตมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของธนาคารพาณิชย์อยู่ 2 แห่ง และทั้ง 2 แห่งนี้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เอ็นอีซี เมื่อมีการสัมมนาด้านการธนาคารที่ฮ่องกง ดร.วิชิตก็ได้รับมอบหมายจากธนาคารที่ตนเป็นที่ปรึกษาให้ไปเข้าร่วมสัมมนาด้วย โดยตัวแทนจำหน่ายเครื่องเอ็นอีซีหรือบริษัทดาต้าแมทเป็นหัวหน้าคณะนำไป เรื่องจริงๆ ก็มีอย่างนี้…” แหล่งข่าวที่ทราบเรื่องดีอธิบาย

ข้อกล่าวหาต่อมาบอกว่า “กรรมการอีกท่านหนึ่งปฏิบัติงานอยู่ในบริษัทเอกชน ซึ่งมีกิจการในเครือค้าขายคอมพิวเตอร์อยู่ด้วย เมื่อเดือนมีนาคม มีการทดสอบสาธิตการต่อพ่วงเครื่องคอมพิวเตอร์ พีซี กับเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกรรมการท่านนี้ ได้โทรศัพท์ไปชี้ชวนแกมบังคับให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เชิญบริษัทของตนเข้าสาธิตการต่อพ่วงด้วย ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ก็เชิญ”

ข้อกล่าวนี้คงจะหมายถึงใครไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่ ดร.วัลลภ วิมลวณิชย์ ผู้บริหารคนหนึ่งของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย

ดร.วัลลภเพิ่งจะเข้าทำงานกับบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ก็มีสินค้าคอมพิวเตอร์ขายอยู่ด้วยจริง คือคอมพิวเตอร์ยี่ห้อเทเลวิดีโอ และเทเลวิดีโอก็เป็นผลิตภัณฑ์ตัวหนึ่งที่ได้เข้าร่วมการทดสอบสาธิตการต่อพ่วงเครื่องพีซีเข้ากับเครื่องใหญ่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เมื่อราวๆ เดือนมีนาคม 2528 จริงอีกเหมือนกัน

เพียงแต่จะเข้าไปเพราะมีการชี้ชวนแกมบังคับหรือไม่นั้น “เรื่องอย่างนี้ไม่ต้องชี้ชวนหรือบังคับหรอก ใครอยากเข้าไปทดลองเราก็ให้เข้าไปอยู่แล้ว…” คนในการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ คุยให้ฟัง

สุดท้ายก็คือข้อกล่าวหาที่ว่า “กรรมการอีกท่านหนึ่งมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผู้ขายคอมพิวเตอร์เก่า โดยการสนับสนุนของญี่ปุ่นเป็นผลให้สถาบันของท่านใช้เครื่องที่บริษัทนั้นยกให้ฟรี แต่คิดค่าซ่อมบำรุงรักษาอยู่ในเกณฑ์สูงผิดปกติ” ข้อกล่าวหานี้ต้องการจะชี้ว่ากรรมการท่านนี้เคยมีพฤติกรรมตุกติกกับผู้ขาย เพราะฉะนั้นก็อาจจะใช้ความตุกติกนี้ไปเรื่อยๆ ตามนิสัย

พิจารณาตามข้อมูลแล้วข้อหานี้ก็น่าจะหมายถึงสมชาย ทยานยง อาจารย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะจุฬาฯ เพิ่งเปลี่ยนเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้เครื่องไอบีเอ็ม 3031 ซึ่งบริษัทเซอร์เคิล อันเป็นบริษัทขายเครื่องคอมพิวเตอร์เก่าหรือคอมพิวเตอร์ที่ผ่านการใช้งานมาแล้วบริจาคให้จุฬาฯ ฟรี โดยเสียค่าใช้จ่ายเพียงค่าติดตั้งและค่าซ่อมบำรุงรักษาเท่านั้น

บริษัท เซอร์เคิล ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้แล้วมาจากญี่ปุ่น ขณะนี้ได้บริจาคเครื่องไปให้กับหน่วยราชการประมาณ 3-4 แห่งไม่ใช่ที่จุฬาฯ เพียงแห่งเดียว

“เท่าที่ผมรู้จักกับอาจารย์สมชาย ผมบอกได้เลยว่า คนนี้ไม่มีเรื่องตุกติกด้านผลประโยชน์เด็ดขาด ในประเด็นผู้เขียนใบปลิวเถื่อนมีเจตนาจะบิดเบือนข้อเท็จจริงมาก…” แหล่งข่าวคนหนึ่งยืนยัน

“จะต้องยอมรับว่าคนเขียนใบปลิวนี่เก่งมาก ข้อกล่าวหาทุกข้อเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ เพียงแต่เนื้อหาถูกบิดเบือนให้ดูว่าเป็นการกระทำที่เสียหาย เพราะฉะนั้นใครที่ไม่ได้อยู่ในวงในจริงๆ อ่านแล้วก็อาจจะคล้อยตามได้ง่ายๆ ...” แหล่งข่าวอีกคนหนึ่งสรุป

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งโดนซึ่งโดนวิพากษ์อย่างเสียหายไม่แพ้กลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 3 ที่กล่าวไปแล้วคือ กลุ่มที่ 4 กลุ่มนี้ใบปลิวบอกว่า “ประกอบด้วยบุคคลเพียง 3 คนเป็นแกนนำ คือเลขานุการของคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ของกองพัฒนาระบบงานอีก 2 คน….”

เลขาคณะกรรมการเอ็นซีซี คือ ศศิพัฒน์ เศวตวัฒนา เจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณ สำหรับอีก 2 คน นั้นเป็นที่ทราบกันว่าหมายถึง เมตตา จารุจินดา กับ คธา อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงบประมาณเช่นเดียวกับศศิพัฒน์

“พนักงาน 2 คนนี้จะปฏิบัติตัวเสมือนเป็นคณะกรรมการคอมพิวเตอร์ของรัฐเสียเอง โดยใช้อำนาจที่ตนไม่มีไปในทางไม่สุจริต…” ใบปลิวชุดนี้ระบุในตอนหนึ่ง

“พนักงานคนหนึ่งเคยเป็นกรรมการคัดเลือกเครื่องคอมพิวเตอร์ให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในปัจจุบันทั้งสองแห่งนี้ไม่ประสบความสำเร็จในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ พนักงานคนหนึ่งที่มีความสนิทสนมอยู่กับบริษัทขายเครื่องยี่ห้อหนึ่ง และให้การสนับสนุนอย่างขัดเจนจนกระทั่งมีคนพูดกันว่า ถ้าคนนี้เป็นกรรมการคัดเลือกเครื่องที่ใด ที่นั่นต้องใช้เครื่องยี่ห้อหนึ่งเสมอ…” เป็นข้อความตอนต่อมาของใบปลิว ซึ่งก็คงจะพยายามให้หมายถึงเมตตา จารุจินดา เพราะเมตตาเคยเป็นกรรมการคัดเลือกเครื่องคอมพิวเตอร์ให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และกระทรวงสาธารณสุข

มีผู้ชี้ข้อมูลที่กล่าวหานี้ออกจะขัดๆ กันอยู่ เพราะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้นใช้เครื่องยี่ห้อเด็คของบริษัทบางกอกดาต้าเซ็นเตอร์ ส่วนกระทรวงสาธารณสุขใช้เครื่องยี่ห้อไพม์ของบริษัทดิจิตอล อินฟอร์เมชั่น แอสโซซิเอท หาใช่ “ถ้าคนนี้เป็นกรรมการคัดเลือกเครื่องที่ใด ที่นั่นต้องใช้ยี่ห้อหนึ่งเสมอ… ตามข้อกล่าวหาไม่

อีกข้อหาหนึ่งระบุว่า “พนักงานอีกคนหนึ่ง มีตำแหน่งรองจากเลขานุการ…มีตัวอย่างที่พนักงานคนนี้โทรศัพท์ไปข่มขู่หัวหน้าศูนย์คอมพิวเตอร์ของกรมหนึ่ง ในกระทรวงคมนาคมว่า ให้ยกเลิกการประกวดราคาจัดหาเครื่อง ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทที่ตนสนับสนุนอยู่ไม่สามารถเข้าประกวดราคาได้…”

ข้อกล่าวหานี้ก็คงเป็นไปไม่ได้ นอกจากจะหมายถึงคธา อภัยวงศ์ ลูกชายอดีตนายกรัฐมนตรี ควง อภัยวงศ์

และ “กรมหนึ่งในกระทรวงคมนาคม” ที่ว่านั้นก็คงจะหมายถึงกรมทางหลวง ซึ่งมีหัวหน้าศูนย์คอมพิวเตอร์ชื่อ สุกิจ รุ่งรัตนากร

“คุณคธาโทรศัพท์ไปหาคุณสุกิจจริง และก็พูดกันแบบเพื่อนว่า โครงการติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ของกรมทางหลวงนั้นยังไม่ผ่านการพิจารณาของเอ็นซีซี อาจจะมีปัญหาตามมาได้ภายหลังถ้ากรมทางหลวงจะเปิดการประกวดราคา เพราะฉะนั้นคุณคธาจึงแนะนำว่า น่าจะยกเลิกการประกวดราคาและส่งเรื่องให้เอ็นซีซีพิจารณาเสียก่อน ไม่ได้พูดข่มขู่อย่างที่ว่ากันนั่น…” แหล่งข่าวที่ทราบเรื่องนี้ชี้แจง

ใบปลิวเถื่อนดังกล่าวเมื่อลงมือชำแหละกรรมการเอ็นซีซีแล้วสรุปว่า “จากการวิเคราะห์บทบาทและขีดความสามารถของกลุ่มต่างๆ ที่ประกอบเป็นคณะกรรมการคอมพิวเตอร์ของรัฐก็พอที่จะสรุปได้ว่า การพัฒนาประเทศโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการปรับปรุงประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายในภาคราชการและรัฐวิสาหกิจนั้น คงจะประสบความล้มเหลวอย่างแน่นอน เนื่องจากกลไกซึ่งรัฐบาลได้สร้างขึ้นเป็นกลไกที่สร้างปัญหาอุปสรรคความล่าช้าในการดำเนินงาน สร้างปัญหาในด้านงบประมาณ และกลายเป็นแหล่งอิทธิพลเกิดขึ้นใหม่ และได้กลายเป็นกลไกที่สร้างประโยชน์ส่วนตัวให้คนกลุ่มหนึ่ง ตรงกันข้ามกับวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่จะมุ่งพัฒนาประเทศและส่งเสริมการใช้คอมพิวเตอร์ให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจและ ประชาชน….”

“ถ้าเพียงแต่อาศัยข้อมูลและข้อกล่าวหาที่ว่ามานั้น ซึ่งบิดเบือนเป็นส่วนใหญ่ ก็เห็นจะเชื่อข้อสรุปนี้ยาก” หากหลายคนในวงการคอมพิวเตอร์ให้ความเห็นเป็นเสียงเดียว

อย่างไรก็ตาม มีข้อสรุปหนึ่งที่ทุกคนดูเหมือนว่าจะให้การยอมรับ นั่นคือ “ในปัจจุบันมีเรื่องค้างการพิจารณาจากเอ็นซีซีอยู่มากถึง 70 หน่วยงาน ซึ่งถ้าพิจารณาตามความสามารถในการพิจารณาเรื่องต่างๆ ที่ผ่านมาต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีถึงสะสางหมด ถ้าหน่วยงานใดเสนอเรื่องเพื่อพิจารณาตอนนี้ คงต้องรอไปอีกนานกว่าจะทราบผล….”

จุดนี้นับเป็นจุดอ่อนที่สุดของเอ็นซีซี และก็เริ่มมีผลทำให้หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจบางแห่งต้องลงมือเปิดประกวดราคาโดยไม่ส่งโครงการไปให้เอ็นซีซีพิจารณา ซึ่งเมื่อแห่งหนึ่งสามารถทำได้ แห่งที่สองสามก็จะต้องติดตามมา ในที่สุดเอ็นซีซีก็จะมีสภาพไม่ผิดไปจากเสือกระดาษ ไม่มีอำนาจที่แท้จริงอีกต่อไป

“อย่างเช่นกรณีกรมทางหลวงและกรณีการประปานครหลวง ในโครงการติดตั้งคอมพิวเตอร์ของทั้งสองแห่งนี้ก็เปิดประกวดราคาโดยไม่ผ่านเอ็นซีซี ซึ่งก็มีแนวโน้มว่า เอ็นซีซีอาจจะแตะต้องอะไรไม่ได้…” คนในวงการคอมพิวเตอร์พูดกัน

แต่แหล่งข่าวคนหนึ่งกลับเชื่อว่า เอ็นซีซีจะไม่ยอมให้กรมทางหลวงและการประปากระทำการข้ามหน้าข้ามตาเด็ดขาด และเพื่อมิให้เอ็นซีซีต้องมีสภาพเป็นเสือกระดาษ ก็อาจจะต้องมีรายการเชือดไก่ให้ลิงดูกันบ้าง

“มันน่าเห็นใจเอ็นซีซีอยู่เหมือนกัน เขาเพิ่งได้รับแต่งตั้ง หลังจากเคยยุบไปครั้งหนึ่งแล้ว คือยุบไปตั้งแต่ปี 2526 เดือนกันยายน ชุดเก่านั้นสำนักงานสถิติเขาเป็นตัวตั้งตัวตี พอตั้งใหม่เพื่อจะเปลี่ยนมาให้สำนักงบประมาณดูแลแทนสำนักงานสถิติก็เพิ่งเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2527 มันก็มีช่วงว่างอยู่เกือบปี โครงการต่างๆ ก็มาสุมไว้เต็มไปหมด มันก็เลยดูล่าช้า แต่เอ็นซีซีเขาก็แถลงแล้วว่า เขาจะทำให้เร็วขึ้น โดยจะดูแค่ความเหมาะสม ดูด้านงบประมาณ จะไม่ดูละเอียดลงไปถึงสเป็กเครื่องเหมือนที่ชุดเก่าๆ เคยทำ และถ้าโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 7 แสนบาทก็ดำเนินการไปได้เลยไม่ต้องส่งมาให้เอ็นซีซีพิจารณา ถ้าแบบนี้งานก็คงรวดเร็วขึ้นได้…” แหล่งข่าวในสำนักนายกรัฐมนตรีพูดกับ “ผู้จัดการ”

ใบปลิวเถื่อนดังกล่าวนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจจะนำมาวิเคราะห์อีกประเด็นหนึ่ง คือผู้ทำเป็นใคร มีเจตนาอะไร

ถ้าดูเจตนาตามที่กล่าวมาในใบปลิวก็ดูได้จากตอนท้ายๆ ซึ่งเขียนว่า “ถึงเวลาแล้วที่จำเป็นต้องพิจารณาปรับปรุงคณะกรรมการคอมพิวเตอร์ของรัฐ ให้สามารถปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ โดยการเปลี่ยนแปลงตัวประธานและองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ เสียใหม่และเปลี่ยนแปลงวิธีการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ก่อนที่จะเกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติมากขึ้นอีก”

และอีกตอนหนึ่งกล่าวว่า “คณะกรรมการฯ ชุดที่แล้ว ใช้สำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นกรรมการเลขานุการสำนักงานสถิติฯ เป็นแหล่งทรัพยากรด้านคอมพิวเตอร์มาช้านานและเป็นที่ยอมรับว่า ผลของสำนักงานสถิติได้ผลิตบุคลากรชั้นนำจำนวนมากในวงการคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันคณะกรรมการชุดที่แล้วจะใช้เวลาพิจารณาเรื่องที่เสนอให้เสร็จสิ้นภายในไม่เกิน 60 วัน โดยมีการประชุมบ่อยครั้ง และใช้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสถิติฯ ซึ่งมีประสบการณ์และความชำนาญงานในด้านนี้เป็นผู้กลั่นกรองเรื่องต่างๆ ก่อน… เพื่อแก้ไขสถานการณ์อันจะเป็นผลลบต่อประเทศชาติ ควรจะได้มีการปรับปรุงบริหารของกรรมการฯ โดยใช้สำนักงานสถิติเป็นเลขานุการแทนสำนักงบประมาณ และควรจะได้มีการพิจารณาแต่งตั้งกรรมการฯ ที่เป็นผู้แทนสมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกที่ประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ในประเทศไทย”

ข้อความเช่นนี้ถ้าวิเคราะห์กันตรงไปตรงมาตามตัวหนังสือ ก็คือ การโจมตีคณะกรรมการเอ็นซีซีในปัจจุบันและรวมไปถึงสำนักงบประมาณด้วย ส่วนในทางตรงกันข้ามก็ยกย่องสำนักงานสถิติแห่งชาติและสมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย

เพราะฉะนั้นคู่ขัดแย้งที่จะมองหน้ากันไม่สนิทก็คือ เอ็นซีซีสำนักงบประมาณฝ่ายหนึ่งกับสำนักงานสถิติแห่งชาติและกรรมการสมาคมคอมพิวเตอร์อีกฝ่ายหนึ่ง

และก็อาจจะรวมถึงกรมทางหลวงด้วยเพราะในใบปลิวก็มีระบุว่า ถูกคณะทำงานของเอ็นซีซีข่มขู่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทวีศักดิ์ ทังสุพาณิชย์ ซึ่งทำงานอยู่ที่สำนักงานสถิติและเป็นกรรมการสมาคมคอมพิวเตอร์ด้วยนั้นก็คงจะต้องร้อนๆ หนาวๆ แน่

“ทุกอย่างดูมันเข้าล็อกไปหมด จนผมเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า จะมีใครต้องการให้ 2 ฝ่ายนี้เขาชนกันหรือเปล่า โดยตัวเองนั่งดูเฉยๆ เข้าทำนอง นั่งบนภูดูเสือกัดกัน จนเปลี้ยไปทั้ง 2 ฝ่าย…” นักธุรกิจในวงการคอมพิวเตอร์คนหนึ่งตั้งข้อสังเกต

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us