บริษัทบางกอกยาสูบ จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2521 ทุนจดทะเบียน
10 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นจำนวน 100,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท
บางกอกยาสูบเริ่มต้นโดยมีผู้ถือหุ้น 18 คน คือ
ประภา วิริยะประไพกิจ 20,000 หุ้น
วิทย์ วิริยะประไพกิจ 9,000 หุ้น
จารุรัตน์ คุณัตถานนท์ 1,000 หุ้น
เดช นำศิริกุล 10,000 หุ้น
เกียรติ เอี่ยมสกุลรัตน์ 5,000 หุ้น
ทิน วชิรัตศวกุล 5,000 หุ้น
บริษัทเอเซียการลงทุน
(โดยนายบัณฑูร ลิ้วประเสริฐ และนายสุจินต์ วงศ์ไพศาล) 5,000 หุ้น
พานิช สัมภวคุปต์ 1 หุ้น
อร่าม โกฏิกุล 1 หุ้น
ธวัช พีละเหล่าตระกูล 1 หุ้น
ทนุ กุลเศรษฐศิริ 12,997 หุ้น
วรรัตน์ กุลเศรษฐศิริ 2,000 หุ้น
ศุลีพร กุลเศรษฐศิริ 5,000 หุ้น
ศันสนีย์ กุลเศรษฐศิริ 5,000 หุ้น
ศิโรดม กุลเศรษฐศิริ 5,000 หุ้น
ศศิวรรณ 5,000 หุ้น
ศิระ กุลเศรษฐศิริ 5,000 หุ้น
ศรินทร์ กุลเศรษฐศิริ 5,000 หุ้น
ทั้ง 18 คนนี้แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มของทนุ กุลเศรษฐศิริ
ถือหุ้นไว้รวม 45 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มของเดช นำศิริกุล และเกียรติ เอี่ยมสกุลรัตน์
25 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มของประภา วิริยะประภัยกิจ ถืออีก 30 เปอร์เซ็นต์
ที่เหลือ
บางกอกยาสูบเป็นบริษัทที่วางเป้าหมายจะเข้าไปลงทุนทำไร่ยาสูบ สร้างโรงบ่มใบยา
สร้างโรงงานผลิตยาเส้นและบุหรี่ออกจำหน่ายต่างประเทศและในประเทศ โดยเจ้าของความคิดก็คือ
ทนุ กุลเศรษฐศิริ
มันออกจะเป็นความคิดที่ฝันเฟื่องอย่างมากๆ เพราะเป็นที่ทราบกันอยู่ว่าการผลิตและจำหน่ายบุหรี่ในประเทศไทยนั้น
ถูกผูกขาดโดยโรงงานยาสูบของรัฐบาล
แต่ด้วยประสบการณ์ของทนุ เขาก็เชื่อว่าถ้าสามารถวิ่งเต้นเข้าถึงผู้มีอำนาจแล้ว
เรื่องที่ว่ายากก็อาจจะกลายเป็นเรื่องที่ง่ายได้เสมอ
และบังเอิญว่าทนุมองว่าเขามีเส้นสายพอที่จะทำได้ โครงการความคิดฝันก็กลายเป็นจริงในที่สุด
บริษัทบางกอกยาสูบในช่วงปี 2521-2523 ได้ลงทุนสร้างโรงบ่มใบยาขึ้นแถวๆ จังหวัดภาคเหนือ
สร้างโรงงานผลิตบุหรี่และสำนักงานของบริษัทที่ถนนเพชรบุรีใกล้ๆ สี่แยกมักกะสัน
ซึ่งปัจจุบันส่วนหนึ่งใช้เป็นสำนักงานของบริษัทเมอร์ลินและอีกหลายบริษัทของทนุ
ดูเหมือนยังไม่ทันได้ใบอนุญาตให้ผลิตบุหรี่ออกจำหน่าย บางกอกยาสูบก็เริ่มประสบปัญหาด้านการเงินแล้ว
กรรมการบริษัทซึ่งมีทนุเป็นประธานจึงเสนอให้มีการเพิ่มทุนอีก 10 ล้านบาท
เป็นมีทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท
มติเพิ่มทุนนี้ แรกๆ ผู้ถือหุ้นทุกกลุ่มก็ตอบรับด้วยดี แต่ครั้นพอจะลงมือเพิ่มทุนกันจริงๆ
อุปสรรคก็ดูจะมีมากมายไปหมด
"เรื่องของเรื่องก็คือผู้ถือหุ้นอีก 2 กลุ่มเริ่มไม่แน่ว่าเส้นสายของทนุที่วิ่งเต้นขอใบอนุญาตมานั้นจะทำได้จริงตามที่ทนุคุยไว้หรือเปล่า
เพราะตั้งบริษัทมาเกือบ 3 ปีแล้วก็ยังไม่เห็นมีอะไรพอที่จะเป็นรูปเป็นร่าง…"
แหล่งข่าววงในพูดถึงสาเหตุที่เป็นอุปสรรคให้ฟัง
เพราะฉะนั้นบางกอกยาสูบก็เลยเพิ่มทุนไม่ได้จนแล้วจนรอด ซ้ำร้ายผู้ถือหุ้นกลุ่มของประภา
วิริยะประไพกิจ และกลุ่มของเกียรติ เอี่ยมสกุลรัตน์ ยังขอถอนตัวขายหุ้นที่ถือทั้งหมดไปให้กลุ่มของทนุเสียอีก
บางกอกยาสูบเริ่มต้นจากความคิดของทนุจึงเหลือแต่กลุ่มของทนุกลุ่มเดียวโดดๆ
ที่จะต้องเผชิญชะตากรรมต่อไปตามลำพัง
บางกอกยาสูบเคยพยายามจะเลี่ยงกฎหมายการผูกขาดบุหรี่ของโรงงานยาสูบด้วยการออก
"ลิตเติ้ลซิก้าร์" หลายยี่ห้อ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
ชื่อของบางกอกยาสูบก็เลยกลายเป็นตำนานไปพร้อมๆ กับป้ายชื่อบริษัทที่ถูกปลดลงเรียบร้อยแล้วก่อนหน้าทนุจะเดินทางไปพักผ่อนระยะยาวที่ไต้หวันเพียงไม่กี่เดือน