Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2528








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2528
เมอร์ลินคอมมอดิตี้ส์ ออกลายพ่อมด ชีวิตที่ยิ่งนิยายของทนุ กุลเศรษฐศิริ เพียงแต่ตอนจบไม่แฮปปี้เอนดิ้ง             
 


   
search resources

Financing
ทนุ กุลเศรษฐศิริ
เมอร์ลินคอมมอดิตี้ส์ เทรดดิ้ง
Law




เตียงงั้บ แซ่ตั้ง อายุ 37 ปี พักอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 5 ตรอกสะพานคู่ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตยานนาวา

เตียงงั้บทำงานเป็นพนักงานบริษัทเมอร์ลินคอมมอดิตี้ส์เทรดดิ้งจำกัด ซึ่งมีทนุ กุลเศรษฐศิริ เป็นประธานกรรมการและผู้อำนวยการใหญ่

บริษัทเมอร์ลินที่เตียงงั้บทำงานด้วยนี้มีธุรกิจเกี่ยวกับการเล่นหุ้นที่ฮ่องกง และค้าพืชไร่จำพวกฝ้าย ถั่วแดงถั่วลิสง ล่วงหน้า หรือที่รู้จักกันไปว่าเป็นการเล่น "คอมมอดิตี้ส์" โดยทำหน้าที่เป็นบริษัทนายหน้าหาลูกค้าคนไทยมาเล่นเก็งกำไรราคาที่ขึ้นๆ ลงๆ กัน

เตียงงั้บทำงานกับบริษัทเมอร์ลินมาแล้วปีเศษๆ รายได้ดีพอสมควร และเขาคิดอยู่เสมอว่ามันน่าจะเป็นอาชีพที่มั่นคงในระยะยาวอาชีพหนึ่ง

แต่เตียงงั้บก็คิดผิดไปถนัด!!

วันที่ 13 พฤษภาคม 2528 เวลา 3 ทุ่มเตียงงั้บพร้อมกับเพื่อนพนักงานอีก 15 คน ในฐานะตัวแทนพนักงานกว่า 80 คนของบริษัทเมอร์ลินต้องตัดสินใจเข้าแจ้งความกับตำรวจกองปราบขอให้ดำเนินคดีกับบริษัทเมอร์ลินและทนุ กุลเศรษฐศิริ ในข้อหาหาฉ้อโกง!!

เตียงงั้บกับเพื่อนๆ เล่าให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบฟังว่า บริษัทเมอร์ลินตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี 2522 ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 80 คน โดยพนักงานทุกคนก่อนเข้าทำงานกับบริษัทได้จะต้องนำเงินมาลงทุนกับบริษัทอย่างต่ำคนละ 50,000 บาท เงินจำนวนนี้บริษัทจ่ายผลประโยชน์ให้ทุกๆ 3 เดือน ในอัตราผลตอบแทนจำนวนหนึ่งและบริษัทยังมีลูกค้าจำนวนมากที่นำเงินมาร่วมลงทุนเพื่อเล่นคอมมอดิตี้ส์ หากคิดเป็นจำนวนเงินที่ทั้งพนักงานและลูกค้านำมาลงแล้วก็น่าจะมากกว่า 100 ล้านบาท

การจ่ายผลประโยชน์ก็พูดได้ว่าราบรื่นมาโดยตลอด จนกระทั่งเดือนเมษายนที่ผ่านมานี่เองการจ่ายเงินจึงได้หยุดชะงักไป และทนุ กุลเศรษฐศิริ เจ้าของบริษัทได้ขอผัดผ่อนมาเรื่อยๆ ในท้ายที่สุดก็ตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ให้พนักงานและลูกค้าทั้งหมดในวันที่ 10 พฤษภาคม 2528

แต่พอถึงวันนัด นอกจากจะไม่ได้รับเงินตามสัญญาที่ให้ไว้พนักงานยังทราบอีกว่า ทนุ กุลเศรษฐศิริ ได้หอบเงินหลบหนีไปอยู่ไต้หวันแล้ว ทุกคนจึงตัดสินใจเข้าแจ้งความกับกองปราบเพื่อจัดการดำเนินคดีต่อไป

ต่อมาในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 14 พฤษภาคม ก็มีพนักงานบริษัทเมอร์ลินคอมมอดิตี้ส์ประมาณ 10 คน เดินทางมาขอร้องทุกข์กับกองปราบอีก ทั้งหมดกล่าวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าได้ลงเงินกับบริษัทเมอร์ลินไปรวมทั้งสิ้น 3,650,000 บาท

พลตำรวจตรีบุญชู วังกานนท์ ผู้บังคับการตำรวจกองปราบเมื่อได้ทราบเรื่องโดยละเอียดแล้ว จึงสั่งการให้พันตำรวจเอกสมพงษ์ บุญธรรม รองผู้บังคับการกองปราบเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้ทันที

วันที่ 15 พฤษภาคม พนักงานและลูกค้าของบริษัทเมอร์ลินจำนวนประมาณ 50 คนเดินทางมาที่กองปราบอีก โดยส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มที่เคยมาร้องทุกข์แล้ว ได้นำหลักฐานมาแสดง อีกส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มที่เพิ่งจะมาร้องทุกข์

วันนั้นทั้งวันก็เลยกลายเป็นวันที่พนักงานสอบสวนของกองปราบต้องทำงานกันหนักเป็นพิเศษอีกครั้งหนึ่ง

"ผู้เสียหายหลายคนอยู่ถึงปากช่องโน้นก็ต้องกลับไปเอาหลักฐานมา และมีผู้เสียหายซึ่งเป็นลูกค้ารายหนึ่งเป็นนักร้องชื่อลินจง บุนนากรินทร์…" แหล่งข่าวคนหนึ่งในมหานครเล่าให้ฟัง

ในรายของลินจง บุนนากรินทร์ นั้นได้เข้าแจ้งความโดยมีตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 7 ฉบับมูลค่า 1,050,000 บาท เป็นหลักฐาน

"จากปากคำของลูกค้าและพนักงาน ก็พอสรุปได้ว่า นอกจากส่วนหนึ่งจะเกิดความเสียหายจากการนำเงินไปลงทุนเล่นคอมมอดิตี้ส์แล้ว ส่วนหนึ่งยังเสียหายเพราะนำเงินไปฝาก ซึ่งแสดงว่าเจ้าของบริษัทเมอร์ลินคอมมอดิตี้ส์ทำธุรกิจทรัสต์เถื่อนด้วย" แหล่งข่าวคนเดิมในกองปราบพูดต่อ

"ตั๋วที่ออกจะมีมูลค่าอย่างต่ำ 50,000 บาท แต่ถ้าใครเอาเงินไปลงทุนต่ำกว่า 50,000 ก็จะได้เป็นสมุดฝากแบบสมุดฝากเงินธนาคารประเภทนี้จะได้ดอกเบี้ย 18% ต่อปี" แหล่งข่าวอีกคนหนึ่งเสริม

ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่ารอดหูรอดตาธนาคารแห่งประเทศไทยมาได้อย่างไร ทั้งที่ก็ทำกันมานานหลายปีแล้ว

บริษัทเมอร์ลินคอมมอดิตี้เทรดดิ้ง จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2522 ผู้ถือหุ้นที่สำคัญก็มีเช่น ทนุ กุลเศรษฐศิริ, วรรัตน์ กลุเศรษฐศิริ-ภรรยาของทนุ, ธวัชและวรกร ตันตรานนท์, บุญส่ง รัตนภพ, สุภาภรณ์ ถิมานนท์ และลูกสาวของทนุอีก 2 คนคือศุลีพรและศันสนีย์ กุลเศรษฐศิริ

กรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัทคือ ทนุ กุลเศรษฐศิริ หรือวรรัตน์ กุลเศรษฐศิริ ธวัช ตันตรานนท์ วรกร ตันตรานนท์ ศุรีพร กุลเศรษฐศิริ ศันสนีย์ กุลเศรษฐศริ 2 ใน 5 นี้ ลงชื่อพร้อมประทับตราบริษัท

เมอร์ลินคอมมอดิตี้ส์เทรดดิ้งมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 1539 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตพญาไท

เมื่อตั้งได้ไม่นานบริษัทเมอร์ลินก็ขยายสาขาออกไปอีก 4 แห่ง คือที่สาขาท่าพระ ตั้งอยู่เลขที่ 365/61-63 ซอยเพชรเกษม 17 อยู่ใกล้ๆ กับโรงเรียนวิบูลย์เสรีวิทยา แขวงท่าพระ เขตบางกอกใหญ่

สาขาท่าพระนี้ ทนุร่วมหุ้นกับ "คุณหญิง" คนหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงด้านการปล่อยเงินกู้เงินกู้กินดอกเบี้ย

สาขาที่สองตั้งอยู่ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา อยู่ในศูนย์การค้ามิตรภาพ

สาขาที่สามตั้งที่อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ใช้ชื่อว่า บริษัทยูนิเวสต์ฟอจูน อยู่แถวๆ สี่แยกจอมสุรางค์ ถนนมหาดไทย เป็นบริษัทที่มีทั้งการเล่นคอมมอดิตี้ส์และเป็นทรัสต์เถื่อนพร้อมเสร็จในตัว ปัจจุบันปิดกิจการไปแล้ว

และมีอีกสาขาหนึ่งที่จังหวัดขอนแก่น

"จะสังเกตได้ว่าเมอร์ลินมีสาขาทางภาคอีสานหลายแห่ง ซึ่งถ้าได้ทราบประวัติของทนุแล้วก็จะพบว่ามันไม่แปลกเลย" ผู้ที่ทราบปูมหลังเกี่ยวกับทนุพูดกับ "ผู้จัดการ"

ทนุ กุลเศรษฐศิริ เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2475 ที่ประเทศเขมร พ่อของทนุชื่อนายจิตร กิจพานิช หรือที่เรียกกันติดปากว่า "เสี่ยตังปัก" ส่วนแม่ชื่อนางเต็กยู้

ทนุมีน้องชายต่างแม่อยู่คนหนึ่งชื่อ พิชัย กิจพานิช หรือ เสกสรร สัตยา เจ้าของคาร์เทีย มิลเลียนแนร์คลับ ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตไปแล้วเมื่อเกือบครึ่งปีที่ผ่านมา แต่บ้างก็ว่าทนุเป็นลูกบุญธรรมของ "เสี่ยตังปัก" ไม่ใช่ลูกแท้ๆ

"เสี่ยตังปัก" เป็นผู้ที่มีอิทธิพลกว้างขวางมากทางภาคอีสานในยุคที่พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เรืองอำนาจ และว่ากันว่าการค้าระหว่างไทยกับลาวและไทยกับเขมรในยุคก่อนปี 2500 นั้นอยู่ในมือของ "เสี่ยตังปัก" เป็นส่วนใหญ่

"จากบารมีดั้งเดิมของเสี่ยตังปักผู้พ่อนี่แหละที่ทำให้ทนุสามารถร่วมกับลูกน้องเก่าของพ่อตั้งสาขาของเมอร์ลินในภาคอีสานหลายจังหวัด…" ผู้ที่ทราบปูมหลังถือโอกาสเฉลยปริศนา

ทนุมีชื่อเขมรว่า ตั๊กคิม เรียนหนังสือที่เขมรจึงพูดภาษาฝรั่งเศสได้ดีมาก เมื่ออายุได้ 20 หรือในราวปี 2495 ทนุได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทย และใช้ชื่อไทยว่า บุญส่ง กิจพานิช

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2495 ก็เปลี่ยนชื่อเป็น ทรงศักดิ์ กิจพานิช มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 101 ถนนรองเมือง แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน

และได้สัญชาติไทยเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2507 พอได้รับสัญชาติไทยเพียง 7 วัน ก็เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น ทนุ กิจพานิช

ในปี 2514 ก็เปลี่ยนนามสกุลจากกิจพานิชมาใช้ กุลเศรษฐศิริ และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อมาอยู่ประเทศไทยแล้วนั้น ทนุยังไปๆ มาๆ ระหว่างไทยกับเขมรอีกหลายครั้ง เนื่องจากทนุมีธุรกิจอยู่หลายอย่างที่เขมรโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีโรงงานน้ำอัดลมอยู่แห่งหนึ่ง

"จากหลักฐานเก่าก็พบว่าทนุเคยทำหนังสือจากพนมเปญถึงมืออธิบดีกรมศุลกากรของไทย ขอผ่านหัวน้ำเชื้อของน้ำส้มกรีนสปอร์ตจากสหรัฐฯ โดยผ่านทาง บริษัทสุวรรณาคอมเมอร์

เชียลทรัสต์ เลขที่ 49 ถนนพระอาทิตย์ ซึ่งบ้านเดิมของเสี่ยตังปักที่เป็นยี่ปั๊วขายเหล้าและเครื่องดื่มไปที่โรงงานเขมร หนังสือฉบับนี้ทำขึ้นเมื่อปี 2499…" คนในกรมศุลกากรเปิดเผยหลักฐานกับ "ผู้จัดการ"

ธุรกิจของทนุในเขมรนี่เองที่ภายหลังเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นมามีอำนาจและเตรียมจะจับกุมเสี่ยตังปักเพื่อกวาดล้างอิทธิพลมืดในยุค "อัศวินเผ่า" ก็ได้เป็นที่พึงพิงของเสี่ยตังปักไป

"หลังปี 2500 เสี่ยตังปักต้องหนีการจับกุมด้วยข้อหาอันธพาลของจอมพลสฤษดิ์ไปอยู่ที่ประเทศลาว แล้วผ่านจากลาวไปอยู่กับลูกชายที่เขมร" ผู้ที่ทราบเรื่องคุยให้ฟัง

เสี่ยตังปัก สนิทสนมเป็นอย่างดีกับนโรดมสีหนุ ประมุขของเขมรในช่วงนั้น ซึ่งจะเป็นเพราะทั้งคู่มีศัตรูคนเดียวกันคือจอมพลสฤษดิ์หรือเปล่าก็ไม่ทราบ?

ความสนิทสนมนี้สามารถเชื่อมโยงมาจนถึงทนุด้วย เพราะต่อมานโรดม สีหนุ ได้ให้ทนุทำหน้าที่เป็นเลขาส่วนตัวอีก และไม่นานหลังจากนั้นก็ตั้งทนุหรือ "ตั๊กคิม" ดำรงตำแหน่งเป็นรับมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และการคลังในรัฐบาลซึ่งมีนาย "ซิมลา" เป็นนายกรัฐมนตรี

ในปี 2512 ด้วยการหนุนหลังของกรมประมวลข่าวกลางของอเมริกันหรือซีไอเอ นายพลลอนนอลผู้บัญชาการทหารบกของเขมรได้ทำการรัฐประหารโค่นรัฐบาลของนโรดม สีหนุและนายซิมลา ท่านรัฐมนตรีตั๊กคิมหรือนัยหนึ่งคือทนุนี้ ก็ขึ้นเครื่องบินดาโกต้าหนีจากเขมรมาตัวเปล่าไม่หากแต่ได้หอบทองคำและทรัพย์สินมีค่าติดตัวมาด้วยหลายกระเป๋า

และด้วยทรัพย์สินที่หอบหนีติดตัวมาจากเขมรนี่เองที่ทนุใช้เป็นเงินทุนรอนตั้งตัวใหม่อีกครั้งในเมืองไทย

ย้อนหลังกลับไปเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้วหรือในช่วงระยะเวลาที่ทนุเพิ่งจะหนีจากเขมรได้ไม่นานนั้น ทนุเริ่มต้นธุรกิจด้วยการทำร้านอาหาร ไม่ถึงกับใหญ่โตมากนักแถวๆ ราชประสงค์ติดๆ กับห้างสรรพสินค้าไดมารูเดิม

แต่ก็เป็นร้านที่ประสบความสำเร็จมากแห่งหนึ่งในยุคนั้น

ต่อมาทนุจึงขยับขยายมาทำงานด้านก่อสร้าง โดยมีบริษัทก่อสร้างเป็นของตัวเองชื่อ บริษัททนุก่อสร้าง จำกัด

ในปี 2518-2519 ทนุมีงานก่อสร้างใหญ่ซึ่งลงทุนเป็น 100 ล้านบาทอยู่แห่งหนึ่ง คือการสร้างศูนย์การค้าวรรัตน์ขึ้นแถวๆ ถนนจันทร์ยานนาวา และมีโครงการที่ลงทุนย่อมเยาลงมาคือสร้างอาคารพาณิชย์แถวๆ คลองเตย

ทนุตั้งความหวังไว้กับโครงการศูนย์การค้าวรรัตน์มาก "พูดได้ว่าเขาเทกระเป๋าลงทุนเลย แม้แต่ชื่อศูนย์การค้าก็ยังเอาชื่อเมียซึ่งทนุรักมาตั้ง…" คนในวงการก่อสร้างเล่ากับ "ผู้จัดการ"

แต่ทนุก็ต้องผิดหวังอย่างแรง เพราะศูนย์การค้าวรรตัน์เกิดขายไม่ออกตามแผนที่วางไว้ ธุรกิจก่อสร้างของทนุก็เลยขาดเงินหมุนเวียนอย่างหนัก

"มันก็เลยกระทบไปถึงโครงการสร้างอาคารพาณิชย์แถวๆ คลองเตยด้วย ซึ่งทนุสร้างไปแล้วหลายสิบเปอร์เซ็นต์ ทนุก็เลยต้องขายโครงการนี้ไปให้กับพอล สิทธิอำนวย ประธานกลุ่มพีเอสเอตอนนั้น พอลก็เลยสร้างต่อมาจนกลายเป็นตึกไทยในปัจจุบัน" คนในวงการก่อสร้างเล่าต่อ

ส่วนศูนย์การค้าวรรัตน์นั้นก็ทำเอาทนุเกือบจะหมดตัวทีเดียว

ทนุเริ่มจับธุรกิจคอมมอดิตี้ส์และทรัสต์เถื่อนหลังจากนั้นอีกราวๆ 2 ปี คือตั้งบริษัทเมอร์ลินคอมมอดิตี้ส์ขึ้นเมื่อปี 2522 และหลังจากนั้นอีกไม่กี่เดือนก็ตั้งบริษัทเงินทุนแชร์ธุรกิจ

ช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่โครงการคอมมอดิตี้ส์มีการเล่น "ตั๋วทอง" กันอย่างหนัก โดยมีกลุ่มคนฮ่องกงนำเข้ามาเผยแพร่ และเมื่อหมดยุค "ตั๋วทอง" ก็หันมาเล่นพืชไร่แทน

ก่อนหน้าที่บริษัทเมอร์ลินจะเกิดขึ้นมานั้น วงการคอมมอดิตี้ส์มีบริษัทยักษ์ใหญ่อยู่ 2-3บริษัทในเมืองไทยซึ่งภาษาในวงการเรียกกันว่า "ขาใหญ่" โดยที่ 1 ใน 2-3 แห่งนี้ก็คือบริษัทโฟร์ซีคอมมอดิตี้ส์ของคนฮ่องกง

ทนุได้ไปดึงผู้บริหารซึ่งเป็นคนฮ่องกงของบริษัทโฟร์ซีมาจำนวนหนึ่งและตั้งบริษัทเมอร์ลินโดยให้คนจำนวนนี้บริหาร หรือพูดง่ายๆ ก็คือมาช่วยสอนการทำธุรกิจคอมมอดิตี้ส์ให้กับทนุและพรรคพวก

คนฮ่องกงเข้ามาบริหารเบอร์ลินอยู่ได้ไม่ถึงปีดี ทนุก็เชิญพวกนี้ออกไปและจัดการบริหารเสียเอง

"ปกติสมัยนั้นก็จะมีแต่คนฮ่องกงมาหลอกกินหมูไทย แต่กรณีของเมอร์ลินกลายเป็นว่าคนฮ่องกงโดนคนไทยหลอกเอา" นักเล่นคอมมอดิตี้ส์เล่าให้ฟัง

บริษัทเมอร์ลินของทนุในช่วงตั้งแต่ปี 2523-2526 จัดเป็น "ขาใหญ่" แห่งหนึ่งนอกจากจะมีการเล่นคอมมอดิตี้ส์โดยตรงเองแล้วก็ยังรับออเดอร์การซื้อขายล่วงหน้าจากบริษัทเล็กๆ อีกด้วย

"ธุรกิจมันก็คล้ายๆ กับการเล่นไฮโล นั่นแหละ คือต้องมีเจ้ามือรับกินรับจ่าย ซึ่งเจ้ามือก็ต้องมีเงินหน้าตัก ถ้าเกินหน้าตักเขาก็จะส่งไปที่บริษัทคอมมอดิตี้ส์ใหญ่ๆ เมอร์ลินก็เป็น 1 ใน 4 แห่งที่เขารับกินรับจ่ายจากออร์เดอร์ของบริษัทคอมมอดิตี้ส์เล็กๆ" นักเล่นคอมมอดิตี้ส์ระดับมือหนักคนหนึ่งอธิบาย

แต่มันก็เหมือนชะตาลิขิตให้ทนุจะต้องล้มลุกคลุกคลานต่อไป

ในช่วงตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา ธุรกิจคอมมอดิตี้ส์และทรัสต์เถื่อนของทนุเจอกับมรสุมหลายลูก ซึ่งที่จริงในธุรกิจการเงินไม่ว่าในระบบหรือว่านอกระบบก็โดนกันทั้งนั้น เพราะวิกฤตทางเศรษฐกิจและวิกฤตด้านการเงินรุนแรงเอามากๆ

เพียงแต่ธุรกิจของทนุยังต้องเจอกับพระราชกำหนดกวาดล้างแชร์เพิ่มเข้าไปอีก

"ทนุเขารู้ตัวดีว่า เขาถูกทางราชการจับตา เพราะถ้าเปรียบเทียบเขากับเอกยุทธ อัญชัญบุตร แล้ว เขาทำมาก่อนและใหญ่กว่าเอกยุทธมาก เพียงแต่เขาไม่ทำตัวซ่าอย่างที่เอกยุทธทำเท่านั้นแหละ เป้ามันก็เลยกลายเป็นเอกยุทธไม่ใช่เขา แต่อย่างว่า…สักวันหนึ่งก็คงต้องถึงตัวเขาแน่…" เพื่อนสนิทของทนุเผย

ทางออกของทนุจึงถูกกำหนดไว้เงียบๆ นานแล้ว

ทนุได้วางแผนการโดยแอบไปเปิดห้างหุ้นส่วนจำกัดไว้ 3 แห่ง ให้เลขาคนสนิท 3 คนเป็นเจ้าของ คือเปิดห้างหุ้นส่วนจำกัดพาโต้เอ็นเตอร์ไพรส์ที่ถนนอโศกดินแดง เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2528 และเปิดห้างหุ้นส่วนจำกัดชิโรไทย เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2528

ทั้ง 3 ห้างหุ้นส่วนจำกัดนี้ระบุที่ตั้งสำนักงานอยู่ที่เดียวกัน คือเลขที่ 25 ถนนอโศกดินแดง แขวงบางกะปิ เขตพญาไท

พาโต้ เอ็นเตอร์ไพรส์ มี สุรางค์ ตั้งวันงาม กับ พัชรินทร์ แก้วอุษา เป็นหุ้นส่วน

พี.ดี.โฮลดิ้ง มี อัชราพร เสมใจดี กับ สุรางค์ ตั้งวันงาม เป็นหุ้นส่วน

ทั้ง สุรางค์ ตั้งวันงาม พัชรินทร์ แก้วอุษา และอัชราพร เสมใจดี นี้เป็นเลขาของทนุ

บริษัทเมอร์ลินและบริษัทที่เป็นทรัสต์เถื่อนของทนุได้หยุดการจ่ายผลประโยชน์ให้พนักงานและลูกค้าตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2528 ทนุได้ขอผัดผ่อนมาเรื่อยๆ จนครั้งสุดท้ายก็บอกว่าจะจ่ายให้พร้อมกันในวันที่ 10 พฤษภาคม 2528

แต่ในช่วงตั้งแต่เดือนมีนาคม 2528 เป็นต้นมานั่นเอง ที่ทนุได้จัดการโอนเงินจำนวนมากไปที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ทั้ง 3 แห่ง

นอกจากนั้นทนุยังได้ทำการเปลี่ยนตัวกรรมการของบริษัทเมอร์ลินให้เหลือเพียง 2 คน คือเหลือทนุ กุลเศรษฐศิริ และสุภาภรณ์ ถิมานนท์ โดยออกหนังสือรับรองการเปลี่ยนตัวกรรมการเป็นหนังสือเลขที่ ค 8523 ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2528 ก่อนหน้าวันนัดจ่ายเงินลูกค้าและพนักงานเพียง 4 วัน

เหตุทั้งนี้ก็คงเพื่อให้เมียและลูกๆ ซึ่งเป็นกรรมการอยู่ด้วยจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลัง

จากนั้นในวันที่ 8 พฤษภาคม ทนุ กุลเศรษฐศิริ ก็บินรวดเดียวไปอยู่ที่ไต้หวัน ดินแดนซึ่งไม่มีสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับไทย

ชีวิตที่ยิ่งกว่านิยายของทนุ กุลเศรษฐศิริ ก็ปิดฉากลง ซึ่งสำหรับทนุก็อาจจะถือเป็นแฮปปี้เอนดิ้งเพราะมีเงินมีทองเหลือล้นแล้ว

แต่สำหรับผู้รับกรรมที่อยู่ข้างหลัง มันเจ็บปวดอย่างยิ่ง

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us