|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

ขนมไทยๆ นอกจากจะสะท้อนวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณีไทยที่สืบสานกันมายาวนาน ยังเป็นการแสดงถึงภูมิปัญญาที่มีการค้นคิดดัดแปลงธรรมชาติที่มีอยู่รอบๆ ตัว มาปรุงแต่งความหวานล้ำอร่อยให้มีภาพลักษณ์ที่ชวนรับประทาน
จำได้ไม่รู้ลืม แม้ว่าจะเข้าสู่บรรยากาศเดือนแห่งความรักของทุกๆ คนแล้วก็ตาม แต่ความสุขยังไม่ละลายหายไปจากชีวิตในช่วงนี้เลย
สุขอะไรจะเทียบเท่ากับการที่คนในรุ่นปลายของชีวิตได้รับการเหลียวแลเอาใจใส่จากผู้ที่ยังอยู่ในวัยสดใสซาบซ่าไปเสียทุกเรื่อง
ประดิดประดอยร้อยเรียงอุบะดอกไม้สดบนพานเบญจรงค์ใบเขื่อง พร้อมด้วยอาหารว่างคาวหวานแบบไทยๆ ขนมกล้วย ขนม ตาล เปียกปูน ขนมชั้น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมถ้วยฟู ขนมขี้หนู ขนมเหนียว ช่อม่วง ปั้นสิบปลาสด สาคู โดยเฉพาะไส้กรอกปลาแนมที่เด็กรุ่นใหม่ๆ หลายคนเริ่มไม่รู้จักกันแล้ว
นำมากราบขอพรผู้ใหญ่ เพื่อเป็นสิริมงคลสำหรับชีวิตที่จะต้องดำเนินต่อไป
สิ่งที่ปลื้มไม่เลิก เพราะแม้ว่าหลานๆ ทุกคนได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนในสถานศึกษาที่เรียกกันว่าโรงเรียนฝรั่ง หรือโรงเรียนสาธิต
โดยเฉพาะคนหนึ่งจบปริญญาโทจากสหรัฐอเมริกาและอีกคนมีดีกรีเป็นดอกเตอร์จากอังกฤษ
แต่อิทธิพลวัฒนธรรมแบบตะวันตกยังไม่ได้เข้าครอบงำชีวิต ของพวกเขาเหล่านี้ไปเสียทั้งหมด
ยังคงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีไทยเกือบครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกาลเทศะ การแต่งกาย การพูดจา มารยาทในสังคม โดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกิน
แม้ปัจจุบันจะเข้าสู่ในยุคของ New World New Gen-New Media แล้วก็ตาม
ทำเอาคนรุ่นเก่าอย่างผู้เชียนถึงกับอึ้งด้วยอาการน้ำหูน้ำตาเล็ดออกมาคลอเบ้าด้วยความซาบซึ้งและชื่นชม
ยิ่งเห็นขนมที่ลูกๆ หลานๆ นำมานั้น ยิ่งทำให้นึกถึงสมัยเมื่อเยาว์วัย
เพราะขนมเหล่านี้มารดามักตระเตรียมให้ผู้เขียนได้รับประทานหลังกลับจากโรงเรียนยามบ่าย พร้อมน้ำหวานหรือน้ำผลไม้คั้นเย็นๆ เป็นของว่างก่อนอาหารเย็น
อาหารว่าง คืออาหารมื้อเล็กๆ ที่รับประทานกันระหว่างมื้อหลัก อาหารว่างทานแล้วเพลิดเพลิน เพลินลิ้น เพลินใจระหว่าง การรับประทาน เสน่ห์ของอาหารว่างอย่างหนึ่ง คือชิ้นพอคำ สวย น่ารับประทาน ไม่รู้อิ่ม ไม่รู้เบื่อ
ของว่างแบบไทยไทยส่วนใหญ่ต้องมีการตระเตรียมเครื่อง ปรุง ใช้เวลา แรงกาย แรงใจ และฝีไม้ลายมือในการลงมือทำอย่างมีศิลปะ เช่นจะใช้ใบตองทำเป็นกรวย โรยไข่แดงลงบนน้ำเชื่อมซึ่งอยู่ในกระทะทองแดงตั้งบนเตาถ่าน จะได้ฝอยทอง
การหยอด จะได้ทองหยอด หรือใช้ศิลปะในการหยิบจะได้ ทองหยิบ
ขนมตระกูลทองถือว่าเป็นขนมมงคล ต้องมีอยู่ในสำรับตามงานบุญ งานมงคล ประเพณีต่างๆ การถือเคล็ดจากชื่อและลักษณะของขนมนั้นๆ เจ้าภาพจึงพยายามเลือกสรรขนมที่เป็นมงคลสำหรับทำบุญเลี้ยงพระ เช่น
- ฝอยทอง มีลักษณะเป็นเส้น ไว้ใช้ทำบุญงานวันเกิด เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้มีอายุที่ยืนยาว
- ทองหยอด ทองหยิบ หมายถึงความร่ำรวย มั่งคั่ง ความมีอันจะกิน
- ขนมชั้น การเลื่อนชั้นให้สูงขึ้น
- ขนมจ่ามงกุฎ คือยศถาบรรดาศักดิ์ที่ก้าวหน้า
- ขนมถ้วยฟู มีชีวิตที่เฟื่องฟู
- ทองเอก ขอให้ได้เป็นเอก เป็นต้น
ขนมไทยๆ นอกจากจะสะท้อนวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณีไทยที่สืบสานกันมายาวนาน ยังเป็นการแสดงถึงภูมิปัญญาที่มีการค้นคิดดัดแปลงธรรมชาติที่มีอยู่รอบๆ ตัว มาปรุงแต่งความหวานล้ำอร่อยให้มีภาพลักษณ์ที่ชวนรับประทาน เช่น ใบเตย ให้กลิ่นหอมละมุน สีเขียวอ่อน ใช้เป็นสีผสมธรรมชาติในลอดช่องน้ำกะทิ หรือขนมชั้น
กาบมะพร้าวแก่เผาไฟให้ไหม้จนเป็นสีดำทั้งอัน ใส่น้ำคั้นและกรองด้วยผ้าขาวบาง ขนมมีสีเทาอ่อน หอมกรุ่นควันไม้เช่นขนมเปียกปูน หรือดอกอัญชัญแช่ในน้ำเดือด จะได้น้ำสีคราม เมื่อหยดน้ำมะนาวลงไปจะกลายเป็นสีม่วง ใช้ผสมทำขนมหรือเติมน้ำตาลจะกลายเป็นเครื่องดื่มทันที
ความหวานล้ำลึก ประณีตและอร่อยของขนมไทยนี้ไม่ เพียงแต่เป็นการธำรงไว้ซึ่งคุณค่า ยังให้ความหมายทางวัฒนธรรม ประเพณีเป็นสัญลักษณ์แห่งความผูกพัน ความรัก ความศรัทธา ที่สืบสานต่อจนรุ่นแล้วรุ่นเล่า ยังเป็นเลิศในกระบวนการศิลปะการ ทำขนมไม่แพ้ชาติใดๆ เลย
ขนมไทยมีอยู่หลายลักษณะ เช่น
กวนและนึ่ง เช่น ตะโก้ สาลี่ ปุยฝ้าย ข้าวต้มผัด ข้าวต้มมัด ลูกชุบ กาละแม ข้าวเกรียบปากหม้อ หยกมณี ถั่วแปบ
ทอดและฉาบ เช่น ขนมกง กล้วยฉาบ กล้วยแขก ฝักบัว ขนมเบื้อง มันรังนก นางเล็ด
เชื่อมและน้ำกะทิ แช่อิ่ม เช่น ซ่าหริ่ม กระท้อนลอยแก้ว กล้วยบวดชี ปลากริมไข่เต่า มันสำปะหลังเชื่อม มะม่วง มะขามแช่อิ่ม
ขนมอบและปิ้ง เช่น ขนมครก ขนมจาก ขนมผิง บ้าบิ่น ดอกลำดวน ขนมโสมนัส
เมื่อพูดถึงขนมไทยแล้วทำให้โหยหาตลาดนางเลิ้งขึ้นมาฉับพลัน ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งของอาหารคาวหวาน ขนมโบราณที่มี ชื่อเสียง
ตลาดนางเลิ้งเกิดขึ้นจากการที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองผดุงกรุงเกษมเพื่อเป็นคูคลองพระนครชั้นนอก ขนานคลองชั้นในรอบเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นคลองชั้นนอกคลองแรก ของกรุงรัตนโกสินทร์ ตลาดนางเลิ้งตั้งอยู่บนถนนนครสวรรค์รายล้อมด้วยถนนเลียบคลองผดุงกรุงเกษม พะเนียง และศุภมิตร มีอายุยืนยาวกว่า 100 ปี
ก่อตั้งเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2442 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด นับได้ว่าเป็นตลาดบกแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งในสมัยก่อนนิยมเดินทางขนส่งสินค้าโดยทางแม่น้ำลำคลองจึงไม่มีตลาดบกเป็นหลักแหล่ง ชาวบ้านพายเรือนำพืชผักผลไม้ในสวนมาขายบริเวณสองฝั่งคลอง
ตลาดนางเลิ้งเดิมมีชื่อเรียกว่าบ้านสนามควาย ก่อนจะเรียก กันว่าอีเลิ้ง ตามชื่อตุ่มชนิดหนึ่งของชาวมอญและมาเปลี่ยนชื่ออีกครั้งในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ว่า "นางเลิ้ง"
อีเลิ้ง เป็นคำที่มาจากภาษามอญ หมายถึงภาชนะชนิดหนึ่ง ปั้นด้วยดินและผ่านการเผาโดยไม่เคลือบผิว คนเห็นเป็นเนื้อดิน สีแดง อีเลิ้งเป็นภาชนะที่ใส่น้ำหรือของเหลว ลักษณะพิเศษ คือบริเวณปากและก้นจะแคบ ป่องบริเวณช่วงกลางแต่ส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นภาชนะขนาดใหญ่ ชาวมอญนิยมใช้ใส่น้ำเพื่อเก็บไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค
"ตุ่มอีเลิ้ง" ขนาดเล็ก เป็นภาชนะในการหุงหาอาหาร
"หม้ออีเลิ้ง" เป็นภาชนะที่ใช้กันมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี บ้านวัดครุฑเป็นชุมชนชาวมอญที่มีชื่อเสียงในการปั้น "อีเลิ้ง" ปัจจุบันบ้านวัดครุฑเป็นชุมชนอยู่ในคลองสระบัว อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมบริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษม ช่วงบริเวณที่คลองเปรมประชากรมาบรรจบ บริเวณนี้มีชาวมอญมาตั้งรกรากขายตุ่มดินขนาดใหญ่เรียงรายริมคลอง จนกลายเป็นชุมชนใหญ่ "บ้านอีเลิ้ง"
สมัยก่อนย่านนี้นับว่าเป็นศูนย์รวมของแหล่งบันเทิง โรงฝิ่น สำนักโคมเขียว โรงหนัง สนามม้า อาหารอร่อยขึ้นชื่อใจกลางกรุง เลยทีเดียว
ย่านนี้เป็นที่พักอาศัยของนาฏศิลป์หลายคณะ ทั้งละครชาตรี โขน ลิเก หนังตลุง ปี่พาทย์ กลองยาว
ครูพูน เรืองนนท์ ผู้มีความสามารถในนาฏศิลป์อยู่หลายแขนง ยังเป็นบิดาของศิลปินแห่งชาติ สาขาละครชาตรี คือทองใบ เรืองนนท์ แม้แต่ยอดลำตัดหญิง แม่ประยูร แม่สุพรรณ อยู่แถวนี้เช่นกัน
ภายในตลาดมีศาลเจ้านางเลิ้ง หรือศาลกรมหลวงชุมพรเขต อุดมศักดิ์ ทุกวันที่ 15 ธันวาคมของทุกปี ชาวตลาดจะจัดให้มีการ แสดงงิ้วถวายเสด็จเตี่ย 3 คืน ลิเกอีก 1 คืน พร้อมทั้งมีพิธีแห่พระรูปไปรอบๆ ตลาดของชาวบ้านร้านตลาดด้วยชุดนุ่งขาวห่มขาว
มนต์ขลังของตลาดนางเลิ้งนั้น ทำให้ได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คน เห็นรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมของท้องถิ่นแต่ละแห่งที่แตกต่างกันออกไป
โรงภาพยนตร์ "ศาลาเฉลิมธานี" ซึ่งชาวบ้านเรียกติดปากว่าโรงหนังนางเลิ้ง เป็นอาคารไม้เก่าแก่แห่งเดียวที่เหลืออยู่ในกรุงเทพฯ ที่ยังคงความงดงาม เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น
เปิดฉายภาพยนตร์เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2461 ที่มีอายุเก่าแก่มากกว่า 85 ปี โรงหนังนางเลิ้งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นแหล่งบันเทิงที่ฉายหนังของทุกชาติ ไม่ว่าจะเป็นหนังไทย หนังจีน หนังอินเดีย หรือแม้แต่หนังฝรั่ง
มีผู้คนนิยมเข้าชมในแต่ละรอบกว่า 300-400 คน จนถึงกาลอวสานของโรงหนังนี้เมื่อปี 2536 เหลือผู้เข้าชมเพียง 10 คนในแต่ละรอบ จนต้องเลิกราไปในที่สุด
ภายในโรงหนังจะมีม้านั่งยาว เลือกนั่งได้ตามความชอบ ช่วงก่อนปิดกิจการเป็นการฉายหนัง 2 เรื่องควบ ที่นั่งชั้นบน 7 บาท ชั้นล่าง 3.50 บาท
การที่หลังคาโรงหนังมุงด้วยสังกะสี หากวันใดเกิดฝนตกขึ้นมา เสียงน้ำฝนที่ตกลงมากระทบสังกะสี จะกลายเป็นเสียงซาวด์แทรคขึ้นมาตลอดการฉายหนังเรื่องนั้นทันที
ก่อนการฉายในแต่ละรอบ จะมีแตรเป่าเพื่อส่งสัญญาณเรียกผู้คนให้เข้าชม
การฉายหนังในระยะแรกจะไม่มีเสียงพากย์ ดังนั้นเมื่อถึงฉากตื่นเต้น แตรวงจะทำหน้าที่ในการใส่เสียงประกอบเพื่อเพิ่มอรรถรสในการดูให้กับผู้ชมอีกด้วย หนังฉายวันละ 3 รอบ รอบเที่ยง รอบเย็น รอบค่ำ ทำให้ตลาดคึกคัก ของกินมากมาย โดยเฉพาะช่วงหนังเลิก 5 ทุ่ม มีสารพัดของกิน
ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จกลับจากการเสด็จประพาสยุโรป เมื่อปี พ.ศ.2440 สโมสรน้ำเค็มศึกษา ซึ่งมีสมาชิกเป็นข้าราชการ หรือนักเรียนที่เคยผ่านยุโรปร่วมกันจัดการแข่งขันม้าที่ท้องสนามหลวง น้อมเกล้าถวายฯ แสดงความจงรักภักดี
การแข่งขันนั้นทำโดยใช้ม้าเทียมรถของเจ้าของคอกม้าต่างๆ มาแข่งขัน อันเป็นที่มาของการแข่งขันม้าแบบฝรั่งครั้งแรกในประเทศไทย
เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาประดิพัทธภูบาล และพระยาอรรถการประสิทธิ์ ได้ทำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายขอจัดตั้งสโมสรสนามม้าแข่ง เพื่อการบำรุงพันธุ์ม้า ทรงมีพระบรมราชานุญาต พร้อมพระราช ทานนามว่า "ราชตฤณมัยสมาคม" และทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์
โดยสมาคมฯ ทำหน้าที่ในการดำเนินกิจการแข่งม้า จัดทำทะเบียนประวัติม้า เจ้าของและผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ฝึกซ้อม ผู้แทนคอก เป็นศูนย์ฝึกอบรมม้าแข่ง และการทดสอบม้า การแข่งขันจะจัดในวันอาทิตย์เว้นอาทิตย์ สลับกับสนามราช กรีฑาสโมสร
การจัดแข่งม้าชิงถ้วยตามประเพณีจะมีอยู่ 4 ถ้วย คือถ้วยพระราชทานดาร์บี้ ถ้วยพระยาประดิพัทธภูบาล ถ้วยพระยารามราฆพ และถ้วยสภานายก
ละครชาตรี นับเป็นละครที่มีมาแต่สมัยโบราณซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่าละครชนิดอื่นๆ มีลักษณะเป็นละครเร่ คล้ายๆ ของอินเดียที่เรียกว่า "ยาตรา" ซึ่งเกิดขึ้นในอินเดียนานแล้ว
ส่วนละครรำของไทย เพิ่งจะเริ่มเล่นในสมัยตอนต้นกรุงศรีอยุธยา ซึ่งอาจจะได้แบบอย่างจากละครอินเดีย เนื่องจากศิลปวัฒนธรรมของอินเดียได้แพร่หลายมายังประเทศต่างๆ ในแหลมอินโดจีน พม่า มาเลเซีย เขมร และไทย ซึ่งทำให้ประเทศเหล่านี้มีบางสิ่งบางอย่างที่คล้ายคลึงกันอยู่มาก ละครชาตรีสมัยโบราณนิยมทางภาคใต้
พ.ศ.2312 เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกทัพไปปราบเจ้านครศรีธรรมราช และนำขึ้นมากรุงธนบุรีพร้อมพวกละคร
พ.ศ.2323 ในงานฉลองพระแก้วมรกต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ละครของนครศรีธรรมราชขึ้นมาแสดงประชันกับละครหลวง
พ.ศ.2375 สมัยรัชกาลที่ 3 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) สมัยยังเป็นเจ้าพระยาพระคลังลงไปปราบและระงับเหตุการณ์ร้ายทางหัวเมืองภาคใต้ พวกที่มีความสามารถในการแสดงละครชาตรีอพยพติดตามขึ้นมาด้วย
นอกจากนี้ยังมีผู้สันนิษฐานว่า ต้นกำเนิดละครชาตรีมาจากกรุงศรีอยุธยาก่อน เดิมนั้นพระเทพสิงขร บุตรของนางศรีคงคา ได้หัดละครที่กรุงศรีอยุธยา ขุนสัทธาได้เป็นตัวละครของพระเทพสิงขร ได้นำแบบแผนละครลงไปหัดที่นครศรีธรรมราชเป็นปฐมจึงได้เล่นละครสืบต่อกันมา
ในเวลานี้เราเข้าใจว่า "โนห์รา" เป็นแบบแผนการละครของชาวปักษ์ใต้ แท้จริงแล้วเป็นแบบแผนของกรุงศรีอยุธยาแท้ๆ เป็นแต่เพียงเสียงร้องเพี้ยนไปแบบชาวปักษ์ใต้เท่านั้น
ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีผู้คิดนำเอาละครชาตรีกับละครนอกมาผสมกัน เรียกว่า "ละครชาตรีเข้าเครื่อง" หรือ "ละครชาตรีเครื่องใหญ่" ซึ่งบางทีก็มีฉากแบบละครนอก แต่บางครั้งไม่มีแบบละครชาตรี ดนตรีประกอบใช้แบบผสม คือใช้เครื่องดนตรีของละครชาตรีผสมกับปี่พาทย์ของละครนอก การแสดงเริ่มด้วยการรำซัดชาตรี แล้วลงโรง จบเรื่องด้วย "เพลงจา" แบบละครนอก ส่วนเพลงและวิธีการแสดง ใช้ทั้งละครชาตรีและละครนอกปนกัน การแสดงแบบนี้ยังเป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบัน
ผู้แสดงในสมัยโบราณเป็นชายล้วน มีตัวละครเพียง 3 ตัว คือตัวนายโรง ตัวนาง และตัวตลก
การแต่งกายแต่โบราณไม่สวมเสื้อ เพราะใช้ชายแสดง ตัว ยืนเครื่องซึ่งเป็นตัวที่แต่งกายดีกว่าตัวอื่น นุ่งสนับเพลา นุ่งผ้าคาด เจียระบาด มีห้อยหน้า ห้อยข้าง สวมสังวาล ทับทรวง กรองคอ กับตัวเปล่า บนศีรษะสวมเทริดเท่านั้น การผัดหน้า ใช้ขมิ้นลงพื้นสีหน้าจนนวลปนเหลือง ไม่ใช่ปนแดงเช่นปัจจุบัน นิยมแสดงเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ โดยเฉพาะเรื่องพระสุธนมโนห์รา กับรถเสนหรือนางสิบสอง เป็นต้น
วงดนตรีปี่พาทย์ที่ประกอบการแสดง มีปี่สำหรับทำทำนอง 1 โทน 2 กลองเล็ก (กลองชาตรี) 2 และฆ้อง 1 คู่
คลองผดุงกรุงเกษมขุดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาเห็นว่าบ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้น มีผู้คนหนาแน่น ควรจะขยับขยายพระนครออกไป จึงโปรดเกล้าฯให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริวงค์ (ช่วง บุนนาค) ว่าที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กอง เจ้าหมื่นไวยวรนาถเป็นกสี จ้างจีนขุดคลองพระนครออกไปอีกชั้นหนึ่ง โดยขุดถัดจากคลองรอบกรุงออกไปทางชานพระนคร เริ่มขุดจากปากคลองริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณวัดเทวราชกุญชร (วัดสมอแครง) เทเวศร์ มีแนวขนานกับคลองเมืองเดิม ผ่านย่านหัวลำโพง คือคลองมหานาค ซึ่งเป็นย่าน การค้าที่สำคัญไปทะลุแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้านหนึ่งบริเวณวัดแก้ว แจ่มฟ้า สี่พระยา โดยได้รับพระราชทานชื่อว่า "คลองผดุงกรุงเกษม"
คลองนี้เริ่มขุดเมื่อปี พ.ศ.2394 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2395 โดยมีความลึก 3 เมตร กว้าง 20 เมตร ความยาว 5.5 กิโลเมตร และได้มีการสร้างสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานนามให้คล้อง จองกันคือ
สะพานเทเวศรนฤมิตร อยู่บนถนนสามเสน ย่านการค้าเก่าบริเวณใกล้สี่แยกเทเวศร์
สะพานวิศวกรรมนฤมาน อยู่ระหว่างถนนประชาธิปไตยกับถนนนครราชสีมา ตรงสี่แยกประชาเกษม (สี่แยกเมล์แดง) ใกล้กับวัดมกุฏกษัตริย์และคุรุสภา
สะพานมัฆวานรังสรรค์ อยู่บนถนนราชดำเนินนอก ใกล้กับกระทรวงศึกษาธิการ ทำเนียบรัฐบาลและที่ทำการสหประชาชาติ
สะพานเทวกรรมรังรักษ์ บริเวณสี่แยกเทวกรรม บนถนนนครสวรรค์ ย่านนางเลิ้ง
สะพานจตุรภักตร์รังสฤษฏ์ หรือ "สะพานขาว" บนถนนหลานหลวง ใกล้ตลาดมหานาค
นอกจากนี้ยังมีสะพานสร้างขึ้นภายหลังอีก คือสะพานเจริญสวัสดิ์ สะพานกษัตริย์ศึก และสะพานพิทยเสถียร ชื่อจึงไม่คล้องจองกัน
ยังคงลัดเลาะอยู่บริเวณใกล้เคียงตลาดนางเลิ้งอยู่ ซึ่งตั้งอยู่ ในเขตการปกครอง "ป้อมปราบศัตรูพ่าย" เหตุที่ชื่อนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ป้อมป้องกันข้าศึกที่ตั้งอยู่ใกล้ตลาดนางเลิ้ง บ้านณวน ใกล้สะพานนพวงศ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ็ดป้อมที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตลอดฝั่งคลองผดุง กรุงเกษม ต่อมาเมื่อตัวเมืองขยายออกไป ความจำเป็นในการป้องกันศัตรูของป้อมปราบจึงหมดไป ป้อมนี้จึงถูกรื้อลงพร้อมกับป้อมอื่นๆ
ถนนพิษณุโลก ระยะทางตั้งแต่ถนนสามเสนตัดกับถนนนครราชสีมา ผ่านสวนอัมพร (สวนอัมพวัน) วังปารุสกวัน สวนมิสกวัน ตัดกับถนนราชดำเนินนอกตรงแยกสวนมิสกวันและถนนพระราม 5 ตรงแยกพณิชยการตัดกับถนนนครสวรรค์ที่แยกนางเลิ้ง
เป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด เกล้าฯ ให้สร้าง ซึ่งทรงริเริ่มขึ้นพร้อมกับการสร้างพระราชวังดุสิต ในปี พ.ศ.2441 ชื่อว่าถนนพิษณุโลก เนื่องจากผ่านวังปารุสกวัน ซึ่งเป็นที่ประทับในสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เดิมมีชื่อว่า "ถนนคอเสื้อ" ซึ่งได้มาจากการเขียนลายรูปค้างคาวต่อๆ กันในที่แคบ จึงกลายเป็นลายกระจัง หรือที่เรียกว่าคอเสื้อ หมายถึง ฮก คือความสุข เป็นหนึ่งลักษณะ มงคลของจีนสามประการ (ฮก ลก ซิ่ว - ความสุข ลาภยศ อายุยืนยาว)
บนถนนพิษณุโลก นอกจากจะมีราชตฤณมัยสมาคมแล้ว บริเวณใกล้เคียงกันยังมีสถานที่ซึ่งถือว่าสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกหลายแห่ง เช่น บ้านพิษณุโลก วังที่ประทับของเจ้าฟ้ากรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และทำเนียบรัฐบาล
บ้านพิษณุโลก หรือบ้านบรรทมสินธ์ หรือที่ผู้คนส่วนใหญ่รู้จักในนาม "บ้านทรายทอง" ในโลกของภาพยนตร์ จินตนาการของละครไทย
ออกแบบโดยมาริโอ ทามานโญ สถาปนิกพระราชสำนักสยาม ชาวอิตาลี สร้างระหว่าง พ.ศ.2443-2468 มีเนื้อที่ 25 ไร่ 3 งาน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างบ้านบรรทมสินธิ์หลังนี้พระราชทานให้มหาดเล็กส่วนพระองค์คือ พลตรี พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ)
บ้านบรรทมสินธ์ระยะแรก เปลี่ยนชื่อเป็นบ้านไทยพันธมิตร ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบ้านพิษณุโลก
ก่อนจะเป็นทำเนียบรัฐบาล คือ บ้านนรสิงห์ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเป็นชื่อที่ได้รับพระราชทาน หรือเจ้าของบ้านตั้งขึ้นเอง
นรสิงห์เป็นชื่อของพระนารายณ์ทรงอวตารลงมาในโลกมนุษย์ในร่างของนรสิงห์ เพื่อปราบยักษ์ร้ายที่ชื่อ "หิรัณยกศิป" โดยมีเศียรเป็นสิงห์ พระวรกายเป็นมนุษย์ เล็บที่ปลายนิ้วเป็นกรงเล็บสิงห์ ใช้เป็นอาวุธ
แต่เดิมบ้านนรสิงห์เคยมีรูปปั้นนรสิงห์เต็มตัว ตั้งอยู่บริเวณ สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ปัจจุบันไม่ทราบว่าได้เคลื่อนย้ายไปอยู่ ณ ที่ใด
เจ้าของบ้านคือ เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมกับบ้านบรรทมสินธ์แด่ผู้น้อง และบ้านมนังคศิลาแด่พระยาอุดมราชภักดี (โถ สุจริตกุล)
ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก องคมนตรี อุปนายกเสือป่า พลเอกกองทัพบก พลเรือเอกกองทัพเรือ
นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใกล้ชิดพระองค์อยู่ตลอดเวลา เช่นโปรดให้เป็นหัวหน้าห้องพระบรรทม นั่งร่วมโต๊ะเสวย ทั้งมื้อกลางวันและกลางคืนตลอดรัชกาล และตามเสด็จโดยลำพังกับพระองค์ เป็นต้น
ในปี พ.ศ.2484 ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นได้ เจรจาขอซื้อเพื่อทำเป็นสถานทูตด้วยเห็นว่ามีความสวยงาม
เดือนมีนาคม 2484 เจ้าพระยารามราฆพได้มีหนังสือถึงปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีคลังสมัยนั้น เสนอขายบ้านให้แก่รัฐบาลในราคา 2 ล้านบาท เนื่องจากใหญ่โตเกินฐานะ ซึ่งมีค่าบำรุงดูแล รักษาสูง
จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เห็นควรซื้อบ้านเป็นที่รับรองแขกเมือง ในที่สุดตกลงขายได้ในราคา 1 ล้านบาท และเปลี่ยนชื่อเป็น "ทำเนียบสามัคคีชัย" และทำเนียบรัฐบาลในเวลาต่อมา
ทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่ราชการสำคัญที่สุดในระดับชาติ เป็นที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ทำงานของนายกรัฐมนตรี รอง นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นที่ตั้ง สำนักงานระดับกรมอีกหลายหน่วยงาน รัฐบาลใช้เป็นสถานที่ต้อนรับผู้นำจากต่างประเทศ ใช้จัดงานรัฐพิธี เช่น งานสโมสรสันนิบาต เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ เป็นต้น
นับตั้งแต่เจ้าพระยารามราฆพได้เสนอขายบ้านซึ่งขณะนั้นยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ให้แก่รัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้มีการต่อเติมเสริมสร้าง โดยมี ศ.ศิลป พีระศรี เป็นกำลังสำคัญ จากลักษณะบ้านพักอาศัยมาเป็นทำเนียบรัฐบาล เช่นเปลี่ยนชื่อจากตึกไกรสรเป็นตึกไทยคู่ฟ้า การเพิ่มเติมตราทำเนียบฯ
สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ความจำเป็นในการใช้พื้นที่มีมากขึ้น มีการสร้างตึกสันติไมตรีหลังใน รื้อเรือนไม้ "พลอยนพเก้า" แล้ว สร้างตึกบัญชาการแทน
สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี มีการสร้างตึกบัญชาการหลังใหม่แทนกลุ่มตึก 24 มิถุนาเดิม เพื่อประโยชน์ในการใช้สอย ปรับปรุง ตกแต่งสถานที่ อุปกรณ์การใช้งานให้ทันสมัย
สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี กองทัพบกได้มอบพื้นที่ส่วนการศึกษาของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
สมัยนายกรัฐมนตรี บรรหาร ศิลปอาชา มีการสร้างอาคาร ที่ทำการขึ้นใหม่อีก 1 หลังในพื้นที่โรงเรียนนายร้อย จปร.เดิม เมื่อความต้องการของหน่วยงานการเมืองและราชการมีเพิ่มขึ้น
วัดถือว่ามีความสำคัญต่อชุมชนไม่ใช่น้อย เพราะเป็นที่ประกอบกิจตั้งแต่วาระแรกเกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต คือความตาย การจากไป จากสังขาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นศาสนิกชน ชุมชนชาวตลาดนางเลิ้งมีวัดอยู่หลายวัด เช่น วัดแคนางเลิ้ง หรือวัดแคร่ (วัดสุนทรธรรมทาน) แต่วันนี้จะขอพูดถึงวัดโสมนัสราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท
รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างพระราชอุทิศสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัส วัฒนาวดี โดยได้ทรงวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ เมื่อ 15 มกราคม 2396 เนื้อที่วัด 31 ไร่เศษ (รวมทั้งที่ขุดคู) พระราชทานเป็นวิสุงคามสีมา ด้านหน้าจดคลองผดุงกรุงเกษม ในเนื้อที่วิสุงคามสีมาที่เป็นตัววัดนั้นได้สมมุติเป็นมหาสีมาเฉพาะภายในกำแพง เว้นนอกกำแพงไว้เป็นอุปจารสีมาและคู เพื่อกันเขตบ้านในธรณีสงฆ์ กับมหาสีมาที่อยู่ของพระสงฆ์ให้ห่างกัน เฉพาะพระอุโบสถ สมมุติ เป็นขัณธสีมา มีสีมันตริกที่ลานรอบพระอุโบสถ ภายในกำแพงจากด้านหน้าไปด้านหลังแบ่งออกเป็น 3 แถบ มีพระอุโบสถ พระวิหาร วิหารคด พระเจดีย์ ซึ่งเป็นเขตพุทธาวาสอยู่แถบกลาง
หมู่กุฏิที่อยู่อาศัยของสงฆ์ ระหว่างคณะมีอุปจาร มีบริเวณ เป็นระเบียบไม่ยัดเยียด ส่วนหน้าวัดมีลานกว้าง ในปัจจุบันใช้เป็นเขตโรงเรียน ด้านหลังวัดเป็นเขตฌาปนสถาน ด้านข้างเป็นสุสานด้านหนึ่ง ถนนทางเข้าผ่านไปหลังวัดด้านหนึ่ง
พระประธานในพระอุโบสถ "พระสัมพุทธสิริ" หน้าตักกว้าง 2 คืบ 6 นิ้ว เป็นพระที่สมเด็จพระวันรัตพุทธสิริเถระ ได้สร้างและอัญเชิญมาจากวัดราชาธิวาส ส่วนพระประธานในพระวิหาร และพระอัครสาวก เป็นของหลวงอัญเชิญมาจากพระบรมมหาราชวัง
เมื่อเกิดวัดขึ้น ทำให้คนในรั้วในวังพากันมาทำบุญ ทำให้ชุมชนนางเลิ้งคึกคัก มีเศรษฐกิจดีขึ้น มีการผสมผสานวัฒนธรรม ระหว่างในวังและชุมชน เกิดวัฒนธรรมท้องถิ่นในรูปแบบใหม่
เมื่อผ่านไปผ่านมาแถวนางเลิ้ง โดยเฉพาะแถวสี่แยกจักรพรรดิพงษ์ จะมีกล้วยแขก ข้าวเม่าทอด มันทอด ขนมถ้วย ขายอยู่ ห้องแถวริมถนน เมื่อก่อนถ้าผ่านไปเมื่อใดและรถติดไฟแดงจะยอม เสียมารยาทใช้เสียงตะโกนโหวกเหวกเพื่อขอซื้อกล้วยแขกจากเจ้าอร่อยทันที ซึ่งแม่ค้าเตรียมใส่ถุงเอาไว้วิ่งมาส่งก่อนที่สัญญาณ ไฟจะเขียว ว่ากันว่าเจ้าอร่อย ลูกสาวไปแต่งงานกับฝรั่งให้มารดาเลิกขาย โดยขายสูตรให้คนอื่นไปแต่ทำไม่อร่อยเท่า ภายหลังญาติ เลยกลับมาทำขายกันอีก
ปัจจุบันจะด้วยสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ผู้คนตกงาน เงินหายากขึ้น ทำให้เกิดพ่อค้าแม่ค้าหน้าใหม่มากมาย ร้านกล้วยแขก ใกล้นางเลิ้งมีทั้งเจ้าแรก เจ้าเดิม เจ้าเก่าสูตรโบราณ มีอยู่มากมาย หลายเจ้า จนเลือกไม่ถูกว่าเจ้าไหนของแท้ดั้งเดิมกันแน่ จนกลายเป็นอาณาจักรกล้วยแขกย่อมๆ ไปเสียแล้ว
เดี๋ยวนี้ไม่ขายเฉพาะหน้าร้านเท่านั้นจะลามไปถึงตามสี่แยก ต่างๆ โดยมีมือปืนรับจ้างคอยวิ่งขาย ไม่ว่าจะเป็นแยกหลานหลวง สะพานขาว ยมราช แยกสนามม้า (ได้ข่าวว่าตำรวจจับปรับทั้งคนซื้อและคนขาย)
กล้วยแขก ไม่มีที่มาแน่นอน บ้างว่าแขกเป็นคนขาย แขกคิด
สิ่งที่คิดเล่นๆ และน่าจะเป็น คือเป็นการคิดค้นของชาวอินเดียที่มาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองไทย เนื่องด้วยอาหารประเภททอดนั้นเป็นที่นิยมชมชอบของชาวอินเดีย โดยเฉพาะอาหารประเภทที่มีไขมัน ด้วยการนำกล้วยผสมกับแป้งและกากมะพร้าว (ยังไม่คั้น) และนำไปทอดก่อนรับประทาน
นางเลิ้ง ตลาดที่กรุ่นไปด้วยกลิ่นอาย ของบรรยากาศเก่าครั้งคุณย่าคุณยายยังสาว บรรยากาศห้องแถวลักษณะโบราณที่ยังคงเอกลักษณ์ ร้านขายยาซึ่งยังมีให้เห็นอยู่หลายร้าน นางเลิ้งอาร์ต ร้านถ่ายรูปเก่าแก่ตรงข้ามกับตลาด โดยเฉพาะการถ่ายรูปบน หินทำล็อกเกตแขวนคอ หรือกลัดเสื้อ สีไม่ตกไม่ลอก แม้จะใช้มาหลายสิบปี ทำเป็นเจ้าแรกๆ ของเมืองไทยและคงรักษาชื่อเสียง ไว้ได้เช่นเดิม
เรื่องของอาหารการกินที่อร่อยแบบโบราณทั้งคาวหวาน
สาคูไส้หมู ลูกเล็กพอดีคำ รสชาติ หวานมันกลมกล่อมพอดิบพอดี หากชอบไส้ปลาหรือกุ้งก็หาทานกันได้
ขนมไทยมีให้เลือกหลากหลายร้านทำสดใหม่ทุกวัน ได้ยินว่า มีโรงแรมดังๆ มาใช้บริการเป็นประจำ มีทั้งขนมตาล ตะโก้ ขนมมัน ขนมกล้วย ที่นั่งกินร้อนๆ รสชาติหวาน มัน นุ่ม ชิ้นเล็กพอดีคำ แม้แต่ขนมเบื้องไทย เบื้องญวน ก็หาซื้อได้
มันสำปะหลังเชื่อมเหนียวได้ที่ เปียกปูน ขนมชั้น ต้มแดง ต้มขาว ขนมเหนียว ถั่วแปบ มีให้ลิ้มลองด้วยคนขายที่หน้าตาดูแล้วน่าจะอยู่คู่ตลาดนางเลิ้งมานานแสนนาน
สำหรับอาหารคาว ปลาสลิด ปลาช่อนปิ้ง ทานกับข้าวเหนียว ข้าวแกงปรุงแบบโบราณ ก๋วยเตี๋ยวแคะ ก๋วยเตี๋ยวเป็ดรุ่งเรือง ส.รุ่งโรจน์ จิ๊บกี่ เป็ดย่างฝีมืออาม่าวัย 90 กว่าปี ซึ่งยังไม่ยอมรามือ ร้านเบญจรส ส้มตำอาหารอีสาน ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นเนื้อน้ำใส ก.ชวนชิม สาขา 68 และข้าวแกงกะหรี่ สตู นางเลิ้ง ที่ทานพร้อมกุนเชียงทอด แกล้มแตงกวาพริกชี้ฟ้าสด ตั้งอยู่บนถนนศุภมิตรตรงข้ามที่ทำการ เขตฯ และยังมีของอร่อยอีกมากมายให้หาทานได้อย่างจุใจ
ที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ ไส้กรอกปลาแนมของตระกูลสมิงกล้าทัพจะเปิดขายจันทร์-เสาร์ ออกขายใกล้เที่ยง บ่ายๆ ก็หมดแล้ว
ไส้กรอกปลาแนม เดี๋ยวนี้หาซื้อทานยาก เพราะมีขั้นตอนการทำที่ยุ่งยาก สลับซับซ้อน ละเอียด ละเมียดละไมและต้องใช้เวลานาน
เครื่องปรุงแต่ละอย่างของการทำปลาแนมต้องมีการคัดสรร และต้องจัดทำอย่างดี
เมื่อได้ปลาช่อนมาแล้ว ต้องนำมาผ่านกรรมวิธีการย่างอย่างพิถีพิถัน ด้วยการย่างด้วยเตาถ่าน ติดไฟจนถ่านแดงโร่แล้วใช้ขี้เถ้าโรยกลบ นำปลาลงย่างจนถ่านยุบ พลิกตัวปลากลับข้าง จนได้เนื้อปลาสุกหอมกรุ่นเนื้อละมุนแล้วจึงนำมาแกะเนื้อ นำก้างและหนังอันไม่พึงประสงค์ออกไปเสีย แล้วนำไปโขลกจนเนื้อปลาแตกฟู
ข้าวสาร ข้าวเจ้าที่นำมาทำข้าวคั่วควรใช้ข้าวขาวตากแห้ง ไม่ควรใช้ข้าวหอมมะลิ เพราะจะทำให้ปลาแนมจับตัวเป็นก้อน การทำข้าวคั่วนั้นจะต้องนำข้าวสารไปแช่น้ำ นำขึ้นให้สะเด็ดน้ำ คั่วจนเหลืองนวล โขลกบดให้ ละเอียด ข่าอ่อนโขลกละเอียด หนังหมูต้มสุกหั่นเป็นเส้นบางๆ มะพร้าวขูดขาวนึ่งพอสุก กระเทียมดองหั่นตามขวางยาวๆ หอมแดงซอย ถั่วลิสงคั่วโขลกหยาบๆ ผิวส้มซ่าหั่นฝอย
ส่วนผสมของน้ำปรุงรส น้ำส้มซ่า น้ำกระเทียมดอง น้ำมะนาว น้ำตาล เกลือป่นและนำมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน โดยเริ่มจากนำเนื้อปลาช่อนย่างที่โขลกจนขึ้นฟู ข้าวคั่ว น้ำตาล เกลือคลุกให้เข้ากันตามด้วยน้ำมะนาว น้ำส้มซ่าแล้วคลุกใหม่ ใส่น้ำกระเทียมดอง ใส่หนังหมูที่เตรียมไว้แล้วคลุกอีกครั้ง ส่วนกระเทียมดองหั่น หอมแดงซอย ถั่วลิสงคั่ว ผิวส้มซ่าหั่นฝอยไว้ผสมตอนจะรับประทาน
ส่วนการทำไส้กรอก มีความยุ่งยากและต้องใช้เวลาเช่นกัน โดยเริ่มจากการนำไส้หมูมาล้างให้สะอาด แล้วกลับไส้นำเอาด้านในออก แล้วนำไปขยำกับเกลือป่น แล้วล้างด้วยน้ำเปล่า
จากนั้นนำมาล้างด้วยน้ำส้มสายชู เพื่อให้ไส้พองตัวและมีความขาวขึ้น แล้วนำมาล้างน้ำเปล่าเพื่อให้หายเปรี้ยว ผสมหมูบด น้ำปลา คนให้เข้ากัน หมูควรบดสัก 2 ครั้ง เพื่อให้เนื้อไส้กรอกเนียนละเอียด
น้ำตาลปี๊บ รากผักชี ไข่เป็ดผสมจนเป็นเนื้อเดียวกันแล้วเอาเครื่องแกง กะทิคลุกเคล้าจนเข้ากัน ใส่ถั่วลิสงผักชีผสมจนเข้ากัน แล้วนำไส้หมูที่เตรียมไว้ ใช้เชือกผูกปลายไส้ให้แน่น นำส่วนผสมกรอกไส้ ใช้ตะเกียบช่วยในการดันเนื้อหมูให้ลงไปอยู่ในไส้ ใช้เชือกผูกเป็นช่วงๆ ใช้ไม้แหลมหรือเข็มแทงไส้เป็นระยะห่างๆ เพื่อกันไส้แตกเวลาปิ้งหรืออบ
นำไปปิ้งด้วยกากมะพร้าว (สมัยโบราณ) จนสุกเหลืองนำขึ้นจากเตาพักไว้ให้เย็น
สำหรับเครื่องแกงที่ใช้มีเครื่องปรุงคือ พริก ข่า ตะไคร้ ผิวมะกรูด หอมแดง รากผักชี กะปิ เกลือป่น
ไส้กรอกปลาแนมนางเลิ้ง เริ่มจากป้าเริญ 60 กว่าปีแล้ว (เห็นมาตั้งแต่เกิด) ป้าเริญเป็นแม่ค้าข้าวแกงเก่าแก่ที่ตลาดนางเลิ้ง แต่เพราะความเหนื่อยล้าอย่างแสนสาหัส ทำแล้วต้องออกขาย ขายเสร็จต้องเก็บล้างหม้อ ล้างจาน กว่าจะเสร็จสิ้นหมดวันพอดี ไม่มีเวลาพักผ่อนหลับนอน ยังทำขนมขายตามหน้าเทศกาลต่างๆ เช่น ขนมเข่ง ขนมเทียน และทุกอาทิตย์ วันที่กองสลากฯ ออกหวยที่สวนลุมฯ ต้องทำสาคูไปส่งตามคำว่าจ้างอีกด้วย โดยมี "เล็ก" มารดาของ "สมใจ สมิงกล้าทัพ" เป็นลูกมือ จนมาถึงเธอ ในที่สุด
ยืนหยัดอยู่บนพื้นที่อันน้อยนิดในตลาดนางเลิ้งแห่งนี้ โดยอาศัยหน้าร้าน "คุณนายหญิงไทย" จนกลายมาเป็น "แสงทองซาวด์" ในปัจจุบัน
ซึ่งเธอออกปากชื่นชมสรรเสริญเยินยอเจ้าของร้านตลอดเวลาที่พูดคุยกันว่าดีทั้งครอบครัว แม้กระทั่งวันนี้ยังดูแลเธออย่างโอบอ้อมอารี มีเมตตาธรรมสูง ซึ่งหาได้ยากในสมัยนี้
สมใจเกิดที่บ้านในตรอกสะพานยาว ตั้งอยู่บนถนนพะเนียง ตรอกข้างวัดแค เคยย้ายไปอยู่ฝั่งวัดโสมฯ ครั้งหนึ่งหลังเหตุการณ์ ไฟไหม้ครั้งใหญ่ เมื่อปี 2516 เกิดมาก็เห็นป้าและแม่เป็นแม่ค้าอยู่ในตลาดแล้ว บ้านตรงทางเข้าหัวตรอก จะเป็นบ้านของพระเอก ผู้โด่งดังยอดนิยมตลอดกาลพักอาศัยอยู่กับมารดา แต่จะได้พบมิตร ชัยบัญชา ตัวจริง เสียงจริง ในช่วงงานเทศกาลทอดกฐินวัดแคนั่นแหละที่พระเอกผู้นี้จะมาเป็นเจ้าภาพทุกปี
บ้านในตรอกนี้จะเป็นบ้านไม้ บางบ้านจะแบ่งซอยเป็นห้องเล็กห้องน้อย มีหญิงโคมเขียวให้บริการด้วย บางครั้งหนุ่มๆที่กลัดมัน ตกมัน มึนเมามาจากการดื่มสุรา จะพากันเข้ามาเที่ยว บางทีเข้าผิดเข้าถูก บางครั้งต้องชี้บอกบ้านให้หนุ่มๆ เหล่านั้นด้วย เธอเล่าอย่างคนอารมณ์ดี
ป้าเริญไม่ได้รู้เรื่องไส้กรอกปลาแนมหรอก อยากเปลี่ยนจากแม่ค้าขายข้าวแกง และมองเห็นว่าขนมไทยของกินในตลาดนี้ มีคนทำขายกันจนเกลื่อนกลาด
เหลือแต่ไส้กรอกปลาแนมนี่แหละ จึงไปแอบดูแอบจำแล้วมาลองทำดู ลองผิดลองถูกจนฝีมือได้ที่ จึงนำออกขายในที่สุด ผู้เขียนเหลือบไปเห็นป้ายแขวนอยู่ที่เสา ลายเซ็นคุณชาย (ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัตน์) ลบเลือนไปหมดแล้ว เธอเห็นจึงตะโกนถามน้องสาวซึ่งกำลังสาละวนอยู่กับลูกค้า จึงรู้ว่าเป็นลายเซ็นที่น่าจะ 30 กว่าปีมาแล้ว ประมาณปี 2518 หรือ 2519 นี่แหละ จำได้แต่ว่าเมื่อคุณชายมาชิมแล้ว ได้ลงในหนังสือ "ฟ้าเมืองไทย" และเรียกไปรับป้ายเพื่อเป็นการการันตี "เชลล์ชวนชิม"
วันก่อนลูกชายท่าน "ปิ่นโตเถาเล็ก" มาเดินดู เห็นป้ายลบเลือนยังแนะนำให้โทรฯ ไปหาเจ้าหน้าที่ให้คุณชายเซ็นป้ายให้ใหม่ "น่าเสียดายนะ รูปหล่อแต่ถ่ายรูปไม่ขึ้น" อดที่จะหยอดคำชมหวานๆ ตามสไตล์ของเธอไม่ได้จริงๆ
ลูกค้าคนดังๆ ที่ชอบไส้กรอกปลาแนมตลาดนางเลิ้ง มีทั้งระดับบน ระดับล่าง มาจากทุกสารทิศ แต่ที่แน่ๆ เมื่อมาเป็นลูกค้าครั้งแรกแล้ว ต่อไปจะเห็นหน้าเป็นประจำเกือบทุกรายไป และลูกค้าประจำคือพนักงานบริษัท ข้าราชการ ชาวบ้านร้านถิ่น ในแถบนั้น ซึ่งมาตลาดช่วงกลางวัน แล้วซื้อหิ้วกลับบ้านไปด้วย
เคยมีคุณหญิงกับคนขับรถมาหาที่บ้านในช่วงบ่ายแก่ๆ มา บอกให้ทำไส้กรอกและปลาแนมให้แต่เช้าได้ไหม เพราะเจ้านายอยากทาน และจะซื้อไปฝากอีกท่านด้วย (ท่านจอมพลประภาส จารุเสถียร จอมพลถนอม กิตติขจร) สมใจยืนกรานว่าอย่างไรก็ทำให้ไม่ได้ตามต้องการ คุณหญิงคนขับรถลงทุนกราบกรานอ้อนวอนขอร้องคนในบ้าน ขอให้ช่วยทำให้หน่อย โดยมีข้อเสนอจะเอาคนที่บ้านมาช่วยเป็นลูกมือก็ได้นะ
จนในที่สุด คุณหญิงต้องยอมจำนนโดยขอมารับในเวลา 11 โมงเช้า ในวันรุ่งขึ้นตามที่สมใจกำหนด
วันอาทิตย์เป็นวันหยุดพักผ่อน กำลังมีการฝึกสมองบวกลบตัวเลขกันอย่างสนุกสนานทั้งครอบครัว เสียงลากประตูเปิดกว้างขึ้น อารามตกใจและเกิดความอาย เมื่อหันไปพบท่านผู้หญิง มณีรัตน์ บุนนาค และคุณหญิงกิ่งแก้ว อุทานไปว่า สวัสดีค่ะท่านผู้หญิงทั้งสอง จนคุณหญิงกิ่งแก้วบอกว่าชั้นไม่ใช่ท่านผู้หญิง ท่านผู้หญิงคนโน่นค่ะ ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ชอบรับประทานไส้กรอกข้าวมาก แต่จะขอสั่งเป็นพิเศษด้วยการใส่ข้าวโพดข้าวเหนียว ที่ต้มสุกไปในไส้กรอกด้วย
ลูกค้าที่เป็นบุคคลสำคัญระดับชาติอีกท่านหนึ่งคือประธาน องคมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ท่านจะให้คนมาซื้ออยู่เหมือนกัน แต่ตอนนี้หายไป
หรือบางคนชอบซื้อเป็นของฝากเจ้านาย และถูกถามว่าซื้อจากที่ไหน จะไม่ยอมบอก ถ้ารู้ กลัวจะมาซื้อเอง เดี๋ยวไม่ได้ซื้อ ฝากอีกต่อไป
กระบวนการผลิตเริ่มแต่ตีห้า ใช้คน 8-10 คน จะแบ่งไป ทำไส้กรอกพวกหนึ่ง ปลาแนมพวกหนึ่ง เพื่อให้ทัพหน้าออกทันรับลูกค้าตั้งแต่ 11 โมง ถ้าออกช้าเดี๋ยวตลาดจะวายเสียก่อน
วันหนึ่งจะทำปลาแนมไม่เกิน 25 กิโลกรัม ประมาณ 2 กะละมังเคลือบขาว แต่ไม่ได้ปิ้งปลาช่อนอย่างเช่นคนโบราณ ใช้นึ่งแทน (ของเสียน้อย ได้เนื้อมากขึ้น และประหยัดเวลา) แต่นำเนื้อมาโขลกเช่นเดิม ข้าวคั่ว ขอซื้อข้าวเจ้าเก่าที่สุดที่มีในร้านนำมาคั่วและโม่เอง
ส่วนถั่วลิสงคั่วจะซื้อเจ้าที่คั่วแล้ว (เจ้าประจำ) ต้องไว้ใจได้ว่าใหม่แต่นำมาป่นเอง
ส่วนมะพร้าวขูด ผิวส้มซ่าซอยเจ้านี้จะไม่ใส่น้ำปลา จะใช้น้ำปลาท่าจีน จากบ้านแพ้ว สมุทรสาคร ปลาแนมที่นี่จะใช้ทั้งน้ำตาลปี๊บ และน้ำตาลทราย ทั้งสองอย่าง โดยมีน้ำส้มสายชูผสมด้วย เพื่อทำให้รสชาติเข้มข้นขึ้น ไส้กรอกจะมีทั้งไส้กรอกหมูและไส้กรอกข้าว แต่ไส้กรอกหมูจะอบด้วยเตาอบ ไม่ได้ปิ้งย่างอย่างโบราณ
แต่ไส้กรอกข้าวยังคงใช้เตาถ่านสุมด้วยกาบมะพร้าว เพื่อไม่ให้ไส้กรอกแตกไม่น่ารับประทาน และได้กลิ่นหอมเหลืองสุกสวยงามอีกด้วย กว่าจะสำเร็จเป็นไส้กรอกปลาแนมต้องทั้งโขลก ทั้งตำ ปิ้ง ย่าง อบ โม่ สารพัดวิธี
สมใจไม่ลืมที่จะนำเสนอห่อหมกปลาช่อนตำรับโบราณใส่กระทงนึ่งขายอีกต่างหาก แล่เอาแต่เนื้อปลาช่อนนำก้างออก ใส่พริกแกง กะทิ ใส่เนื้อปลา กวนในชามอ่างดินจนงวดด้วยไม้พาย ซึ่งกุดไปกว่า 50 อันแล้ว "นี่นับเฉพาะรุ่นลูกนะคะ" เธอบอก
รองด้วยใบยอ โหระพา ผักกาดขาว ซึ่งปัจจุบันกำลังซื้อของผู้คนลดน้อยถอยลงจะขายดีเป็นบางวัน คนซื้ออ้างว่าหมอห้ามรับประทานของมัน ว่าแล้วเธอยังอดที่จะเชิญชวนผู้เขียนซื้อกลับบ้านตามประสาพ่อค้าแม่ขาย บอกว่าลองไปทานกับขนมจีนดู จะอร่อยมากจริงๆ
ส่วนที่หยุดวันอาทิตย์นั้น เพราะลูกค้าน้อยมาก ผู้คนไปเดินห้างกันหมด ไปเที่ยวชมตลาดเก่าแก่ที่อื่นบ้าง ตลาดน้ำกันบ้างตามแต่สะดวก โดยเฉพาะปัญหาการจราจรในแถบนี้ ทั้งที่จอดรถ รถติด ขายมา 6 วัน หยุดสักวันจะเป็นไรไป จริงไหม
|
|
 |
|
|