|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

หากความสำเร็จในปัจจุบันเป็นพลังงานสะสมจากหยาดเหงื่อและแรงกาย จากการต่อสู้ชีวิตเมื่อครั้งอดีต ยอดขายเกือบหมื่นล้านบาทต่อปีของ "พรานทะเล" ในวันนี้ ส่วนหนึ่งก็ย่อมเป็นผลจากผลึกแห่งประสบการณ์กว่า 15 ปี ตั้งแต่ครั้งยังเป็นไต้ก๋งหนุ่มมือหนึ่งแห่งน่านน้ำทะเลไทยที่ชื่อว่า "ธงชัย ธาวนพงษ์"
เพราะมหาชัยเป็นเมืองแห่งการประมง ที่นี่จึงเต็มไปด้วยเรือประมง ทั้งประมงพื้นบ้านและประมงอุตสาหกรรม ทั้งยังเป็นต้นกำเนิดธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง ทั้งรายเล็กรายใหญ่ซึ่งหมายรวมถึงแบรนด์ที่ทุกคนย่อมคุ้นหูอย่าง "พรานทะเล"
ณ ท่าเทียบเรือประมงแห่งหนึ่งในมหาชัย เป็นท่าเทียบเรือของครอบครัว "ธาวนพงษ์" เรือประมงขนาดกว่า 100-300 ตัน จอดเทียบท่าเรียงรายไปถึงอู่ซ่อม บำรุงเรือของธาวนพงษ์ที่อยู่ติดกัน
เรือประมงยิ่งดูอลังการเมื่อเทียบกับเรือใบขนาด 4 คนแจว ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 60 ปี เรือหาปลารุ่นพ่อที่นับว่าเป็นฐานรากของ "พรานทะเล" ซึ่งตั้งไว้บนท่า ราวกับเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงรากเหง้าที่มาของฝูงเรือประมงขนาดใหญ่เบื้องหน้า
บนกาบเรือประมงที่มีระวางบรรทุกเกือบ 200 ตัน หนุ่มใหญ่กำลังปีนขึ้นลงอย่างคล่องแคล่ว จนยากจะเชื่อว่าเขาคนนี้มีอายุล่วงมา 64 ปีแล้ว เหล่าลูกเรือเรียกขานชายหลังวัยเกษียณคนนี้ว่า "เฮีย" แต่สมัยที่เขายังเป็นหนุ่มฉกรรจ์ เหล่าลูกเรือยุคนั้นล้วนเรียกเขาว่า "ไต้ก๋ง"
หลายเดือนทีเดียวที่ ผู้จัดการ 360 ํ ตั้งตารอให้ "ธงชัย ธาวนพงษ์" ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารแห่งยูเนียนโฟรเซนโปรดักส์ (UFP) เจ้าของสินค้าอาหารทะเลแบรนด์ "พรานทะเล" สามารถหาเวลามาออกเรือ ย้อนรำลึกถึงชีวิตสมัยเป็นไต้ก๋ง เรือได้
เมื่อเรือเริ่มแล่นออกจากท่าไปทีละน้อย ลมเย็นและกลิ่นทะเลก็เริ่มเข้าสัมผัสลูกเรือและแขกผู้มาเยือน
ธงชัยโบกมือให้กับเรือประมงที่แล่น ผ่านไปด้วยรอยยิ้ม พร้อมกับบอกว่านั่นเป็นมารยาทของชาวเล เพราะเมื่ออยู่กลางทะเล เรือทุกลำก็เหมือนเพื่อนที่จะคอยช่วยเหลือซึ่งกันยามมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
"ช่วงหลังไม่ค่อยได้ออกเรือเลย ส่วนใหญ่จะสั่งทางโทรศัพท์มากกว่าเพราะมีคนรับผิดชอบแล้ว เราก็กลายเป็นไต๋บกแทน" อดีตไต้ก๋งเริ่มออกตัว
หลังจากวางมือจากพังงาเพื่อขึ้นฝั่งมาก่อร่างครอบครัวและสร้างธุรกิจตั้งแต่อายุ 33 ปี ธงชัยใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิต กว่าจะก้าวขึ้นแท่นเจ้าของอาหารทะเลแช่แข็งรายใหญ่ของประเทศไทย โดยมีตลาดอยู่ทั่วโลก และมียอดขายเกือบหมื่นล้านบาทต่อปีในปัจจุบัน
นานกว่า 30 ปีที่ธงชัยหันหลังให้เก้าอี้ผู้คุมเรือ ดังนั้นการกลับมาขึ้นเรือในครั้งนี้ เขาเห็นชัดเจนว่า ชีวิตไต้ก๋งปัจจุบันคงเปลี่ยนไปจากอดีตมากแล้ว
เรือประมงยุคนี้มีเครื่องอำนวยความสะดวกสบายกว่ารุ่นธงชัยมาก โดยเฉพาะเครื่องมือด้านการสื่อสารและการจับปลา เช่น วิทยุผ่านดาวเทียม ทั้ง Single Sideband และ VHF, ระบบอินเทอร์เน็ต, ระบบหาตำแหน่งเรือ หรือ GPS, เรดาร์สำหรับหาตำแหน่ง ระยะใกล้ และ Echo Sounder และ SONAR เป็นต้น
ขณะที่ลูกเรือหนุ่มอธิบายการทำงานของเครื่องมือทันสมัยแต่ละชิ้น ธงชัยให้ความสนใจสอบถามอยู่เป็นระยะ พร้อมกับยอมรับว่าเครื่องมือหลายชิ้น เขาไม่ทันได้ใช้ และใช้ไม่เป็นแล้ว
"สมัยผมมีแค่แผนที่อ่าวไทย 1 แผ่น เข็มทิศ 1 อัน และก็ลูกดิ่งวัดน้ำ เดี๋ยวนี้เขา มีระบบเดินเรืออัตโนมัติ แต่ยุคผมยังเป็นระบบโซ่อยู่เลย" เขาอมยิ้ม
เส้นทางไต้ก๋งของธงชัยเริ่มต้นเมื่อเขาสอบไม่ติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ตามที่ฝันไว้ จากนั้นเขาก็ผันตัวเองไปช่วยกิจการเรือประมงของครอบครัว
ไม่ว่าจะเป็นเพราะการเคี่ยวกรำของพี่ชายหรือสายเลือดลูกทะเลที่ได้รับถ่ายทอด จากพ่อ เพียงแค่ 4-5 เดือนหลังลงไปเรียนรู้และทำงานประจำทุกตำแหน่งแล้ว ประจวบกับเรือลำใหม่ต่อเสร็จพอดี พี่ชายจึงผลักดันให้ธงชัยขึ้นแท่นเป็นไต้ก๋งคุมเรือคู่กับคนงาน อีกราว 15 คน
"สมัยที่เป็นไต้ก๋ง ผมเรียกตัวเองว่า "โก๋เล" ซึ่งหมายถึง "จิ๊กโก๋ทะเล" เขาเล่าความประทับใจครั้งอดีต
เหตุที่เขาเรียกตัวเองเช่นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากสไตล์การแต่งตัวตามแฟชั่นยุคเอลวิส กางเกงขาบานและเสื้อผ้าชีฟอง รัดรูป ซึ่งซื้อจากร้านจิมแมนช็อปในห้างไดมารู...แน่นอน! ไม่มีไต้ก๋งคนไหนในยุคนั้นแต่งตัวแบบเขาออกทะเล
นอกจากนี้เขายังน่าจะเป็นหนึ่งในไต้ก๋งเรือคนไทยไม่กี่คนที่ฟังเพลงคลาสสิก อย่างบีโธเฟ่น, โมสาร์ท, สเตราส์ เป็นต้น และพกวรรณกรรมอ่านยากอย่าง "ผู้ชนะสิบทิศ" ของยาขอบขึ้นไปอ่านเล่นบนเรือ ยามว่างจากหน้าที่
อีกเหตุผลของฉายานี้มาจากความมีน้ำใจของไต้ก๋งคนนี้ ที่มักจะเตรียมเสบียง ในปริมาณมากกว่าเรือชาวบ้าน จึงมีเรือประมงลำอื่นมักมาจอดเทียบกลางทะเลเพื่อขอแบ่งอาหารบ้าง แบ่งน้ำแข็งแช่ปลาบ้าง บ้างก็ขอดื่มเหล้าด้วย
นอกจากความมีน้ำใจ โก๋เลธงชัยยังขึ้นชื่อในเรื่อง "ความเฮี้ยบ" ในการทำงานเพื่อให้การออกเรือแต่ละเที่ยวได้ปลามาทีละมากๆ แต่ก็ตอบแทนด้วย "ความแฟร์" ในเรื่องค่าแรงและส่วนแบ่ง
"ถ้าจะใช้คนหรือให้ความร่วมมือเต็มที่ อย่างน้อยเราต้องดีกับเขาก่อน ให้สวัสดิการกับเขา เพราะถ้าชีวิตเขาไม่ดีงานก็ไม่มีทางดี ถ้าเขาทำงานไม่เป็นก็ต้องสอนให้เป็น..." ธงชัยสาธยายอีกยาวเพราะคุณสมบัติทั้ง 3 ประการนี้เป็นสิ่งที่เขาถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก
ความมีน้ำใจอาจไม่ใช่คุณสมบัติโดยตรงของไต้ก๋งที่ดี แต่อย่างน้อยก็เป็นเครื่องมือสร้างพระเดชพระคุณเพื่อให้ได้ใจ ลูกเรือมาโดยสมบูรณ์ อันเป็นคุณสมบัติสำคัญข้อแรกของการเป็นไต้ก๋งที่ดี ธงชัย มองว่าต้องอาศัยจิตวิทยามากพอสมควร
เพราะเริ่มออกเรือครั้งแรกเมื่ออายุ 18 ปี และใช้เวลาเพียงไม่นานก็ได้เลื่อนขั้นเป็นไต้ก๋งเรือ ธงชัยจึงเป็นไต้ก๋งอายุน้อย ที่สุดในตอนนั้น ขณะที่ลูกเรือหลายคนอายุมากกว่าเขาเป็นรอบ
ลำพังเพียงสายเลือดหรือการเป็นลูกและน้องของเจ้าของกิจการ ไม่ได้ทำให้ธงชัยเป็นที่ยอมรับโดยดุษณี เขาจึงต้องเรียนรู้และทำการบ้านหนักกว่าไต๋เรือคนอื่น เพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็น "ไต้ก๋งเรือที่เก่ง" ซึ่งมีเงื่อนไขว่า เป็นผู้คุมเรือที่จับปลา ได้เยอะ รักษาคุณภาพได้ดี ใช้เวลาน้อย และคุมคนงานได้ดี
ด้วยพระเดชพระคุณของโก๋เลธงชัย เขาจึงสามารถคุมลูกเรือได้ดี แต่เงื่อนไข 3 ประการหลังในการเป็นไต๋เรือที่เก่งกว่าลำอื่น เขาอาศัยภูมิปัญญาไต้ก๋งประยุกต์ กับความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ และแสวงหา เทคโนโลยีหรือเครื่องมือทุ่นแรงมาช่วย
ในเรื่องขององค์ความรู้ฉบับชาวเล ธงชัยอาศัยการฟังและจดบันทึกประสบ การณ์ของไต๋เรือคนอื่นบ้าง ลูกเรือที่เป็นเพื่อนรุ่นพี่บ้าง ผสมผสานกับประสบการณ์ ของตัวเอง
"ส่วนใหญ่ก็เรียนจากวงเหล้า เพราะพอเมากันหน่อย หลายคนคุยหมด โชว์หมด เราอาศัยเมาดิบเอา เพราะเป็นคนคออ่อน ถ้าเมาจริงก็จะไม่ได้เรียนรู้ อะไรเลย บางทีไม่ไหวก็ต้องไปล้วงคอหลังร้าน นี่คือวิธีเรียนรู้วิชาไต้ก๋ง" ธงชัยเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ
สิ่งที่ธงชัยต้องการเรียนรู้ไม่ใช่ภูมิปัญญาชาวประมงพื้นบ้านอย่างการอาศัยดวงดาวเป็นเข็มทิศ และการหาปลาด้วยการฟัง เสียงปลา หรือ "ดูหลำ" แต่เป็นการศึกษาเรื่องของลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่สัมพันธ์กับธรรมชาติของท้องทะเลและฝูงปลา
"ไต้ก๋งคนไหนจะก้าวหน้ากว่ากัน อยู่ที่การศึกษาเรื่องภูมิศาสตร์กับธรรมชาติหรือที่เรียกว่าระบบนิเวศ ต้องเรียนรู้ทั้งจากตำราและไปให้เห็นจริง เพื่อนำมาใช้พัฒนาการทำงานของเรา"
ด้วยความรู้เทียบเท่าระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในปัจจุบัน ธงชัยได้เปรียบไต๋เรือหลายลำ เพราะเข้าใจหลักภูมิศาสตร์ได้ดีกว่าและอ่านภาษาอังกฤษได้บ้าง เขาจึงมีโอกาสไปร่วมงานแสดงสินค้าและวิทยาการด้านการประมงในต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง
ในบรรดาไต้ก๋งที่ไปร่วมงานเอ็กซ์โปต่างๆ ดูเหมือนจะมีเพียงธงชัยที่สามารถนำวิทยาการและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเหล่านั้นกลับมาประยุกต์ใช้ในกิจการของตนได้ก่อนคนอื่น ในยุคของเขา เรือประมงของธาวนพงษ์จึงมักได้ชื่อว่าเป็น "ที่สุด" หรือ "ลำแรก" ในหลายเรื่อง
อาทิ "ใหญ่ที่สุด" เพราะในช่วงปี 2506 เรือประมงส่วนใหญ่มีระวางบรรทุกไม่เกิน 20 ตัน แต่เรือของธงชัยบรรทุกได้ 30 ตัน, เป็น "เรือดีเซลลำแรก" ของน่าน น้ำอ่าวไทย และเป็นเรือประมง "เจ้าแรก" ที่ได้นำตู้แช่แข็งปลามาติดตั้งบนเรือ จนต่อยอดมาเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจห้องเย็นในจังหวัดสมุทรสาคร เป็นต้น
"การทำห้องเย็นถือเป็นการบริหาร ปลาที่จับได้ เพื่อไม่ให้ปลาในตลาดมีมากจนทำให้ราคาตกและในช่วงที่ปลาในทะเล มีน้อย ปลาก็จะได้ไม่ขาดตลาด" คำพูดนี้ ยืนยันได้ดีว่าธงชัยเป็นไต้ก๋งที่มีหัวทางการบริหารอยู่ไม่น้อย
ทั้งนี้ อีกสิ่งที่อยู่ในความภูมิใจสูงสุดของชีวิตไต้ก๋งธงชัย คือการคุมเรือออกไปจับปลานอกน่านน้ำไทยเป็นรายแรกๆ ของประเทศ
หลังจากปี 2510 เขาเริ่มนำเรือออกไปทำประมงในน่านน้ำเวียดนาม จากนั้นก็ขยายอาณาเขตเข้าไปจับปลาในมหาสมุทรอินเดีย จนปี 2518 ก็ได้ร่วมทุนกับอินเดียและยกเลิกการจับปลาในน่านน้ำไทยมาตั้งแต่ปี 2517 เพื่อปล่อยให้เป็นพื้นที่หากินของประมง พื้นบ้านและประมงพาณิชย์ทั้งขนาดเล็กและขนาดกลาง
แต่อีกเหตุผลสำคัญก็เพื่อไปยังแหล่งปลาที่ดีที่สุดและชุกชุมที่สุด
จากความพยายามขยายน่านน้ำครั้งนั้น ณ วันนี้กองเรือประมงของ "พรานทะเล" กระจายกำลังหากินอยู่ในน่านน้ำของอิหร่าน โอมาน เยเมน จิบูตี อินเดีย อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย
ด้วยยุทธศาสตร์และความทันสมัยต่างๆ ที่นำมาสมัยที่เป็นไต้ก๋ง ยุคนั้นธงชัยจึงได้รับ การยอมรับว่าเป็น "ไต้ก๋งที่เก่ง" คนหนึ่งของเมืองไทย
เพื่อระลึกถึงความทรงจำอันดีครั้งนั้น หลังจากสร้างออฟฟิศพรานทะเลแล้ว ธงชัยก็ตั้งชื่อตึกบัญชาการของเขาว่า "เอกนาวา" อันหมายถึงเรือลำที่เป็นที่หนึ่ง โดยเขาอธิบายว่า คนยุคนั้นเขาจะชมว่าเรือลำนี้เก่ง มิได้ชมไต้ก๋งโดยตรง
กล่าวได้ว่า การคุมลูกเรือไม่ถึง 20 คนในสมัยที่ยังเป็นไต้ก๋ง เป็นบทเรียนชั้นดีในการ ฝึกฝนทักษะในการบริหารพนักงานกว่า 5 พัน ให้กับผู้บริหารใหญ่แห่ง "พรานทะเล" คนนี้ โดยเฉพาะเรื่องการวางตำแหน่งและมอบหมายหน้าที่
"พอมาทำโรงงานหลังจากที่ขึ้นเรือมามันก็เลยง่าย เพราะจริงๆ ชีวิตไต้ก๋งก็คือแมเนจเมนต์ทั้งคน เวลา และเครื่องจักร" ธงชัยสรุป
ความพยายามทำ Job Description ของทุกตำแหน่งบนเรือ นอกจากเพื่อให้ลูกเรือรู้ว่าใครต้องทำอะไร รู้ว่ากลุ่มงาน ตรงไหนสัมพันธ์กัน และรู้ว่าตำแหน่งไหนเป็นผู้นำของแต่ละส่วนงาน ฯลฯ ยังเป็นประโยชน์สำหรับการจดทะเบียน ISO9000 ให้กับเรือประมงของเขาด้วย
นอกจากนี้ ความอดทนอันเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของไต้ก๋งก็ถูกนำมาใช้เป็นคติในการบริหารธุรกิจของเขา แม้จะเป็นการทนต่อปัจจัยคนละรูปแบบกันก็ตาม จนกลายมาเป็นคติข้อหนึ่งของธงชัยที่ว่า "อดทนเยี่ยงมหาตมะ คานธี"
ตลอดช่วงเวลา 15 ปีที่คุมเรือรอนแรมอยู่กลางเวิ้งทะเลที่เห็นเพียงผืนน้ำ และแผ่นฟ้า อีกสิ่งที่ธงชัยเรียนรู้จากชีวิต ไต๋เรือ ก็คือความไม่แน่นอนมีอยู่ในทุกยอดคลื่น
ความแปรปรวนของธรรมชาติในทะเล ช่วยฝึกฝนให้ธงชัยต้องตัดสินใจเร็ว แต่ขณะเดียวกันก็เตือนให้เขาพึงรำลึกเสมอว่า ชีวิตลูกเรือทุกคนขึ้นอยู่ในมือไต้ก๋ง ดังนั้นทุกการตัดสินใจจึงต้องเป็นไปด้วยความแม่นยำและมีความรับผิดชอบ
"ฉะนั้นก่อนทำอะไรต้องแน่ใจว่าไม่พลาดหรือใช้ความระวังมากที่สุด ซึ่งตรงนี้ต้องทำให้เป็นจิตใต้สำนึกเลย แต่ถ้าสุดท้ายอะไรจะเกิดก็คงต้องเกิด เพราะไม่มีใครสู้ธรรมชาติได้หรอก สิ่งที่เราพอทำได้ตอนนั้นก็แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยสติ" ไม่ใช่การปลงแต่เป็นการยอมรับความยิ่งใหญ่ของทะเล
ธงชัยเล่าถึงสมัยที่ไปเจอพายุหมุนในอ่าวเบงกอล ตอนนั้นมีเรือประมงรายอื่นวิ่งไปพร้อมกัน 4-5 ลำ บางลำถูกพายุหมุนซัดเรือหายไป ขณะที่เรือของเขาโชคดีที่เจอเพียง หางพายุ แต่ก่อนที่เรือของเขาจะเข้าผจญคลื่นอย่างเลี่ยงไม่ได้ เขาวิ่งตรวจเช็กและปิดรูน้ำและรอยรั่วรอบเรือ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ จากนั้นก็ทำได้แค่เพียงเบาเครื่อง ประคองเรือขึ้นลงสู้คลื่น และภาวนา
"แต่สิ่งที่จะช่วยให้เราปลอดภัยที่สุด ก็คือการตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ก่อนออกเรือจึงต้องเช็กฤดูกาล และตรวจสอบดินฟ้าและสภาพทะเลก่อนเสมอ"
บางครั้งกับความไม่แน่นอนบางประการ ธงชัยก็เปลี่ยนเป็นบทเรียนด้วยความพยายามแก้ไขข้อผิดพลาดหรือแก้ปัญหาที่เป็นต้นเหตุของความไม่แน่นอนนั้น
"ครั้งหนึ่งเราปล่อยอวนไปยังไม่ทันปล่อยให้ตึงเลย ปรากฏว่าอวนติด ถ้าเอาขึ้นมาได้น่าจะได้เงินไม่ต่ำกว่า 3 แสนบาท แต่กระตุกทีเดียวตูดอวนขาด นอกจากไม่ได้เงิน ยังเสียค่าซ่อมอีก 5 หมื่นบาท เราก็ได้แต่คิดว่าไม่เป็นไรทำใหม่ได้ แต่ก็เอาตรงนี้มาดูว่าเพราะอะไร แล้วก็แก้ไขมัน"
เมื่อต้องเจอเหตุการณ์เช่นนี้บ่อยๆ ครั้งธุรกิจต้องมาประสบกับวิกฤติต้มยำกุ้ง ในปี 2540 ซึ่งไม่เพียงทำให้รายได้หดหาย ยังทำให้หนี้สินของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ แต่ธงชัยไม่รู้สึกท้อถอย เขาแก้ไขด้วยการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสในการเพิ่มยอดส่งออกเพื่อดึงเงินดอลลาร์เข้าบริษัท
สุดท้าย ธงชัยยังใช้ความไม่แน่ นอนของชีวิตไต้ก๋งกลางทะเล ในการให้กำลังใจตัวเองอยู่เสมอ
เกือบทุกครั้งที่เขาเกิดความลังเลใจหรือไม่มั่นใจในการขยายธุรกิจ หรือนำพา "พรานทะเล" ออกไปสู่ตลาดใหม่ในต่างประเทศ เขามักเพิ่มพลังความกล้าให้ตัวเองด้วยคำพูดไม่กี่ประโยคว่า...
"อยู่ทะเลจะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ เรื่องแค่นี้เสี่ยงน้อยกว่าออกทะเลตั้งเยอะ"
จากเรือแจวรุ่นพ่อ 1 ลำมาถึงเรือประมงขนาดเล็กไม่เกิน 60 ตัน เพียงไม่กี่ลำในรุ่นพี่ชาย วันนี้กองเรือของพรานทะเลมีทั้งหมด 13 ลำ ขนาดระวางบรรทุกตั้งแต่ 110 ตัน จนถึงกว่า 600 ตัน ซึ่งมีถึง 2 ลำ
จากธุรกิจครอบครัวที่เริ่มด้วยการจับปลาขายที่ตลาด ขยายไปสู่ธุรกิจห้องเย็น จากนั้นก็เข้าสู่ธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งในนามบริษัท UFP ต่อมาก็ขยายกิจการผ่านแบรนด์ "พรานทะเล" ที่มีตลาดอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงตลาดตะวันออกกลางและตลาดจีนที่เพิ่งเริ่มเมื่อไม่นานมานี้
...ทันทีที่ทุกกิจการสมบูรณ์แบบมากกว่านี้ ธงชัยกำลังเตรียมตัวและเริ่ม "แต่งตัว" ให้กับธุรกิจเพื่อขยายไปสู่การเป็นบริษัทมหาชนในอนาคต
จากกิจการขายอาหารทะเลไม่มีแบรนด์ มาสู่การสร้างแบรนด์ชื่อ "พรานทะเล" และขยายธุรกิจไปสู่การเป็นผู้ผลิตผักรายใหญ่ผ่านแบรนด์ "พรานไพร"
จึงไม่ผิดที่จะกล่าวว่าอาณาจักร "พรานทะเล" ก่อร่างสร้างขึ้นมาได้ก็ด้วยหยาดเหงื่อและแรงกายของโก๋เลธงชัย ผู้ที่ไม่ยอมจำนนต่ออุปสรรคและวิถีชีวิตไต้ก๋งในแบบเดิม
"ทุกวันนี้ เวลาที่มีโอกาสได้มาอยู่บนเรือตรงนี้ แม้จะไม่ได้ออกทะเล มันรู้สึกมีความภูมิใจอยู่ลึกๆ ว่าเราปั้นทุกอย่างมากับมือ" อดีตไต้ก๋งธงชัยกล่าวทิ้งท้ายถึงความรู้สึกที่ได้กลับมายืนรับลมชมปากอ่าวไทย ขณะที่เรือกลับเข้าฝั่งเทียบท่า
สำหรับหลายคนการร่ำเรียนวิชาเพื่อเป็นไต้ก๋งอาจเป็นเรื่องยากเข็ญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเล่าเรียนวิชาเพื่อเป็นมหาบัณฑิต แต่ในการเรียนรู้ที่จะเป็น "ไต้ก๋งหมื่นล้าน" อย่างธงชัย ธาวนพงษ์ คงต้องอาศัยทั้งสมอง สองมือ หัวใจที่กล้าหาญและอดทน ไม่ยิ่งหย่อนกว่าการเรียนเพื่อเป็นดุษฎีบัณฑิตเลยทีเดียว
|
|
 |
|
|