|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"We take all we need" ช่างเป็นคำพูดบ้าอำนาจ ที่ไม่ได้อยู่ในบทหนังเท่านั้น แต่จริงแท้แน่นอนบนโลกใบนี้ ความคิดเบื้องหลังคำพูด คือที่มาของความรุนแรง การล่าอาณานิคม การก่อทุรกรรม ปล้นชิง ทำลายล้างและครอบครองของผู้ที่มีกำลังเหนือกว่า ซึ่งเกิดขึ้นแทบทุกตารางนิ้วบนผืนโลก ทุกหน้าของประวัติศาสตร์ ล้วนมีเรื่องราวเข้มข้น โหดเหี้ยมของสงครามระหว่างขั้วอำนาจระหว่างเผ่าพันธุ์ ระหว่างศาสนา และระหว่างพวกที่เข้มแข็งดุร้ายกับพวกที่อ่อนแอ นำมาซึ่งความล่มสลายของอารยธรรม ซึ่งเป็นความสูญเสียร่วมกันของมนุษยชาติอย่างที่ไม่อาจประมาณได้ เพราะชื่อว่าอารยธรรมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นของชนกลุ่มน้อย หรือของอาณาจักรยิ่งใหญ่ ล้วนเป็น Collective Wisdom ของมนุษยชาติโดยรวม
แต่วัฏฏะแห่งความเสื่อม คงจะดำเนินต่อไปในอนาคต กระทั่งถึงยุคของ Avatar ที่ชาวโลกเดินทางไปขุดหาแหล่งแร่บนดาวดวงอื่น แล้วเริ่มบทบาทซ้ำซากของนักล่าอาณานิคม คอยจ้องทำลายล้างเผ่าพันธุ์อื่นเพื่อครอบครองทรัพยากรที่ตนเองไม่ได้สร้างขึ้น เช่นเดียวกับที่ชาติตะวันตก กระทำกับชนพื้นเมืองชาวอินเดียนแดง อะบอริจิน หรือชาวเนวี บนดาว Pandora
เรื่องราวของ Avatar อาจไม่ใช่ภาพยนตร์ในจินตนาการอีกต่อไป หากเรายังแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรของโลกโดยไม่คำนึงถึงข้อจำกัดแบบที่เป็นอยู่ ในอีก 20 ปีข้างหน้า โลกของเราจะมีประชากรเพิ่มขึ้นจาก 6 พันล้านคน เป็น 9 พันล้านคน โลกจะมีแหล่งพลังงาน อาหาร น้ำสะอาด และอากาศบริสุทธิ์เพียงพอสำหรับประชากรในอนาคตได้อย่างไร สงครามแย่งชิงทรัพยากรในรูปแบบต่างๆ จะเกิดขึ้นและรุนแรงมากขึ้นในเวลาอันใกล้
องค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติรายงานว่า ร้อยละ 87 ของพลังงานที่ใช้ในโลกมาจากพลังงานที่ทดแทนไม่ได้ ทรัพยากรของโลกถูกใช้ไปเกินขีดความสามารถในการฟื้นตัวถึงร้อยละ 30 ภายในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ป่าไม้เขตร้อนถูกทำลายไป 100 ล้านไร่ แหล่งประมง แหล่งน้ำจืด ความอุดมสมบูรณ์ของผืนดิน และการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตเผ่าพันธุ์อื่นบนโลก ล้วนแสดงให้เห็นถึงภาวะ ที่เสียสมดุลอย่างยิ่งของโลก คำกล่าวของ UNEP ที่ว่าเราต้องการโลกอีก 1 ใบในปี 2050 นั้น เป็นจริงอย่างยิ่งในเชิงสัญลักษณ์
ทุกวันนี้ กลไกการจัดการทรัพยากร ทั่วโลกเป็นกลไกที่ถูกแทรกแซง บิดเบือน และแสวงหาประโยชน์อย่างง่ายดาย เพราะกลุ่มผู้มีอำนาจกับผู้แสวงประโยชน์เชื่อมโยงเป็นกลุ่มเดียวกัน นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องความไม่เท่าเทียมกันของพลังอำนาจระหว่างประเทศ ระหว่างคนเมืองกับคนชนบท ระหว่างนายทุน นักการเมือง ผู้มีอิทธิพลกับชาวบ้าน ทรัพยากรจึงถูกนำออกมาใช้แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ปลาใหญ่ กินปลาเล็ก ใครอ่อนแอที่สุดย่อมเสียเปรียบมากที่สุด ส่วนธรรมชาตินั้นเล่าช่างนิ่งเฉย ไม่มีปากเสียง ไม่ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ได้แต่รอเวลา "The Nature Fight Back" ทำการกวาดล้างสิ่งสกปรกรกรุงรัง เพื่อสร้างสมดุลใหม่อีกครั้ง
การส่งสัญญาณเตือนภัยมาจากหลายทิศทาง ทั้งจากบรรดานักอนุรักษ์ นักวิชาการ องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม แคมเปญภาพถ่าย FW: mail หรือหนังสารคดีที่เข้าถึงผู้คนจำนวนมาก รวมทั้งจากความปรวนแปรของธรรมชาติที่ทำให้โลกตื่นตระหนกและตระหนักรู้ถึงความยิ่งใหญ่แต่เปราะบาง และความสำคัญของ "Biological Network" ที่ส่งผลต่อวัฏจักรพลังงาน น้ำ ออกซิเจนและอากาศ ซึ่งทำหน้าที่รักษาสมดุลเพื่อให้สรรพชีวิตดำรงอยู่ได้
Robert Constanza ร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมอีกหลายคน ตีพิมพ์บทความในนิตยสาร Nature ทำ การคำนวณตัวเลขให้เห็นว่า มูลค่า GNP ของทั้งโลกเฉลี่ยราว $18 trillion/year (1997) ในขณะที่การให้บริการของระบบนิเวศทั่วโลกมีมูลค่าเฉลี่ยสูงถึง $33 trillion/year ความพยายามของนักวิชาการเหล่านี้ ช่วยเปลี่ยนความคิดที่ว่าธรรมชาติเป็นของฟรี มีไม่จำกัด มาสู่การประเมินมูลค่า และคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการพัฒนาเครื่องมือการจัดการในเชิงนโยบาย เช่น ผู้ก่อมลพิษหรือผู้ทำเสียหายต้องเป็นผู้จ่าย (PPP: Polluter Pay Principle) ซึ่งใช้มาแล้วเป็นเวลานาน แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีผู้เสนอหลักการย้อนกลับของ Polluter Pay Principle นั่นคือ ผู้ได้ใช้ประโยชน์ต้องเป็นผู้จ่าย หรือการจ่ายค่าบริการให้กับระบบนิเวศ (PES: Payment for Ecosystem Services)
สังคมยุคก่อน ผู้ใช้ประโยชน์ตอบแทนธรรมชาติด้วยการให้ความเคารพและการคุ้มครองดูแลรักษาสังคมอุตสาหกรรม ผู้ใช้ประโยชน์กับผู้ดูแลรักษาเป็นคนละกลุ่มกัน จึงจำเป็นต้องจ่ายค่าตอบแทนธรรมชาติเป็นตัวเงิน ในอนาคตอันใกล้นี้ สงครามแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังปะทุ กระแสโลกร้อน กระแสการอนุรักษ์และ Green Economy จะทำให้มีธุรกิจเกิดใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มมากและน่าสนใจสำหรับการลงทุน ปัจจุบันธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม มีตลาดขนาดย่อมที่ค่อยๆ เติบโต เช่น ธุรกิจการออกใบรับรอง (Eco-labelling) ซึ่งน่าจะมีมูลค่าราว $60,000 ล้านเหรียญต่อปี การซื้อขายคาร์บอนเครดิตซึ่งมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่อง
นอกจากนั้นก็มีเรื่องการจ่ายค่าบริการสำหรับการอนุรักษ์ (PES) ปัจจุบันมีมูลค่าราว $3,000 ล้านเหรียญ และอาจเติบโตถึง 3.5% ต่อปี แต่ความคิดเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์และกระแส Green Economy จะทำให้รัฐหันมาส่งเสริมจูงใจการพัฒนาธุรกิจสีเขียวมากขึ้น
ดร.อรพรรณ ณ บางช้าง ศึกษาเรื่อง PES ของต่างประเทศ ได้ยกตัวอย่างที่น่าสนใจหลายกรณี เช่น บริษัทน้ำแร่ Perrier, Vittel ในประเทศฝรั่งเศส จ่ายค่าดูแลรักษาคุณภาพน้ำให้กับเกษตรกรที่ใช้ที่ดินต้นน้ำ รัฐบาลประเทศปานามาและบราซิล จ่ายค่าฟื้นฟู ป่าต้นน้ำให้กับองค์กรปกครองท้องถิ่นและเจ้าของที่ดินเอกชน องค์การป่าไม้ประเทศคอสตาริกา จ่ายค่าดูแลรักษาป่าปลูกให้กับชุมชนท้องถิ่น
ฟังดูแม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กลไกนี้ช่วยขยายแนวคิดเรื่องคุณค่าและมูลค่าของระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นความพยายามในการเปลี่ยนบทบาทผู้เล่นเดิมด้านการอนุรักษ์ จากเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐมาสู่ภาคธุรกิจและประชาชน มีการกำหนดกลุ่มผู้รับและใช้ประโยชน์กับกลุ่มผู้ให้บริการด้านอนุรักษ์ที่ชัดเจน เพื่อช่วยถ่วงดุลผู้บุกรุกจากภายนอก อีกด้านหนึ่ง การส่งเสริมธุรกิจด้านการอนุรักษ์ก็อาจช่วยลดแรงกดดันของภาครัฐจากภารกิจที่ต้องตั้งรับรอบด้าน ทั้งจากผู้มีอิทธิพล นักการเมือง ประชาชน และกลไกภายในระบบราชการที่ไม่เอื้อต่อประสิทธิภาพการทำงาน
สรรพชีวิตบนโลกล้วนอยู่ใน Web of life อันเดียวกันเชื่อมต่อถึงกัน ใครจะแข็งแกร่งพิชิตโลกและธรรมชาติได้เพียงใด ถ้า Biological ของโลกเสื่อมโทรมตายไป ชีวิตก็ดำรงอยู่ไม่ได้ ใครที่เอาประโยชน์จากธรรมชาติมามากแล้ว ก็ช่วยตอบแทนคืนกลับมาให้ด้วย ธรรมชาติไม่ใช่ของฟรีและทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน การคิดค้นและสร้างสรรค์อย่างจริงจังเพื่อเปิดโอกาส ใหม่ในการทำธุรกิจสีเขียว คงช่วยให้การดำเนินธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์โลกไปด้วย
ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ คือความมั่งคั่งของประเทศชาติและประชาชน หากจัดการบนพื้นฐานของความเป็นธรรม สมดุล และพอเพียง การผลิดอกออกผลก็เป็นวัฏจักรที่ยั่งยืนและยาวนาน แต่หากอำนาจไม่เป็นธรรม การจัดสรรทรัพยากรก็ไม่ทั่วถึง ไม่เป็นธรรม ด้วยความโลภและความคิดแบบ Take all we need คงต้องหาดาวดวงใหม่เพื่อเตรียมอพยพผู้คน หรือไม่ก็ "อวตาร" เพื่อหนีออกจากสงครามและ "โลกที่ใกล้ตาย" ของเราใบนี้ได้แล้ว
|
|
|
|
|