|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ปี 2553 อาจเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของ สปป.ลาว หากลาวสามารถเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (World Trade Organisation: WTO) ได้สำเร็จ
ลาวได้ยื่นเรื่องเพื่อขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ WTO ตั้งแต่ปี 1997 และปรับเปลี่ยนระบบกฎหมายและข้อกำหนดภายใน ประเทศด้านต่างๆ ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา เพื่อให้นโยบายทางการค้าและการลงทุนของตนสอดคล้องกับข้อกำหนดและหลักการการเปิดเสรีทางการค้าของ WTO
นอกจากการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ ภายในประเทศมากมายที่เกี่ยวข้องกับการค้า เช่น กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ว่าด้วยเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร การคุ้มครองพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ กฎหมายว่าด้วยการลงทุน ฯลฯ แล้ว การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดที่สุดที่มีผลกระทบต่อผู้คน ในวงกว้างก็คือการผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการบังคับใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นครั้งแรกในประเทศ ตั้งแต่ปี ค.ศ.2006 ซึ่งอัตราที่กำหนดไว้คือ 10% และคาดกันว่ากฎหมายดังกล่าวเริ่มนำมาบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2009
การนำระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้ เป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างภายในประเทศของลาว เพื่อให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจของนานาประเทศทั่วโลก ทั้งนี้เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าเป็นสมาชิก WTO ของลาวในอนาคตอันใกล้นี้
หนทางหนึ่งในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่กำลังจะเปลี่ยน แปลงไปของลาวก็คือการจัดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วประเทศได้เข้าฝึกอบรมเรื่องการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์และสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เจ้าหน้าที่ของภาครัฐเมื่อการเปิดเสรีมาเยือน
แต่เจ้าหน้าที่รัฐหลายท่านแสดงความกังวลต่อการเข้าเป็นสมาชิกของ WTO และการเปิดเสรีทางการค้าที่จะตามมาอยู่ไม่น้อย
เจ้าหน้าที่จากภาครัฐหลายท่านที่ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยด้วยระหว่างการไปเยี่ยมเยียน สปป.ลาว หลายครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาต่างเปรยให้ฟังว่าลาวเป็นเพียงประเทศเล็กๆ เท่านั้นจะสามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการเปิดเสรีได้แค่ไหน
อย่างไรก็ตาม ทุกคนมักกล่าวตบท้ายว่า แต่เราก็ไม่สามารถต้านทานกระแส โลกาภิวัตน์ได้ ลาวต้องก้าวต่อไปข้างหน้าดังเช่นประเทศอื่นๆ
แม้การเปลี่ยนแปลงแบบมหภาคจะยังไม่มีให้เห็นเป็นรูปธรรมมากนักตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ แต่วันนี้เมืองหลวงของ สปป.ลาวได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากการเป็นเมืองสงบเงียบ ที่ถนน ทุกสายยังเป็นดินลูกรังฝุ่นตลบเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ปัจจุบันกลายเป็นถนนลาดยางหลายเลนที่มียวดยานมากมายครองพื้นที่แทนจำนวนจักรยานที่น้อยลงเรื่อยๆ
สภาพริมฝั่งแม่น้ำของเวียงจันทน์ กลายเป็นพื้นที่ร้านสปา โรงแรม บูติกโฮเต็ล หรูหรา โรงแรมจิ้งหรีดสำหรับนักท่องเที่ยวสะพายเป้ ซึ่งมีให้เลือกอย่างหลากหลาย รวมทั้งร้านอาหาร ณ ปัจจุบันมีทั้งอาหารอินเดีย อิสราเอล จีน ไทย ฝรั่งเศส คาเฟ่จากออสเตรเลีย และผับของอังกฤษ อีกทั้งร้านค้าวัตถุโบราณ ผ้าไหม และของฝากพื้นเมืองจากลาวอีกมากมาย รวมทั้งร้านจำหน่ายไวน์นำเข้าซึ่งราคาถูกกว่าไทยมาก
นอกจากไทยแล้ว นักลงทุนชาวจีนและเกาหลีคือกลุ่มที่เข้ามาจับจองพื้นที่การลงทุนใน สปป.ลาว มากเป็นอันดับรองลงมา ภายในเวียงจันทน์จะเห็นร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้ามือสองสัญชาติเกาหลีที่เปิดโล่งโกดังขนาดใหญ่กลางใจเมืองให้คนเลือกซื้อเครื่องซักผ้า โทรทัศน์มือสองที่นำเข้าจากต่างประเทศ
สำหรับชาวจีนนั้นได้เปิดเข้ามาลงทุนในธุรกิจร้านอาหารในย่านไชน่าทาวน์ เล็กๆ ของเวียงจันทน์ รอรับทัวร์จากจีนที่มาเยือนเวียงจันทน์อยู่ไม่ขาดสาย นอกจากนี้ยังมีร้านจำหน่ายอะไหล่รถยนต์ ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งโรงรับจำนำสัญชาติจีนตั้งขึ้นในเวียงจันทน์
เจ้าของร้านอาหารสาวชาวจีนรายหนึ่งที่ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยด้วย สามารถพูดภาษาลาวได้ดี เธอเดินทางมาจากยูนนานและมาตั้งรกรากที่เวียงจันทน์ได้เกือบสิบปีแล้ว สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลจีนที่ส่งเสริมให้ประชาชนของตนย้ายถิ่นฐานลงใต้ เพื่อไปตั้งรกรากในประเทศเพื่อนบ้านแถบลุ่มน้ำโขง
การเปลี่ยนแปลงภายในเวียงจันทน์นั้น คงไม่มีใครมองเห็นได้ดีกว่าผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่
ผู้เขียนอยากทราบว่าชาวต่างชาติที่เข้าไปทำธุรกิจในลาวนั้น มีความคิดเห็นอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงของลาว โดยเฉพาะในเวียงจันทน์ที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับ Frederic Dionne-Vachon ชาวแคนาดาจากเมืองเคเบ็คซิตี้ (Quebec City)1 เจ้าของร้านอาหารฝรั่งเศสเล็กๆ ในเวียงจันทน์ ชื่อ "เลอ ศิลปะ (Le Silapa)" ซึ่งได้เข้ามาตั้งรกรากในเวียงจันทน์มาเกือบยี่สิบปีแล้วเพื่อขอรับฟังทัศนคติของเขา
ต่อไปนี้เป็นบทสัมภาษณ์ที่ผู้เขียนคาดว่าน่าจะให้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับการลงทุนและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปในลาวและเวียงจันทน์บ้างไม่มากก็น้อย
>> ทำไมคุณถึงตัดสินใจมาตั้งรกรากที่ลาว
ผมมาประเทศลาวครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ.1994 มาครั้งแรกในฐานะนักท่องเที่ยว แบกเป้จากไทย หลังจากนั้นผมก็ได้งานเป็นผู้จัดการร้านอาหารสไตล์ยุโรปและเกสต์เฮาส์ในหนองคาย ซึ่งเจ้าของเป็นชาว อังกฤษที่แต่งงานกับคนไทย ช่วงนั้นผมมาเวียงจันทน์หลายหนเพื่อต่อวีซ่าและท่องเที่ยวเล็กๆ น้อยๆ ผมได้เจอกับนักท่องเที่ยวมากมายหลายเชื้อชาติ หลายคนคิดว่าตัวเองรู้เรื่องเมืองไทยและลาวดีกว่าใครทั้งนั้น ทั้งๆ ที่เพิ่งเข้ามาท่องเที่ยวได้ไม่กี่ชั่วโมง ช่วงนั้นผมรู้สึกว่าอยากทำอะไรอย่างอื่น เลยเดินทางมาที่ลาวเพื่อหางานทำ ผมเคยร่วมเขียนหนังสือท่องเที่ยวสำหรับลาวตอนบน แต่หลังจากไม่มีงานอื่นเข้ามา ผมก็เริ่มสอนหนังสือที่นี่เมื่อปี 1996 และตั้งรกรากที่นี่ตั้งแต่นั้นมา
ผมเป็นคนไม่ชอบสอนหนังสือ กอปรกับช่วงนั้นผมเดินมาพบตึกเล็กๆ หลังนี้ที่กำลังบอกให้เช่า ผมเลยตัดสินใจทำธุรกิจร้านอาหาร และเริ่มหาคนมาช่วยทำเอกสาร ยื่นต่อหน่วยงานของรัฐเพื่อขออนุญาตทำธุรกิจ เธอเป็นหญิงลาวที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งภายหลังผมได้แต่งงานกับเธอ ธุรกิจร้านอาหารที่ผมทำอยู่นี้ ผมมีหุ้นส่วน อยู่ในประเทศไทย ซึ่งก็คือนายเก่าของผม ชาวอังกฤษและภรรยาชาวไทยที่ผมเคยทำงานอยู่ด้วยที่หนองคาย
บ้านหลังนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ประมาณ ค.ศ.1920s เจ้าของดั้งเดิมเป็นชาวเวียดนาม รูปแบบของร้านนั้นผมตกแต่งเพิ่มเติมใหม่ให้เป็นร้านอาหารฝรั่งเศสเล็กๆ ดูอบอุ่น อาหารที่ผมนำเสนอคืออาหารฝรั่งเศสมีระดับ ตอนแรกผมได้เพื่อนที่เป็นพ่อครัว ในแคนาดามาช่วยทำอาหารให้ แต่ด้วยปัญหาด้านการสื่อสารกับพนักงานชาวลาว เขาจึงไม่สามารถถ่ายทอดวิธีการทำอาหาร ให้กับพ่อครัวท้องถิ่นได้ แต่โชคดีที่ผมมีช่างก่อสร้างชาวลาวคนหนึ่งที่มาช่วยผมซ่อมร้านตอนนั้น เขาเป็นคนดีมากและช่างสังเกต เขากลายมาเป็นผู้ช่วยพ่อครัวและปรุงอาหารได้อร่อยมากก็เลยมาอยู่กับผมที่ร้านจนถึงทุกวันนี้
อาหารที่ร้านนำเสนอเป็นอาหารฝรั่งเศสที่มุ่งเจาะตลาดลูกค้าระดับสูงขึ้นมานิด เราใช้วัตถุดิบคุณภาพดี ลูกค้าทานแล้วติดใจ ผมนำเข้าวัตถุดิบจากหลากหลายประเทศ เนื้อแกะและแซลมอนจากออสเตรเลีย เนื้อวัวจากนิวซีแลนด์ เป็ดจากฝรั่งเศส เพราะเป็ดจากไทยตัวเล็กและเนื้อเหนียว หอยเชลล์และอกไก่มาจากไทย สำหรับหมู สมองลูกวัว และเนื้อสัตว์ป่านั้น มาจากลาว ตอนนี้ไม่มีปัญหาเรื่องการหาวัตถุดิบ เพราะซัปพลายเออร์มีหลายเจ้าและแข่งกันเอง ผลก็คือธุรกิจของผมได้อานิสงส์ไปโดยปริยาย ได้วัตถุดิบคุณภาพดีในราคาย่อมเยา ร้านของผมแตกต่างจาก ร้านอื่นเพราะรสชาติ อาหารหลากหลายที่เราคิดค้นเมนูขึ้นมาใหม่แทนที่จะทำแต่อาหารฝรั่งเศสพื้นบ้านสูตรเก่าๆ ที่น่าเบื่อ นั่นคือ niche ของร้านเรา
ตอนที่เปิดร้านอาหารฝรั่งเศสในลาว ใหม่ๆ เมื่อหลายสิบปีก่อนมีปัญหามาก โดยเฉพาะการหาเครื่องปรุงสดใหม่ วันนี้อาจมีครีมสดขาย แต่พรุ่งนี้อาจหาซื้อไม่ได้ การทำร้านอาหารฝรั่งเศสโดยไม่มีครีมนั้นเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวมาก เพราะครีมเป็นส่วนประกอบหลักของอาหารฝรั่งเศส
ตอนนี้ทุกอย่างสะดวกสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ทั้งจากเมืองไทย และผู้นำเข้า อื่นๆ บางรายสั่งของผ่านสิงคโปร์ สำหรับไวน์ตอนนี้มีเจ้าประจำในเวียงจันทน์ เป็นคนลาวเปิดร้านนำเข้าไวน์คุณภาพดีจากต่างประเทศ ราคาถูกกว่าที่เมืองไทยเยอะ
>> ลูกค้าของคุณคือใคร
ลูกค้าของเรามีหลากหลาย เมื่อก่อนมักจะเป็นชาวต่างชาติที่มาทำงานกับองค์การระหว่างประเทศในลาว เช่นธนาคารโลก ฯลฯ แต่ตอนนี้ลาวเปิดประเทศเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้มีชาวต่างชาติที่เป็นพนักงาน บริษัทต่างชาติเข้ามาทำงานมาก เช่นบริษัทขุดเจาะเหมืองแร่จากออสเตรเลีย หรือบริษัทสร้างโรงปั่นไฟฟ้าพลังน้ำจากฝรั่งเศส การลงทุนของต่างชาติในสองอุตสาหกรรมนี้ ทำให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในลาวมากขึ้น ลูกค้าชาวต่างชาติของผมก็มีมากขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้เรายังมีลูกค้าชาวลาวที่มีโอกาสไปศึกษาต่อต่างประเทศ และเกิดนึกอยากรับประทานอาหารตะวันตกขึ้นมา ลูกค้ากลุ่มนี้แม้จะมีจำนวนน้อยแต่ก็เป็นลูกค้าประจำที่ซื่อสัตย์ และผมก็ยังมีลูกค้า คนไทย ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว หรือไม่ ก็เป็นนักธุรกิจจากอีสานที่เดินทางมาทำธุรกิจในลาวบ่อยๆ บางคนมาเล่นกอล์ฟหรือไม่ก็มาเสี่ยงโชคที่บ่อนกาสิโนในลาว
>> การทำธุรกิจในลาวมีความยุ่งยากอย่างไรหรือไม่
ตอนที่ผมเปิดร้านใหม่ๆ เมื่อสิบกว่าปีก่อน ผมขออนุญาตทำธุรกิจในนามของผมเองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้ใช้วิธีจดทะเบียนในนามคนลาว เลยทำให้มีปัญหาจุกจิกมากมาย ใช้เวลาเป็นปีๆ กว่าจะเตรียมเอกสารได้ครบถ้วน แต่ตอนนี้ทุกอย่างง่ายขึ้นมาก ผมว่าตอนนี้ขั้นตอนการเข้ามาลงทุนที่ลาวน่าจะง่ายกว่าการไปลงทุนในประเทศไทยเสียอีก ถ้าเป็นธุรกิจหลักๆ ที่มีความสำคัญต่างชาติยังสามารถถือหุ้นได้ 100% อีกด้วย
>> ในธุรกิจอาหาร เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาตรวจตราคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารในร้านของคุณบ่อยหรือไม่
ไม่ค่อยบ่อย บางครั้งมีคุณหมอมา ตรวจสุขภาพและสุขอนามัยของพนักงาน ของผม แต่จะมาประมาณปีละ 2 ครั้ง นอกจากนี้เจ้าหน้าที่จะมาตรวจดูระบบสัญญาณเตือนไฟ แต่ไม่ค่อยได้ตรวจเช็กความสะอาดร้านของผมสักเท่าไหร่ เพราะของเราทำความสะอาดตลอดเวลา จะมีบางครั้งที่ผมลืมเอาเงินเข้าบัญชีเพื่อเป็นค่าภาษีที่ต้องชำระทุกเดือน แต่ก็ไม่มีปัญหา อะไรกับสรรพากร เราคุยกันได้
>> โดยภาพรวมแล้ว คุณเห็นว่าลาวเปลี่ยน แปลงไปจากเมื่อก่อนอย่างไรบ้าง
เปลี่ยนแปลงไปมากทีเดียว ตอนที่ผมเพิ่งมาอยู่ที่เวียงจันทน์ใหม่ๆ เมื่อปี 1994 บนถนนแทบจะไม่มีรถวิ่งเลย เช้าวันเสาร์ถ้าคุณออกมานั่งเล่นข้างนอก คุณจะต้องนั่งรอกว่าครึ่งชั่วโมง กว่าจะเห็นรถแล่นผ่านมาสักคัน สมัยก่อนคนขี่จักรยานกันเยอะ เดี๋ยวนี้มีการลงทุนด้านสาธารณูปโภคระดับใหญ่ๆ มากมาย มีการก่อสร้างโรงแรมกันเกลื่อน ถ้าเทียบกับเมื่อสัก 5 ปีที่แล้ว ตอนนี้ได้เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนถึง 100 กว่าเท่า ภาคการก่อสร้างกำลังบูมในลาว หาคนทำงานก่อสร้างได้ยาก ตอนนี้คนงานก่อสร้างมักเป็นคนไทย เวียดนาม แล้วก็จีน ส่วนบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างก็มีหลากหลาย ส่วนใหญ่จะเป็นการร่วมทุนของลาวกับเวียดนาม
สำหรับร้านอาหารริมฝั่งแม่น้ำโขงนั้นมีมานานแล้ว สมัยก่อนจะเป็นร้านแบบ ง่าย ใช้โต๊ะ เก้าอี้พลาสติก ตอนนี้ทั้งร้านอาหารและโรงแรมต่างทำการอัพเกรดธุรกิจ ของตนเป็นการใหญ่ รัฐบาลลาวก่อสร้างแนวกั้นน้ำบริเวณแม่น้ำโขงไม่ให้น้ำเซาะตลิ่งจนเสียหาย แต่พื้นที่ก่อสร้างนั้นกินพื้นที่กว้างขวาง ว่ากันว่าทางรัฐจะจัดสรร ที่ส่วนหนึ่งให้เป็นสวนสาธารณะ ที่เหลือผมว่ารัฐอาจจะปล่อยให้เอกชนเช่าทำธุรกิจ
>> คุณมองว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรือเปล่า
แน่นอน สำหรับคนทำธุรกิจอย่างผมก็ต้องบอกว่าดีขึ้น แต่การพัฒนาก็ย่อมนำมาซึ่งปัญหาทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลพิษ ผมว่าเวียงจันทน์เริ่มมีปัญหามลพิษ เพิ่มขึ้นแล้วแต่ยังไงก็ยังน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องนี้เลยเป็นแค่ปัญหาเล็กๆ
อีกปัญหาหนึ่งที่ผมว่าน่าจะสำคัญกว่าคือปัญหาการเติบโตของประชากร เมื่อก่อนประชากรในเวียงจันทน์มีอัตราการ เติบโตต่ำแต่พอเกิดการบูมของอุตสาหกรรม และการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า กอปรกับแรงงานราคาถูก ทำให้ชาวบ้านต่างจังหวัดต่างก็เคลื่อนย้ายแรงงานมาสู่เมืองหลวง ปัญหาเรื่องโสเภณีและความยากจนก็ตามมา
ชาวลาวเองก็เปลี่ยนไปเยอะ คนลาวบางกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาประเทศ กลายเป็นเศรษฐีลาวก็มีจำนวนไม่น้อย แต่ก่อนผู้คนขี่จักรยานไปไหนมาไหน เดี๋ยวนี้ขี่มอเตอร์ไซค์เท่ๆ มีโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ใช้ แต่ละคนทำกิจกรรมต่างๆ ที่เมื่อก่อนไม่มีโอกาสและไม่มีเงินที่จะทำ ดูอย่างแคชเชียร์ของผมสิ เธอลงเรียนภาษาจีนเพิ่มเติม หลายคนไปเที่ยว ไปเล่นโบว์ลิ่ง เป็นการผ่อนคลาย
>> ปี พ.ศ.2553 รัฐบาลลาวตั้งมั่นว่าจะเข้าเป็นสมาชิก WTO คุณว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรในลาวอีกหรือไม่อย่างไร เมื่อการเปิดเสรีเข้ามาถึง
ตอนที่มาถึงลาวใหม่ๆ การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างเชื่องช้า แต่พอลาวเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน ทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไป มีเงินทุนจากหลากหลายประเทศเข้ามาช่วยเหลือลาวในการฟื้นฟูประเทศ ผมคาดว่าเราน่าจะเห็นการลงทุนในด้านสาธารณูปโภคและการฝึกอบรมพัฒนาทรัพยากรบุคคลของลาวมากกว่านี้ นอกจากนี้ลาวยังมีทรัพยากรมูลค่ามหาศาลทางด้านพลังงานน้ำและสินแร่ เพราะฉะนั้นการลงทุนจากต่างประเทศในสาขาเหล่านี้ก็น่าจะเพิ่มมากขึ้นด้วย ผมเห็นว่า การส่งคนลาวไปอบรมฝึกฝนความเชี่ยวชาญในต่างประเทศให้มีความรู้ความสามารถเทียบเท่ากับมาตรฐานของนานาประเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็น จะเป็นการสร้างกลุ่มชนชั้นกลางของประเทศอีกด้วย
>> คุณคิดว่าทำไมชาวตะวันตกหลายคนจึงเลือกที่จะตั้งรกรากที่ลาว แทนที่จะเลือกไทยหรือเวียดนาม
จริงๆ เราต้องแยกกันก่อนระหว่างลาวกับเวียงจันทน์ ซึ่งต่างกันมากสำหรับชาวต่างชาติมากมายที่ทำงานกับองค์การระหว่างประเทศแล้ว เวียงจันทน์เป็นสวรรค์ของพวกเขา เพราะเขาได้เงินเดือนสูงจากหน่วยงานระหว่างประเทศ แถมยังไม่ต้องเสียภาษีเงินได้อีกด้วย นอกจากนี้เวียงจันทน์ก็เป็นเมืองที่ค่าครองชีพถูกมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าบ้าน ค่าอาหาร หรือค่าไวน์ อีกทั้งยังสามารถหาคนรับใช้ตามบ้าน คนขับรถ ยาม และคนเลี้ยงเด็กได้ง่าย
ส่วนเรื่องโรงเรียนนั้น ลูกสาวของผมอายุ 8 ขวบ ตอนนี้กำลังเรียนที่โรงเรียน ของรัฐบาลฝรั่งเศส ระบบการศึกษาเป็นหลักสูตรจากประเทศฝรั่งเศส ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลฝรั่งเศส เพราะฉะนั้นค่าเล่าเรียนก็ไม่แพง ตอนนี้ลูกสาวของผมได้รับการศึกษาที่ดีกว่าถ้าต้องไปเรียนในโรงเรียนที่แคนาดาเสียอีก ส่วนโรงเรียนนานาชาติในเวียงจันทน์ ก็มี Vientiane International school แต่ค่าเล่าเรียนแพงมาก เริ่มต้นที่ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ผมไม่มีปัญญาจ่าย โรงเรียนนั้น พวกข้าราชการสถานทูต หรือพวกที่ทำงานกับองค์การระหว่างประเทศมักชอบให้ลูกไปเรียนที่นั่น เพราะตัวเองไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียน แต่นายจ้างเป็นคนจ่าย ก็เลยไม่เดือดร้อนอะไร
ถ้าพูดถึงโรงพยาบาล เวียงจันทน์อยู่ใกล้กับหนองคายและอุดรธานีไปมาสะดวก โรงพยาบาลของไทยก็ดีเยี่ยม ถ้าต้องรักษากับผู้เชี่ยวชาญก็เดินทางไปโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ กรุงเทพฯ อยู่ไม่ไกล บินไปชั่วโมงเดียวก็ถึง
อีกข้อหนึ่งที่สำคัญคือ ผมอยู่ที่นี่ ทำงานเสร็จ ผมกลับบ้านซึ่งห่างจากร้านอาหารไปแค่ 4 กม.ใช้เวลานิดเดียว ผมไม่ต้องติดอยู่กับปัญหารถติดเป็นชั่วโมงสองชั่วโมง อีกทั้งในเวียงจันทน์ยังมีร้านอาหารอร่อยๆ มากมาย อาหารรสเลิศ ไวน์ดี เนยแข็งอร่อยๆ ก็หาได้ไม่ยาก ไม่มีอะไรที่ผมเคยชินและคิดถึงจากการใช้ชีวิตในประเทศแถบตะวันตกแล้วผมหาไม่ได้ที่นี่ ทุกอย่างหาได้ในราคาย่อมเยาทั้งนั้น
นอกจากนี้ร้านอาหารในเวียงจันทน์ ก็มีมากมายหลายรสชาติ ร้านอาหารจีนก็เยอะ ร้านอาหารไทยมีหลายแห่งที่อร่อย ที่สุดก็คือร้าน "ต้นหอม" ขายทั้งอาหารลาวและไทย เปิดมากว่า 15 ปีแล้ว เปิดก่อนผมเสียอีก
>> คุณเคยคิดว่าชีวิตในเวียงจันทน์เงียบไปไหม
ก็จริง แต่ผมก็ยังชอบที่จะอยู่ที่นี่มากกว่า อยู่ที่กรุงเทพฯ ทุกครั้งที่ผมไปกรุงเทพฯ ผมจะสนุกให้เต็มที่ ไปชอปปิ้ง ดูหนัง ดูละคร แต่คุณเที่ยวได้แค่ 4-5 วันก็อิ่มตัวแล้ว บางทีถ้าผมเป็นหนุ่มโสด ผมอาจจะชอบ อยู่กรุงเทพฯ หรือโฮจิมินห์ ตอนนี้ผมมีครอบ ครัวแล้ว ผมรู้สึกว่าชีวิตครอบครัวของผมที่ลาวนี้ สะดวกสบายที่สุด ถ้าคุณ อยู่ที่ประเทศใดประเทศหนึ่งนานเท่าผม คุณจะรู้สึกเหมือนผมว่าประเทศนั้นเป็นเหมือนบ้านเกิดของตัวเอง ผมไม่อยากกลับไปอยู่ที่แคนาดาแล้ว กลับไปก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร อยู่ที่นี่แม้จะมีปัญหาอยู่บ้างในบางครั้ง แต่ก็มีโอกาสมากมาย
>> ลาวกับฝรั่งเศสมีสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งมา เป็นเวลานาน ในเวียงจันทน์มีทั้งโรงเรียน ที่รัฐบาลฝรั่งเศสให้เงินอุดหนุนอย่างที่คุณว่า มีคลินิกของสถานทูตฝรั่งเศสโดยเฉพาะอีก คุณคิดว่าอิทธิพลของฝรั่งเศสในลาวนี้จะค่อยๆ จืดจางลงไปเรื่อยๆ เมื่อกระแสโลกาภิวัตน์เข้ามาแทนที่ไหม
ก็อาจเป็นบ้าง ภาษาอังกฤษอาจจะตีตื้นขึ้นมาเป็นคู่แข่งที่มีความสำคัญในลาวมากกว่าภาษาฝรั่งเศส แต่ถ้าคุณจะเรียนแพทย์หรือกฎหมายในลาวแล้วล่ะก็ คุณต้องรู้ภาษาฝรั่งเศส เพราะมหาวิทยาลัย ในลาวนั้นใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นสื่อสอนทั้งสองสาขานี้ ศัพท์ทางการแพทย์และศัพท์ทางกฎหมายส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นภาษาฝรั่งเศสอยู่
เด็กหนุ่มสาวชาวลาวสมัยนี้มีน้อยคนนักที่จะพูดภาษาฝรั่งเศสได้ นอกจากว่าเขาจะเป็นลูกครึ่งลาว-ฝรั่งเศส หรือเคยไปอยู่ที่ฝรั่งเศสหรือแคนาดามาก่อน ตอนนี้คนส่วนใหญ่มักพูดภาษาอังกฤษได้มากกว่าฝรั่งเศส พ่อตาของผมพูดภาษาฝรั่งเศส ได้ เพราะเคยรับราชการเป็นทหารเรืออยู่และเคยไปอบรมที่ประเทศฝรั่งเศส แม้ว่าตอนนี้จะลืมๆ ไปบ้างแล้ว
>> ในฐานะที่เป็นคนลาว ภรรยาของคุณ มองการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในลาวอย่างไรบ้าง
ภรรยาของผมเป็นชนชั้นกลางและได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงในประเทศ ลาวอยู่แล้ว ก็ย่อมมองว่าเป็นสิ่งที่ดี เมื่อก่อนภรรยาของผมได้ทุนไปศึกษาต่อทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ยูเครน พอกลับมาก็มาทำงานเป็นนักบัญชีและเรียนภาษาอังกฤษด้วย เริ่มมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่แผนกต้อนรับให้แก่วิทยาลัยเวียงจันทน์ ตอนนี้ได้เลื่อนขั้นมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของวิทยาลัยแล้ว และยังทำงานให้กับหน่วยงานด้านการพัฒนาของประเทศออสเตรเลีย (AUSAID) อีก ภรรยาของผมไม่ได้มาจากครอบครัวที่ยากจน ตอนนี้มีงานทำโดยไม่ต้องพึ่งรายได้จากผม
>> สังคมของชาวต่างชาติในลาวเป็นอย่างไรบ้าง
ก็มีหลากหลายประเภท ขึ้นอยู่กับ ภาษา หรือประเทศบ้านเกิดของเขา คนฝรั่งเศสมักรวมตัวกับคนฝรั่งเศสด้วยกัน คนญี่ปุ่นคบค้าสมาคมกับคนญี่ปุ่น บางที ก็ขึ้นอยู่กับหน้าที่การงานของแต่ละคน เช่น ครูสอนภาษาอังกฤษก็มักจะจับกลุ่มรวมตัวกัน ชาวต่างชาติบางคนก็เข้ากันได้ดีกับ คนลาว แต่ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถทางภาษาของแต่ละคน แต่ปัญหาการเข้าได้และทำตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสังคมท้องถิ่นนั้นก็มีอยู่ทั่วโลก ในประเทศไทย ฝรั่งบางคนที่ยอมทุ่มเทเรียนภาษาไทยก็สามารถพูด สื่อสารและเข้ากับคนไทยได้ดี แต่บางคนก็ไม่สนใจจะเรียนภาษาไทย ผม จะไม่ตัดสินใครทั้งนั้น ผมเองมีเพื่อนอยู่ทั้งสองกลุ่มทั้งต่างชาติและเพื่อนคนลาว
บทสัมภาษณ์ Frederic Dionne-Vachon คงจะพอสะท้อนให้เราเห็นภาพของการเปลี่ยนแปลงในลาวและเวียงจันทน์ในช่วง สิบกว่าปีที่ผ่านมา ผ่านสายตาชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศนี้มาเป็นระยะเวลายาวนาน
การเปลี่ยนแปลงภายใต้กระแสโลกา ภิวัตน์กำลังรุกคืบคลานเข้ามาสู่ประเทศที่ผู้คนยังคงรักษาวัฒนธรรมไว้ได้อย่างเหนียว แน่น ประเทศที่เด็กนักเรียนหญิงและสาววัยทำงานยังคงนุ่งผ้าซิ่นสำเร็จเป็นชุดเครื่องแบบโรงเรียนและชุดทำงานอยู่ ประเทศที่แม้แต่ในเมืองหลวงก็ยังสามารถเห็นผู้คนจัดงานบุญประเพณี ปิดบ้าน กางเต็นท์ ร่วมกันทำอาหาร เลี้ยงพระ และตกแต่งเครื่องถวายบูชาพระไปพร้อมกันทั้งครอบครัว
นับจากนี้ ประเทศเล็กๆ นี้ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากภายนอกอย่างรุนแรงให้เปิดประเทศสู่ระบบทุนนิยมแบบเต็มตัว
ผู้เขียนหวังว่าลาวจะสามารถฟันฝ่าวิกฤติแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้สำเร็จ สามารถเตรียมรับมือกับปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะตามมาจากการเปิดเสรีได้สัมฤทธิผล
1 เมืองทางฝั่งตะวันออกของแคนาดาที่ประชาชนพูดภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก
|
|
|
|
|