เย็นวันที่ 6 มิถุนายน 2528 ผู้บริหารของธนาคารโอเวอร์ซีทรัสต์ ฮ่องกง (โอทีบี.)
แจ้งแก่ทางราชการฮ่องกงว่าไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ รัฐบาลเมื่อทราบเรื่องประกาศปิดธนาคารทันทีในเย็นวันเดียวกัน
วันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน รัฐบาลฮ่องกงประกาศเข้าเทกโอเวอร์กิจการของ โอทีบี.
หลังจากต้องเทกโอเวอร์ธนาคารฮั่งหลุงไปเมื่อ 20 เดือนก่อนหน้านี้
บ่ายวันเดียวกันที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน
แถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า การล้มของ โอทีบี. ไม่มีผลกระทบต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟ
เนื่องจากธนาคารดังกล่าวถือหุ้นในไอทีเอฟ.เพียง 9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
นายสงบ พรรณรักษา กรรมการผู้จัดการและเจ้าหน้าที่บริหารของ ไอทีเอฟ. ให้ข่าวในทำนองเดียวกันว่า
โอทีบีซี ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ ไอทีเอฟ. เพราะถือหุ้นอยู่เพียงเล็กน้อย
"ผู้จัดการ" ก็เชื่อว่าที่ทั้งสองท่านแถลงออกมาเป็นเรื่องจริง
เพราะพลิกดูรายชื่อผู้ถือหุ้นของไอทีเอฟ.ดูแล้วมี โอทีบี. ถือหุ้นอยู่จำนวน
178,392 หุ้น คิดเป็น 9.09 เปอร์เซ็นต์ของหุ้นทั้งหมด
แต่ไม่เข้าใจ…
ไม่เข้าใจอย่างยิ่งที่โฆษณาตีพิมพ์ติดต่อกันหลายเดือนในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
ติดต่อกันหลายเดือนอย่างที่เราเอามาล้อมกรอบให้เห็นกันชัดๆ นั้น หมายความว่าอย่างไร?
ที่ไม่เข้าใจข้อความในวงเล็บข้างใต้ชื่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟ.
เขียนไว้อ่านได้อย่างชัดเจนว่า
"ในเครือธนาคารโอเวอร์ซีทรัสต์ ฮ่องกง ซึ่งเป็นธนาคารที่มีสินทรัพย์มากเป็นอันดับสองในฮ่องกง
มีสาขาอยู่ทั่วโลก เช่น ลอนดอน ซานฟรานซิสโก แวนคูเวอร์ บาห์เรน โซล ฯลฯ
ดูแล้วให้สงสัยอย่างยิ่งว่าคำแถลงของ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ กับ สงบ พรรณรักษา
กับข้อความโฆษณาชิ้นดังกล่าว
อะไรคือความจริง?
หรือว่าเป็นความจริงทั้งสองอย่าง ซึ่งเป็นความจริงประเภทที่สามารถเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และเวลาที่เปลี่ยนไป!
เราเป็นสื่อมวลชน หน้าที่ของเราคือเสาะแสวงหาความจริงมาให้ผู้อ่านของเราได้รับรู้!!
หน้าที่ของเราในการเสาะแสวงหาความจริง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสถาบันการเงินบ้านเรา
บ่อยครั้งเป็นหน้าที่ที่แสนจะขมขื่น
ขมขื่นกับข้อกล่าวหาว่าเป็นตัวการในการสร้าง PANIC ให้กับสาธารณชน แต่ก็อยากย้อนถามไปยังผู้กล่าวหาว่าใครกันแน่ที่เป็นคนสร้าง
PANIC ที่แท้จริง
ช่าง…เถอะ หากการนำเสนอความจริงที่มีหลักฐานพิสูจน์กันได้เป็นเรื่องของการสร้าง
PANIC ให้กับสาธารณชนแล้ว เราก็ขอยืนยันที่จำทำหน้าที่ของเราต่อไป
มาดูรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 15 อันดับแรกของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟ.
กันดีกว่าว่ามีใครบ้าง ตามลิสต์ที่ได้จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
น่าสนใจนะครับว่าธานี บรมรัตนธน เป็นใคร ถือหุ้นอยู่ถึง 178,500 หุ้นมากกว่า
โอทีบี. เสียด้วยซ้ำ แม้สัดส่วนการถือหุ้นจะเป็น 9.09 เปอร์เซ็นต์เท่ากัน
ธานี บรมรัตนธน ก็คือลูกชายคนโตของจาง หมิงเทียน ผู้ก่อตั้งธนาคารโอเวอร์ซีทรัสต์
ฮ่องกง (อ่านล้อมกรอบ "จางหมิงเทียน…เขาเป็นใคร")
เมื่อปีที่แล้ว ธานี บรมรัตนธน ให้สัมภาษณ์นิตยสาร แหล่งข่าว
ฉบับที่ 49 (เดือนสิงหาคม) ว่า กิจการหลักของครอบครัวเขาก็คือกิจการธนาคาร
และธนาคารแห่งแรกก็คือ โอทีบี. รวมทั้งธนาคารสหมาลายันที่ถนนเสือป่า (ถูกรัฐบาลมาเลเซียซื้อหุ้นไปแล้ว)
สำหรับกิจการอื่น ได้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟ. ที่เขาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ
และตำแหน่งล่าสุดของเขาใน ไอทีเอฟ. ก็คือรองประธานกรรมการ
ย้อนขึ้นไปดูผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นอันดับที่หนึ่งของไอทีเอฟ. ซึ่งเป็นบริษัทนิติบุคคลดูบ้าง
ก็คือบริษัทอินเวสท์เม้นท์โฮลดิ้ง ถือหุ้นจำนวน 409,926 หุ้น หรือ 20.88
เปอร์เซ็นต์
บริษัท อินเวสท์เม้นท์โฮลดิ้ง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2519 โดยมีทุนจดทะเบียน
5 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 50,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 100 บาท
ผู้ถือหุ้นประกอบไปด้วยบุคคลและนิติบุคคลดังต่อไปนี้
1. จักร ปันยารชุน 8,001 หุ้น
2. เช็งเชียงเป็ง (มาเลเซีย) 10,001 หุ้น
3. เจาจูนไฮ (จีน) 2,000 หุ้น
4. กิติ สุรภาพวงศ์ 1 หุ้น
5. จำรูญ บุณยอุดมศาสตร์ 1 หุ้น
6. สุพัฒน์ รัชนนันทิ 1 หุ้น
7. สุชาติ พรพัชรพงศ์ 1 หุ้น
8. ทิพรัตน์ ตันติวีระวิทยา 1 หุ้น
9. บริษัทยูไนเต็ดอินเวสเม้นท์แอนด์แมเนจเม้นท์ 21,993 หุ้น
10. บริษัททุนพ่างพื้นเมืองร้อน 8,000 หุ้น
รวม 50,000 หุ้น
ต่อมาในปี 2520 ได้เพิ่มทุนเป็น 10 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 100,000 หุ้น ราคาหุ้นละ
100 บาท ผู้ที่มีหุ้นเพิ่มเติมได้แก่ เช็งเชียงเป็ง ถือเพิ่มขึ้นเป็น 20,001
หุ้น เจาจูนไฮ ถือเพิ่มเป็น 40,000 หุ้น บริษัททุนพ่างพื้นเมืองร้อนถือเพิ่มเป็น
46,000 หุ้น
ในเดือนเมษายน 2527 (ชื่อบริษัทยังไม่ได้ไปแจ้งเปลี่ยนที่ตลาดหลักทรัพย์)
บริษัทนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นไอเอชแอล คอร์ปอเรชั่น ทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท
กรรมการประกอบไปด้วย
1. เช็งเชียงเป็ง
2. กิติ สุภาพวงศ์
3. สุภา อภิชาบุตร
4. พิเชษฐ์ คณิวิชาภรณ์
5. เบญจางค์ บรมรัตนธน
ดูเผินๆ ก็ดูเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าบอกว่าเช็งเชียงเป็ง ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทอินเวสเม้นท์โฮลดิ้งที่ถือสัญชาติมาเลเซียก็คือ
"มือขวา" ของ "จางหมิง เทียน" ตั้งแต่ทำธุรกิจในมาเลเซีย
ก็พอโยงได้ว่าความสัมพันธ์กับธานี บรมรัตนธน ลึกซึ้งแค่ไหน
ไม่ต้องพูดถึงเบญจางค์ บรมรัตนธน ภรรยาของธานี ที่นั่งแป้นเป็นกรรมการของบริษัทนี้ด้วย
จับเอามาดูอีกบริษัทหนึ่งก็ได้ คือบริษัทแอสโซซิเอท อินเวสเม้นท์ ที่ถือหุ้นอยู่ในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟ.
เป็นอันดับที่ 5 จำนวน 169,315 หุ้น หรือ 8.62 เปอร์เซ็นต์
เอาเป็นว่าบริษัทนี้ดังขึ้นมาเมื่อปี 2514 ตอนปี 2515 มีกรรมการบริษัทคนหนึ่งชื่อว่า
จางหมิง เทียน นั่งอยู่ด้วย ไม่ต้องเล่าประวัติศาสตร์มาก
และในการประชุมสามัญประจำปี 2521 ของบริษัทแอสโซเอท อินเวสเม้นท์ มีผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมและผู้ได้รับมอบฉันทะเข้าประชุมแทนดังนี้
1. บริษัทยูไนเต็ด อินเวสเม้นท์ แอนด์ เมเนจเม้นท์ เป็นผู้ถือหุ้น 44,991
หุ้น กิติ สุรภาพวงศ์ ผู้รับมอบฉันทะ
2. บริษัทอินเวสเม้นท์โฮลดิ้ง เป็นผู้ถือหุ้น 30,000 หุ้น เช้งเชียงเป็ง
ผู้รับมอบฉันทะ
3. บริษัทพ่างพื้นเมืองร้อน เป็นผู้ถือหุ้น 25,000 หุ้น กิติ สุรภาพวงศ์
เป็นผู้รับมอบฉันทะ
4. สุพรรณ รุจิราวรรณ เป็นผู้ถือหุ้น 4 หุ้น
5. เช็งเชียงเป็ง เป็นผู้ถือหุ้น 1 หุ้น
6. จำรูญ บุณยอุดมศาสตร์ เป็นผู้ถือหุ้น 1 หุ้น
"ผู้จัดการ" คงไม่ออกความเห็นมาก นอกจากขอให้ท่านผู้อ่านลองเปรียบเทียบรายชื่อและผู้ถือหุ้นของทั้ง
3 บริษัทนี้ มันพัวพันนัวเนียกันจนแยกไม่ออก
ที่ลงทุนลำบากลำบนค้นคว้าเรื่องราวมานำเสนอให้ท่านผู้อ่านของเราทั้งหมดก็เพื่อยืนยันประการเดียวว่าเราเชื่อทั้งข่าวทางการและสงบ
พรรณรักษา ว่า โอทีบี. ถือหุ้นอยู่ในบริษัทหลักทรัพย์ไอทีเอฟ. แค่ 9 เปอร์เซ็นต์
และเราก็เชื่อว่าธานี บรมรัตนธน กับ แพ็ทริค จาง เชง ชอง ซึ่งเป็นรองประธานกรรมการและกรรมการบริษัทเงินทุนไอทีเอฟ.
ต่างก็เป็นกรรมการของโอทีบี. ซึ่งคนหลังนี้ยังอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจฮ่องกง
ทั้งหมดนี้ "ผู้จัดการ" ต้องการสรุปว่า ในแง่การถือหุ้น ไอทีเอฟ.ของโอทีบี.นั้นน้อยนิดไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นตระหนกอย่างที่แบงก์ชาติว่า
และความจริงที่ประกาศว่าจะหามาให้ได้ก็กินความเพียงแค่ประโยคเดียวก็คือ
"ทั้ง ไอทีเอฟ. และ โอทีบี. มีเจ้าของเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกัน"