|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
การค้าชายแดนระหว่างไทยและพม่าที่ทำกันมานับ 100 ปี ล้วนต้องใช้เงินจัตและบาทเป็นสื่อกลาง แต่เชื่อหรือไม่ว่ามูลค่าการค้าที่สูงกว่าปีละหลายหมื่นล้านบาทนั้น ต้องทำผ่านระบบโบราณโดยมี "โพยก๊วน" เป็นตัวกลาง ไม่สามารถทำผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ได้
"แม่สาย" นับเป็นเมืองชายแดนสำคัญแห่งหนึ่งของภาคเหนือตั้งอยู่ห่างจาก กรุงเทพฯ 891 กม. และห่างจากตัวเมืองเชียงราย 63 กม. มีพื้นที่ประมาณ 285 ตร.กม. มีลำน้ำสาย ลำน้ำรวก เป็นเส้น เลือดหล่อเลี้ยงและเป็นเส้นกั้นพรมแดนไทย-พม่า (แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก) เป็นจุดเชื่อมต่อเข้ากับเส้นทาง R3b (ไทย-พม่า-จีน)
ด้วยทำเลที่ตั้ง สภาพภูมิศาสตร์และเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้อำเภอแม่สายตั้งอยู่ในเป้า หมายการพัฒนาเป็นพื้นที่การค้าชายแดนและการท่องเที่ยว ภายใต้นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Border Economic Zone: SBEZ), โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub region: GMS) หรือหกเหลี่ยมเศรษฐกิจ
แต่ถึงแม้แม่สายเป็นแหล่งรวมผู้คนจากหลากถิ่นฐานที่เข้ามาทำมาค้าขายทั้งฝั่งแม่สายและท่าขี้เหล็ก ถือสองสัญชาติกันเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นคนไทย, ไทย ใหญ่, ว้าหรือจีนฮ่อก็ตาม แต่ผู้คนในพื้นถิ่น นี้ต่างมีความใกล้ชิดด้านเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์มากกว่าเมืองชายแดนไทย-พม่าด้านอื่นๆ
นอกจากนักท่องเที่ยวจะสามารถสื่อสารกับผู้คนทั้งฝั่งแม่สายและท่าขี้เหล็ก ด้วยภาษาไทยกันแทบทั้งสิ้นแล้ว กระบวน การค้าที่นี่ยังสามารถรองรับได้ทั้งสกุลเงินท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเงินบาท เงินจัต (KYAT) เงินหยวน หรือสกุลเงินสากลอื่นๆ ได้ทุกสกุล
ซึ่งหากนำเกณฑ์การจัดแบ่งระบบการค้าของทางราชการ (กระทรวงพาณิชย์) มาเป็นตัววัด สามารถแบ่งรูปแบบการค้าชายแดนในแม่สายออกเป็น 3 รูปแบบคือ
1-การค้าในระบบ เป็นการค้าที่ถูกกฎหมาย พ่อค้าจะนำเข้า-ส่งออกสินค้าผ่าน พิธีการศุลกากร และมีการเสียภาษีอย่างถูกต้อง
2-การค้านอกระบบหรือที่เรียกกันว่า "สินค้าลอยน้ำ" เป็นการลักลอบค้าขายตามช่องทางชายแดน โดยไม่ผ่านพิธีการด้านศุลกากร
3-การค้าผ่านแดน เป็นการค้าของไทยกับประเทศที่สาม เช่น สปป.จีน บัง กลาเทศ เป็นต้น แต่ทำโดยผ่านประเทศพม่าที่มีชายแดนติดกับแม่สาย
เฉพาะการค้านอกระบบ หรือสินค้า ลอยน้ำ ซึ่งว่าไปแล้วคือหัวใจและเอกลักษณ์ สำคัญของตลาดเมืองแม่สายนั้น ปัจจุบันมีช่องทางอย่างน้อย 9 จุด ที่เป็นช่องทางผ่านเข้า-ออกของสินค้าลอยน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคจากจีนและสินค้า 15 รายการต้องห้ามจากไทยที่ทางการพม่าห้ามนำเข้าไปจำหน่ายในฝั่งพม่า (ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์พม่า ฉบับที่ 9/99 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 1999 และประกาศฉบับที่ 10/99 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 1999 ประกาศชนิดสินค้าที่ห้ามส่งออกไปต่างประเทศ สินค้าจำพวกผลิตผลการเกษตร แร่ธาตุ สังกะสี และผลิตผลของสัตว์ เช่น วัว ควาย)
9 ช่องทางสำคัญดังกล่าว คือ
1-ท่าข้าม "หัวฝาย" มีอดีตกำนันประสงค์ สีเหลือง เป็นเจ้าของ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสายที่มีความกว้างเพียงประมาณ 10 เมตร ในฤดูแล้งผู้คนสามารถเดินข้ามไปมา ได้ หากเป็นฤดูน้ำหลากก็จะใช้เรือชักลากด้วยรอกแทน เป็นท่าเก่าแก่สุดคลาสสิกของพ่อค้าแม่สาย การขนถ่ายสินค้าจะทำกันในเวลากลางคืนเป็นส่วนใหญ่ ก่อนจะถูกลำเลียงเข้ามาเก็บไว้ตามโกดังต่างๆ รอส่งต่อให้พ่อค้าในพื้นที่ชั้นในต่อไป
2-ท่าข้าม "สายลมจอย" หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า "ท่าว้าแดง" อยู่ห่างจากท่าข้าม แรกประมาณ 200 เมตร เป็นของอดีตกำนันประสงค์ สีเหลือง เช่นกัน
3-ท่าข้าม "เกาะทราย" เป็นของพ่อ เลี้ยงทรง ห่างจากจุดที่สองประมาณ 500 เมตร อยู่ทางขวามือของสะพานแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก
4-ท่าข้าม "พ่อเลี้ยงสิทธิ์" หรือประสิทธิ์ ดวงเพชร หนึ่งในนักธุรกิจผู้กว้าง ขวางในเมืองแม่สาย
5-ท่าข้าม "เบอะหวาง" เป็นของกลุ่มนักธุรกิจเชื้อสายไทยใหญ่ที่ร่วมลงขันกันเปิดท่าเพื่อเป็นช่องทางนำเข้า-ส่งออกสินค้าของตนเอง
6-ท่าข้าม "ต้นโพธิ์" เป็นของกลุ่มนักธุรกิจเชื้อสายโกกั้งร่วมลงขันกัน
7-ท่าข้าม "กำนันนัย" หรือวินัย แสงสุข อดีตกำนัน ต.แม่สาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำรวก
8-ท่าข้าม "ป่าแดง" เป็นท่าของครอบครัวกำนันแดง (แสงสนิท ไชยศรี) ที่เสียชีวิตไปแล้ว เดิมเป็นท่าดูดทรายแต่มี การใช้เพื่อลำเลียงสินค้าหนีภาษีเป็นครั้งคราว
และ 9-ท่าข้าม "ปางห้า" เป็นท่าของครอบครัวกำนันแดงเช่นกัน
(ท่าข้าม 1-6 อยู่ริมน้ำแม่สาย ส่วนท่า 7-9 อยู่ริมน้ำรวก)
ท่าข้ามสินค้าเหล่านี้ล้วนเป็นเสมือน เส้นเลือดหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของเมืองแม่สายมายาวนาน ที่สำคัญคือเป็นแหล่ง รายได้นอกระบบของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
แน่นอน สินค้าลอยน้ำหรืออีกนัยหนึ่งก็คือสินค้าลอดรัฐ ดูเหมือนจะเป็นธรรมชาติของการค้าชายแดนทุกมุมโลก
ยิ่งสำหรับแม่สายแล้ว พิธีการลอดรัฐไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของสินค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการไหลเวียนของเงินตราด้วย
ซึ่งตามฐานข้อมูลของกลุ่มงานค้าชายแดน กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ระบุไว้ว่าในกระบวนการค้าชายแดนไทย-พม่านั้น เนื่องมาจากระบบการเงินการธนาคารของพม่ายังไม่เป็นสากลพอ เช่นการที่ผู้ค้าจะชำระค่าสินค้าโดยวิธีการโอนเงินผ่านธนาคาร (Telegraphic Transfer) และการชำระเงินค่าสินค้าด้วยวิธีการเปิด L/C ยังมีความยุ่งยาก ต้องทำผ่านธนาคาร Myanmar Foreign Trade Bank (MFTB) เท่านั้น ทำให้ผู้ประกอบการหันไปใช้ระบบชำระเงินนอกระบบ หรือที่เรียกว่า "โพยก๊วน" แทน คิดเป็นสัดส่วนถึง 44% ส่วนอีก 42% ใช้วิธีการชำระด้วยเงินสด มีเพียง 14% เท่านั้นที่ใช้ระบบการเงินผ่านระบบธนาคาร จะว่าไปแล้วการใช้ระบบการเงินนอกระบบ ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ค้าต้องการนัก แต่เป็นเรื่องของความจำเป็น และเป็นพัฒนาการเฉพาะของระบบการค้าชายแดนที่ปฏิบัติกันมานานนับร้อยๆ ปี
แม้ว่าก่อนหน้านี้ บุญธรรม ทิพย์ประสงค์ ประธานหอการค้าแม่สายก็เป็นผู้หนึ่งที่พยายามต่อสู้เรียกร้องให้รัฐบาลไทย หาทางเจรจากับรัฐบาลทหารพม่า เพื่อหามาตรการพัฒนาระบบการค้าผ่านระบบธนาคารเพื่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้ง 2 ฝั่ง แต่เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องยากอยู่ เพราะวัฒนธรรมการบริหารของรัฐบาลทหารพม่าเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ และมักอยู่เหนือเหตุผล หรือความเข้าใจของคนทั่วไป
หาก Search ใน google.com คำว่า "โพยก๊วน" จะปรากฏรายงานการศึกษาของนักวิชาการหลากหลายระบุสอดคล้องกันว่า โพยก๊วนในความหมายเดิม หมายถึงจดหมายและเงินที่คนจีนโพ้นทะเล ส่งเงินไปให้ญาติที่ยังอยู่ในประเทศจีน ถือกันว่าเป็นตราสารการเงินประเภทหนึ่งที่มีประวัติความเป็นมากว่าร้อยปี มีลักษณะเฉพาะคือต้องมีการแนบจดหมายบอกเล่าชีวิตความเป็นอยู่ของตนแบบสั้นๆ พร้อมทั้งไต่ถามสารทุกข์สุกดิบของทางบ้านแนบติดมาด้วย (วิภา จิราภาไพศาล, ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 29 ฉบับที่ 10)
"โพยก๊วน" มีอยู่ในทุกประเทศที่มีคนจีนโพ้นทะเลเข้าไปอาศัย
สำหรับในประเทศไทยมีศูนย์กลางอยู่ที่ย่านเยาวราชและยังมีสาขาย่อยกระจาย อยู่ตามหัวเมืองใหญ่ๆ ในต่างจังหวัด
พัฒนาการในระยะแรกๆ ของโพยก๊วน พบว่าผู้ที่ทำธุรกิจโพยก๊วนมักจะมีเครือข่ายหรือเกี่ยวข้องสัมพันธ์อยู่กับธุรกิจด้านการค้าและการส่งออก หรือธุรกิจธนาคาร ประกันภัย หรือโรงสี เพราะต้องมีการกันสำรองเงินทุนจำนวนมากสำหรับการให้บริการ อย่างเช่นธนาคารหวั่งหลี ธนาคารกวางเก๊าะหลง ธนาคารเลียวยงเฮง ธนาคารจินเสง เป็นต้น ธนาคารเหล่านี้มีการเปิดเป็นแผนก "ร้านโพยก๊วน" (Remittance House) เพื่อให้บริการเรื่องการรับส่งเงินไปเมืองจีนด้วย
วิธีการที่นิยมกันมากในขณะนั้นคือผู้ประกอบการจะใช้วิธีการเปลี่ยนเงินที่รับฝากจากลูกค้าผู้ใช้บริการไปเป็นสินค้า โดยเฉพาะข้าว แล้วส่งออกในรูปสินค้าหลังจาก ขายข้าวได้แล้วจึงจะส่งเงินไปตามสาขาที่รับฝากโพยก๊วนของตน ก่อนจะส่งถึงยังผู้รับปลายทางอีกทอดหนึ่ง
ซึ่งวันนี้ แม้ว่าเทคโนโลยีของระบบการเงินการธนาคารในยุคศตวรรษที่ 21 จะทำให้โพยก๊วนยุคโบราณปิดบทบาทตัวเองไป แต่สำหรับผู้ประกอบการค้าชายแดน พวกเขายังต้องพึ่งพาอาศัยระบบโพยก๊วนไม่ต่างจากเมื่อ 100 ปีก่อน...
นี่ไม่ใช่การกล่าวอ้างที่เกินจริง!!!
เพราะแม้แต่ตัวเลขจากการสำรวจของทางราชการ (กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์) ยังยอมรับว่ามีการใช้ระบบโพยก๊วนสูงถึง 44% แต่จากตัวเลขของภาคเอกชนเชื่อว่าสูงถึง 50%
และแม้ว่าภาครัฐจะพยายามเข้ามากำกับควบคุมในเรื่องนี้ด้วยการออกกฎเกณฑ์ และระเบียบกฎหมายต่างๆ เช่น พ.ร.บ.ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา พ.ศ.2485, พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2504 หรือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ก็ตาม
แต่สำหรับผู้ประกอบการค้าชายแดนแล้ว ยิ่งภาครัฐมีกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นเท่าไร ยิ่งทำให้พวกเขาต้องหันไปพึ่งโพยก๊วนมากขึ้นเท่านั้น
นั่นเพราะอัตราแลกเปลี่ยนในระบบ-นอกระบบที่แตกต่างกันลิบลับ เช่นอัตราแลกเปลี่ยนเงินจัตของธนาคารพม่า คือ 6 จัตต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ตลาดมืด 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 1,295-1,305 จัต หรือประมาณ 100 จัตต่อ 2.75-3 บาทเศษ รวมทั้งเลี่ยงการถูกตรวจสอบจากรัฐได้ง่าย
จากการตรวจสอบของนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ พบว่าโพยก๊วนชายแดนแม่สายเข้ามาทำหน้าที่แทนธนาคาร จะมี "พ่อค้าการเงิน-เจ้าของร้านโพยก๊วน" ทำหน้าที่เป็นคนกลางหรือตัวแทนหักบัญชี (Clearing Agent) ในการรับโอนเงินหรือส่งมอบเงินให้กับลูกค้าผู้ใช้บริการ โดยมีการออกเอกสารหลักฐานการส่งหรือรับเงิน หรือโพยให้ผู้รับบริการ มีการจดบันทึก จัด ทำบัญชี และมีสาขาของร้านโพยในเครือข่ายตามจุดสำคัญต่างๆ
แต่ไม่จำเป็นต้องมี "คนเดินโพย" เหมือนในสมัยก่อนอีกต่อไปแล้ว...
เพราะวันนี้โทรศัพท์มือถือและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้เข้ามาทำหน้าที่แทนคนเดินโพยโดยสิ้นเชิง เช่น เมื่อพ่อค้า จากฝั่งพม่าต้องการชำระค่าสินค้าให้กับพ่อค้าฝั่งไทย เขาจะนำเงินไปชำระที่ร้านโพยก๊วนฝั่งพม่า แล้วยกหูโทรศัพท์แจ้งให้พ่อค้าฝั่งไทยไปรับเงินที่สาขาฝั่งไทยได้เลย หรือหากพ่อค้าฝั่งไทยจะชำระค่าสินค้าให้พ่อค้าฝั่งพม่าก็กระทำในทำนองเดียวกัน ซึ่งทั้งสะดวก รวดเร็ว ยากแก่การตรวจสอบ เพื่อหาใบเสร็จใดๆ ที่สำคัญคือเชื่อถือได้
ตามหลักสุดยอดของวงการโพยก๊วนนับแต่อดีตก็คือ "ความเชื่อถือและคุณธรรม" เนื่องจากต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ทั้งของผู้ประกอบการค้า ผู้ให้บริการโพยก๊วน ในการทำธุรกรรมระหว่างกันที่จะอาศัยความสัมพันธ์ที่มีต่อกันมายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น และมักเป็นการได้ข้อมูลจากการบอกต่อๆ กันมา ใช่ว่าใครก็สามารถไปใช้บริการโพยก๊วนได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโพยก๊วนของแม่สาย หรือชายแดนพม่าด้านอื่นๆ จะไม่ต้องการคนเดินโพยอีกแล้ว แต่พวกเขาก็ยังต้องการ "คนหิ้วเงิน" อยู่ เพื่อทำหน้าที่ ลำเลียงเงินสด (เน้นที่เงินบาท) จากฝั่งพม่า เข้ามาฝั่งไทยและจากฝั่งไทยออกไปฝั่งพม่า
"คนหิ้วเงิน" ยังเป็นข้อต่อสำคัญของระบบโพยก๊วนและเป็นจุดอ่อนของระบบไปในขณะเดียวกัน แม้ว่าระยะหลังบรรดาร้านโพยก๊วนจะหันมาใช้เงินหมุนเวียนในฝั่งไทยมากขึ้น แต่ยังต้องใช้กองทัพมดเคลื่อนย้ายตัวเงินอยู่ดี
ซึ่งในแวดวงคนค้าขายชายแดนแม่สาย รับรู้กันดีว่าในเมืองแม่สายมีโพยก๊วนไม่ต่ำกว่า 10 เจ้า ทั้งหมดล้วนแต่เป็นเจ้าเก่าแก่ทั้งสิ้น ร้านเหล่านี้จะมีกองทัพมดของตนเอง ทำหน้าที่เป็นคนหิ้วเงินเข้าออก ว่ากันว่าเฉพาะวงเงินที่นำเข้ามาฝั่งไทยไม่ต่ำกว่า 30-40 ล้านบาทต่อวัน
คนหิ้วเงินเหล่านี้จะทำหน้าที่เสมือน นายหน้า รายหนึ่งจะถือเงินไม่เกิน 3 ล้าน บาท ขึ้นอยู่กับความคล่องตัวและความชำนาญของแต่ละราย สำหรับเงินที่นำเข้ามาฝั่งไทย บางส่วนถูกนำเข้าที่ร้านค้าโดย ตรง แต่ส่วนใหญ่จะถูกกระจายฝากเข้าธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่กว่า 10 แห่งทั่วอำเภอแม่สาย โดยฝากเข้าในชื่อบัญชีชื่อบุคคลต่างๆ ที่เปิดบัญชีอำพรางไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ (ยอดบัญชีจะไม่เกิน 2 ล้านบาท เพื่อจะได้ ไม่ต้องแสดงรายละเอียดที่มาของเงิน)
ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจหากพบว่าเจ้าหน้าที่ธนาคารพาณิชย์ในเมืองแม่สาย มักจะมีบุคลิกไม่ง้อ หรือไม่เอาใจลูกค้ารายย่อยอย่างเราๆ นัก เพราะพวกเขาล้วน แต่เป็น "เสือนอนกิน" ไม่ต้องวิ่งหาเงินฝากเข้าแบงก์
พ่อค้าในเมืองแม่สายรายหนึ่ง เล่าให้ ผู้จัดการ 360 ํ ฟังว่า หากศึกษาประวัติศาสตร์ของโพยก๊วนในอดีต คนทั่วไปจะให้ความไว้วางใจโพยก๊วนเป็นอย่างมาก ในอดีตแม้ว่าสภาพสังคมยุคนั้นจะยากลำบากเพียงใด แต่คนสมัยนั้นยังยึดถือคุณธรรมกันมากกว่าสมัยนี้ เพราะแม้แต่โจรผู้ร้ายก็จะไม่ปล้นเงินของโพยก๊วน หรือไม่ปล้นคนเดินโพยโดยเด็ดขาด เนื่องจากจะเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับคนที่เกี่ยวข้องอีกเป็นจำนวนมาก
แต่เมืองแม่สายวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ในรอบปี 2552 ที่ผ่านมา มีการปล้นเงินโพยก๊วนไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง
พ่อค้ารายเดิมเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า แก๊งโจรปล้นโพยยุคนี้ ใส่เครื่องแบบเจ้าหน้าที่รัฐทั้งนั้น โดยเป้าหมายอยู่ที่ "คนหิ้วเงิน" ที่ดูเหมือนจะยังเป็นจุดอ่อนของระบบโพยก๊วนอยู่
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าระบบการค้าในย่านนี้กำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ รวมถึงข้อตกลงจีน-อาเซียนที่เริ่มมีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2553 โดยมี "เงินหยวน" แผ่อิทธิพลเข้ามาครอบคลุมกระบวนการค้าในพื้นที่เหล่านี้ทุกมิติมากขึ้น
(อ่านเรื่อง "Yuan Zone อาวุธหนักที่รอสับไก" นิตยสารผู้จัดการ 360 ํฉบับเดือนตุลาคม 2552 หรือใน www. gotomanager.co.th ประกอบ)
แต่เนื่องด้วยการทำให้เงินหยวนเป็น International currency มีขั้นตอนและปัจจัยแวดล้อมมากมาย ทำให้ "โพยก๊วน" ยังจะทรงอิทธิพลต่อกระบวนการค้าในลุ่มแม่น้ำโขงนี้อีกต่อไปแน่นอน
|
|
|
|
|