ประเทศไทยมีนโยบายสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มาแล้ว ตั้งแต่เมื่อ 40 กว่าปีที่ผ่านมา แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ปรากฏเป็นรูปธรรมจวบจนทุกวันนี้ แผนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ยังอยู่ในระยะที่ 1 เท่านั้น
ความหวาดกลัวเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ที่คนไทยเคยได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นผลที่ตามมาจากการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่เมืองฮิโรชิมา และนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงปลาย ของสงครามโลกครั้งที่ 2 และการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีจากโรงงานไฟฟ้า พลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล สหภาพโซเวียต ยังเป็นฝันร้ายที่ทุกคนไม่ลืมเลือน
จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นโยบายการก่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงาน นิวเคลียร์ในประเทศไทยไม่ก้าวหน้าไปถึงไหน แม้ว่าจะมีหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบพยายามชี้ให้เห็นถึงข้อดีของโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์และยืนยันว่าสามารถควบคุมผลเสียได้
ล่าสุด สำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคและความปลอดภัยนิวเคลียร์ได้จัดงานสัมมนา รายงานความคืบหน้าการจัดตั้งโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์และรับฟังความคิดเห็นของสื่อมวลชน
ชวลิต พิชาลัยรองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ กระทรวงพลังงาน เปิดเผยข้อมูลล่าสุดว่า ตามแผนพัฒนากำลังไฟฟ้า (พีดีพี) กำหนดว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงแรกของไทยจะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือปี พ.ศ.2563 ด้วยกำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ และโรงที่ 2 ผลิตอีก 1,000 เมกะวัตต์ ในปี 2564
ขณะนี้ได้มีการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ทั้งการว่าจ้างบริษัท Burns and Roe Asia จำกัด จากสหรัฐอเมริกาเป็นที่ปรึกษา เพื่อเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม จากการเสนอพื้นที่รอบแรก 14 แห่ง จะคัดเหลือ 5 แห่งในกลางปี 2553 หลังจากนั้นจะมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ จนคัดเหลือ 3 แห่ง
สำหรับพื้นที่เพื่อใช้สร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์จะต้องใช้ประมาณ 600-1,000 ไร่ต่อการผลิตไฟฟ้า 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นการใช้พื้นที่มากกว่าโรงงานผลิตไฟฟ้าทั่วไป
ตามแผนดำเนินงานโครงการพลังงานนิวเคลียร์ของ กฟผ. แบ่งออก 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 (ปี 2551-ปี 2553) เวลา 3 ปี เตรียมโครงการ
ระยะที่ 2 (ปี 2554-ปี 2556) เวลา 3 ปี ขอใบอนุญาตก่อสร้างเพื่อดำเนินโครงการ
ระยะที่ 3 (ปี 2557-2562) เวลา 6 ปี ดำเนินการก่อสร้าง
ระยะที่ 4 (ปี 2563-2564) เริ่มดำเนินการเดินเครื่อง
จะเห็นว่าปัจจุบันแผนสร้างโรงงาน ไฟฟ้ายังอยู่ในระยะที่ 1 เท่านั้น และหลังจากนี้ไปอีก 1 ปี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะทำหน้าที่ศึกษาต้นทุน แหล่งเงินทุน เลือกเทคโนโลยี และทำความเข้าใจกับประชาชนในท้องถิ่น
หลังจากนั้นในต้นปี 2554 จะเข้าสู่แผนระยะที่ 2 ซึ่งจะนำเสนอแผนงานให้กับคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป
แผนงานสร้างโรงงานจะผ่านการพิจารณาจากคณะผู้บริหาร 2 กลุ่มนี้หรือไม่ ไม่ได้พิจารณาจากประโยชน์ของพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นลำดับแรกๆ แต่จะพิจารณาว่าประชาชนในท้องถิ่น หรือในพื้นที่ที่โรงงานจะเข้าไปก่อตั้งยอมรับเพียงใด หากไม่ยอมรับ แผนการสร้างโรงงานไฟฟ้ามีความเป็นไปได้อาจจะล้มเหลว
จึงทำให้ในปีนี้ สำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ได้งบประมาณ จากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจำนวน 115 ล้านบาท เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลกับประชาชน
การสร้างความรู้ความเข้าใจต่อชุมชนท้องถิ่นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แม้ว่าตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมาได้เข้าไปสัมมนาในชุมชนหลายแห่ง มีทั้งยอมรับและต่อต้านอย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเอ็นจีโอเป็นแนวร่วมกับคนท้องถิ่น ยิ่งทำให้รัฐทำงานยากมากขึ้น
แม้ว่าทั่วโลกมีแนวโน้มสร้างโรงงานพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มมากขึ้น เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีนมีโรงงาน 21 แห่ง ญี่ปุ่น 53 แห่ง เกาหลีใต้ 18 แห่ง อินเดีย 18 แห่ง ฝรั่งเศส 59 แห่ง และสหรัฐอเมริกา 104 แห่ง
ปัจจุบันทั่วโลกมีโรงงานทั้งหมด 437 แห่ง โลกใช้พลังงานนิวเคลียร์ร้อยละ 15
อภิสิทธิ์ ปัจฉิมพัทธพงษ์ วิศวกรระดับ 5 กฟผ. เล่าว่าในการประชุมอาเซียน ได้พูดถึงแผนสร้างโรงงานพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์โรงแรกของ 3 ประเทศ ที่จะเกิดขึ้น ในปี 2563 คือประเทศไทยมีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ 2,000 เมกะวัตต์ ประเทศเวียดนามมีแผนผลิต 4,000 เมกะวัตต์ และประเทศอินโดนีเซียมีแผนผลิต 2,000 เมกะวัตต์
แต่คาดว่าประเทศเวียดนามจะเป็นประเทศแรกที่มีโรงงานพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ เพราะได้รับอนุมัติจากภาครัฐให้เริ่มดำเนินการแล้ว
เหตุผลจำเป็นที่หน่วยงานภาครัฐพยายามผลักดันให้เกิดโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นนั้น เป็นเพราะว่ารัฐต้องการชี้ให้เห็นสถานการณ์วิกฤติการขาด แคลนพลังงานในอนาคต โดยเฉพาะประเทศไทยพึ่งพิงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติถึงร้อยละ 70 ในขณะที่ก๊าซธรรมชาติจะหมดภายใน 25 ปีข้างหน้า
ก๊าซธรรมชาติร้อยละ 70 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นก๊าซธรรมชาตินำเข้าจากพม่า 1 ใน 3 และในปี 2554 รัฐยังเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าจากพม่าและลาวอีก ถือเป็นแผนเฉพาะหน้าที่ประเทศไทยไม่ได้สร้างโรงงานไฟฟ้าใหม่ขึ้น เพื่อพึ่งพาตนเอง
ผลกระทบของความล่าช้าในการก่อสร้างโรงงานพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ยังทำให้งบประมาณการก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว คือโรงงาน 1 แห่ง ผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์ 1,000 เมกะวัตต์ จะต้องใช้งบประมาณ 1 แสนล้านบาท จากต้นทุนเดิมไม่กี่พันล้านบาท
แต่สำนักพัฒนาโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ได้ชี้ให้เห็นถึงจุดเด่นของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเปรียบเทียบระหว่างต้นทุนพลังงานนิวเคลียร์กับพลังงาน ทดแทน
ต้นทุนพลังงานนิวเคลียร์ยิ่งผลิตมาก ราคาต่อหน่วยจะถูกลง คือกำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ มีต้นทุน 2.45 บาท ต่อหน่วย
ปรีชา การสุทธิ์ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคและความปลอดภัยนิวเคลียร์ได้ชี้ให้เห็นว่าพลังงานนิวเคลียร์สามารถสร้างพลังงานไฟฟ้าได้อย่างมหาศาล เพราะเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าเป็นแร่ยูเรเนียม แร่ยูเรเนียม 1 กิโลกรัมสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 3 แสนยูนิต และแร่ยูเรเนียมยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก
ขณะที่ถ่านหิน 1 กิโลกรัม ผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียง 3 ยูนิต
ปรีชาชี้ให้เห็นแหล่งวัตถุดิบจำนวน มากมีขายหลายประเทศ เช่น ประเทศ ออสเตรเลีย ปากีสถาน ไนจีเรีย รัสเซียคาซัคสถาน จีน
ในปี 2553 มีการประเมินทิศทางการใช้พลังงานในประเทศไทย ในขณะที่จีดีพีโตอยู่ในระดับร้อยละ 3-4 จะมีการใช้น้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มร้อยละ 1.7 ก๊าซธรรมชาติเพิ่มร้อยละ 5.1 ลิกไนต์และถ่านหินนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 และใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4
พลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์แม้จะเป็นพลังงานทางเลือกใหม่ก็ตาม แต่ระดับผู้บริหารระดับนโยบายของรัฐยังไม่ได้แสดงท่าทีชัดเจนกับเรื่องนี้ จึงทำให้ความหวังของหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบได้แต่บอกว่า เป็นการทำงานที่เรียกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา
เหมือนดังเช่นงานสัมมนาของสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ กระทรวงพลังงาน ที่จัดขึ้นเมื่อปลายเดือน มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดวาระเอาไว้ว่า จะมีณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงานมาร่วมเปิดงาน แต่ท้ายที่สุด ณอคุณ สิทธิพงศ์ก็ไม่ได้ร่วมงาน ไม่มีแม้แต่รัฐมนตรีจากกระทรวง 3 แห่งที่มี หน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการผลักดันโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ คือกระทรวงพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโน โลยี และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาร่วมด้วยแต่อย่างใด
ทำให้ชวลิต พิชาลัยรองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ยกคำกล่าวของพระมหาชนกมาเปรียบเปรยการทำงานในหน่วยงานแห่งนี้ว่า
"แม้ว่าจะว่ายน้ำไม่เห็นเป้าหมาย แต่ก็ต้องว่ายต่อไป"
|