Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา กุมภาพันธ์ 2553
นิวซีแลนด์ไปบอลโลกกับความสำเร็จของการพัฒนาฟุตบอลในเมืองกีวี             
โดย ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
 


   
search resources

Sports




ในวงการกีฬาโลกคนส่วนมากรู้จักประเทศนิวซีแลนด์จากกีฬาสองชนิดคือ เรือใบจากการแข่งขันอเมริกันคัพและรักบี้ เพราะชื่อเสียงของทีมออลแบลค กับบรรดาสโมสรรักบี้ของนิวซีแลนด์ ในขณะที่กีฬาอื่นๆ ที่นิวซีแลนด์มีชื่อเสียงในระดับโลกอาจจะเป็นกีฬาที่คนไทยไม่ค่อยรู้จัก เช่น คริกเกต เน็ตบอล ซึ่งเป็นกีฬาที่เล่นกันในประเทศที่อยู่ในเครือจักรภพเป็นหลัก ในขณะที่การแข่งขันโอลิมปิกจะเป็นกีฬาที่คนไทยไม่นิยม แม้แต่จะส่งตัวแทนไปแข่ง เช่น ไตรกรีฑา จักรยาน หรือเรือพาย นอกจากนี้นิวซีแลนด์ยังมีความสามารถในกีฬาอื่นๆ เช่น บาสเกตบอล เพราะเคยเข้าถึงรอบสี่ทีมสุดท้าย ในการแข่งขันบาสเกตบอลชิงแชมป์โลกในปี 2002 มาแล้ว แม้ว่าการแข่งขันเมื่อปี 2006 จะทำได้แค่ที่สิบของการแข่งขัน

มากกว่านั้นกีฬาหลายอย่างในโลกต่างมีชาวกีวีถือสถิติโลกอยู่ไม่น้อยรวมถึงสถิติความเร็วของมอเตอร์ไซค์ไม่เกินหนึ่งพันซีซี ที่บอนเนวิลล์ ก็เป็นสถิติของชาวนิวซีแลนด์ เบิร์ท มันโรว์ ซึ่งเป็นตำนาน ที่ทุบสถิติตอนอายุหกสิบสามและทำสถิติอย่างต่อเนื่องจนอายุหกสิบแปดด้วยความเร็ว 331 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จนทำให้ฮอลลีวูดนำไปทำเป็นภาพยนตร์เรื่อง The World's Fastest Indian ซึ่งใช้ชื่อไทยว่า บิดสุดใจ แรงเกินฝัน มาแล้ว ทั้งหมดนี้เป็นการชี้ว่าประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรแค่สี่ล้านคนอย่างนิวซีแลนด์มีศักยภาพทั้งการเมืองและกีฬาในระดับสากล

กีฬาประเภททีมในนิว ซีแลนด์นั้นจะเน้นในการใช้สีดำเป็นหลัก เช่นทีมรักบี้เรียกว่า ออลแบลค ทีมบาสเกตบอลเรียกว่า ทอลแบลค แม้แต่ทีมเรือใบที่ได้แชมป์อเมริกันคัพก็เรียกตนเองว่าแบลคเมจิค โดย ชุดลงแข่งทีมชาติของเมืองกีวีคือสีดำปลอดและมีใบเฟินสีขาวเงินเป็นสัญลักษณ์ทีมชาติ แต่ว่าในบรรดากีฬาชนิดทีมทั้งหมดในนิวซีแลนด์มีกีฬาชนิดเดียวเท่านั้นที่น้อยคนจะกล่าวถึงคือฟุตบอล เรียกได้ ว่าเป็นกีฬาอาถรรพ์ เพราะเป็นกีฬาชนิดทีมเพียงอย่างเดียวในนิวซีแลนด์ที่ใช้เครื่องแบบสีขาวขณะที่ทีมชาติใช้สีดำหมด

ทีมฟุตบอลของนิวซีแลนด์นั้นเรียกกันว่า ออลไวท์ เพราะเป็นทีมที่ใช้เครื่องแบบสีขาวทั้งหมดและใช้สีดำเป็นใบเฟินแทน เหตุผลที่เลือกชุดสีขาวเนื่องจากว่านิวซีแลนด์เอาทีมชาติอังกฤษเป็นต้นแบบ จึงเลือกที่จะแหวกแนวโดยเอาสีขาวเป็นต้นแบบ ปัญหาที่ตามมาคืออาถรรพ์ที่กีฬาทุกชนิดที่ทีมกีวีเข้าแข่งต่างทำได้ดีในระดับสากล ทีมออลไวท์ก็ยังคงคืบคลานไปอย่างช้าๆ อาจมาจากการที่ทวีปโอเชียเนียนั้นมีโควตาที่แสนแปลกประหลาด กล่าวคือ ในทวีปนี้เดิมทีมีทีมทั้งหมด 17 ประเทศ โดยเป็นประเทศขนาดเล็กกลางมหาสมุทรแปซิฟิกเกือบทั้งหมดยกเว้น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และปาปัวนิวกินี ซึ่งทวีปโอเชียเนียไม่มีโควตาเป็นของตนเองทำให้แชมป์ทวีปนี้ต้องพเนจรไปขอโควตาจากทวีปอื่นด้วยการเล่นรอบตัดเชือกกับทวีปเอเชีย อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ โดยฟุตบอลโลกก่อนหน้านี้ทีมออสเตรเลีย ต้องตัดเชือกกับทีมอุรุกวัย ทำให้สมาคมฟุตบอลเมืองจิงโจ้ตัดสินใจย้ายค่ายขอมาอยู่กับสมาคมฟุตบอลเอเชียที่มีโควตาแน่นอนแทน

แม้ว่านิวซีแลนด์แทบจะเป็นทีมฟุตบอลที่คนไม่รู้จัก เพราะขนาดมาเล่นที่ไทยเมื่อปีก่อนก็โดนทีมชาติไทยไล่ถลุงไป 3-1 และยังทำได้แค่เสมอทีมสำรองของไทย แต่จับพลัดจับผลูได้ไปบอลโลกเมื่อเล่น play off กับที่ห้าของเอเชียอย่างบาห์เรนที่เขี่ยประเทศสารขันตกรอบบอลโลก ทำให้มีผู้สงสัยกันว่า นิวซีแลนด์ทำได้อย่างไรจากทีมที่อยู่ระดับที่แย่กว่าทีมชาติไทยตอนต้นปีกลับชนะทีมจากตะวันออกกลาง และตีตั๋วไปบอลโลกตอนปลายปี เรียกได้ว่าหากมองดูเผินๆ แล้วโครงการบอลนิวซีแลนด์ไปบอลโลกนั้นสำเร็จในสิบเดือน ขณะที่ชาวไทยทำแผนหมากเตะโลกตะลึง พยายามส่งทีมสารขันไปบอลโลกมาตั้งแต่สิบกว่าปีก่อน ตั้งแต่นักเตะชุดดรีมทีมยังเป็นเด็ก จนกระทั่งตอนนี้เป็นโค้ชแล้ว เราก็ได้แต่ฝันค้างต่อไป

ในความเป็นจริงแล้วนิวซีแลนด์เคยได้ไปฟุตบอลโลกหนหนึ่งในปี 1982 ที่สเปน โดยในยุคนั้น สมาคมฟุตบอลกีวีตกลงใจทุบกระปุกหมูจ้างทีมโค้ช จากอังกฤษของเควิน ฟัลลอน และจอห์น แอชเฮดส์ มาบริหารทีมอยู่สี่ปี โดยในยุคนั้นทีมกีวีได้นักเตะสามคนคือ พี่น้องรูเฟอร์ โดยที่เชน รูเฟอร์ พี่ชายเล่นกองกลางของนอริช ซิตี้ และน้องชายวินตัน ต่อมาเป็นเจ้าของรางวัลรองเท้าทองของบุนเดสลิก้า จากเวอร์เดอร์ เบรเมน กับกองหลัง ริกกี้ เฮบเบิร์ตจากวูลฟ์ ส่งผลให้ทีมนิวซีแลนด์ยุคนั้นไปไกลถึงบอล โลกก่อนที่จะช่วยกันขนลูกฟุตบอลกลับบ้านเพราะโดนถลุงไปถึง 12 ประตู ยิงคืนได้สองลูกจากวินตัน รูเฟอร์

หลังจากปรากฏการณ์หมากเตะของนิว ซีแลนด์ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามเพราะได้ขนลูกฟุตบอลกลับบ้านมาหนึ่งโหล กีฬาฟุตบอลก็หายสาบสูญจากสารบบกีฬาไปนานจนกระทั่งการแข่งขันฟุตบอลโอเชียเนียปี 1998 หรือสิบหกปีให้หลัง ทีมนิวซีแลนด์ชนะทีมออสเตรเลียคารังที่บริสเบน จึงได้สิทธิไปแข่งรายการคอนเฟเดอเรชั่นคัพที่เม็กซิโก โดยทีมออลไวท์ทำสถิติได้ดีขึ้นกว่าสิบหกปีก่อน คือขนลูกฟุตบอลกลับบ้านเพียงหกลูก เพราะโดนยิงไป 6 ประตูจาก 3 นัด ยิงคืนได้ลูกเดียว

ต่อมาปี 2002 ทีมกีวีได้ไปเล่นบอลคอนเฟเดอเรชั่นอีกรอบโดยงวดนี้ยิงเข้าได้ 1 ประตู ขนลูกบอลกลับบ้าน 11 ลูก และปีที่ผ่านมาปรากฏ การณ์หมากเตะโลกตะลึงยังคงดำเนินต่อไปโดยนิวซีแลนด์พัฒนาขึ้นเพราะเสมอกับอิรักนัดหนึ่ง ก่อนโดนสเปนถลุง โดยจบการแข่งขันทีมกีวีได้ลูกฟุตบอลกลับบ้านอีกเจ็ดลูก แม้จะขนลูกบอลกลับบ้าน กันอย่างถล่มทลาย แต่วิสัยทัศน์ของทีมนิวซีแลนด์ที่จะไปบอลโลกนั้นยังคงพัฒนาโดยสมาคมลูกหนัง นิวซีแลนด์ที่หันมามองยุทธศาสตร์จากแผนพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะการที่จ้างโค้ชต่างชาติมาแล้วอาศัยพรสวรรค์จากนักเตะสองสามคนเพื่อไปบอลโลกนั้นเป็นการขายผ้าเอาหน้ารอดแบบทีมส่วนมากในเอเชียและตะวันออกกลางนิยมกัน ซึ่งอาจจะประสบความสำเร็จแบบฉาบฉวยในระยะแรกแต่ในระยะยาวนั้นประเทศดังกล่าวไม่ได้มีการพัฒนาไปถึงระดับรากฐานแต่อย่างใด

เพราะการที่จะพัฒนาในระยะยาวนั้นต้องอาศัยทั้งความอดทนและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่มาหวังผลในระยะ 3 เดือนหรือ 3-4 นัด ดังนั้น สมาคมฟุตบอลนิวซีแลนด์ได้วางแผนพัฒนาสามปีหลายฉบับ โดยเริ่มจากปี 2004 โดยแผนพัฒนาปัจจุบันอยู่ที่แผน 2009-2011 ซึ่งได้ทำการพัฒนาคุณภาพนักกีฬา กรรมการ และการฝึกสอน โดยให้ อดีตนักเตะชุดบอลโลกอย่างเฮบเบิร์ตคุมทีม โดยไม่ว่าจะแพ้ใครขนลูกบอลกลับบ้านมากี่โหลก็ไม่สำคัญขอให้พัฒนาทีมอย่างยั่งยืนก็พอ

ถ้าดูจากแผนพัฒนาแล้วก็ไม่ได้ต่างกับแผนพัฒนาของไทยที่เคยมีมา แต่ของนิวซีแลนด์ทางสมาคมเขาจริงจังในการพัฒนาลีกในประเทศ เพราะเมื่อลงมือทำก็ไม่ต้องเกรงใจใคร เพราะฝรั่งไม่มีคำว่า เกรงใจในดิกชันนารี สมาคมได้ประกาศว่าลีกสูงสุด ของประเทศในสามปีแรกจะมีสโมสรเข้าร่วมแปดทีม โดยทั้งประเทศจะมีกี่สโมสรทางสมาคมไม่สนใจ แต่ต้องให้ยื่นขอเข้าร่วมแข่งขัน โดยการตัดสินจะดูจากความน่าจะเป็นที่สโมสรจะมีแฟนบอลในจำนวนที่มากพอแก่การอยู่ได้ทางการเงิน รวมถึงสถานะการเงินของทีม สนามแข่งที่พอใช้ได้ ศูนย์พัฒนา นักกีฬา

ตรงจุดนี้เองที่สโมสรหลายแห่งในนิวซีแลนด์ตัดสินใจรวมตัวกันเพื่อความอยู่รอด โดยรวมสถานะการเงินและแฟนบอล ในขณะที่สโมสรเก่าแก่หลายแห่งโดนตัดออกจากระบบ ทำให้เกิด กระแสความไม่พอใจต่อสมาคมฟุตบอลถึงขั้นขู่ฟ้องศาลกันทีเดียว แต่ในที่สุดก็ต้องยอมแพ้ต่อสมาคมไปโดยปริยาย การรวมตัวของสโมสรต่างๆ ทำให้มีนักกีฬาที่มีคุณภาพจำนวนมาก ในภูมิภาคนั้นๆ เช่น สโมสรเวลลิงตันเกิดจากการรวมตัวของ 8 สโมสร ทำให้ฐานกำลังทั้งแฟนบอล การเงิน อยู่ในสถานะที่เข้มแข็งขึ้น

นอกจากนี้ยังมีนักกีฬามากขึ้นซึ่งส่งผลดีต่อทีมชาติเพราะได้เห็นดาวรุ่งจำนวนมาก ปรากฏว่าคำสั่งดังกล่าวยังได้กระจายฟุตบอลไปสู่ระดับภูมิภาค เพราะทีมในเมืองใหญ่ๆ มักจะมีปัญหาเรื่องสนามที่ไม่ได้มาตรฐานหรือการหาแฟนบอลจำนวนมาก ตรงนี้ส่งผลดีหลายอย่างเพราะนักฟุตบอลทีมชาติซึ่งแต่เดิมกระจุกกันที่เมืองเดียวก็จำเป็นต้องย้ายไปอยู่ทีมในเมืองอื่นๆ เพราะถ้าสโมสรในกรุงเวลลิงตันทั้งแปดทีมรวมกัน นักเตะทีมชาติและดาวรุ่งต้องมีพวกที่หลุดจากตัวจริงและต้องย้ายไปสโมสรอื่นซึ่งทำให้นักกีฬาดาวรุ่งในเมืองเล็กๆ ได้พัฒนาตนเองเพราะมีนักกีฬาทีมชาติมาร่วมด้วย ยกตัวอย่างเช่นเมืองเล็กๆ ที่มีคน 75,000 คนอย่างปาร์มเมอสตันนอร์ท ซึ่งสโมสรประจำเมืองได้สิทธิในการแข่งเป็นตัวแทนเกาะเหนือตอนกลาง ก็ได้ผู้รักษาประตูและศูนย์หน้าทีมชาติซึ่งระเห็จจากสโมสรที่โดนยุบในโอ๊กแลนด์กับกองหลังทีมชาติ ที่มาจากหนึ่งในแปดทีมที่โดนยุบในเวลลิงตันมาเล่น รวมกับนักเตะเยาวชน ทำให้ทีมกิ๊กก๊อกจากปาร์ม เมอสตันนอร์ทติดทอป 3 ของตารางถึงสองปี และส่งผลให้บอลลีกในนิวซีแลนด์พัฒนาขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

นอกจากความพยายามของสมาคมแล้ว แม้ แต่ประชาชนทั่วไปต่างพยายามช่วยวงการฟุตบอล นำโดยเทอรี่ เซเรพิซอส นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชาวกีวีเชื้อสายกรีซจากกรุงเวลลิงตันวัย 43 ตกลงใจเอาเงินหนึ่งล้านดอลลาร์ (25 ล้านบาท) วางไว้กับสมาคมฟุตบอลออสเตรเลียในปี 2007 เพื่อให้มีสโมสรฟุตบอลจากนิวซีแลนด์เข้าไปเตะในลีกออสเตรเลีย โดยใช้ประโยชน์จากสนธิสัญญาเปิดพรม แดนของสองประเทศ โดยสมาคมฟุตบอลออสเตรเลีย ตกลงให้มีสโมสรของนิวซีแลนด์ลงแข่งในออสเตรเลีย ได้หนึ่งทีม ทำให้สโมสรเวลลิงตันฟินิกซ์ได้ยื่นขอสิทธิจากสมาคมฟุตบอลนิวซีแลนด์ที่จะไปเล่นในลีกออสเตรเลียแทน (ทำให้สองสโมสรหลักในกรุงเวลลิงตัน แยกกันเตะคนละลีก โดยสโมสรทีมเวลลิงตันเตะในลีกนิวซีแลนด์)

ในจุดนี้ส่งผลให้เกิดกรณีที่น่าสนใจคือไม่ใช่แค่เกิดสโมสรฟุตบอลที่เตะข้ามประเทศเท่านั้น ออสเตรเลียและลีกของออสซีนั้นขึ้นตรงกับสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย ขณะที่สโมสรฟินิกซ์นั้นขึ้นตรงกับสมาพันธ์ฟุตบอลโอเชียเนีย เรียกว่าเป็นการเตะข้ามทวีปทีเดียว กรณีการเมืองล้อมกีฬาครั้งนี้ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างสองสมาพันธ์ฟุตบอลเพราะตามกฎหมายระหว่างประเทศสามารถกระทำได้

แต่ตามกฎสมาพันธ์ฟุตบอลทำไม่ได้ ส่งผลให้โมฮัมมัด บิน ฮัมมาม ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียออกมาขู่ว่าสโมสรฟินิกซ์ ต้องยุบทิ้งหรือย้ายมาออสเตร เลียเท่านั้น งานนี้เดือดร้อนถึงฟีฟ่า โดยเซพ แบตเตอร์ ต้องลงมาเคลียร์เอง สรุปว่าเรื่องดังกล่าวตราบเท่าที่สมาคม ฟุตบอลออสเตรเลียและสมาคม ฟุตบอลนิวซีแลนด์ตกลงกันได้ สมาพันธ์ฟุตบอลเอชียไม่เกี่ยว ทำให้ลีกออสเตรเลียกลายเป็นลีกพิสดารที่สุดในโลก

ความพยายามทั้งในภาคประชาชนและภาครัฐได้ส่งผลดีให้วงการฟุตบอลของนิวซีแลนด์อย่างมหาศาล นอกจากนักกีฬานิวซีแลนด์ส่วนหนึ่งจะได้เตะกับนักกีฬาระดับสากลที่ออสเตรเลียและลีกนิวซีแลนด์ ยังได้พัฒนาดาวรุ่งแล้ว ทางสมาคมยังได้พยายามที่จะให้นักเตะนิวซีแลนด์ที่มีพรสวรรค์ ได้ไปทดสอบฝีเท้าในลีกต่างประเทศ ตรงนี้หลายท่านอาจจะบอกว่าไทยก็ทำ แต่นิวซีแลนด์เขาไม่ได้เล็งแต่พรีเมียร์ลีก หรือลีกชั้นนำของโลกแต่อย่างใด ทางสมาคมมักจะให้นักเตะไปทดสอบฝีเท้าในลีกของอเมริกา หรือไม่ก็ลีก 2 (ดิวิชั่นสามในอดีต) หรือไม่ก็ลีกสกอตแลนด์ เพราะในความเป็นจริงแล้วนักเตะในสโมสรกึ่งอาชีพ จะไปเล่นในลีกชั้นนำของโลกทันทีคงมีได้แต่ในภาพยนตร์หรือในจินตนาการ ดังนั้นสมาคมฟุตบอลนิวซีแลนด์จึงไม่ทำเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ให้นักเตะเหล่านี้ไปเล่นในระดับที่ควรจะเป็นและให้พวกเขาพัฒนาตนเองและเลื่อนขั้นไปสู่ทีมที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

ยกตัวอย่างเช่น ไรอัน เนลเซน กัปตันทีมชาตินิวซีแลนด์และกัปตันสโมสรแบลคเบิร์นในพรีเมียร์ลีก ก็เริ่มจากลีกอเมริกาโดยผ่านจากการคัดตัวนักศึกษาในอเมริกาเข้าสู่ทีมดีซียูไนเต็ด ส่วนคริส คิลเลน นักเตะทีมกลาสโกว์เซลติก ก็เริ่มจากการเล่นอาชีพให้ทีมโอลด์แฮมในดิวิชั่น 2 (ลีกหนึ่งในปัจจุบัน) แล้วค่อยย้ายไปเล่นให้ไฮเบรเนียนในสกอตแลนด์มาก่อน เมื่อดูนักเตะในทีมชาติกีวีแล้ว จะเห็นว่ามีนักกีฬา 10 คนที่ค้าแข้งในต่างประเทศ โดยมีเล่นในพรีเมียร์ลีก 1 คน แชมเปี้ยนชิป 2 คน ลีกสอง 1 คน สกอตติชพรีเมียร์ลีก 2 คน เอ็มแอลเอสของอเมริกา 4 คน ตรงนี้ไม่รวมที่เล่นในลีกออสเตรเลียอีกหลายต่อหลายคน ซึ่งเมื่อรวมตัวกันเพื่อคัดบอลโลก ย่อมต้องมีศักยภาพที่ใช้ได้

นอกจากนี้ในช่วงที่คัดบอลโลก นิวซีแลนด์ไม่ได้เรียกนักเตะที่อยู่ในอเมริกาหรือยุโรปให้กลับมาเล่นทุกนัด แต่ใช้นักเตะในประเทศและที่เล่นในออสเตรเลียเป็นหลัก โดยบรรดานักเตะที่มีชื่อเสียงนั้นถูกเรียกรวมตัวจริงๆ แค่ในนัดที่ตัดเชือกชนะบาห์เรน ทำให้พวกเขาได้ทดสอบนักเตะดาวรุ่งอย่างสม่ำเสมอ

เมื่อหันมามองวงการฟุตบอลบ้านเรา ผมเป็นคนหนึ่งที่อดน้อยใจในฐานะแฟนฟุตบอลคนหนึ่ง ไม่ได้ เมื่อ 25 ปีก่อนวงการฟุตบอลบ้านเรามีนักฟุตบอลอัจฉริยะมากมาย ขนาดเกาหลีใต้ยังเกรงกลัวปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ในยุคเดียวกัน วิทยา เลาหกุล ไปโลดแล่นในเยอรมนีให้กับสโมสรแฮร์ธา เบอร์ลิน ในยุคนั้นเราต้อนหมูญี่ปุ่นเป็นประจำเพราะว่าญี่ปุ่นเพิ่งเริ่มพัฒนาเจลีก เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาสถานการณ์กลับกันเราไม่ต้องไปพูดถึงชนะญี่ปุ่น หรือเกาหลีแล้ว เพราะเราต้องล่าถอยมาเล่นกับเวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซียแทน โดยภาคภูมิใจว่าเราเป็นหนึ่งในอาเซียน

เมื่อปลายปีที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นบ้างหลายท่านคงจำกันได้ ซึ่งผมเชื่อว่าทีมฟุตบอลของไทยเราต้องปฏิรูปครั้งใหญ่เพื่อก้าวไปข้างหน้าอีกครั้ง ส่วนทีมออลไวท์ของนิวซีแลนด์นั้นแม้จะได้ไปบอลโลก แต่เมื่อโดนแบ่งไปอยู่สายที่หนักอย่างกลุ่มเอฟที่ต้องเจอกับแชมป์เก่าอย่างอิตาลี ที่ 3 ของอเมริกาใต้อย่างปารากวัย ตามด้วยสโลวะเกีย บรรดาเซียนบอลต่างฟันธงว่าทีมกีวีคงได้ขนลูกฟุตบอลกลับบ้านเป็นเข่งอย่างไม่ต้องสงสัย แต่อย่างน้อยที่สุดพวกเขาก็สามารถทำให้ฝันของพวกเขาเป็นจริงได้

ส่วนออลไวท์จะไปได้ไกลขนาดไหน จะหักปากกาเซียนได้หรือไม่ คงต้องรอดูกันต่อไป   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us