Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา กุมภาพันธ์ 2553
Nomura’s Jellyfish Spiral             
โดย ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
 


   
search resources

Environment




คงไม่ใช่เรื่องน่าภิรมย์แน่ หากท้องทะเลที่มีความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเคยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยกุ้งหอยปูปลานั้นถูกสัตว์น้ำหน้าตาประหลาดอย่างแมงกะพรุนจำนวนนับไม่ถ้วนรุกล้ำเข้ามาแหวกว่ายแทนที่เต็มไปหมด

ทัศนียภาพดังกล่าวไม่ใช่จินตนาการที่จำลอง มาจากนิยายวิทยาศาสตร์หากแต่กำลังกลายเป็นจริงทีละน้อยเยี่ยงเกลียว Spiral ที่หมุนตัวควงสว่าน อยู่กลางทะเลซึ่งเป็นกลไกลูกโซ่อธิบายมูลเหตุที่แมงกะพรุนรุกคืบเข้าคุกคามน่านน้ำใน Japan Sea

Jellyfish Spiral นิยามถึงปรากฏการณ์ที่จำนวนของแมงกะพรุนได้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล (Jellyfish bloom) ต่อเนื่องจนกลายเป็นประชากรหลักของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศวิทยาทางทะเลทั้งยังยากที่จะปรับให้หวนสู่สภาพเดิมภายในระยะ เวลาอันสั้น ซ้ำร้ายแมงกะพรุนที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเหลือคณานับนั้นคือ Nomura's Jellyfish (ชื่อวิทยาศาสตร์ Nemopilema nomurai) ซึ่งเป็นแมงกะพรุนยักษ์ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตรสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ในอดีตปรากฏหลักฐานที่บันทึกเกี่ยวกับ Nomura's Jellyfish bloom ในปี ค.ศ.1920, 1958, 1995 ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก แต่หลังจากย่างเข้าศตวรรษใหม่เป็นต้นมาอาจกล่าวได้ว่าเป็นปรากฏ การณ์ประจำปีที่พบเห็นได้ในท้องทะเลของญี่ปุ่น ตั้งแต่ต้นฤดูร้อนในเดือนกรกฎาคมจนถึงกลางฤดูหนาวในเดือนกุมภาพันธ์

อันที่จริงหลายปีที่ผ่านมามีรายงาน Jellyfish bloom จากหลายแห่งทั่วโลกทำให้นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมุติฐานสาเหตุของปรากฏการณ์นี้ที่มีส่วนสัมพันธ์กับภาวะโลกร้อนแต่ในกรณีของ Nomura's Jellyfish Spiral ยังมีปัจจัยอื่นที่ข้องเกี่ยวนอกเหนือไปจากอุณหภูมิ น้ำทะเลที่สูงขึ้น

วงจรชีวิตของ Nomura's Jellyfish ในระยะ Polyp มีถิ่นกำเนิดจาก 2 แหล่งใหญ่ในทะเลเหลือง (Yellow Sea วงกลมสีดำในภาพประกอบ) แหล่งหนึ่งคือทางฝั่งประเทศเกาหลีใต้ (ลูกศรสีน้ำเงิน) และอีกแหล่งตรงข้ามอยู่ทางฝั่งประเทศจีน (ลูกศรสีแดง) ซึ่ง Budding Polyp ที่เกาะยึดอยู่ใต้ท้องทะเลจะปล่อยส่วนบนที่เรียกว่า Ephyra ออกมาแล้วล่องลอยไปในทะเลเข้าสู่ระยะที่ 2 กลายเป็นแมงกะพรุนขนาดเล็กประมาณ 10 เซนติเมตร

Ephyra จากทั้งฝั่งเกาหลีและจีนจะใช้เวลาประมาณเดือนครึ่งเพื่อพัฒนาต่อไปเป็น Medusa ซึ่งถูกกระแสน้ำพัดพาเข้าสู่ Japan Sea ในช่วงเดือนกรกฎาคมและไล่บริโภคปลาจนมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตรภายใน 3-4 เดือน ซึ่งสามารถพบเห็นได้ตั้งแต่ Matsue, Niigata, Akita เรื่อยไปจนถึง Hokkaido (ตามเส้นทางลูกศรสีดำ) โดยปกติ จะตายไปเองตามธรรมชาติเนื่องจากอุณหภูมิของน้ำทะเลในเขตหนาวซึ่งโดยเฉลี่ย Nomura's Jellyfish จะมีอายุขัยอยู่ได้ราว 1 ปี

ในขณะเดียวกัน Budding Polyp สืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศจะเพิ่มจำนวน Polyp ขนาดเล็กแผ่ขยายอาณาเขตในบริเวณใกล้เคียงออกไปซึ่ง Polyp เหล่านี้สามารถมีชีวิตคงอยู่ได้ตลอด กระนั้นก็ตามข้อเท็จจริงในปัจจุบันบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรแมงกะพรุนยักษ์พันธุ์นี้ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปกติหลายสิบถึงร้อยเท่าตัวซึ่งจากรายงานล่าสุดพบมากถึง 580 ล้านตัวในหนึ่งปีและมีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้นเรื่อยๆ

Nomura's Jellyfish ที่ว่ายเข้ามาติดอวนแหของเรือประมงญี่ปุ่นจะปล่อยเข็มพิษทำอันตรายปลาอื่นที่ติดอยู่ในแห ซึ่งหากเป็นแหของเรือประมงขนาดเล็กอาจถูกตัดขาดได้โดยง่ายส่งผลให้ปลาที่ติดอยู่ภายในว่ายหนีออกไปหรือไม่ก็ตายไปเสียก่อนเพราะเข็มพิษของ Nomura's Jellyfish ด้วยขนาดอัน ใหญ่โตนี้ยังเป็นอันตรายต่อนักประดาน้ำและเรือประมง ขนาดเล็ก ซึ่งตกเป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ให้เห็นอยู่เนืองๆ

นอกจากนี้อุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากภาวะโลกร้อนเป็นสาเหตุให้อายุขัยเฉลี่ยของ Nomura's Jellyfish ยาวนานขึ้นและยังสามารถพบได้ในบริเวณที่ไม่เคยมีรายงานมาก่อนเช่นในแถบ Sendai ทางฟากมหาสมุทรแปซิฟิกว่ายผ่านเข้ามาทางช่องแคบระหว่างเกาะ Hokkaido กับเกาะ Honshu (ตามลูกศรสีน้ำตาล) ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวแปรเร่งการอุบัติ Nomura's Jelly-fish Spiral มีหลายอย่าง ซึ่งหนึ่งในนั้นได้แก่ น้ำจืดปนเปื้อนมลพิษที่ปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรม เหมืองแร่ โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าที่ตั้งอยู่บนสองฟากตลอดแม่น้ำ แยงซีเกียง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายยาวที่สุดในเอเชียไหลลงสู่ทะเลเหลืองที่เมืองเซี่ยงไฮ้

สิ่งปลูกสร้างที่ยื่นลงไปในทะเลเหลืองเพื่อรองรับ การเติบโตทางเศรษฐกิจเอื้อพื้นที่ผิวยึดเกาะของ Polyp นอกจากนี้เขื่อนสามผาซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่สร้างกั้นแม่น้ำแยงซีเกียงล้วนแต่กระทบต่อสมดุลของนิเวศวิทยา ส่งผลให้แพลงก์ตอนสัตว์ในทะเลเหลือง มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

อุตสาหกรรมประมงเป็นอีกสาเหตุสำคัญกล่าวคือ ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization: FAO) เผยปริมาณการจับปลาของชาวประมงจีนซึ่งครองสถิติสูงสุดในโลกต่อเนื่องนานกว่า 10 ปี อาจเป็นตรรกะที่ถูกต้องสำหรับประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ซึ่งย่อมมีความต้องการทางโภชนาการสูงเป็นเงาตามตัว ทำให้มีปริมาณการจับปลาเป็นสูงสุดในโลก หากแต่อินเดียซึ่งมีประชากรมากเป็นอันดับสอง ของโลก หาได้มีสถิติการจับปลาสูงเป็นอันดับสองแต่อย่างใดทั้งที่สองประเทศนี้ก็ไม่ได้ชื่อว่าบริโภคสัตว์น้ำเป็นอาหารหลักเหมือนๆ กัน

กระนั้นก็ดี FAO ระบุว่าสถิติการจับปลาที่เกินความต้องการเพื่อการบริโภคนี้มีสัดส่วนสูงถึง 3 เท่า ตัว เท่ากับเป็นการทำลายสมดุลของระบบห่วงโซ่อาหารในทะเลเหลืองซึ่งประชากรสัตวน้ำที่ลดลงในอัตราเร่งอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นเหตุให้แพลงก์ตอนสัตว์ที่เป็นอาหารของแมงกะพรุนเหลือเพิ่มมากยิ่งขึ้น ความเป็นไปของ Nomura's Jellyfish Spiral นั้นนอกจากจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ามากกว่าหนึ่งหมื่นล้านเยนต่อปีแล้ว การทำลายสมดุลธรรมชาติใน Japan Sea ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกนั้นไม่สามารถประเมินค่าออกมาเป็นตัวเงินได้

ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่อาจกระตุ้นจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งทางอากาศ ทางบกและทางน้ำซึ่งเทียบเท่ากับไปเพิ่มต้นทุนการผลิตที่บั่นทอนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องเพราะผลกระทบ โดยตรงนั้นเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นซึ่งดูเหมือนจะอยู่ไกลตัวเกินกว่าจะได้รับการเหลียวแล

สิ่งที่พึงกระทำได้ในปัจจุบันมีแค่เพียงเพิ่มการเฝ้าระวังและดักจับ Nomura's Jellyfish บริเวณทางเหนือของเกาะ Kyushu ในช่วงเดือนกรกฎาคมก่อนที่จะกล้ำกรายเข้ามาใน Japan Sea ควบคู่กับ เร่งพัฒนาอวนแหที่ทนทานต่อการทำลาย วิจัยเทคโน โลยีการกำจัด Nomura's Jellyfish ให้มีประสิทธิภาพ มากขึ้น รวมถึงพัฒนาการนำเนื้อ Nomura's Jellyfish มาใช้ให้เกิดประโยชน์

ในขณะที่วิถีทางการทูตเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมยังไม่เห็นผล มาตรการเหล่านี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งคาดหวังว่าจะช่วยบรรเทาอัตราการเสื่อมโทรมของ Japan Sea และมหาสมุทรแปซิฟิกได้บ้างก่อนที่ทุกสิ่งจะสายเกินเยียวยา   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us