Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา กุมภาพันธ์ 2553
เพลงประจำชาติอินเดีย วิวาทะไม่รู้จบ             
โดย ติฟาฮา มุกตาร์
 





ชาวอินเดียนั้นเป็นคนช่างวิวาทะ มักมีประเด็นทั้งเก่าใหม่มาถกเถียงกันอยู่ไม่เลิกรา ซึ่งถ้ามองโลกในแง่ดีก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องของสังคมประชาธิปไตย หากขี้รำคาญคงบอกว่าเสียเวลาน่าเบื่อ เรื่องหนึ่งที่เป็นประเด็นวิวาทะอยู่เป็นครั้งคราวคือเรื่องของเพลงประจำชาติที่ชื่อว่า Vande Mataram

อินเดียนั้นมีทั้งเพลงชาติและเพลงประจำชาติ เพลงชาติ (National Anthem) ชื่อว่า Jana Gana Mana ส่วนเพลงประจำชาติ (National Song) ชื่อ ว่า Vande Mataram ทั้งสองเพลงมาจากบทกวีแต่งโดยชาวเบงกาลี ขณะที่เพลงชาติแต่งโดยท่านรพินทรนาถ ฐากูร กวีนักคิดและนักการศึกษาเจ้าของรางวัลโนเบลที่ชาวไทยรู้จักดี ส่วนเพลงประจำชาติแต่งโดย Bankim Chandra Chatterjee ซึ่งท่านรพินทร์เป็นคนแรกที่นำมาร้องจนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย

ข้อถกเถียงถึงความเหมาะสมของ Jana Gana Mana ในฐานะเพลงชาติ มีประเด็นอยู่ที่ที่มาของบทกวี ซึ่งตามประวัติแล้ว ท่านรพินทร์แต่ง ขึ้นตามคำร้องขอของ Indian National Congress ในคราวเสด็จเยือนอินเดียของพระเจ้าจอร์จที่ห้าในปี 1911 ซึ่งขณะนั้นอินเดียยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ โดยในวันที่ 16 ธันวาคม พรรคคองเกรสส์ฯ ได้จัดงานประชุมเพื่อเตรียมการต้อนรับ และในวันที่ สองของการประชุมได้มีการร้องเพลงจานา กานา มานา เป็นเหตุให้บรรดาหนังสือพิมพ์พากันรายงานข่าวในทำนองว่า ท่านรพินทรนาถ ฐากูรขับร้องเพลง ที่แต่งขึ้นเป็นพิเศษเพื่อเป็นเกียรติแด่พระจักรพรรดิ (หนังสือพิมพ์สเตทส์แมน วันที่ 28 ธันวาคม 1911) ซึ่งท่านรพินทร์ก็ไม่ได้เดือดร้อนออกมาแก้ข่าวแต่อย่างใด คนทั่วไปจึงเข้าใจกันว่า เนื้อหาของบทกวีดังกล่าวเขียนเพื่อสรรเสริญกษัตริย์เจ้าอาณานิคม ต่อมาจึงมีผู้ตั้งคำถามว่าควรหรือที่จะใช้เป็นเพลงชาติ

แต่สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับงานนิพนธ์ของท่าน ย่อมเข้าใจได้ว่าสิ่งที่ท่านสรรเสริญหรือกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งในบทกวีอื่นๆ รวมทั้งจานา กานา มานาเอง เป็นพลังสากลที่อยู่เหนือคำนิยาม หากจะเรียกขานว่า เป็นเทพหรือพระเจ้า ก็เป็นเชิงสัญญะมากกว่าจะเจาะจงถึงพระเจ้าองค์ใด ซึ่งเรื่องนี้ยืนยันได้จากหลักฐานในเวลาต่อมา เช่นที่ W. B. Yeats กวีชาวไอริชกัลยาณมิตรของท่านเขียนไว้ว่า ท่านรพินทร์ค่อนข้างลำบากใจต่อคำขอของพรรคคองเกรสส์ฯครั้งนั้น และส่งมอบบทกวีที่เพิ่งเขียนขึ้นในเช้าวันหนึ่งให้ ส่วนท่านรพินทร์เองต่อมากล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ในจดหมายถึง Pulin Behari Sen ว่า ตนงงงันและกระอักกระอ่วนใจต่อคำขอ จึงตอบโต้ความรู้สึกนั้นด้วยบทกวีประกาศชัยแด่พระผู้ลิขิตชะตาของอินเดีย "พระผู้กุมหัวใจของอินเดียทั้งผอง ผู้นำทาง ย่อมมิใช่กษัตริย์จอร์จที่ห้า ที่หก หรืออื่นใด ซึ่งเพื่อนคนที่ขอให้ข้าพเจ้าเขียนก็เข้าใจความเรื่องนี้ดี"

บทกวีดั้งเดิมนั้นเขียนขึ้นในภาษาเบงกาลี กระทั่งต่อมาในปี 1919 ท่านรพินทร์จึงแปลเป็นภาษาอังกฤษ และร่วมแต่งทำนองโดย Margaret Counsins บทเพลงดังกล่าวจึงเริ่มแพร่หลาย หลังอินเดียประกาศเอกราช ซึ่งในขณะนั้นท่านรพินทร์ถึงแก่มรณกรรมแล้ว สภาร่างรัฐธรรมนูญของอินเดียได้มีมติเลือกจานา กานา มานา บทแปลภาษาฮินดีเป็นเพลงชาติ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 1950 ขณะที่บทกวี Amar Shonar Bangla ซึ่งท่านประพันธ์ไว้ก่อนหน้าก็ได้รับเลือกเป็นเพลงชาติของบังกลาเทศ

วิวาทะอีกประเด็นเกี่ยวกับเพลงชาติมีขึ้นในปี 2005 เมื่อมีผู้เรียกร้องให้แก้ไขท่อนที่ว่า "นามของท่านเร้าดวงใจประชาแห่งปัญจาบ สินธ์ คุชราตและมาราธา ทั้งดราวิดา โอริสสา และเบงกอล" โดยให้ตัดสินธ์ออกและแทนที่ด้วยแคชเมียร์ เพราะหลังแยก ดินแดนออกเป็นอินเดียและปากีสถาน แคว้นสินธ์ (Sind) ตกไปอยู่ในเขตปากีสถาน สำหรับฝ่ายที่ไม่เห็น ด้วยมีความเห็นว่า สินธ์มีความหมาย ที่ลึกซึ้งถึงอารยธรรมและผู้คนแห่งลุ่ม แม่น้ำสินธุ ซึ่งเป็นต้นรากและหลอม รวมอยู่ในความเป็นอินเดีย มิได้ตื้นเขิน อยู่เพียงแค่ชื่อแคว้นหรือพรมแดน อย่างไรก็ตาม ศาลสูงสุดอินเดียได้ลงความเห็นไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงหรือ แก้ไขวรรคตอนใดของเพลงชาติ

สำหรับบทกวีวันเด มาตารัม หลังจากท่านรพินทร์นำมาขับร้องครั้งแรกในที่ประชุมของ Indian National Congress ที่เมืองกัลกัตตา ปี 1896 ก็กลายเป็นเพลงปลุกใจที่อยู่คู่มากับการต่อสู้เรียกร้อง เอกราชของอิ นเดีย และวรรคแรกซึ่งเป็นชื่อเพลงแปลได้ว่า "สดุดีแด่มาตุภูมิ" หรือ "Hail to the Mother (land)" ก็เป็นคำขวัญที่ผู้ชุมนุมประท้วงใช้ตะโกนจนอังกฤษต้องประกาศห้ามและสั่งจับกุมผู้ฝ่าฝืน

วิวาทะครั้งสำคัญเกี่ยวกับเพลงวันเด มาตารัม มีขึ้นในช่วงปี 1937-39 ซึ่งขณะนั้นผู้นำขบวนการเรียกร้องเอกราชได้แยกออกเป็นขั้วฮินดู (คองเกรสส์) และมุสลิม (All India Muslim League) อย่างชัดเจน Mohammed Ali Jinnah หนึ่งในผู้นำฝ่ายมุสลิมได้ หยิบยกประเด็นเพลงวันเด มาตารัมขึ้นมาระหว่างการประชุมกับจาวาฮาร์ลัล เนห์รูผู้นำคองเกรสส์ ในช่วงต้นปี 1938 เนื่องจากเพลงบางท่อนเปรียบแผ่นดินแม่เป็นดั่งเทพธุรคาและลักษมีในศาสนาฮินดู ทำให้สมาชิกขบวนการเรียกร้องเอกราชที่เป็นมุสลิม ไม่สะดวกใจที่จะร้อง ทั้งเกรงกันว่าพรรคคองเกรสส์ จะผลักดันเพลงดังกล่าวให้เป็นเพลงชาติของอินเดีย

พรรคคองเกรสส์ไม่ต้องการให้เกิดการแตกคอระหว่างฮินดู-มุสลิมมากไปกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งยังไม่ มั่นใจในฐานอำนาจของตนในการประมือกับอังกฤษ หากปราศจากการสนับสนุนจากกลุ่มมุสลิม จึงมีการประชุมเพื่อแก้ปัญหา และเนห์รูถึงกับต้องปรึกษาขอคำแนะนำจากท่านรพินทร์ โดยท่านได้แนะนำว่าเนื้อเพลงนั้นเมื่อมองโดยรวมอาจกระทบกระเทือนความรู้สึกของผู้ที่นับถือพระเจ้าองค์เดียวโดยเฉพาะชาวมุสลิม แต่หากแยกเฉพาะสองท่อนแรกออกมาก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา พรรคคองเกรสส์จึงมีมติตามคำแนะนำดังกล่าว โดยมหาตมะ คานธี ถึงกับเป็นผู้ร่างมติด้วยตนเองในเดือนมกราคม 1939 เนื้อความมีประเด็นว่า เพลงวันเด มาตารัมเวอร์ชั่นทางการให้สงวนไว้เฉพาะท่อนที่จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้วยเหตุทางศาสนาความเชื่อหรือปัจจัยอื่นใด นัยหนึ่งคือตัดท่อนที่เป็นปัญหาออก ส่วนการขับร้องหรือยืนตรงขณะมีการขับร้องให้เป็นสิทธิส่วนบุคคล ทั้งแนะว่าในที่ประชุมกรรมการหรือสภา ท้องถิ่นซึ่งสมาชิกมาจากหลากหลายภาคส่วน ควรยกเลิกการร้องเพลงวันเด มาตารัม ซึ่งมติดังกล่าวนี้ถือเป็นแนวทางสำคัญที่ทำให้สภาร่างรัฐธรรมนูญของอินเดียในเวลาต่อมา เลือกเพลงจานา กานา มานาเป็นเพลงชาติ และสงวนเพลงวันเด มาตารัมไว้เป็นแค่เพลงประจำชาติ

เมื่อย้อนดูที่มาของเพลงวันเด มาตารัมจะพบว่า อันที่จริง Bankim Chandra ได้แต่งสองท่อน แรกไว้ตั้งแต่ปี 1872 ด้วยภาษาเบงกาลีผสมสันสกฤต ในลักษณะของกลอนสรรเสริญความงดงามของแผ่นดินแม่ จนหลายปีต่อมาเมื่อเขาประพันธ์นวนิยาย เรื่อง Anandamath บทกวีดังกล่าวได้ถูกขยายเพิ่มขึ้นอีก 4 ท่อน และเปรียบเปรยเสริมถึงมาตุภูมิด้วยภาพลักษณ์เทพเจ้าของชาวฮินดู อย่างไรก็ตามในคราวที่มีการลงมติเลือกใช้เฉพาะสองท่อนแรกเป็นเพลงทางการนั้น ยังไม่มีใครทราบถึงข้อเท็จจริง เรื่องนี้

ในปี 2006 วันเด มาตารัมกลับมาเป็นประเด็นถกเถียงในรัฐสภาอีกครั้ง เมื่อมีการฉลองครบรอบ 125 ปีของเพลงดังกล่าว และมีคำถามว่าควรให้เป็นเพลงบังคับในการประชุมแถวนักเรียนในทุกโรงเรียนหรือไม่ แต่รัฐบาลในขณะนั้นมีมติว่า การร้องเพลงนี้ขอให้เป็นเรื่องความสมัครใจ

แม้แต่เพลงชาติเองก็เคยมีกรณีในรัฐเกรละ ที่เด็กถูกไล่ออกจากโรงเรียนเหตุเพราะปฏิเสธที่จะร้องเพลงชาติ แต่เมื่อผู้ปกครองอุทธรณ์ต่อศาลสูงสุด ศาลก็มีคำตัดสินให้ทางโรงเรียนรับเด็กกลับเข้าเรียน พร้อมทั้งย้ำว่า "ขนบประเพณีของเราสอนเรื่องความอดกลั้น (tolerance) ปรัชญาของเราล้วนสอนในเรื่องนี้ รัฐธรรมนูญของชาติเราก็ยึดหลักนี้ เราอย่ายอมย่อหย่อนในเรื่องนี้เลย"

หากวิวาทะใดๆ อิงอยู่ด้วยความอดกลั้นต่อความต่างและหลากหลายทางความคิดความเชื่อ แม้จะไม่ได้นำไปสู่ข้อยุติอันถาวร ก็อาจถือได้ว่าเป็นแบบฝึกหัดสำคัญแก่การขัดเกลาสังคมประชาธิปไตย   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us