Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา กุมภาพันธ์ 2553
Bill Clinton กับทัศนะต่อศตวรรษที่ 21             
 





ในฐานะอดีตประธานาธิบดีของประเทศที่ยิ่งใหญ่ ผู้หันมาทำงานเพื่อสาธารณกุศลในระดับโลก Clinton แสดงทัศนะเกี่ยวกับโลกในศตวรรษที่ 21 ทั้งที่เป็นอยู่และที่ควรจะเป็นในอนาคต


Newsweek: ปัญหาใดที่ท่านเห็นว่าสำคัญที่สุดในขณะนี้และคนอเมริกันควรจะสนใจปัญหาใดในอีกปีสองปีข้างหน้า

Clinton: ก่อนอื่น เราต้องเริ่มด้วยการวางกรอบที่ถูกต้องก่อน ซึ่งเริ่มต้นด้วยการยอมรับว่า ศตวรรษนี้เป็นยุคที่ทุกอย่างเกี่ยวพันและขึ้นต่อกันและกันมากที่สุด ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ Internet การเดินทางที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก การอพยพย้ายถิ่นและความหลากหลายที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เผยแพร่ไปมากขึ้น ทำให้เราเชื่อมโยงกันในหลายๆ ด้าน และเราไม่อาจจะขาดจากกันได้ การกระทำของเราส่งผลกระทบถึงคนอื่นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง และเป็นสาเหตุที่ทำให้เราต้องสนใจว่า เกิดอะไรขึ้นที่พรมแดนอัฟกานิสถานที่ติดกับปากีสถาน

การขึ้นต่อกันและกันมากขึ้นเป็นได้ทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี ผมคิดว่าภารกิจของศตวรรษที่ 21 คือ สร้างเสริมด้านดี และพยายามลดด้านที่ไม่ดี ของการที่เราต้องขึ้นต่อกันและกัน ไม่ว่าผมหรือคุณจะทำอะไร มันอาจจะผิดพลาดได้ แต่ขอให้เราถามตัวเองว่า สิ่งที่ทำนั้นช่วยส่งเสริมด้านที่ดีของการขึ้นต่อกันและกัน หรือช่วยลบด้านลบของมันหรือไม่

สิ่งที่เป็นด้านลบของการที่เราต้องขึ้นต่อกันและกันมากขึ้น มีอยู่ 3 อย่าง อย่างแรกคือความไม่เท่าเทียมกัน ทั้งโอกาสทางเศรษฐกิจ การรักษาพยาบาล และการศึกษา ซึ่งกำลังเกิดขึ้นทั่วทั้งโลก และโดยเฉพาะในชาติร่ำรวยส่วนใหญ่ ความไม่เท่าเทียมกันเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ประชาชน 20% ที่อยู่ระดับล่างสุด เริ่มมีรายได้ลดลงอีกครั้ง และนี่เป็นปัญหาที่พบเห็นได้ทั่วไป ปัญหาที่สองคือความไร้เสถียรภาพ ได้แก่การก่อการร้าย อาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง ความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ไข้หวัดนก และวิกฤติการเงินโลก ปัญหาทั้งหมดนี้แพร่ไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วราวกับไฟไหม้ฟาง เพราะพรมแดนกลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย ปัญหากลุ่มสุดท้ายหยั่งรากลึกอยู่ในปัญหาโลกร้อน นั่นคือปัญหาโลกไร้ความยั่งยืน เพราะโลกกำลังร้อนขึ้น

น่าแปลกใจมากที่ปัญหาต่างๆ เหล่านั้น ลึกๆ แล้วล้วนแต่เกี่ยวพันกัน ผมเห็นปัญหาเหล่านี้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ทั้งปัญหาการไร้เสถียรภาพและไร้ความยั่งยืน หากมองถึงการจัดการปัญหานี้ในชาติยากจน การให้ความช่วยเหลือโดยตรงเพียงอย่างเดียวไม่ได้ผล แต่ต้องช่วยทำให้ประชาชนในประเทศเหล่านั้น มีความสามารถที่จะพึ่งพาตัวเองได้ คอร์รัปชั่นเป็นปัญหาหรือไม่ ใช่ แต่จากประสบการณ์ของผม คอร์รัปชั่นจะไหลเข้าสู่สุญญากาศ ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ประชาชนไร้ความสามารถ และแม้แต่ในที่ที่ประชาชนมีความสามารถ แต่คอร์รัปชั่นก็ยังเกิดขึ้นได้ เช่นคดีแชร์ลูกโซ่ครั้งใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ของ Bernie Madoff หรือคอร์รัปชั่นในเกาหลีใต้ ดังนั้นประเด็นคือ เมื่อคุณมีความสามารถมากพอที่จะพึ่งพาตัวเองได้ เพราะว่าคนส่วนใหญ่มีความซื่อสัตย์ คุณจะได้รับประโยชน์สูงสุด

ส่วนปัญหาของประเทศร่ำรวยคือควรยืดหยุ่นให้มากขึ้น ประเทศยุโรปที่มีเศรษฐกิจดีที่สุด (ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งล่าสุด) คือเดนมาร์ก สวีเดน เยอรมนี และอังกฤษ ซึ่งบังเอิญเป็นเพียง 4 ชาติ ในทั้งหมด 44 ชาติที่ลงนามในสนธิสัญญา Kyoto แก้ปัญหาโลกร้อน ที่เอาจริงกับการแก้ปัญหาดังกล่าว การเปลี่ยนวิธีผลิตและบริโภคพลังงานของ

ทั้ง 4 ประเทศ ทำให้เกิดการสร้างงานใหม่ ผลการศึกษาของ Deutsche Bank เมื่อเร็วๆ นี้พบว่า ผลจากการที่เยอรมนีเปลี่ยนไปใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ทำให้สร้างงานใหม่ได้ถึง 300,000 ตำแหน่ง ซึ่งถ้าเป็นในสหรัฐฯ คงสร้างงานได้ถึง 1.2 ล้านตำแหน่ง ผลการศึกษาของรัฐบาล Bush เองยังระบุว่า สหรัฐฯ สามารถจะผลิตกระแสไฟฟ้า 25% จากพลังงานลมเหมือนกับเดนมาร์กได้ ถ้าหากเราสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าที่เชื่อมกับพลังงานลม


Newsweek: ในฐานะที่ท่านยังคงมีอิทธิพลอย่างสูงต่อวงการเมืองและการสาธารณกุศล ท่านเห็นว่าอะไรบ้างที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงที่ท่านกล่าวถึง ใช่วัฒนธรรมหรือไม่

Clinton: มีบ้าง อย่างเช่นปัญหาเรื่องการรักษาพยาบาล อุปสรรคบางส่วนเป็นเรื่องวัฒนธรรม เรา (คนอเมริกัน) เคย ชินกับการเชื่อว่า ทุกอย่างที่เรามีล้วนดีที่สุด ซึ่งรวมถึงระบบการรักษาพยาบาล เรายอดเยี่ยมเรื่องการตรวจและรักษามะเร็ง เรายอดเยี่ยมเรื่องการดูแลหัวใจ ไม่เช่นนั้นคงต้องเป็นคนอื่นที่มานั่งให้สัมภาษณ์คุณอยู่ตรงนี้ (Clinton เคยผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจ 4 หนเมื่อปี 2004) จริงอยู่ เรายอดเยี่ยมในเรื่องที่สำคัญ แต่กับเรื่องที่เป็นพื้นฐานหลายอย่าง เรากลับยังทำได้ไม่ดี แต่เราไม่รู้ตัว

ปัญหาเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อระบบประกันสุขภาพซึ่งขึ้นอยู่กับนายจ้างเป็นหลัก และเคยเป็นระบบที่ดีในยุคอุตสาหกรรม แต่มันหมายถึงว่า 50% หรือกว่านั้นของคนอเมริกัน ได้รับการรักษาพยาบาลผ่านบริษัทที่เขาทำงานอยู่ และจ่ายค่ารักษาเพียง 1 ใน 4 ของค่าใช้จ่ายจริง และพวกเขาไม่เข้าใจว่า ทำไมถึงไม่ได้ขึ้นเงินเดือนตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นเพราะนายจ้างของเขาต้องเอาเงินที่จะใช้ขึ้นเงินเดือน ไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนใหญ่แทนลูกจ้าง ผมคิดว่าเรามีความรู้ที่ไม่สมบูรณ์ และมีการต่อต้านระบบการรักษาพยาบาลที่มีสาเหตุมาจากวัฒนธรรม เช่นเดียวกับในเรื่องพลังงาน เราก็มีความรู้ที่ไม่สมบูรณ์เช่นกัน ยังมีคนอีกจำนวนมากที่เชื่อว่า หนทางเดียวที่จะทำให้ประเทศของเรารวยขึ้นคือการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีคาร์บอนให้มากขึ้น จึงไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยการลดการปล่อยคาร์บอน เพราะคิดว่าจะทำให้ตัวเองจนลง อย่างไรก็ตาม เราจะไปบอกให้คนที่ไม่มีแม้แต่เงินพอที่จะซื้อของกินของใช้ประจำวัน ให้ยอมลดรายได้ของตัวเองลง เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน ก็เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้


Newsweek: อะไรที่ทำให้ท่านกล่าวว่า ถึงจุดจบของแนวคิด "future preference" (คือแนวคิดที่ว่า ทุกคนมีหน้าที่ต้องสละวันนี้ เพื่อประโยชน์ของวันพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นหลักการที่ Clinton ยึดถือมานาน)

Clinton: ใช่ ผมรู้สึกกังวล ปัญหาของชาติร่ำรวยคือการยึดติดมากเกินไปไม่ยืดหยุ่น ส่วนปัญหาของชาติยากจนคือการขาดความสามารถ เราทุกคนจึงมีปัญหาเดียวกันอย่างที่นักปรัชญา Ken Wilber กล่าวไว้ ทฤษฎีของเขาคือ จิตสำนึกมี 10 ระดับ หมายถึงวิธีที่เรามองตัวเองและมองคนอื่น ดังนั้นจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ ที่ทุกคนจะสามารถทำในสิ่งที่สถานการณ์เรียกร้องได้ทุกอย่าง หากคุณอยู่ในโลกที่ทุกคนต้องขึ้นต่อกันและกันอย่างยุคนี้ อย่างแรกเลย คุณต้องเชื่อว่า สิ่งที่เรามีร่วมกัน สำคัญกว่าสิ่งที่เราแตกต่างกัน และวิธีที่จะทำให้เราใช้ประโยชน์จากความแตกต่างกันให้ได้มากที่สุด คือสร้างความร่ำรวยจากความที่เราแตกต่างกัน สร้างตลาดใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นขึ้นมาจากความแตกต่างของเรา ความแตกต่างยังทำให้เราถกเถียงกันเรื่องการเมืองได้อย่างเผ็ดร้อน โดยไม่จำเป็นต้องโกงเลือกตั้งหรือกำจัดคนที่คิดแตกต่างจากเรา หากคุณถามผมว่า เราจะมีชีวิตอยู่ในความไม่เท่าเทียม ไร้เสถียรภาพ และไร้ความยั่งยืนได้อย่างไร คำตอบของผมคือ เราต้องเสริมสร้างความสามารถให้แก่คนยากจน และสร้างความยืดหยุ่นให้แก่ประเทศร่ำรวย

การเกิดขึ้นขององค์กรเอกชนทั้งในประเทศยากจนและร่ำรวย เป็นความหวังที่แท้จริง องค์กรเอกชนสามารถทำงานร่วมกับทั้งรัฐบาลและภาคเอกชน และสามารถทำงานได้เร็วกว่า ด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า แต่ได้ผลงานที่ดีกว่า สิ่งสำคัญคือ คุณต้องบริหารการเงินให้เป็น ไม่เช่นนั้นสิ่งที่คุณพูด ก็เป็นเพียงแค่ความเพ้อฝัน

ผมกำลังคิดถึงรวันดา สิ่งที่ประธานาธิบดี Paul Kagame กำลังทำ รวันดาเป็นประเทศที่ใช้ประโยชน์จาก NGO ได้เก่งที่สุดที่ผมเคยเห็นมา แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่พวกเขาทำคือ การสร้างอนุสรณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่บันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด เป็นหลุมที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีกระดูกของคน 300,000 คนที่ถูกฆ่าในเหตุการณ์นั้น Kagame บอกว่า เราจะพูดความจริงและเผชิญหน้ากับความจริง แต่หลังจากนั้น เราจะปล่อยให้มันผ่านไป เขาสร้างหมู่บ้านสมานฉันท์ โดยคุณจะได้ที่ดินฟรีๆ ในหมู่บ้านนั้น หากยอมสร้างบ้านอยู่ติดกับเพื่อนบ้านที่มาคนละเชื้อชาติ เขาตั้งสหกรณ์ที่ผู้หญิงต่างเชื้อชาติมานั่งทำงานสานตะกร้าร่วมกัน หรือทำงานหัตถกรรมต่างๆ ที่สามารถส่งไปขายทั่วโลก ผู้ชายทุกคนไม่ว่าจะมีเชื้อสายใดและไม่ว่าจะรวยหรือจน จะออกไปช่วยกันกวาดถนนเดือนละครั้งในวันเสาร์ สิ่งที่รวันดาทำเหมือนจะบอกว่าใช่ เคยมีสิ่งที่เลวร้ายที่สุดเกิดขึ้นกับเรา

แต่หนทางเดียวที่เราจะป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกคือ ปล่อยให้มันผ่านไป และสนใจแต่เฉพาะสิ่งที่เรามีร่วมกัน และนั่นก็คือสิ่งที่ผมเห็นว่าโลกควรจะทำตาม

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค 28 ธันวาคม 2552 - 4 มกราคม 2553   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us