|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
Obama กำลังลดระดับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในยามที่ "จักรวรรดิ" แห่งนี้กำลังเผชิญวิกฤติหนัก
ประธานาธิบดี Barack Obama เปิดเผยนโยบายใหม่เกี่ยวกับสงครามในอัฟกานิสถาน ในการกล่าวที่โรงเรียนนายร้อย West Point เมื่อเร็วๆ นี้ Newsweek วิเคราะห์สุนทรพจน์ดังกล่าวของ Obama พบว่า เขากำลังพยายามลดระดับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ แม้ว่าเขาจะสั่งเพิ่มกำลังทหารในอัฟกานิสถานอีก 30,000 นายก็ตาม แต่นอกเหนือจากนั้น สิ่งที่เขากล่าว ในวันนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการจำกัดขอบเขตภารกิจของสหรัฐฯในอัฟกานิสถาน และการกำหนดเป้าหมายที่แคบลง เป้าหมายทั้งหมดที่ Obama กล่าวถึงในวันนั้นมีแต่เป้าหมายทางทหารล้วนๆ ทั้งการประกาศจะไม่ยอมให้ Al Qaeda ใช้อัฟกานิสถาน เป็นที่พำนักพักพิง การหยุดยั้ง Taliban ที่กำลังกลับมาเหิมเกริมใหม่ และการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กองกำลังความมั่นคงของรัฐบาลอัฟกานิสถาน
Obama เกือบจะไม่ได้กล่าวถึงเป้าหมายที่กว้างกว่านั้นเลยแม้แต่น้อย เช่น การส่งเสริมประชาธิปไตย หรือการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เขากล่าวอย่างชัดเจนในวันนั้นว่า ประเทศที่เขาสนใจจะสร้างนั้น คืออเมริกาเท่านั้น
เห็นได้ชัดว่า Obama กำลังพยายามจะกำหนดนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ใหม่ให้มีความชัดเจนมากขึ้น และมีการแยกแยะความสำคัญ เป็นนโยบายต่างประเทศที่จะตัดพันธะที่มากเกินจำเป็นของสหรัฐฯ ลง รวมทั้งการแทรกแซงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ที่ใช้ในสมัยของ Bush ด้วย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สหรัฐฯ กำลังอยู่ท่ามกลางสงครามที่ไปได้ไม่ค่อยสวยนัก การจะลดระดับนโยบายต่างประเทศลงในเวลาเช่นนี้ จึงอาจดูเหมือนเป็นการปัดภาระ Obama กำลังแสวงหานโยบายต่างประเทศใหม่สำหรับอเมริกาในยุคหลังจักรวรรดิ ในขณะที่จักรวรรดิแห่งนี้กำลังเจอวิกฤติหนัก และการเพิ่มทหาร 30,000 นาย เพียงเพื่อพลิกสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน ก่อนที่จะถอนทหารออกไปภายในอีก 2 ปีก็คือคำตอบของ Obama ต่อภาวะหนีเสือปะจระเข้ของสหรัฐฯ ครั้งนี้
การตัดสินใจดังกล่าวของ Obama เท่ากับเป็นการเลื่อนการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดเกี่ยวกับปัญหาอัฟกานิสถานออกไปอีก จนกว่าการเพิ่มทหารในครั้งนี้จะสามารถพลิกสถานการณ์ในอัฟกานิสถานได้สำเร็จ และ 18 เดือนต่อจากนี้ Obama จะต้องตอบคำถามสำคัญที่ว่า การจะทำให้อัฟกานิสถานกลายเป็นประเทศ ที่มีเสถียรภาพนั้น คุ้มค่าพอที่สหรัฐฯ จะยังคงกองกำลังมหาศาลไว้ในประเทศนั้นต่อไปอีกหรือไม่ หรือว่ามีวิธีอื่นที่อาจรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ได้เช่นเดียวกัน แต่ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่านั้น
ในขณะที่ประธานาธิบดีส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ มักพร่ำพูดถึง เสรีภาพและการเป็นผู้นำโลกเสรี แต่ไม่ใช่ Obama เขาแน่พอและคิดคำนวณผลได้ผลเสียในการเกี่ยวข้องกับประเทศอย่างรัสเซีย อิหร่าน อิรัก หรืออัฟกานิสถาน เขาไม่ใช่คนพร่ำเพ้อฝัน แต่อยู่กับความจริง เขาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เน้นการให้คำจำกัดความสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของสหรัฐฯ อย่างระมัดระวังมากกว่าประธานาธิบดีคนใดของสหรัฐฯ นับตั้งแต่ยุค Richard Nixon เป็นต้นมา
ในการกล่าวที่ West Point Obama กล่าวชัดเจนว่าในฐานะประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เขาไม่ต้องการกำหนดเป้าหมายที่อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบ หรือมากไปกว่าสิ่งที่สหรัฐฯ มีหรือนอกเหนือไปจากผลประโยชน์ของสหรัฐฯ Obama อ้างคำพูด ของอดีตประธานาธิบดี Dwight Eisenhower ซึ่งเป็นบุคคลเพียงคนเดียวที่เขาอ้างถึงในการกล่าวครั้งนั้น และมาจากคนละพรรคกับ เขา Eisenhower เคยกล่าวว่า ปัญหาเรื่องความมั่นคงแห่งชาตินั้น จะต้องถูกชั่งน้ำหนักด้วยการมองในมุมที่กว้างกว่า นั่นคือจำเป็นต้องรักษาสมดุลในระหว่างนโยบายแห่งชาติทั้งหมด แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Obama ระบุว่า สหรัฐฯ ได้สูญเสียสมดุลดังกล่าวไปและเขาหวังว่าจะสามารถฟื้นสมดุลดังกล่าวให้แก่นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้
Obama กล่าวว่า ในที่สุดแล้ว เสถียรภาพและความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ หาได้มาจากความแข็งแกร่งด้านอาวุธแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของอเมริกาต่างหากที่เป็นรากฐานแท้จริงที่ค้ำจุนความสามารถในการเป็นผู้นำโลกของสหรัฐฯ การที่ Obama กล่าวว่า เขาไม่ต้องการทำสงคราม 2 แห่งพร้อมกัน ดูเหมือนเป็นการบอกเป็นนัยว่า สงครามอิรักและอัฟกานิสถาน ไม่ใช่หนทางที่จะนำไปสู่เสถียรภาพ ของสหรัฐฯ ในระยะยาว แต่การแก้ปัญหาในบ้าน คือการทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโต และความก้าวหน้าของนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี รวมทั้งการปฏิรูปการศึกษาต่างหากที่จะทำให้สหรัฐฯ สามารถธำรงสถานภาพการเป็นชาติมหาอำนาจเอาไว้ได้
บัดนี้ชัดเจนแล้วว่า สิ่งที่ Obama กำลังพยายามทำคือ กำหนดทิศทางนโยบายต่างประเทศองสหรัฐฯ ใหม่ที่อาจดูยิ่งใหญ่ น้อยลงและสร้างศัตรูน้อยลง โดยเริ่มต้นด้วยการจำกัดขอบเขตสงครามต่อต้านการก่อการร้ายให้แคบลง ลดความขัดแย้งกับโลกมุสลิม โดยจำกัดเฉพาะกลุ่มและประเทศที่เป็นภัยคุกคามโดยตรง และร้ายแรงต่ออเมริกาเท่านั้น พร้อมกับหยิบยื่นไมตรีให้แก่โลกมุสลิมที่เหลือ
Obama ยังพยายามจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับบรรดาชาติมหาอำนาจอย่างรัสเซียและจีน โดยมองข้ามเรื่องเล็กๆ เพื่อแสวงหาความร่วมมือกันในเรื่องที่ใหญ่กว่า ซึ่งหมายความว่าสหรัฐฯ กำลังเปลี่ยนแปลงบทบาทจากการเป็นผู้ชี้นำโลกทั้งโลกและกดดัน ให้ประเทศอื่นๆ ต้องยอมรับความคิดของตน รวมทั้งใช้วิธีประณาม อย่างรุนแรงหากพวกเขาไม่ยอมรับ Obama กำลังพยายามหยุดยั้งความคิดที่ว่า เมื่อประธานาธิบดีอเมริกาเจรจากับจีนหรือรัสเซีย เขาจะต้องไม่กลับมามือเปล่า ไม่เช่นนั้นจะถูกมองว่าเป็นการยอมอ่อนข้อ
อย่างไรก็ตาม การที่ Obama ประกาศขยายสงครามด้วย การสั่งเพิ่มทหาร 30,000 นายในอัฟกานิสถานนั้น อาจดูขัดกับความพยายามของเขาที่จะลดระดับนโยบายต่างประเทศลง ให้มีจุดเน้นและมีเป้าหมายมากขึ้น แต่เขาไม่ใช่ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ ที่ทำเช่นนี้
เมื่อ Richard Nixon และ Henry Kissinger ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีและรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ตามลำดับในปี 1969 มรดกที่ตกทอดมาจากรัฐบาลชุดก่อนคือสงครามเวียดนาม ตลอดหลายปีต่อจากนั้น ทั้งสองมุ่งเน้นการเพิ่มอำนาจของสหรัฐฯ ผ่านการทูตกับสหภาพโซเวียต จีน อียิปต์และอิสราเอล อย่างไรก็ตาม ทั้งสองไม่ปฏิเสธภาระหน้าที่ในการจัดการกับวิกฤติในเวียดนาม แต่ขณะเดียวกัน Nixon และ Kissinger ก็ประกาศชัดว่า จะพยายามลดระดับการข้องเกี่ยวกับเวียดนามลง
การเปลี่ยนนโยบายเวียด นามของ Nixon และ Kissinger ประสบความสำเร็จในเดือนเมษายน 1969 หรือปีที่ Nixon ขึ้นเป็นประธานาธิบดีนั้น สหรัฐฯ มีทหารมากถึง 543,000 นายในเวียดนาม แต่เมื่อหมดวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปีแรกของ Nixon ทหารอเมริกันในเวียดนามลดลงเหลือไม่ถึง 20,000 นายเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลา 4 ปีนั้น Nixon กับ Kissinger จำเป็นต้องทำให้ฝ่ายศัตรูตกเป็นฝ่ายตั้งรับ เพื่อชิงความได้เปรียบ และเพื่อเปิดทางให้สหรัฐฯ สามารถเริ่มถอนทหารออกจากเวียดนามได้ ทั้งสองจึงต้องสั่งเปิดฉากรุกโจมตีพวกเวียดกงหลายครั้ง หรือก็คือกลยุทธ์เพิ่มกำลังทหาร แล้วจึงค่อยถอนทหารแบบเดียวกับที่ Obama เพิ่งประกาศใช้กับอัฟกานิสถานนั่นเอง
แม้ในที่สุด เวียดนามเหนือจะเป็นฝ่ายชนะเวียดนามใต้อย่างเด็ดขาดในปี 1975 ด้วยสาเหตุ 3 ประการ ประการแรก รัฐบาลเวียดนามใต้ขาดความชอบธรรมและไร้ความสามารถในการได้ใจจากประชาชน ตรงข้าม เวียดนามเหนือสามารถทำให้ชาวเวียดนาม เปลี่ยนข้างมาสนับสนุนฝ่ายตนได้ ประการที่ 2 พวกเวียดกงมีที่อาศัยที่ปลอดภัยนอกเวียดนามใต้ คือที่เวียดนามเหนือและกัมพูชา ทำให้พวกเขามีเส้นทางหนีและส่งกำลังบำรุง และประการสุดท้าย ซึ่งสำคัญที่สุด เวียดนามเหนือมีมหาอำนาจหนุนหลัง นั่นคือสหภาพโซเวียต และยังได้รับความช่วยเหลือจากจีนด้วย ในที่สุดสหรัฐฯ จึงต้องตัดความช่วยเหลือทุกอย่างต่อเวียดนามใต้และหันหลังให้กับประเทศนี้ หลังจากที่ต้องสูญเสียทหารไปถึง 59,000 นาย
แต่สาเหตุเหล่านั้น ดูเหมือนจะมีน้อยกว่าในอัฟกานิสถาน รัฐบาลประธานาธิบดี Hamid Karzai ของอัฟกานิสถานได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง และได้รับความนิยมจากประชาชนมากพอสมควร ในขณะที่กลุ่มกบฏ Taliban กลับเป็นที่เกลียดชังเกือบ ทุกหนแห่ง อัฟกานิสถานยังไม่ใช่ที่อยู่ที่ปลอดภัยสำหรับ Taliban และ Al Qaeda อีกต่อไป แม้ว่าผู้นำของทั้ง 2 กลุ่มจะแอบซ่อนอยู่ในปากีสถานก็ตาม แต่สหรัฐฯ ก็สามารถโจมตีแหล่งกบดานของพวกเขาในปากีสถานด้วยเครื่องบินรบ โดยความยินยอมของปากีสถาน ชาวอเมริกันก็สนับสนุนนโยบายโจมตี Taliban และ Al Qaeda ในปากีสถานมากกว่า เมื่อครั้งที่ทหารสหรัฐฯ ออกไล่ล่าผู้นำเวียดกงที่หลบซ่อนตัวอยู่ในกัมพูชาในช่วงสงครามเวียดนาม
นอกจากนี้ Taliban และ Al Qaeda ยังค่อนข้างโดดเดี่ยว ไร้มหาอำนาจหนุนหลังเหมือนกับเวียดนาม แถมยังถูกประชาคมโลกรวมหัวกันต่อต้าน ถึงแม้ทั้ง 2 กลุ่มอาจจะยังสามารถยึดครองบางส่วนในอัฟกานิสถานได้ แต่เป้าหมายสูงสุดที่หวังจะกลับมาปกครองอัฟกานิสถานอีกครั้งนั้น คงเป็นไปได้ยาก ดังนั้น แม้สหรัฐฯ อาจยากที่จะเอาชนะสงครามอัฟกานิสถาน แต่ Taliban เองก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ยังมีบทเรียนสำคัญจากสงครามเวียดนามอีกบทหนึ่ง ที่ทุกคนต่างหวังว่า Obama คงจะไม่หลงลืม นั่นคือการถอนทหารออกจากสถานการณ์ที่ยุ่งเหยิงวุ่นวายนั้น หาได้สร้างความเสียหายถาวรต่อสหรัฐฯ แต่อย่างใดไม่
การถอนทหารที่สร้างความอับอายขายหน้าให้แก่สหรัฐฯ มากที่สุด คือการถอนทหารออกจากเวียดนามใต้เมื่อปี 1975 แต่หลังจากนั้นอีกเพียง 10 ปี สหรัฐฯ ก็สามารถกู้ศักดิ์ศรีผู้นำโลกคืนมาได้ และภายในเวลาเพียง 15 ปี สหภาพโซเวียต ศัตรูทางอุดมการณ์ที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯ ก็ล่มสลาย สิ่งที่ทำให้สหรัฐฯ สามารถล้มแล้วลุกขึ้นมาได้อย่างสง่างาม หาใช่ปัจจัยที่อยู่นอกประเทศ หากแต่เป็นความสามารถของสหรัฐฯ ในการพลิกฟื้นความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของตน ซึ่งก็คือเครื่องมือที่แท้จริงในการรักษาสถานภาพการเป็นมหาอำนาจ
ประวัติศาสตร์ของชาติที่ยิ่งใหญ่ในอดีตบอกเราว่า การจะรักษาความเป็นมหาอำนาจไว้ให้ได้นั้น จะต้องรักษาแหล่งที่มาของอำนาจ นั่นคือความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมทางเทคโนโลยี และจะต้องรู้ว่านโยบายต่างประเทศใดที่เป็นนโยบาย สำคัญ มหาอำนาจในอดีตหลายชาติต้องหลงทาง เพราะมัวแต่ไปติดอยู่กับภารกิจไกลบ้านที่ไม่ใช่ผลประโยชน์ของตน ซ้ำยังกลับ ทำให้ตนต้องอ่อนแอลง แต่อเมริกาต้องตระหนักว่าในศตวรรษนี้ บทบาทการเป็นผู้สร้างสมดุลในเอเชียแปซิฟิกซึ่งเป็นตำแหน่งที่สหรัฐฯ ครองมานาน จะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นต่อการรักษาสถานะการเป็นชาติมหาอำนาจโลกของสหรัฐฯ มากกว่าการมัวแต่ไปสนใจว่า จะมีอะไรเกิดขึ้นในเทือกเขาในอัฟกานิสถาน
เมื่อถึงเดือนกรกฎาคม 2011 เป็นเวลาที่ Obama ประกาศ จะเริ่มถอนทหารอเมริกันออกจากอัฟกานิสถาน สถานการณ์ในอัฟกานิสถานอาจจะไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก เมื่อถึงเวลานั้น อัฟกานิสถานก็ยังอาจไม่สามารถมีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็ง และผลดีที่จะเกิดขึ้นจากการเพิ่มกำลังทหารสหรัฐฯ ก็อาจเปราะบาง อัฟกานิสถานอาจยังคงไร้เสถียรภาพ แต่สหรัฐฯ ก็ยังควรจะเริ่มผ่องถ่ายอำนาจกลับคืนไปยังรัฐบาลอัฟกานิสถานเมื่อถึงปี 2011 เพราะสิ้นปีนั้นจะเป็นปีที่ 10 ที่สหรัฐฯ ปฏิบัติภารกิจในอัฟกานิสถาน ซึ่งทำให้ต้องสูญเสียชีวิตทหารไปหลายพันนาย และเงินอีก 2 ล้านล้านดอลลาร์ ในการพยายามสร้างรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยและมีเสถียรภาพทั้งในอัฟกานิสถานและในอิรัก 2 ประเทศที่เกิดความแตกแยกและวุ่นวายมากที่สุดในโลก
นโยบายต่างประเทศใหม่ของ Obama ที่ลดระดับลงมาอยู่กับความจริงมากขึ้น อาจถูกกระแนะกระแหนว่า เป็นนโยบายที่ไม่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และคุณค่าอื่นๆ แต่ Obama เป็นคนหนึ่งที่ตระหนักดีว่า การที่ชาติมหาอำนาจชาติหนึ่งได้มีบทบาทในการเชิดชูคุณค่าเหล่านั้น เป็นการกระทำที่มีคุณค่าในเชิงศีลธรรมมากเพียงใด ในสุนทรพจน์ที่ West Point Obama กล่าวว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ทำหน้าที่รับประกันเสถียรภาพให้แก่โลกมานานถึงกว่า 6 ทศวรรษแล้ว มากกว่าประเทศอื่นใดในโลกนี้ ในช่วงเวลาอันยาวนานนั้น สหรัฐฯ ได้เห็น กำแพงที่พังทลาย การเปิดตลาดใหม่ คนหลายพันล้านที่ถูกยกระดับพ้นจากความยากจน ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่มีที่ใดเสมอเหมือน และพรมแดนที่ขยายกว้างขึ้นของเสรีภาพมนุษย์
โลกเจริญขึ้นในทุกด้านทั้งเสถียรภาพ สันติภาพ ความเจริญมั่งคั่งและเสรีภาพตลอด 60 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง Obama บอกว่า ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากแต่เป็นเพราะเลือดของชาวอเมริกันที่ได้หลั่งลงในหลายประเทศและหลายทวีป อเมริกาทุ่มเทเงินทองช่วยเหลือคนอื่น สร้างตัวขึ้นจากกองซากปรักหักพังและสามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโต อเมริกายังจับมือกับประเทศอื่นๆ วางรากฐานของสถาบันระหว่างประเทศ ตั้งแต่สหประชาชาติไปจนถึง NATO และธนาคารโลก และสถาบันเหล่านี้ช่วยก่อให้เกิดเสถียรภาพและความมั่งคั่งร่วมกันของมนุษยชาติ
อย่างไรก็ตาม ต่อไปนี้ Obama จะทำให้สหรัฐฯ เข้าไปเกี่ยวข้องกับโลกแบบคิดบวก แต่จะระมัดระวังไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวมากจนเกินพอดี นี่ก็คือนโยบายต่างประเทศใหม่ของ Obama ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในห้วงที่กำลังเข้าสู่ยุคหลังจักรวรรดิ
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค 14 ธันวาคม 2552
|
|
|
|
|