JAL หรือแจแปนแอร์ไลน์ สายการบินใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นและในเอเชีย ยื่นขอความคุ้มครองตามกฎหมายล้มละลายเมื่อช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยที่มีมูลหนี้อยู่เกือบ 26,000 ล้านดอลลาร์ และเริ่มเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างอันเจ็บปวด ซึ่งจะต้องมีการปลดพนักงานกว่า 15,600 คน
อย่างไรก็ดี หลังจากยื่นขอความคุ้มครองต่อศาล และดำเนินการขอถอนหุ้นออกจากการจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ JAL จะให้บริการแก่ผู้โดยสารต่อไป จากผลของการที่รัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่าจะอัดฉีดเงินทุนจากกองทุนฟื้นฟูวิสาหกิจให้เป็นจำนวน 3,300 ล้านดอลลาร์ รวมให้เงินกู้ฉุกเฉินอีก 6,600 ล้านดอลลาร์ โดยแลกเปลี่ยนกับ JAL ต้องปรับโครงสร้างใหม่ภายใต้คณะกรรมการบริหารและคณะผู้บริหารใหม่ พร้อมกับการปลดพนักงานกว่า 15,600 คนหรือราว 30% ของพนักงานทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบัน
หนี้สินทั้งหมดของ JAL ที่มีการรายงานล่าสุด ณ สิ้นเดือนกันยายนปีที่แล้ว มีอยู่ 2.3 ล้านล้านเยน (25,700 ล้านดอลลาร์) ซึ่งทำให้การล้มละลายของสายการบินแห่งนี้ กลายเป็นการล้มละลายในภาคธุรกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของญี่ปุ่น และหากพิจารณาเฉพาะกิจการที่ไม่ใช่ภาคการเงินการธนาคารแล้ว การล้มลงของ JAL ก็จะอยู่ในอันดับ 1 ด้านตลาดหลักทรัพย์โตเกียวระบุว่า จะถอน JAL ออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนภายในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ซึ่งการถูกถอดจากตลาดเช่นนี้จะส่งผลให้ผู้ถือหุ้นต้องสูญเงินลงทุนไปทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด
อุตสาหกรรมสายการบินทั่วโลกต้องเผชิญกับความปั่นป่วนผันผวนอย่างหนัก เนื่องจากเผชิญกับสถานการณ์เลวร้ายไม่ขาดสายตลอดระยะสิบปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เหตุโจมตีสหรัฐฯ ของผู้ก่อการร้ายในวันที่ 11 กันยายน 2001 สถานการณ์สงครามในตะวันออกกลาง ปัจจัยว่าด้วยราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น วิกฤติการเงินทั่วโลก และความหวั่นผวาเกี่ยวกับโรคระบาด
ความล่มสลายของ JAL น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้กับสายการบินอีกหลายแห่งเพราะ JAL สมควรที่จะปรับโครง สร้าง ลดขนาดลงมาอย่างเข้มงวดจริงจังเมื่อก่อนหน้านี้นานแล้ว เนื่องจากมีต้นทุนที่สูงมากตั้งแต่สมัยที่ยังมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ และต้องบินในเส้นทางทั้งในประเทศและระหว่างประเทศจำนวนมากที่ไม่ทำ ฟังดูคล้ายๆ กับสถานการณ์ของสายการบินแห่งชาติในบางประเทศไม่น้อย
|