|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2553 เร่งตัวขึ้นมาที่ 4.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปี 2552 แต่เมื่อมองไปข้างหน้า แนวโน้มค่าครองชีพมีโอกาสที่จะปรับสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันและราคาพืชผลทางการเกษตรที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกัน รายได้ของภาคครัวเรือน ที่พิจารณาจากอัตราการปรับขึ้นเงินเดือนในปี 2553 ที่ปรับผลของเงินเฟ้อแล้ว อาจเป็นระดับที่ต่ำกว่าในปี 2552 ที่เงินเฟ้อมีอัตราติดลบ ทิศทางดังกล่าวบ่งชี้ว่าภาวะการบริโภคในปี 2553 ยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันจากอำนาจซื้อของผู้บริโภคที่อาจยังไม่ปรับตัวดีขึ้นมากนัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ทิศทางแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนถัดๆ ไปนั้น ในระยะสั้น คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจชะลอลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังมีโอกาสที่จะหลุดออกจากกรอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. อีกได้ โดยในกรณีอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะมีผลของฐานเปรียบเทียบในปีก่อนหน้า ที่ฐานดัชนีราคาผู้บริโภคของปี 2552 เริ่มขยับสูงขึ้นนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์
เนื่องจากเป็นช่วงที่รัฐบาลได้ปรับ 6 มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ โดยยกเลิกมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 คงเหลือไว้เพียง 5 มาตรการที่ยังมีการใช้อยู่ในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับฐานที่สูงขึ้น อัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อที่เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จึงมีทิศทางชะลอลงกว่าในเดือนมกราคม
อย่างไรก็ดี การชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคงเป็นปรากฏการณ์ในระยะสั้น ซึ่งทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงระยะข้างหน้า จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2553
ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อทิศทางเงินเฟ้อ ที่สำคัญได้แก่ ทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งอาจจำแนกได้เป็น 2 กลุ่มหลักๆ กลุ่มแรก คือ สินค้าเกษตร ซึ่งราคาผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีก จากปัจจัยหนุนด้านอุปทานที่ลดลงเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและเลวร้ายในช่วงที่ผ่านมาต่อเนื่องไปจนถึงช่วงระยะข้างหน้า ในขณะที่ความต้องการในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับสินค้ากลุ่มพลังงานและโลหะ มีแนวโน้มผันผวนสูงในปีนี้ ขึ้นอยู่กับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศผู้บริโภคสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ คือ สหรัฐฯ และจีน
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านค่าเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งแกว่งตัวค่อนข้างมากในระยะเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดวิตกกังวลต่อมาตรการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อที่ทางการจีนทยอยออกมาเป็นลำดับ โดยหวั่นเกรงว่าอาจจะกระทบกระเทือนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ยังมีความกังวลต่อปัญหาหนี้ในบางประเทศของยุโรป เช่น กรีซและสเปน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้นักลงทุนหันกลับมาถือครองสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ฯ ที่นักลงทุนมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย ทำให้ในขณะนี้ทั้งราคาน้ำมันและโลหะประเภทต่างๆ ล้วนดิ่งลงอย่างรุนแรง โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปรับตัวลดลงถึง 10 ดอลลาร์ฯ มาที่ประมาณ 70.2 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ จากที่ขึ้นไปเหนือ 80 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงต้นเดือนมกราคม แต่แนวโน้มในระยะข้างหน้า ราคาน้ำมันและโลหะต่างๆ ยังมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นได้ หากเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องติดตาม คือ มาตรการในการบรรเทาผลกระทบด้านราคาสินค้าของรัฐบาล โดยสำหรับประเด็นด้านราคาพลังงาน นอกจากปัจจัยทิศทางราคาในตลาดโลกที่มีแนวโน้มผันผวนสูงแล้ว ยังต้องจับตานโยบายอุดหนุนราคาพลังงาน ซึ่งรัฐบาลอาจมีการทบทวนราคาก๊าซหุงต้ม หรือ LPG สืบเนื่องจากปัญหาการลงทุนในมาบตาพุด ที่ส่งผลให้โรงแยกก๊าซแห่งที่ 6 ยังไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ จึงอาจต้องมีการนำเข้าก๊าซ LPG ซึ่งราคาในตลาดโลกจะสูงกว่าราคาในประเทศ ส่งผลให้มีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการปรับขึ้นราคา LPG ก่อนกำหนด ประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การตัดสินใจของรัฐบาลกรณี 5 มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ ว่าจะมีการขยายมาตรการออกไปอีกหรือไม่ หลังจากถึงกำหนดสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2553 และจะขยายออกไปอีกนานเพียงใด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2553 ว่ามีโอกาสเพิ่มขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างสูง อยู่ระหว่าง3.0-4.0% จากที่ลดลงในปีก่อนหน้า ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน คาดว่าจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5-2.5% ซึ่งยังเป็นระดับที่ไม่สูงจนเกินไป อย่างไรก็ตาม แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจะค่อยๆ ส่งผ่านไปสู่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทต่างๆ ในที่สุด
โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่เร่งตัวขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดในรอบ 16 เดือนที่ 4.0% ในเดือนมกราคม 2553 น่าจะชะลอลงในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า เนื่องจากฐานดัชนีราคาผู้บริโภคในปีก่อนที่เริ่มขยับขึ้นนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีโอกาสที่จะกลับมาเร่งตัวขึ้นอีกในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปี ขึ้นอยู่กับทิศทางราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก รวมทั้งการตัดสินใจของรัฐบาลเกี่ยวกับการสิ้นสุด 5 มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ เป็นสำคัญ
|
|
 |
|
|