ในสมัยที่บุญชู โรจนเสถียร เป็นรองนายกฯ ได้เคยมีการคิดกันทำประชาสัมพันธ์ให้รัฐกันอย่างเต็มที่
โดยใช้บริษัทโฆษณาเท็ดเบทส์ เป็นตัวแทนในด้านความคิดสร้างสรรค์ และการใช้ตัวแทนในด้านความคิดสร้างสรรค์
และการใช้สื่อซึ่งเป็นโทรทัศน์ทั้ง 4 ช่อง ซึ่งใช้โดยไม่ต้องเสียเงิน
ในครั้งนั้นรัฐบาลได้จัดทำเรื่องการประหยัดไฟฟ้าโดยเอาดารา เช่น สมบัติ
เมทะนี, เนาวรัตน์ ยุกตะนันทน์ ฯลฯ ออกมาเป็นตัวแสดง
น่าเสียดายที่ไม่ได้มีการติดตามและสำรวจผล จึงไม่สามารถจะวิเคราะห์ได้ว่า
การประชาสัมพันธ์ครั้งนั้นได้ผลตรงเป้าหรือไม่
หลังจากนั้นก็ได้มีการว่าจ้างให้บริษัทเท็ดเบทส์ เป็นผู้จัดทำภาพยนตร์สั้นๆ
3 นาที ที่พูดถึงเรื่องประเทศชาติที่ต้องการความสมัครสมานสามัคคีในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน
แต่โครงการนั้นก็พับไปเมื่อมีเสียงคัดค้านจากคนใหญ่ในพรรคกิจสังคม ประกอบกับสถานภาพของ
บุญชู โรจนเสถียร ในฐานะรองนายกฯ ขณะนั้นกำลังสั่นคลอน
ที่ยังคงเหลืออยู่ก็คือ ค่าจ้างทำภาพยนตร์ชุดประหยัดไฟจำนวนกว่าครึ่งล้านขึ้นไป
ซึ่งเดิมที่สมาคมอุตสาหกรรมและสมาคมธนาคาร ตกปากตกคำว่า จะช่วยรับภาระนี้ไว้
แต่จนทุกวันนี้บริษัทเท็ดเบทส์ก็ได้แต่วิ่งวนเป็นวงกลมไม่รู้จะเก็บเงินก้อนนี้กับใคร
ทั้ง ๆ ที่เวลาก็ผ่านมา 4 ปีแล้ว
นี่ก็เป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับคนที่ต้องการจะทำงานกับรัฐบาลว่า ให้ทำใจเอาไว้เสีย
ในยุคของบุญชู โรจนเสถียร เป็นรองนายกฯ ก็ยังได้มีการประชาสัมพันธ์เฉพาะกิจขึ้นในช่วงที่รัฐบาลจะประกาศยกเลิกการควบคุมราคาสินค้า
เพื่อปล่อยให้กลไกการตลาดควบคุมสินค้าเอง
ในการประชาสัมพันธ์ครั้งนั้นได้จัดเป็นการออก TALK SHOW โดย สนธิ ลิ้มทองกุล
(ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการนิตยสารฉบับนี้) เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย โดยมี อายุศ
อิศรเสนา, อมเรศ ศิลาอ่อน และอาจารย์ไพรัช จาก NIDA มาซักถามแจกแจงข้อดีข้อเสียของการควบคุมราคาสินค้า
รายการนั้นประสบความสำเร็จมากตรงที่สื่อมวลชนด่ากันให้ขรมไปหมด เพราะพิธีกรคือสนธิ
ลิ้มทองกุล นั่งไขว่ห้างแล้วกล้องทีวี.ไปจับเอาภาพส้นเท้าของ สนธิ ลิ้มทองกุล
เข้าเต็มจอภาพ
ก็เป็นอันว่างานครั้งนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ทั้งขึ้นทั้งล่อง เพราะผู้ร่วมอภิปรายท่านหนึ่งเป็นนักอุตสาหกรรมที่ตอบข้อซักถามได้อย่างมีเหตุผลมากโดยยอมรับว่า
การควบคุมราคาสินค้าอาจจะมีความจำเป็นในอดีต แต่ในภาวการณ์ปัจจุบันนั้นกลับจะเป็นตัวทำลายเศรษฐกิจ
วัตถุประสงค์อีกประการหนึ่งที่ทำสำเร็จคือ ความที่จะต้องต่อต้านทุกอย่างที่รัฐบาลทำออกมาของสื่อมวลชน
ก็ประจวบเหมาะกับจังหวะส้นเท้าของพิธีกรออกมาเต็มจอ ทุกอย่างก็เลยลงที่พิธีกร
เป็นอันว่าทุกคนด่าพิธีกร แต่ไม่ได้ด่าการยกเลิกการควบคุมราคาสินค้า
เรียกได้ว่า พิธีกรสละชีพเพื่อรัฐบาลช่วงนั้น
การประชาสัมพันธ์ของรัฐนั้นมีความพยายามจะกระทำกันมาตลอดตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว
เพียงแต่ต่างรูปแบบกัน
ตั้งแต่วันที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศว่า “ข้าพเจ้าจะขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว”
ก็เป็นการประชาสัมพันธ์อย่างหนึ่ง
หรือวันที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประกาศว่า “ประเทศไทยโชติช่วงชัชวาลแล้ว”
ก็เป็นการประชาสัมพันธ์อีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน
การประชาสัมพันธ์คือการประกาศแจ้งกิจกรรมหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือตัวบุคคล
ฯลฯ ให้สาธารณชนทั่วไปได้รับรู้และรับทราบ
ฉะนั้นการประชาสัมพันธ์จึงมีการประชาสัมพันธ์ทั้งบวกและลบ
ในประเทศที่ด้อยพัฒนานั้น การประชาสัมพันธ์มักจะออกมาในรูปบวกตลอดเวลา
อาจจะเป็นเพราะความด้อยพัฒนาของคนในประเทศนั้น ตลอดจนเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนของรัฐยังมีจิตใจที่ด้อยพัฒนาอยู่เช่นกัน
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การประชาสัมพันธ์ของเขาจะออกมาได้ทั้งบวกและลบ
ถ้ามีข่าวร้ายเข้าก็จะไม่ทำข่าวร้ายแล้วโกหกให้เป็นข่าวดี
ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ในสังคมไทย
บัญชา ล่ำซำ และชิน โสภณพนิช คือสองอภิมหาเศรษฐีที่รัฐบาลคิดว่าน่าจะเป็น
TESTIMONY ที่ดีกับ PUBLIC โดยออกมาให้ความหวังกับประเทศชาติและประชาชน
ไม่ทราบว่าความคิดนี้เป็นความคิดของมืออาชีพในวงการโฆษณาท่านใดที่มองแต่แง่มุมของโฆษณา
แต่ไม่ได้มองสภาพข้อเท็จจริงของภาวการณ์เศรษฐกิจและการเมืองไปด้วย
ข้อผิดพลาดประการแรกคือ ใช้คนสื่อความหมายออกไปผิด (WRONG COMMUNICATOR)
คนที่ควรจะพูดถึงชาติ สังคม และประชาชนนั้นต้องเป็นรัฐบาล
การนำเอา บัญชา ล่ำซำ และชิน โสภณพนิช (ซึ่งผู้ใกล้ชิดทั้งสองคนยืนยันว่าทั้งคู่อึดอัดใจมากแต่ปฏิเสธไม่ได้
เพราะมีคนอ้างว่า นายกฯ ขอให้ทำ) มาบอกประชาชนว่า เขายังมั่นใจในอนาคตของชาติอยู่นั้น
ได้สร้างปัญหาต่อเนื่องในใจคนดู 2 ประการ คือ
รัฐบาลไม่มีสติปัญญาให้ความเชื่อมั่นประชาชนแล้วหรือถึงต้องเอา 2 คนนี้มาบอก
และ
ผู้ดูก็จะไม่เชื่อ เพราะในใจคนดูจะแย้งออกมาทันทีว่า ก็คนระดับเจ้าของธนาคารทั้ง
2 คน ก็ต้องเชื่อซิว่า ประเทศมีอนาคตเพราะทั้งสองมีเงินเหลือกินเหลือใช้
ไม่เคยต้องจำนำโทรทัศน์เวลาลูกเปิดเรียน ไม่เคยต้องโหนรถเมล์จนหน้าดำคร่ำเครียด
ไม่ต้องไปนั่งโอดครวญผัดผ่อนหนี้กับเจ้าหนี้เมื่อการค้าตัวเองย่ำแย่
สิ่งที่ทำผิดคือ การเอาคนรวยมานั่งบอกคนจนว่า ทุกอย่างมีอนาคตที่ดีขอให้คนจนจงอดทนจนต่อไปแล้วจะดีเอง
ยังดีที่สคริปต์ไม่ได้เขียนว่า “ทนจนต่อไปแล้วจะชินไปเอง”
ที่สำคัญที่สุดในขณะที่ภาพลักษณ์ของนายธนาคารในสายตาชาวบ้านไมได้อยู่ในสถานภาพที่ดี
และการเอานายธนาคารออกมาบอกคนที่กำลังขมขื่นและมีความฝังใจว่า ธนาคารคือสาเหตุใหญ่สาเหตุหนึ่งในความขมขื่นของเขา
อุปมาอุปไมยดังการเอาองคุลีมาล (ขณะยังเป็นโจร) มาแสดงพระธรรมเทศนาให้บรรดาพุทธศาสนิกชนฉันใดฉันนั้น
ข้อผิดพลาดประการที่สองคือ การพยายามทำข่าวร้ายให้เป็นข่าวดี
หลักการประชาสัมพันธ์ที่ดีคือการยอมรับข่าวร้ายอย่างไม่บิดพลิ้วและไม่พยายามบิดเบือน
การยอมรับความจริงคือการที่ผู้สื่อ (COMMUNICATOR) ได้ PARTICIPATE เข้ากับ
RECEIVER ได้อย่างกลมกลืน ทำให้ผู้มีความรู้สึกว่าผู้สั่งเป็นพวกเดียวกัน
ปฏิกิริยาต่อต้านก็จะลดลงโดยปริยาย
จากนั้นการเสนอทางออกจะถูกรับฟังอย่างสนใจและเต็มใจ
อาจจะเป็นเพราะว่า ฐานะของรัฐบาลมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายค้านกำลังโจมตีและจะอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ฉะนั้นการยอมรับข่าวร้ายของรัฐบาลก็จะทำให้รัฐบาลถูกโจมตีอย่างแน่นอน
ก็เลยต้องโกหกกันเอาไว้ก่อน
โฆษกรัฐบาลเองก็ไม่ได้มีส่วนช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะโฆษกทั้งยืนยันและนอนยันมาตลอดว่า
เศรษฐกิจดี โดยไม่ยอมฟังทุกข์ยากของประชาชน
อาจจะเป็นเพราะ โฆษกรัฐบาลเองกระทำหน้าที่เพียงเพื่อปกป้องนายกรัฐมนตรีเท่านั้นก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม ถ้าจะมี TESTIMONY AD ออกมาอีก เราใคร่ขอเสนอ “ล้อต๊อก”
บ้างเพราะถึงจะรู้ว่ากำลังตอแหลกันอย่างหน้าด้านๆ อย่างน้อยได้เห็นหน้าล้อต๊อกแล้วได้หัวเราะบ้างก็นับว่าเป็นบุญกุศลในภาวะความขมขื่นนี้
ก็ยังดีกว่านั่งหน้าเครียดกันทุกคนมิใช่หรือ