เปลี่ยนความเชื่อเก่าๆ เพื่อปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์
กล่าวได้ว่าหนังสือ The Art of Possibility นั้นมีความน่าประหลาดใจถึง
2 แง่ คือ หนึ่ง - สองสามีภรรยาผู้เขียน มีที่มาแตกต่างจากนักเขียนหนังสือเชิงธุรกิจทั่วๆ
ไป โรซามันด์ สโตน แซนเดอร์ เป็นนักจิตวิทยาบำบัดด้านครอบครัวและเป็นคนเขียนภาพ
ส่วนเบนจามิน แซนเดอร์ ผู้เป็นสามีนั้นเป็นวาทยากรประจำวง "บอสตัน ฟิลฮาร์โมนิค
ออร์เคสตร้า" และเป็นอาจารย์ประจำโรงเรียนดนตรี "นิว อิงก์แลนด์ คอนเซอร์วาทอรี่
ออฟ มิวสิค"
สอง - The Art of Possibility เป็นหนังสือที่ว่าด้วยการเป็นผู้นำและ ความคิดสร้างสรรค์ที่น่าสนใจอย่างมาก
และไม่ใช่หนังสือเชิงธุรกิจที่พบเห็นกันดาษดื่นที่ผู้อ่านจะต้องเอียนกับคำพูดคมๆ
ว่าด้วยการเป็นผู้นำ ซึ่งมีที่มาจาก นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จทั้งหลาย
หรือยกข้อความเด่นๆ ที่คิด (เอาเอง) ว่า กินใจมาเป็นแบบอย่าง ตรงกันข้ามผู้เขียนกลับนำเสนอวิธีปฏิบัติ
12 ข้อ เพื่อให้ ผู้อ่านสามารถกำหนดขอบเขตที่ตนเองสามารถควบคุมการกระทำและความคิดของตนได้
จากนั้นจึงแสดงให้เห็นว่าเราจะสามารถฝ่าข้อจำกัดทั้งหลายที่มีอยู่ได้อย่างไร
"ทั้งหมดเป็นเรื่องสมมติ" คือ แนวทางปฏิบัติข้อแรก เพราะในทัศนะของ ผู้เขียน
สิ่งที่เราคิดว่าเป็น โลกที่แท้ นั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงความรับรู้ของเราต่อโลกเท่านั้น
ทว่าความรับรู้นั้นเป็นสิ่งที่ก่อร่าง (หรือ "สร้างขึ้น") บนพื้นฐานของสมมติฐาน
ทัศนคติ ตลอดจนอุปนิสัยของเรา ยกตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งเมื่อมีคนนำภาพถ่ายของคนและสัตว์ไปให้ชาวเผ่ามีเอ็นในเอธิโอเปียดูเป็นครั้งแรก
พวกเขาแสดงความสนใจด้วยการจับต้อง สูดดม ขยำ และลองชิมรูปภาพพวกนั้น แต่ไม่ได้มองดูภาพเหมือนที่เรามองดู
เมื่อคุณตระหนักว่าความจริงเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้น ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่คุณจะเปลี่ยนแปลงมัน
แม้แต่ในสิ่งที่คุณเคยคิดว่าเปลี่ยนแปลงไม่ได้
"ให้เกรดเอ" เป็นข้อปฏิบัติอีกข้อที่สำคัญ ซึ่งช่วยให้บรรดาผู้จัดการสามารถกระตุ้นให้ลูกน้องบรรลุเป้าหมายสูงสุดได้
แทนที่จะกำหนดมาตรฐาน แล้วรอให้ ลูกน้องทำให้ได้ตามมาตรฐานนั้น ผู้เป็นหัวหน้าควรจะร่วมมือกับลูกน้องเพื่อทำงานให้บรรลุผล
ผู้เขียนให้เหตุผลว่า "การให้เกรดเอสำหรับการทำงานของลูกน้อง โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชังนั้น
แสดงให้เห็นถึงการมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการเป็น หุ้นส่วน, การทำงานเป็นทีม
และความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน"
เบนจามิน แซนเดอร์ ยังยกตัวอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับนักเล่นเซลโล่ใน วงออร์เคสตร้า
ที่ไม่ค่อยยอมให้ความร่วมมือสักเท่าไร ความจริงที่เขาได้เรียนรู้ในภายหลังก็คือ
"ผู้เล่นที่มีส่วนร่วมน้อยที่สุด อาจจะเป็นสมาชิกในกลุ่มที่อุทิศตน มากที่สุดก็ได้"
หากดูเพียงผิวเผิน อาจดูเหมือนว่าหนังสือเล่มนี้ให้ข้อแนะนำที่ดูเหมือนดี
แต่ยากจะนำมาปฏิบัติจริง แต่เมื่ออ่านโดยละเอียดแล้วจะพบว่า ผู้เขียนได้สะท้อนแง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์
และถ่ายทอดออกมาเป็นแนวทางที่มีค่าต่อผู้ที่เป็นหัวหน้างานและเป็นพนักงานทั่วไป