เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2515 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (หรือ กนอ.)
เริ่มกำเนิดออกมาโดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 339 ให้เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม
คณะกรรมการของ กนอ. ปัจจุบันประกอบด้วย ดร.ประภาส จักกะพาก ประธานกรรมการร่วมด้วยกรรมการอีก
อาทิ พล.ท.ยุทธศักดิ์ คล่องตรวจโรค, ศุกรีย์ แก้วเจริญ, ประสาน หวังรัตนปราณี,
ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, จุมพล ธรรมจารีย์, แต่ง ทองภักดี, ดร.สาวิต โพธิวิหค,
บุญนำ อุไรรัตน์ (ผู้แทนกระทรวงการคลัง) และ วันจักร วรดิลก (ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย)
และในเดือนมีนาคม พ.ศ.2522 ประกาศคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวได้รับการปรับปรุงแก้ไข
และเปลี่ยนเป็น พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงานยิ่งขึ้นกับ
เพื่อสนองนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ และการกระจายการพัฒนาอุตสาหกรรมออกสู่ภูมิภาคต่าง
ๆ รวมตลอดถึงการร่วมพิจารณาแก้ปัญหาในเรื่องสถานที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองใหญ่
ๆ ซึ่งมิได้เป็นไปตามแผนผังเมืองที่ถูกต้องโดยการจัดตั้งเขตหรือย่านอุตสาหกรรมในรูปของ
"นิคมอุตสาหกรรม"ทั่วประเทศ
นิคมอุตสาหกรรมคือ เขตพื้นที่ดินซึ่งจัดสรรไว้สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมเข้าไปอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสัดส่วน
โดยให้เขตพื้นที่ดินดังกล่าวประกอบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภค และสาธารณูปการครบครัน
เช่น ถนน ท่อระบายน้ำ โรงกำจัดน้ำเสียส่วนกลาง ระบบป้องกันน้ำท่วม ไฟฟ้า
น้ำประปา โทรศัพท์ นอกเหนือจากนั้นยังประกอบด้วยบริการอื่น ๆ ที่จำเป็นอีก
เช่น ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข ธนาคาร ศูนย์การค้า ที่พักอาศัยสำหรับคนงาน
สถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น
นิคมอุตสาหกรรมแบ่งออกเป็น 2 เขต คือ
1. เขตอุตสาหกรรมทั่วไป คือ เขตพื้นที่ดินซึ่งกำหนดไว้สำหรับการประกอบอุตสาหกรรมแลกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวเนื่องกับการประกอบอุตสาหกรรม
2. เขตอุตสาหกรรมส่งออก คือ เขตพื้นที่ที่กำหนดไว้สำหรับการประกอบอุตสาหกรรม
และกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการประกอบอุตสาหกรรมเพื่อส่งผลิตภัณฑ์ออกำปจำหน่ายยังต่างประเทศ
วัตถุประสงค์และการดำเนินงานของ กนอ. คือ ประการแรกการจัดให้ได้มาซึ่งที่ดินที่เหมาะสมเพื่อจัดตั้งหรือขยายนิคมอุตสาหกรรมหรือเพื่อดำเนินธุรกิจอื่นที่เป็นประโยชน์
ประการที่สอง การปรับปรุงที่ดินตามประการแรกเพื่อให้บริการ ตลอดจนจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานของผู้ประกอบอุตสาหกรรม
เช่น การจัดให้มีถนน ท่อระบายน้ำ โรงขจัดน้ำเสีย ไฟฟ้า และประปา เป็นต้น
ประการที่สาม การให้เช่าหรือเช่าซื้อและขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์
หรือเพื่อประโยชน์แก่กิจการอันอยู่ในวัตถุประสงค์ของ กนอ. และประการสุดท้าย
การส่งเสริม และควบคุมนิคมอุตสาหกรรมของเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐ
อำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบ ภายในของเขตของนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ. ต้องกระทำคือ
1. ทำการสำรวจวางแผน ออกแบบก่อสร้างและบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวก กับให้บริการแก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้ประกอบกิจการที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวเนื่องกับผู้ประกอบอุตสาหกรรม
2. กำหนดประเภท และขนาดของกิจการอุตสาหกรรมที่พึงอนุญาตให้ประกอบในนิคมอุตสาหกรรม
ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมย่อม (SMALL SCALE INDUSTRY) หมายความถึง กิจการผลิตทุกประเภทที่ดำเนินการในบ้านเรือนหรือโรงงานเล็ก
ๆ รวมทั้งวิสาหกิจทันสมัยและแบบเก่า ผลิตด้วยเครื่องมือหรือเครื่องจักรทั้งในเมืองและในชนบท
ซึ่งมีเงินลงทุนต่ำกว่า 2 ล้านบาท มีคนงานทั้งหมดรวมกันไม่เกิน 50 คน มียอดขายทั้งปีต่ำมากกว่า
6 ล้านบาท ไม่มีระบบการจัดการเจ้าของดำเนินการด้วยตนเองทุกอย่าง ตั้งแต่การจัดการ
การบริหาร การควบคุม และการจัดหาเงินทุน
ประเภทของอุตสาหกรรมขนาดย่อม
อุตสาหกรรมโรงงาน (MANUFACTURING INDUSTRIES) ได้แก่ โรงงานประเภทโลหะ โรงงานทอผ้า
โรงงานผลิตอาหาร โรงงานสกัดน้ำมันพืช โรงงานผลิตสีน้ำมันและสีพลาสติก โรงงานผลิตไฟเบอร์กลาส
โรงงานเฟอร์นิเจอร์ โรงงานผลิตประตู หน้าต่างไม้ และเหล็กดัด โรงงานไม้ขีดไฟ
โรงงานทำกระสอบป่าน โรงงานทำสบู่ โรงงานปั่นด้าย โรงงานผลิตยารักษาโรค โรงงานทำอิฐบล๊อก
คอนกรีตบล๊อก โรงงานทำแทงค์น้ำ ฯลฯ
อุตสาหกรรมในครอบครัว (COTTAGE OR HOME INDUSTRIES) เช่น อุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา
เครื่องจักรสาน ทอเสื่อ การทอผ้าไหม ผ้าฝ้าย กรอด้ายด้วยมือ ผลิตภัณฑ์ของเครื่องใช้ด้วยดิน
หรือปูนซีเมนต์ ฯลฯ
อุตสาหกรรมหัตถกรรม (HANDICRAFT INDUSTRIES) เช่น การทำเครื่องเขิน เครื่องเงินและทองรูปพรรณ
เครื่องลงหิน และทองลงยา การแกะสลักไม้ และการเจียระไนเพชรพลอย ฯลฯ
อุตสาหกรรมบริภัณฑ์ (SERVICE INDUSTRIES) คือ อุตสาหกรรมที่ผลิตชิ้นส่วนหรือให้บริการแก่กิจการอุตสาหกรรมอื่น
ๆ ในการที่จะช่วยให้กิจการนั้น ๆ สามารถดำเนินไปโดยปกติและสม่ำเสมอ รวมตลอดถึงการให้บริการแก่ประชาชนโดยทั่วไป
ประเภทของอุตสาหกรรมบริภัณฑ์
โรงงานประเภทบริการ ได้แก่ โรงงานต่าง ๆ ดังนี้
- ซ่อมเคาะ พ่นสี รถยนต์
- ซ่อมเครื่องทำความเย็น ซ่อมเครื่องยนต์ เครื่องไฟฟ้า
- ผลิตท่อไอเสีย ตั้งศูนย์ถ่วงล้อ ผลิตโครงหลังคารถเล็ก
- ทำเบาะรถยนต์ ทำฝาถัง และเครื่องประกอบวาล์ว ซ่อมผ้าเบรค และคลัช
- ทำชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ ซ่อมรถแทรคเตอร์ ซ่อมหม้อน้ำรถยนต์ ซ่อมหม้อแปลงไฟฟ้า
โรงงานประเภทกึ่งบริการ ได้แก่ โรงงานต่าง ๆ ดังนี้
- กลึงโลหะ
- ทำรางน้ำสังกะสี
- ซ่อมเครื่องไส และซอยไม้
- ทำประตูหน้าต่างเหล็กและเก้าอี้เหล็ก
- ตัดเย็บเสื้อผ้า ถักเสื้อไหมพรม เย็บปักสิ่งทอ ตัดเย็บกางเกงและเสื้อ
- ตัดเย็บรองเท้าหนัง กระเป๋าหนัง ถุงมือหนัง รองเท้าสตรีและบุรุษ
- ทำขนม ทำน้ำตาลปอนด์ ทำเส้นก๋วยเตี๋ยว
- เจียระไนพลอย และทำเครื่องประดับทอง นาค เงิน
3. ตรวจตราความเป็นอยู่ของคนงานในนิคมอุตสาหกรรม
4. ควบคุมการดำเนินงานของผู้ประกอบอุตสาหกรรม ผู้ประกอบกิจการ และผู้ใช้ที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามระเบียบ
ข้อบังคับ และกฎหมาย รวมทั้งการดำเนินงานที่เกี่ยวกับการสาธารณสุข และที่กระทบกระเทือนต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม
5. การลงทุน การกู้ยืมเงิน การออกพันธบัตรหรือตราสารเพื่อการลงทุน
สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
พ.ศ.2522 ในเขตอุตสาหกรรมทั่วไป
1. ผุ้ประกอบอุตสาหกรรมซึ่งเป็นคนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม
(ตามมาตรา 44 แห่ง พรบ.กนอ. พ.ศ.2522)
2. ผู้ประกอบอุตสาหกรรมได้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าว ซึ่งเป็นช่างฝีมือ ผู้ชำนาญการ
คู่สมรส และบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักร (ตามมาตรา
45 แห่ง พรบ.กนอ. พ.ศ.2522)
3. ผู้ประกอบอุตสาหกรรมได้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าว ซึ่งเป็นช่างฝีมือและผู้ชำนาญการเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อทำงาน
(ตามมาตรา 46 แห่ง พรบ.กนอ. พ.ศ.2522)
4. ผู้ประกอบอุตสาหกรรมซึ่งมีภูมิลำเนานอกราชอาณาจักรจะได้รับอนุญาตให้นำหรือส่งเงินออกนอกราชอาณาจักรเป็นเงินตราต่างประเทศได้
(ตามมาตรา 47 แห่ง พรบ.กนอ. พ.ศ.2522)
สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบอุตสาหกรรมในเขตอุตสาหกรรมส่งออก
นอกจากสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่นเดียวกับเขตอุตสาหกรรมทั่วไปแล้ว ผู้ประกอบอุตสาหกรรมในเขตอุตสาหกรรมส่งออก
ยังได้รับสิทธิประโยชน์ในเรื่องภาษีอากร ดังนี้
1. ยกเว้นค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วย การส่งเสริมการลงทุน อากรเข้า
และภาษีการค้า สำหรับเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือและเครื่องใช้ รวมทั้งส่วนประกอบของสิ่งดังกล่าวที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตสินค้าและของที่ใช้ในการสร้าง
ประกอบ หรือติดตั้งเป็นโรงงานหรืออาคาร ในเขตอุตสาหกรรมส่งออก (ตามมาตรา
48 แห่ง พรบ.กนอ. พ.ศ.2522)
2. ยกเว้นค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วย การส่งเสริมการลงทุน อากรเข้า
และภาษีการค้า สำหรับของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรและนำเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออก
เพื่อใช้ในการผลิตสินค้า (ตามมาตรา 49 แห่ง พรบ.กนอ. พ.ศ.2522)
3. ยกเว้นอากรขาออกและภาษีการค้า สำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งพลอยได้จากการผลิตในเขตอุตสาหกรรมส่งออก
ที่ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร (ตามมาตรา 50 แห่ง พรบ.กนอ. พ.ศ.2522)
4. ยกเว้นหรือคืนค่าภาษีอากร สำหรับของที่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้ได้ รับยกเว้นหรือคืนค่าภาษีอากร
เมื่อได้ส่องออกไปนอกราชอาณาจักร แม้มิได้ส่งออก แต่ได้นำเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออกเพื่อใช้ตามมาตรา
48 หรือ 49 (ตามมาตรา 52 แห่ง พรบ.กนอ. พ.ศ.2522)
5. สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ตาม พรบ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520
ผู้ประกอบอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
และประกอบอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นเขตส่งเสริมการลงทุน ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
จะได้รับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมในการลดหย่อนภาษีอากรสำหรับการประกอบกิจการในเขตส่งเสริมการลงทุน
ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ 1/2526 เรื่องหลักเกณฑ์ การอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนและการให้สิทธิและประโยชน์ด้านภาษีอากร
ลงวันที่ 10 มกราคม 2526
1. ภาษีการค้าขายผลิตภัณฑ์ลดหย่อน
1.1 ร้อยละ 90 สำหรับ 3 ปีแรก และร้อยละ 75 สำหรับ 2 ปีต่อไปนับแต่วันที่เริ่มมีรายได้สำหรับโรงงานที่ตั้งในเขต
3 (อำเภอเมืองขอนแก่นและอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น) และเขต 4 (อำเภอเมืองสงขลา
และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา)
1.2 ร้อยละ 75 สำหรับ 3 ปีแรก และร้อยละ 50 สำหรับ 2 ปีต่อไป นับแต่วันที่เริ่มมีรายได้สำหรับโรงงานที่ตั้งในเขต
1 (อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอแม่สอด
จังหวัดตาก) และเขต 2 (อำเภอเมืองสระบุรีและอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
อำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอปักธงชัย และอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา)
1.3 ร้อยละ 50 สำหรับ 3 ปีแรก นับตั้งแต่วันที่มีรายได้สำหรับโรงงานที่ตั้งในเขตนิคมอุตสาหกรรม
2. การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ลดหย่อนร้อยละ 50 ของอัตราปกติในระยะเวลา
5 ปี ให้เป็นการเพิ่มเติมสำหรับโครงการที่ตั้งโรงงานในเขต 1,2,3 และ 4 และในเขตนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่นอกเขตกรุงเทพมหานคร
สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นนทบุรี และนครปฐม ในกรณีใด ดังต่อไปนี้
2.1 ขนาดการลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท
2.2 จ้างคนงานที่ทำงานเต็มเวลา ไม่ต่ำกว่า 200 คน
2.3 นำเข้าซึ่งเงินตราต่างประเทศสุทธิไม่ต่ำกว่า ปีละ 1,000,000 เหรียญสหรัฐต่อปี
ใน 3 ปีแรกของการเปิดดำเนินการ
2.4 ใช้ผลิตผลทางเกษตร หรือผลิตภัณฑ์จากผลิตผลทางการเกษตรภายในประเทศเป็นวัตถุดิบสำคัญและส่งผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายต่างประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ
50 ของปริมาณการผลิต
2.5 คณะกรรมการเห็นว่า โครงการนั้นมีความสำคัญเป็นพิเศษ แต่ทั้งนี้ คณะกรรมการจะไม่อนุมัติให้โครงการที่เป็นการลงทุนในกิจการทำเหมืองแร่หรือการแต่งแร่
หรือในกิจการประเภทบริการ ซึ่งโดยสภาพการณ์โครงการนั้น ๆ จะต้องไปตั้งแหล่งประกอบการในเขตส่งเสริมการลงทุนนั้น
ๆ อยู่แล้ว ได้สิทธิและประโยชน์พิเศษดังกล่าวก็ได้
3. สำหรับการหักค่าขนส่งเป็นสองเท่าในการคำนวณภาษีเงินได้และการหักค่าติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกกำไรสุทธินั้น
คณะกรรมการจะรับพิจารณาอนุญาตเฉพาะในกรณีที่เข้าช่วยจะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้ตามข้อ
2 แต่ไม่ได้รับตามข้อ 2 มาก่อนแล้วเท่านั้นและจะอนุมัติให้ตามเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
3.1 อนุญาตให้หักค่าขนส่งได้เป็น 2 เท่า ในระยะเวลา 8 ปี สำหรับกรณีที่ตั้งแหล่งประกอบในเขต
1 และ 2 เป็นระยะเวลา 10 ปี สำหรับเขต 3 และเขต 4 หรือ
3.2 อนุญาตให้หักค่าติดต่อหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกจากกำไรสุทธิได้ในอัตราร้อยละ
10 ของเงินที่ลงทุนเพื่อการนั้น ในเขต 1 และเขต 2 และร้อยละ 20 ของเงินที่ลงทุนเพื่อการนั้นในเขต
3 และเขต 4
ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจะได้รับในการประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม
1. ที่ดินเพื่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรม โดยไม่ขัดต่อกฎหมายผังเมืองและเป็นเขตส่งเสริมการลงทุน
2. ลดต้นทุนในการจัดหาที่ตั้งโรงงาน อาคารโรงงาน และสิ่งสาธารณูปโภค
3. อัตราค่าเช่า เช่าซื้อ หรือขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมแต่ละแห่ง เป็นอัตราต่ำ
4. การบริการสาธารณูปโภคต่าง ๆ ได้จัดไว้ให้อย่างพร้อมมูล
5. ความสะดวกและรวดเร็วในการขออนุญาตต่าง ๆ
6. คำแนะนำในด้านการประกอบอุตสาหกรรม
7. ที่พักอาศัยสำหรับพนักงานและคนงานของบริษัทต่าง ๆ รวมทั้งศูนย์การค้าและบริการอื่น
ๆ
8. มีอุตสาหกรรมที่ให้ความสนับสนุนซึ่งกันและกัน
9. ความสะดวกเกี่ยวกับการขนส่งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้จัดตั้งและดำเนินการนิคมอุตสาหกรรมแล้ว
5 แห่ง
1. นิคมอุตสาหกรรมบางชัน เป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งจัดเป็นนิคมอุตสาหกรรมทั่วไปประเภทปราศจากสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ
(Non-Pollution) มีพื้นที่ 677 ไร่ตั้งอยู่บริเวณแขวงคันนายาว เขตบางกะปิ
เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ ปัจจุบันมีโรงงานประกอบกิจการอยู่ 64 โรงงาน มีจำนวนคนงานทั้งสิ้น
6,232 คน
2. นิคมอุตสาหกรรมทั่วไปและเขตอุตสาหกรรมส่งออกลาดกระบัง เป็นนิคมอุตสาหกรรมทั่วไปประเภทสะอาดและค่อนข้างสะอาด
มีพื้นที่จำนวน 1289-3-68 ไร่ โดยแยกออกเป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไป 1046-1-97
ไร่ เขตอุตสาหกรรมส่งออก 172-0-00 ไร่ และพื้นที่การค้า 71-1-71 ไร่ ตั้งอยู่ที่บริเวณถนนฉลองกรุง
แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ ห่างจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าวิทยาเขตลาดกระบัง
ประมาณ 4 กิโลเมตร เขตอุตสาหกรรมส่งออกลาดกระบัง กนอ. ได้จัดทำโรงงานมาตรฐาน
ขนาด 15 คูณ 54 ม. ขึ้นจำนวน 2 โรงงาน ซึ่งมีผู้เช่าดำเนินกิจการเต็มพื้นที่ของโรงงานแล้วแต่ปัจจุบันยังมีพื้นที่เหลืออยู่มากพอสำหรับผู้ที่สนใจจะมาลงทุนซื้อ
เช่าซื้อได้
3. นิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมฯนี้เป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไป มีพื้นที่ 3,733
ไร่ ตั้งอยู่ที่บริเวณกิโลเมตรที่ 35 ถนนสุขุมวิท ตำบลบางปูใหม่ และตำบลแพรกษา
อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกที่เป็นการร่วมทุนดำเนินงานระหว่างภาครัฐบาลกับเอกชน
กล่าวคือ ระหว่าง กนอ. กับบริษัทพัฒนาที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมประเทศไทยจำกัด
4. นิคมอุตสาหกรรมในเมืองใหม่บางพลี เป็นการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมระหว่าง
กนอ. กับการเคหะแห่งชาติ ในบริเวณเมืองใหม่ที่ อ.บางพลี และ อ.บางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ
พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 4,469 ไร่ และแยกเป็นนิคมอุตสาหกรรมประมาณ 455 ไร่
ตั้งอยู่ กม.ที่ 22-23 ถนนเทพารักษ์ หรือประมาณ กม.ที่ 23 ถนนบางนา-ตราด
ต.บางเสาธง อ.บางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
5. นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ (ที่จังหวัดลำพูน) เป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกในส่วนภูมิภาคของ
กนอ. มีพื้นที่ทั้งสิ้น 1,760 ไร่ตั้งอยู่บนทางหลวงสายเอเชีย (เชียงใหม่-ลำพูน)
กม.ที่ 69-70 จากลำปาง ต.มะเขือแจ้ และ ต.บ้านกลาง อ.เมืองฯ จังหวัดลำพูน
นิคมฯนี้ประกอบด้วยพื้นที่อุตสาหกรรมศูนย์การค้า สถานพยาบาล ธนาคาร สถานีบริการน้ำมัน
ที่พักอาศัยสำหรับคนงานและระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ อย่างพร้อมมูล
นอกจากนั้น กนอ. ได้กำหนดโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไว้หลายแห่งทั่วประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่
5 พ.ศ.2525-2529 โดยมุ่งหวังให้มีการใช้วัตถุดิบและทรัพยากรธรมชาติในท้องถิ่นให้มากที่สุดเพิ่มแหล่งโรงงานในท้องถิ่นและรายได้ต่อหัวของประชากร
ตลอดจนความสะดวกในการควบคุมมลภาวะ ซึ่งมีโครงการดังนี้
1. โครงการนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉะบังและชุมชนใหม่ กนอ. ได้เวนคืนที่ดินบริเวณแหลมฉะบัง
อ.ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 2,688 ไร่ สำหรับการจัดตั้งนิคมฯนี้
บริเวณที่ดินดังกล่าวด้านทิศตะวันตกติดกับบริเวณที่จะก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแหลมฉะบัง
ซึ่งรัฐบาลจะพัฒนาให้เป็นท่าเรือสำหรับบริการสินค้าทั่วไป 3 ท่า และสินค้าคอนเทนเนอร์
1 ท่า เรือขนาด 120,000 ตัน สามารถจะเทียบเท่าได้ โดยบริเวณนิคมฯนี้ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นจัดส่งคณะผู้เชี่ยวชาญ
(JICA)มาดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นชุดนี้จะเริ่มมาปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ
กนอ. คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ประมาณต้นปี 2529 และจะก่อสร้างเสร็จเปิดให้ผู้ประกอบการได้ใช้พื้นที่ในปี
2531
โรงงานอุตสาหกรรมที่จะตั้งอยู่ในบริเวณนิคมฯแห่งนี้จะเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก
ขนาดกลาง และอุตสาหกรรมส่งออก เป็นประเภทไม่มีมลภาวะเป็นพิษหรือถ้ามีก็น้อยมาก
เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ผลิตอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมอิเลคโทรนิค อุตสาหกรรมแปรรูปยาง
อุตสาหกรรมของเล่นและเครื่องกีฬา ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีโรงงานอุตสาหกรรมประเภทที่ต้องอาศัยท่าเรือ
เช่น อุตสาหกรรมการประกอบแท่นสำเร็จในทะเล เป็นต้น
โดย กนอ. จะจัดให้มีระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ โรงกำจัดน้ำเสียส่วนกลาง
ด่านศุลการกรสำหรับเจตส่งออก ศูนย์โทรพิมพ์ เป็นต้น
2. โครงการนิคมอุตสาหกรรมและชุมชนใหม่มาบตาพุดและโครงการท่าเรือมาบตาพุด
มีพื้นที่ 20,000 ไร่ ซึ่งได้กำหนดเขตที่ดินในท้องที่ ต.พลา กิ่งอ.บ้านฉาง
ต.ห้วยโป่ง ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง จังหวัดระยอง มีพื้นที่บางส่วนที่อยู่ติดชายทะเลสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี
อุตสาหกรรมโซดาเอช และท่าเรือทั่วไป รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือโดยจัดส่งคณะผู้เชี่ยวชาญมาดำเนินการศึกษาและวางแผนแม่บทของโครงการฯนี้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ
กนอ. โดยมีกำหนดจะเริ่มก่อสร้างประมาณกลางปี 2528 คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จประมาณเดือนเมษายน
2531
3. โครงการนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ (ที่จังหวัดสงขลา) เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
โดยจัดให้อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กรวมอยู่เป็นกลุ่ม ในพื้นที่ประมาณ
800 ไร่ ด้วยเงินลงทุนทั้งสิ้น 156.9 ล้านบาท และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการต่อไปได้
และได้รับการช่วยเหลือจากธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย โดยส่งคณะผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นคือ
Regional Planing Institute มาศึกษาและได้ผลสรุปว่า โครงการมีความเป็นไปได้สูงในด้านของผลประโยชน์ที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยส่วนรวม
ขณะนี้ กนอ. กำลังดำเนินการจัดซื้อที่ดินอยู่
4. โครงการนิคมอุตสาหกรรมขนาดย่อมและบริการ ที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมและอุตสาหกรรมบริการในเนื้อที่
150 ไร่ โดยจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 31.7 ล้านบาท และโครงการนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อปี
2525 ขณะนี้ กนอ. กำลังดำเนินการจัดซื้อที่ดิน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปีงบประมาณ
2528
5. โครงการนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนองนโยบายการกระจายความเจริญทางด้านอุตสาหกรรมออกไปยังบริเวณรอบนอกของกรุงเทพฯ
และรัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสนใจจึงให้ความช่วยเหลือผ่าน Japan Interational
Cooperation Agency (JICA) เมื่อส่งผู้เชี่ยวชาญมาศึกษาโดยผลสรุปว่า โครงการทบทวนอีกครั้งหนึ่ง
และคณะรัฐมนตรีมรมติอนุมัติให้ กนอ.ดำเนินการต่อไปได้
ขนาดของที่ดินคือ 2,080 ไร่ แบ่งเป็นที่ดินอุตสาหกรรม 1,283 ไร่ ที่ดินพาณิชยกรรม
6.3 ไร่ ที่ดินสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก 523.7 ไร่ พื้นที่สวน และที่โล่ง
76.4 ไร่ ที่ดินที่พักอาศัยคนงาน 172 ไร่ และพื้นที่โรงเรียน 10.6 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ
475 ล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างได้ในปีงบประมาณ 2528o