Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2527








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2527
ประเทศไทยกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์             
โดย ดำรง ลัทธพิพัฒน์
 

   
related stories

การใช้คอมพิวเตอร์วางแผนระยะยาวของกิจการขนส่ง
ใช้คอมพิวเตอร์วิเคราะห์ผู้แทนจำหน่าย

   
www resources

โฮมเพจ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

   
search resources

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
Computer
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี




ประเทศไทยได้นำคอมพิวเตอร์มาใช้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2506 ราคาเครื่องละประมาณ 10 ล้านบาท ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การใช้คอมพิวเตอร์ในประเทศไทยได้พัฒนาก้าวหน้ามาตลอด จากเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่สองเพียง 2 เครื่อง ในปี 2506 เพิ่มเป็นประมาณ 60 เครื่อง ในปี 2516 แล้วประมาณ 5,000 เครื่อง ในปี 2526 และเชื่อว่าถึงต้นปี 2527 นี้ เรามีคอมพิวเตอร์รุ่นที่สี่ใช้กันถึง 8,000 เครื่อง นั่นคือในเวลาประมาณ 20 ปี จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้น 4,000 เท่าตัว

ฉะนั้นถึงปี 2527 นี้ ประเทศไทยก็ได้สร้างพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์มามากพอประมาณ ควรจะถึงจุดที่จะได้ก้าวทะยานไปข้างหน้า เพื่อใช้คอมพิวเตอร์ช่วยพัฒนาประเทศชาติให้เต็มที่ ส่วนจะไปทางไหนดี ผมก็มีข้อเสนอให้พิจารณาดังต่อไปนี้:-

กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและพลังงานได้พิจารณาเห็นว่า ประเทศไทยควรจะเร่งรัดพัฒนาอุตสาหกรรมที่ทุ่นสมองหรือ BRAIN INTENSIVE มากกว่าอุตสาหกรรมทุ่นทุนหรือ CAPITAL INTENSIVE เพราะอุตสาหกรรมทุ่นสมองอาจจะไม่ต้องลงทุนมาก และจะช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นจากความยากจนและจากการขาดดุลการค้ากับต่างประเทศได้ไม่ยาก

อุตสาหกรรมที่ทุ่นสมองนั้น เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้าเป็นรากฐานในการผลิต และเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง จึงนับได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมแผนใหม่สำหรับประเทศไทย ควรจะได้รับความสำคัญระดับสูง ชักจูงส่งเสริมให้มีการพัฒนา เพื่อยกฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยให้มั่นคงยิ่งขึ้น

อุตสาหกรรมที่ทุ่นสมองจะช่วยยกฐานะทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทย เพราะผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมประเภทนี้ต้นทุนต่ำ แต่กำไรสูง เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มราคาได้มาก (VALUE ADDED) ต่างกับอุตสาหกรรมประเภททุ่นแรงงานหรือ LABOR INTENSIVE ซึ่งให้ผลิตภัณฑ์ราคาต่ำได้กำไรน้อย

อุตสาหกรรมที่ทุ่นแรงงานนั้น ไทยเคยได้เปรียบและอาจจะยังได้เปรียบต่างประเทศอยู่ในแง่ที่ว่า ค่าแรงของคนไทยต่ำกว่า ทำให้ต้นทุนต่ำกว่าต่างประเทศ แต่ขณะนี้ต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ได้พัฒนาหุ่นยนต์โรบอตและระบบการผลิตอัตโนมัติขึ้นมาใช้แทนแรงงานมนุษย์ หุ่นยนต์ทำงานได้วันละ 24 ชั่วโมง ไม่มีเหนื่อย ไม่มีเบื่อ เมื่อเปรียบเทียบเป็นค่าแรงก็ต่ำกว่ามนุษย์และผลงานก็อาจจะมีคุณภาพดีกว่า ฉะนั้นไม่ช้าไทยก็อาจจะเสียเปรียบต่างประเทศในด้านอุตสาหกรรมทุ่นแรงงาน

ผมเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องให้ความสนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมประเภททุ่นสมองอย่างรีบด่วน โดยแสดงให้ภาคเอกชนเห็นอย่างชัดเจนถึงเจตนารมณ์อันจริงจังของรัฐบาล เพื่อเป็นแรงกระตุ้นและจูงใจให้ภาคเอกชนสนใจ จะได้ระดมสมองมาจัดตั้งอุตสาหกรรมประเภทนี้ให้แพร่ขยายทันเหตุการณ์ เช่น ให้รัฐไปช่วยเหลือส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชนในด้านการร่วมลงทุน ด้านการให้ข้อมูลเทคโนโลยี ด้านการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลต่างประเทศ ด้านการตลาดและด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการสนับสนุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยตรงอยู่แล้ว ผมจึงเห็นสมควรให้สถาบันแห่งนี้เป็นองค์กรดำเนินการ เพื่อสะท้อนให้เห็นเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้งอุตสาหกรรมประเภททุ่น สมองจะได้เป็นตัวอย่างจูงใจให้ภาคเอกชนแพร่ขยายการลงทุนตาม

ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2527 นี้ คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในหลักการและแนวทางดำเนินการในการสนับสนุนอุตสาหกรรมทุ่นสมอง 3 ประการคือ

1. อนุมัติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดตั้งและการดำเนินการอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง และอุตสาหกรรมที่เน้นหนักความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเป็นพื้นฐานการผลิตเป็นพิเศษ

2. ให้รัฐวิสาหกิจของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ คือ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมภาคเอกชนในการจัดตั้งอุตสาหกรรมประเภทนี้ โดยร่วมลงทุน สนับสนุนข้อมูลเทคโนโลยี เจรจากับต่างประเทศในเรื่องการจัดหาเงินทุนตลาด การถ่ายทอดเทคโนโลยีและอื่นๆ ที่จำเป็นเพื่อให้อุตสาหกรรมประเภทนี้แพร่ขยายออกไป โดยให้สำนักงบประมาณและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้ความสนับสนุนด้านงบประมาณและอื่นๆ ที่จำเป็น

3. เห็นชอบให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ดำเนินงานผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีก้าวหน้า 4 ชนิดคือ อุปกรณ์โทรคมนาคม (MICROWAVE ISOLATOR AND CIRCULATOR) เซลล์สุริยะ (SOLAR CELL) อุตสาหกรรมชีวภาพ (BIOTECHNOLOGY) และอุตสาหกรรมคำสั่งคอมพิวเตอร์ (COMPUTER SOFTWARE)

อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์อาจจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (HARDWARE INDUSTRY) และอุตสาหกรรมผลิตคำสั่งคอมพิวเตอร์ (SOFTWARE INDUSTRY)

ในอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ สิ่งที่ผลิตออกขายก็คือ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องจากแม่เหล็ก เครื่องเทปแม่เหล็ก เครื่องพิมพ์และจอโทรทัศน์สำหรับคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ สิ่งที่ผลิตก็คือ ชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะประกอบด้วยคำสั่งคอมพิวเตอร์และคำอธิบายการใช้โดยมีตัวคำสั่งซึ่งเขียนในภาษาคอมพิวเตอร์บรรจุอยู่ในรูปแบบที่คอมพิวเตอร์อ่านได้ เช่น ในแถบแม่เหล็กหรือจานแม่เหล็ก ส่วนคำอธิบายจะพิมพ์เป็นรูปเล่มเรียบร้อย ฉะนั้นสิ่งที่ซื้อขายกันอาจจะเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง ที่มีจานแม่เหล็กแผ่นเล็กๆ สอดอยู่ในหนังสือนั้นหรืออาจจะเป็นสัญญาณที่ส่งจากคอมพิวเตอร์ในต่างประเทศมาถึงคอมพิวเตอร์ในเมืองไทย แล้วในสัญญาณนี้ก็ประกอบด้วยคำสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานและคำอธิบายว่าจะใช้อย่างไร

สำหรับเมืองไทยขณะนี้ทราบว่ายังไม่มีการผลิตคอมพิวเตอร์ทั้งเครื่อง แต่มีการประกอบคอมพิวเตอร์และการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์บางชิ้น

ชิ้นส่วนที่ผลิตก็มี เช่น เครื่องเทอร์มินัลหรือเครื่องพิมพ์คอมพิวเตอร์ โดยบริษัทดาต้าเจนเนอรัลและจอดโทรทัศน์คอมพิวเตอร์โดยบริษัท ธานินทร์อุตสาหกรรม เป็นต้น

การประกอบไมโครคอมพิวเตอร์ขายในเมืองไทยก็มีตัวอย่าง เช่น บริษัทฟิลิปส์ บริษัทไมโครเนติกและบริษัทถาวรคอมพิวเตอร์ เป็นอาทิ

ส่วนอุตสาหกรรมผลิตซอฟต์แวร์ก็มีผลิตกันหลายบริษัท เช่น บริษัทบิสโก (BISCO) ผลิตซอฟต์แวร์สำหรับเครื่องไอบีเอ็ม ซิสเต็ม 34 และบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องยี่ห้อใดก็ผลิตซอฟต์แวร์สำหรับเครื่องยี่ห้อนั้น

การตั้งโรงงานผลิตคอมพิวเตอร์ทั้งเครื่องต้องลงทุนมาก ส่วนถ้าจะทำเพียงแค่ซื้อชิ้นส่วนมาประกอบเป็นคอมพิวเตอร์ก็ไม่ต้องลงทุนมาก แต่อาจจะต้องเสี่ยงกับการขาดทุนโดยไม่รู้ตัว เพราะเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก โรงงานที่ตั้งขึ้นอาจจะเปลี่ยนตามไม่ทัน

ตัวอย่างเช่น บริษัทออสบอร์นคอมพิวเตอร์ ซึ่งตั้งในสหรัฐฯ เพื่อประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ยี่ห้อออสบอร์นทุกชิ้นส่วนในเครื่อง บริษัทออสบอร์นสั่งซื้อจากบริษัทอื่นๆ ทั้งนั้น เมื่อได้ชิ้นส่วนมาแล้วก็ใช้เวลาประกอบเพียงเครื่องละ 45 นาที แต่เครื่องออสบอร์นตอนที่เริ่มผลิตออกมานั้น มีจุดเด่นกว่ายี่ห้ออื่นๆ ตรงที่เป็นเครื่องที่หิ้วถือได้ ในขณะที่เครื่องอื่นต้องตั้งอยู่กับที่ จะหิ้วไปไหนมาไหนไม่สะดวก เครื่องออสบอร์นก็ขายดีมาก เพียงในปีที่สองหลังจากตั้งบริษัทก็มีการสั่งซื้อถึงเดือนละหนึ่งหมื่นเครื่อง แต่ต่อมาบริษัทไอบีเอ็ม ทำเครื่องไอบีเอ็ม พีซี ออกมาขาย ใช้เทคโนโลยีสูงกว่าออสบอร์น คือเป็นเครื่องชนิด 16 บิต ขณะที่ออสบอร์นเป็นเครื่องชนิด 8 บิต ไอบีเอ็ม ก็แย่งตลาดออสบอร์นไปจนออสบอร์นขายได้เพียงเดือนละหนึ่งร้อยเครื่อง ออสบอร์นจึงต้องล้มละลายปิดกิจการไป

เขาว่าในบรรดาผู้ผลิตเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์กว่า 600 บริษัทในปัจจุบันนี้ ในอนาคตจะต้องเลิกกิจการไปอีกหลายบริษัท แม้บริษัทใหญ่ๆ ก็เคยเลิกกิจการด้านคอมพิวเตอร์ เช่น บริษัทซิงเกอร์และบริษัทยีอี ในอเมริกา เป็นต้น

ในปี 2526 นั้น สหรัฐฯ ผลิตคอมพิวเตอร์เป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 570,000 ล้านบาท และคาดกันว่าเมื่อถึงปี 2530 ยอดผลิตจะเพิ่มเป็นประมาณสองเท่าของปี 2526

ถึงแม้ว่ายอดขายฮาร์ดแวร์จะสูงขึ้นทุกวัน แต่ราคาต่อหน่วยก็ลดลงทุกวันเหมือนกัน

อาจกล่าวได้ว่า เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นสินค้าประเภทเดียวที่ราคาลดลงทุกวัน

เครื่องแรกที่ประเทศไทยใช้นั้น (ปี 2506) ราคาตกประมาณ 10 ล้านบาท แต่ 20 ปีต่อมาคือในปี 2526 เครื่องที่มีความสามารถขนาดเดียวกันราคาเพียงไม่ถึงหนึ่งแสนบาท นั่นคือในเวลาประมาณ 20 ปี ราคาเครื่องคอมพิวเตอร์ลดลงในอัตราส่วนจากหนึ่งร้อยบาทเหลือเพียงหนึ่งบาท

ถ้าเทคโนโลยีด้านการผลิตรถยนต์ก้าวหน้ารวดเร็วเท่าเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ในปี 2527 นี้ ราคารถยนต์ก็จะเหลือคันละ 50 บาท และวิ่งได้กว่า 500 กิโลเมตรต่อน้ำมันเพียงหนึ่งลิตร

นอกจากนั้นการขายฮาร์ดแวร์ยังมีการตัดราคากันแบบเชือดคอ เช่น ตามข่าวเมื่อเร็วๆ นี้เครื่องแมคอินทอชของบริษัทแอปเปิ้ลคอมพิวเตอร์ราคาเครื่องละประมาณ 2,500 เหรียญ ได้ประกาศลดราคาเหลือเพียงเครื่องละ 1,000 เหรียญ ปรากฏว่าขายไปได้ 50,000 เครื่อง อย่างนี้ถ้าเป็นบริษัทในเมืองไทย ก็คงมีปัญหาเรื่องเงินหมุนเวียน

อย่างไรก็ตาม ตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์คิดเป็นยอดเงินก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นถ้าใครในเมืองไทยสนใจทำก็ควรสนับสนุนให้เขาทำ ถ้าเขาพร้อมที่จะเสี่ยง

แต่สำหรับรัฐบาลน่าจะพยายามสนับสนุนอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ด้านที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า

อุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าก็คืออุตสาหกรรมคำสั่งคอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่ต้องลงทุนมากและเมื่อไม่ต้องลงทุนมากก็ไม่มีความเสี่ยงมาก ในต่างประเทศเคยมีหน่วยงานผลิตคำสั่งคอมพิวเตอร์แบบที่เรียกว่า สองคนกับหนึ่งสุนัข (TWO MEN AND A DOG COMPANY) ก็ทำงานได้ปีละหลายล้านบาท TWO MEN AND A DOG COMPANY เป็นแสลงอเมริกันหมายถึงการผลิตคำสั่งคอมพิวเตอร์ไม่ต้องลงทุนมากมีคนซัก 2 คนนั่งลูบหัวสุนัขไปเดี๋ยวก็ได้หนึ่งโปรแกรม

คำสั่งในไมโครคอมพิวเตอร์ที่แพร่หลายมากที่สุดชุดหนึ่ง คือตารางประมวลผลหรือ SPREAD SHEET มียอดขายขณะนี้ปีละเป็นร้อยๆ ล้านบาท และครั้งแรกที่ผลิตขึ้นโดยนักศึกษาปริญญาโทลงสมองลงแรงเพียงคนเดียว ใช้เวลาประมาณ 1 ปี

ในสหรัฐฯ เมื่อปีนี้เองก็มีเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 20 คนที่ผลิตคำสั่งคอมพิวเตอร์ออกขายมีรายได้ปีละกว่า 20 ล้านบาทและมีแม่บ้าน ที่ผลิตคำสั่งคอมพิวเตอร์ที่บ้านออกวางขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตได้รายได้เดือนละหลายพันบาท

ข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทม์ฉบับ 5 มีนาคมนี้ หน้า 46 ก็ได้มีงานแสดงสินค้าคำสั่งคอมพิวเตอร์ระดับประเทศขึ้นเป็นครั้งแรกในสหรัฐฯ มีผู้เข้าร่วมงาน 20,000 คน ชมคำสั่งคอมพิวเตอร์กว่า 12,000 ชุดจากผู้ผลิต 600 ราย บางรายช่วยกันทำเพียง 2 คน และของที่แสดงก็มีเพียงแผ่นจานแม่เหล็กบรรจุคำสั่งเท่านั้น

ในสหรัฐฯ อีกนั่นแหละ เมื่อปี 2526 มีผู้ประเมินว่า ยอดขายคำสั่งคอมพิวเตอร์ขึ้นไปสูงถึง 46,000 ล้านบาท เพิ่มจาก 3,000 ล้านบาท เมื่อ 4 ปีก่อนหน้านั้น

คำสั่งคอมพิวเตอร์ที่ทำขายกันได้นี้มีมากมายหลายประเภท อาทิ คำสั่งด้านการบัญชี คำสั่งด้านการบริหาร การเกษตร ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ด้านการเรียนการสอน ตลอดจนคำสั่งเล่นเกมส์ต่างๆ

ญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีการพัฒนาด้านคอมพิวเตอร์เกือบทันสหรัฐฯ แต่ญี่ปุ่นผลิตคำสั่งคอมพิวเตอร์ไม่ทันใช้ไม่ทันขาย ต้องไปจ้างต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ และอังกฤษทำคำสั่งคอมพิวเตอร์ให้ ในเอเชียก็มีอินเดียกับสิงคโปร์ที่สนใจพัฒนาอุตสาหกรรมคำสั่งคอมพิวเตอร์

ในเมื่อตลาดในสหรัฐฯ เพียงแห่งเดียวก็สูงถึงปีละ 46,000 ล้านบาท บุคลากรไทยก็มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะผลิตคำสั่งคอมพิวเตอร์ส่งออก ฉะนั้นเราจึงน่าจะศึกษาความเหมาะสมด้านส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมคำสั่งคอมพิวเตอร์เพื่อส่งออกเป็นการลดการขาดดุลการค้าของไทยต่อไป

ปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาซอฟต์แวร์ คือคนและเครื่อง

อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์นั้นแตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็คือ ในอุตสาหกรรมทั่วไปจะเน้นการผลิต เช่น ถ้าผลิตโทรทัศน์เมื่อเลือกแบบแล้วก็ต้องลองทำตัวอย่างดู ทดสอบจนเป็นที่พอใจแล้วก็ผลิตแบบนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ใช้ฝีมือในการผลิตแต่ละชิ้นให้ได้คุณภาพดีเหมือนๆ กัน แต่ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จะเน้นการออกแบบ คือใช้เวลาใช้สมองคิดหาชุดคำสั่งใหม่ๆ เมื่อคิดจนเป็นที่พอใจแล้ว ก็เขียนโปรแกรมผลิตออกมาชิ้นเดียวให้ได้คุณภาพดี เวลาจะขายก็ไม่ต้องผลิตชิ้นใหม่แต่เอาตัวอย่างไปอัดสำเนาซึ่งง่ายมากเหมือนอัดเทป ถ้าเครื่องอัดคุณภาพดีก็อัดออกมาได้ดี

นั่นก็คืออุตสาหกรรมทั่วๆ ไปจะต้องใช้คนงานจำนวนมากทำงานในโรงงาน แต่ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จะใช้คนจำนวนน้อยและไม่อยู่ในโรงงานแต่เป็นนักออกแบบอยู่ในบ้านสบายๆ ก็ได้ ในเมืองไทยเรามีผู้มีความรู้ความสามารถในด้านคอมพิวเตอร์พอจะเป็นผู้ออกแบบซอฟต์แวร์จำนวนไม่น้อย อย่างเช่น บริษัทผู้ขายคอมพิวเตอร์ทั้งหลายก็มีนักออกแบบซอฟต์แวร์อยู่แล้ว ในมหาวิทยาลัยของเราก็มีผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก แม้แต่นิสิตนักศึกษาที่เรียนวิชาหลักด้านคอมพิวเตอร์ขณะนี้ก็รับจ้างทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ค่าจ้างเดือนละ 4-5 พันบาท ขนาดยังเรียนไม่จบ

ส่วนด้านเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะใช้ในการพัฒนาโปรแกรม ในเมืองไทยก็มีเครื่องคอมพิวเตอร์ถึง 8,000 เครื่อง มียี่ห้อต่างๆ ที่สำคัญๆ เกือบทุกยี่ห้อ จึงไม่น่าจะมีปัญหาในการหาคอมพิวเตอร์ที่จะใช้ในการพัฒนาโปรแกรม

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เห็นพ้องต้องกันกับนักคอมพิวเตอร์และผู้สนใจในกิจการคอมพิวเตอร์ทุกท่านว่า คอมพิวเตอร์เป็นวิทยาการก้าวหน้าที่จำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง ให้ประชาชนอยู่ดีกินดีมั่งมีศรีสุข

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมเสมอที่จะช่วยสนับสนุนส่งเสริมการใช้วิทยาการด้านคอมพิวเตอร์ในการพัฒนาประเทศ อย่างด้านอุตสาหกรรมคำสั่งคอมพิวเตอร์ เมื่อมีแนวโน้มว่ามีทางที่ไทยเราจะพัฒนาขึ้นมาช่วยการขาดดุลการค้า เราก็มิได้นิ่งนอนใจ รีบนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีก็ได้กรุณาอนุมัติไปแล้ว โดยให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดำเนินการทันที

สุดท้ายนี้ ผมขอให้นักคอมพิวเตอร์และผู้สนใจในกิจการคอมพิวเตอร์ทุกท่าน ทั้งที่มาประชุมในวันนี้ และที่มิได้มาประชุม จงได้โปรดหาทางช่วยกันพัฒนาอุตสาหกรรมคำสั่งคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us