|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แบงก์นครหลวงไทยเผยแผนสินเชื่อรายใหญ่ปี 53 ลดสัดส่วนปล่อยกู้ลูกค้ารัฐวิสาหกิจเหลือ 5% จากเดิม 10% เหตุผลตอบแทนต่ำไม่คุ้มค่ากับต้นทุน หันทุ่มปล่อยกู้กลุ่มเกษตร อาหาร พลังงาน อสังหาฯ พร้อมเดินหน้าปรับโครงสร้างหนี้ของโรงงานน้ำตาลและโรงแรมดาราเทวีที่เป็นลูกหนี้เก่ารายใหญ่คาดเห็นความชัดเจนกลางปีนี้
นางจรี วุฒิสันติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) (SCIB) เปิดเผยว่า ในปี 2553 นี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายเติบโตสินเชื่อรายใหญ่ไว้ที่ 5% คิดเป็นเม็ดเงินที่ปล่อยกู้ใหม่ 4-5 พันล้านบาท จากปี 2552 ที่สินเชื่อรายใหญ่ติดลบ 4-5% ทั้งนี้ ฐานสินเชื่อรายใหญ่ของธนาคารในปัจจุบันอยู่ที่ 1.11 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าหากยอดการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ก็จะทำให้ฐานสินเชื่อดังกล่าวในสิ้นปีนี้เพิ่มเป็น 1.16 แสนล้านบาท
โดยกลยุทธ์ในการแข่งขัน ธนาคารจะเน้นปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่อยู่ในสัดส่วนของภาคเอกชนเป็นหลัก และจะทำการลดสัดส่วนสินเชื่อที่จะปล่อยให้กับลูกค้ารัฐวิสาหกิจลงเหลือ 5% จากสิ้นปีที่แล้วอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของฐานสินเชื่อขนาดใหญ่ เพราะเป็นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนที่ต่ำมาก โดยอัตราดอกเบี้ยที่ปล่อยให้รัฐวิสาหกิจจะต่ำกว่าการปล่อยให้กับบริษัทเอกชนถึง 2%
“สำหรับแผนงานสินเชื่อรายใหญ่ของธนาคารในปีนี้ก็จะยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปี 2552 ที่ผ่านมา และสัดส่วนสินเชื่อรายใหญ่ปัจจุบันอยู่ที่ 35%ของสินเชื่อรวม ทั้งนี้ จะลดสัดส่วนสินเชื่อที่เป็นลูกค้ารัฐวิสาหกิจและราชการลงให้เหลือน้อยลง คือเมื่อเวลาที่ภาครัฐหรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเปิดโครงการให้เข้าไปประมูลเพื่อปล่อยสินเชื่อก่อสร้างหรือสินเชื่อทั่วไปที่เป็นขนาดใหญ่ให้กับลูกค้าดังกล่าว ธนาคารก็จะไม่เข้าไปร่วม ถึงแม้โครงการของภาครัฐจะไม่มีความเสี่ยงต่อการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ก็ตาม เพราะผลตอบแทนด้านอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารจะได้รับถือว่าอยู่ในระดับต่ำเกินไปและไม่คุ้มค่าจากที่เราเป็นธนาคารเอกชนที่มีต้นทุนทางการบริหารด้านต่างๆอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับธนาคารของรัฐอย่างเช่นธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB)” นางจรี กล่าว
ส่วนสินเชื่อที่ธนาคารจะปล่อยให้กับลูกค้าที่เป็นเอกชนมากขึ้นนั้น โดยส่วนใหญ่จะเน้นไปที่อุตสาหกรรมประเภทการเกษตร อาหารแปรรูป กลุ่มพลังงานทดแทน กลุ่มไฟฟ้า และโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ (ดิเวลลอปเปอร์) เนื่องจากแนวโน้มการดำเนินธุรกิจดังกล่าวของลูกค้ากำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านราคาของพืชผลการเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่อาหารแปรรูปจะได้รับอานิสงส์จากภาคการส่งออกของไทยเริ่มเติบโตดีขึ้นจากปีที่แล้ว ส่วนโครงการพลังงานต่างๆ ก็ได้รับการสนับสนุนและให้ความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศมากขึ้น เพราะภูมิประเทศของไทยเหมาะแก่การผลิตพลังงานทดแทน
“การแข่งขันปล่อยสินเชื่อให้ภาคเอกชนนั้น ธนาคารจะไม่นำเรื่องอัตราดอกเบี้ยเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญในการจูงใจและดึงฐานลูกค้าเข้ามาใช้บริการสินเชื่อกับธนาคาร เพราะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับปัจจุบันถือว่าต่ำพอสมควรและคงจะใช้เป็นกลยุทธ์หลักไม่ได้อีก แต่ธนาคารจะเสนอรูปแบบการปล่อยกู้สินเชื่อที่เป็นแบบแพ็คเกจ ซึ่งจะขายร่วมกับผลติภัณฑ์ตัวอื่น เช่น เมื่อลูกค้าขอสินเชื่อกับธนาคาร ลูกค้าก็สามารถใช้บริการด้านเงินฝากที่พิเศษกว่าปกติเป็นต้น ซึ่งกลยุทธ์การให้บริการลูกค้าแบบครบวงจรนี้เชื่อว่าจะสามารถจูงใจให้ลุกค้ามาใช้สินเชื่อกับธนาคารมากขึ้น” นางจรี กล่าว
สำหรับสินเชื่อหรือบริการทางธุรกรรมที่เกี่ยวกับธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ (เทรดไฟแนนซ์) ในปีนี้ ก็มีเป้าหมายที่จะมีส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ด้านรายได้เพิ่มขึ้นอีก 10% จากปีที่แล้วที่ปริมาณและมูลค่าเกี่ยวกับเทรดไฟแนนซ์ที่ลูกค้าใช้บริการกับธนาคารลดลงมาอยู่ที่ 5.7 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมาที่ปริมาณและมูลค่าดังกล่าวอยู่ที่ 6.7 หมื่นล้านบาทต่อปี เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในปีที่แล้วชะลอตัวลงทำให้การส่งออกและนำเข้าสินค้าลดลงตามไปด้วย เพราะคู่ค้าทางธุรกิจของลูกค้าเองมีการชะลอการสั่งซื้อสินค้า เพราะฉะนั้นในปีนี้ธนาคารก็คาดหวังว่าปริมาณและมูลค่าของเทรดไฟแนนซ์จะกลับมาเติบโตเพิ่มขึ้นเท่ากับ 6.7 หมื่นล้านบาทเช่นเดียวกับช่วงหลายปีที่ผ่านมา
นางจรียังกล่าวถึงลูกหนี้เก่ารายใหญ่ 2 รายที่เป็นโรงงานน้ำตาลและโรงแรมดาราเทวีที่จังหวัดเชียงใหม่ว่า ประมาณกลางปีนี้จะเห็นความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการแก้ไขหนี้ที่มีกับธนาคารโดยเฉพาะลูกหนี้โรงงานน้ำตาลที่จะเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ส่วนทางด้านลูกหนี้ที่เป็นเจ้าของโรงแรมดาราเทวีนั้น ธนาคารยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้หรือไม่ เนื่องจากมีกระแสข่าวว่าทางเจ้าของโรงแรมจะขายกิจการดังกล่าวให้กับบุคคลอื่น ซึ่งธนาคารต้องรอให้ทางเจ้าของโรงแรมเข้ามาเจรจาก่อนว่า จะปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารหรือจะขายกิจการตามที่เป็นข่าว ซึ่งทางธนาคารเองขอยืนยันว่าไม่มีปัญหาอะไร เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของลูกหนี้รายดังกล่าวอยู่แล้ว
|
|
|
|
|