ในสงครามเหล้าระหว่างทั้งสองฝ่ายมีบุคคลหนึ่งซึ่งต้องยืนอยู่กลางและอยู่ในสภาพที่กระอักกระอ่วนมาก
แต่ก็เป็นการกระอักกระอ่วนอย่างมีความสุขที่สุด
คนคนนั้นคือ จุล กาญจนลักษณ์
จุล กาญจนลักษณ์ เป็นเภสัชกรที่เริ่มทำงานในโรงงานบางยี่ขัน โดยถูกยืมตัวมาจากกรมวิทยาศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรม
ในปี 2487
จุล กาญจนลักษณ์ เป็นผู้รับผิดชอบสูตร แม่โขง หงส์ทอง กวางทอง มังกรหยก
กวางเงิน ฯลฯ
ความจริงแล้วต้นตำรับสูตรปรุงแม่โขงนั้น ประเสริฐ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นผู้คิดขึ้นมาคนแรกในขณะนั้น
จุลยังเป็นเพียงผู้ปฏิบัติงานด้านผลิตสุรา
ประเสริฐได้ออกจากโรงงานสุราบางยี่ขัน ในปี พ.ศ.2489 พร้อมทั้งสูตรแม่โขงด้วย ซึ่งเป็นต้นเหตุพิพาทระหว่างประเสริฐกับกรมโรงงานฯ
ซึ่งประเสริฐอ้างว่าสูตรแม่โขงเป็นของตัวเอง
จุลไปค้นหลักฐานเก่าและก็พอจะได้สูตรที่เก็บเอาไว้ เลยเอามาปรุงต่อให้ดีขึ้นจนเป็นแม่โขงเมื่อกินแล้วตาไม่แฉะและไม่ร้อนใน
ตั้งแต่นั้นมาจุลเป็นคู่ใจของแม่โขงเหมือนแม่โขงเป็นคู่จิตของกรมโรงงานอุตสาหกรรม
“คุณจุลเป็นคนรู้คุณคนมาก แกถือว่าคุณศุภสิทธิ์ มหาคุณ เป็นนายแก ที่แกไปปรุงเหล้าให้แสงโสมเพราะคุณเถลิงใช้ชื่อคุณศุภสิทธิ์มาอ้าง แต่มาตอนหลังคุณเถลิงฉลาดเอาคุณจุลมาร่วมด้วย คือมีบริษัททีซีซี (เถลิง-เจริญ-จุล)
ขึ้นมา แหล่งข่าวในกรมโรงงานเล่าให้ฟัง
“คุณจุลบอกผมว่าความจริงแล้วเหล้าแต่ละยี่ห้อนั้นสูตรมันไม่เหมือนกัน แม่โขงก็คือแม่โขง
กวางทองก็เป็นกวางทอง หงส์ทองก็เป็นหงส์ทอง” แหล่งข่าวคนเดิมพูด
จากการที่มีหน้าที่ต้องปรุงเหล้าให้ทุกฝ่าย อย่างน้อยก็พอจะทำให้จุลเป็นเศรษฐีขึ้นมาได้คนหนึ่งเหมือนกัน
จุลเมื่อปีที่แล้วติดหนึ่งในอันดับ 250 คนแรกที่เสียภาษีสูงให้รัฐ!
แสดงว่ารายได้จุลก่อนหักภาษีก็ต้องประมาณหลายล้านขึ้นไป!
ทุกวันนี้จุลเองถึงแม้จะเป็นหุ้นส่วนกับเถลิงก็ยังคงปรุงเหล้าให้แม่โขงเหมือนเดิม
และก็มีวันหนึ่งที่จุลปรุงเหล้าชื่อ “หงส์ทอง” ขึ้นมา
กลุ่มเถลิงจากการมีสิทธิ์ในฐานะผู้ขายส่งเหล้าขาว และเหล้าผสมของโรงงานสุราจังหวัดอยุธยาขององค์การสุรากรมสรรพสามิตซึ่งมีเขตจำหน่ายในจังหวัดต่างๆ
12 จังหวัด คือ อยุธยา สระบุรี สพบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี นครราชสีมา กำแพงเพชร
ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นเขตจังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออกทั้งหมด
จะโดยบังเอิญหรือรู้เท่าไม่การณ์หรือจงใจก็ไม่ทราบที่เผอิญรสเหล้าของหงส์ทองเกิดมาใกล้เคียงกับแม่โขงมาก
“หงส์ทอง” ก็เลยโผผินบินผยองตั้งแต่บัดนั้นในราคาขายแค่ขวดละ 20 กว่าบาทแก่ร้านค้า
ซึ่งร้านค้าก็ขายต่อในขวดละ 30-35 บาทต่ำกว่าแม่โขงซึ่งเวลานั้นขายขวดละ
52 บาทและกวางทองขวดละ 44 บาท
“ในช่วงนั้นผมขายแต่หงส์ทองทั้งนั้น ผมขายหงส์ทองขวดละ 33 บาทให้ลูกค้าขณะที่ขายกวาง
44-48 บาท แม่โขง 52-60 บาท คุณนึกดูซิว่าลูกทุ่งบ้านนอกจะกินอะไร” เจ้าของร้านสุรายาปิ้งแถวๆ
บางแสนพูดให้ฟัง
สำหรับคอเหล้าแล้วปากต่อปากเร็วยิ่งกว่าไฟไหม้ทุ่งเสียอีกเมื่อรู้ว่าซื้อ
“หงส์” ก็เท่ากับได้ “โขง”
หงส์ทองนั้นถ้าขายในแค่ 12 จังหวัดที่ได้รับอนุญาตก็คงจะไม่เป็นอะไรนัก
แต่หงส์ทองจะปรากฏอยู่ใน 72 จังหวัดทั่วประเทศไทยโดยการลักลอบขนข้ามเขต
“เราไม่เคยสั่งเหล้าข้ามเขตเพราะเราขายเฉพาะ 12 จังหวัด ที่กฎหมายอนุญาตเท่านั้น
การขายข้ามเขตเราก็ห้ามไว้ แต่ถ้าผู้ซื้อจะทำการขายข้ามเขตเราก็ไม่สามารถจะควบคุมได้”
กาญจนา เพชรมณี หรือช่อลัดดา นักเขียนชื่อดังประชาสัมพันธ์ใหม่ของหงส์ทองให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเป็นประจำในเรื่องนี้
กรมสรรพสามิตเองก็คงจะไม่รู้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหนก็เลยอนุญาตให้หงส์ทองผลิตได้นอกเขตจังหวัดดังกล่าวอีก
2 แห่งคือ จังหวัดกาญจนบุรีและนครปฐมเพราะทางกลุ่มเถลิงอ้างว่าเครื่องจักรเสียผลิตไม่ทัน
และในคำสั่งอนุญาตก็ระบุว่า เหล้าหงส์ทองที่ผลิตจากกาญจนบุรีและนครปฐมจะต้องขนกลับไปจำหน่ายในเขตจังหวัดที่รับอนุญาตจำหน่ายเท่านั้น
ก็เลยมีปรากฏการณ์เหล้าหงส์ทองตกหล่นระหว่างที่ต้องขนเหล้าผ่านกลับไปสู่เขตที่ได้รับอนุญาตให้ขายตลอดเวลา
และในวันที่ 17 พฤษภาคม 2525 กรมสรรพสามิตก็ออกคำสั่งอีกอันหนึ่งอนุญาตให้มีการขนสุราข้ามเขตเพื่อบริโภคได้
ซึ่งเจ้าหน้าที่สรรพสามิตจังหวัดก็สามารถอาศัยอำนาจจากคำสั่งดังกล่าวออกใบ
อนุญาตขนสุราให้ “ผู้บริโภค” หลายๆ ใบพร้อมกันเพื่อความสะดวกในการที่จะขนรวมเป็นคันรถ
ยิ่งกว่านั้นใบอนุญาตดังกล่าวมีอายุใช้ได้ 3 วัน
แปลว่าจากใบอนุญาต 1 ใบ “ผู้บริโภค” สามารถขนเหล้าหงส์ทองข้ามเขตได้หลายๆ
เที่ยว
ส่วนอธิบดีกรมสรรพสามิตซึ่งออกคำสั่งทั้งสองคำสั่งนั้นชื่อ บัณฑิต บุณยะปานะ
และก็บังเอิญอีกเหมือนกันที่อธิบดีบัณฑิตเป็นน้องชายแท้ๆ ของพงส์ สารสิน
ซึ่งก็เผอิญเป็นหุ้นส่วนใหญ่คนหนึ่งของกลุ่มเถลิง
“อีกประการหนึ่งทางหงส์ทองจะแจกเหล้าเป็นว่าเล่นไม่ว่าหน่วยราชการที่ไหน
จัดงานอะไรขอมาก็แจกแหลกเป็นการสร้างความสัมพันธ์กันไว้”
ยุทธการ “หงส์บินข้ามเขต” ในราคาขวดละ 30-35 บาทถึงมือคอเหล้าได้ผลอย่างมากๆ
“คุณไม่จำเป็นต้องขนไปขายข้ามเขตหรอกถ้าเหล้าคุณถูกกว่าคุณภาพใกล้กัน ยี่ปั๊วมันเลยให้เองผลกำไรมันคุ้มมากแล้วยิ่งมีคำสั่งให้ขนเพื่อบริโภคด้วยแล้วก็ยิ่งสบายใหญ่”
พ่อค้าเหล้าระดับหนึ่งเล่าให้ฟัง
ถึงแม้แม่โขงจะพยายามให้รางวัลนำจับอย่างเต็มที่ก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร
“แม่โขงและกวางทอง” ซึ่งเป็นเหล้าที่รัฐบาลเป็นเจ้าของแต่ให้กลุ่มเตชะไพบูลย์เช่าทำต้องขายตกฮวบลงไปอย่างเห็นได้ชัด
จากเงินค่าสิทธิค่าภาษีที่เคยจ่ายให้รัฐบาลในปี 2524 เป็นเงิน 3,390 ล้านบาท
ในปี 2525 ยอดลดลงเหลือเพียง 3,220 ล้านบาท
กลุ่มเตชะไพบูลย์และหุ้นส่วนเองก็ต้องรีบเพิ่มทุนถึง 2 ครั้งถึงจะยืนได้ โดยครั้งแรกเป็น
1,000 ล้านบาท และเพิ่มครั้งที่สองเป็น 1,500 ล้านบาท