Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2527








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2527
2522 แม่โขงสีเลือด ศึกศักดิ์ศรีและชื่อเสียงวงศ์ตระกูล             
 

   
related stories

กว่าจะมาเป็นแม่โขง
แม่โขงกับรัฐบาลที่ลืมไปว่าแม่โขงเป็นสมบัติของชาติ
หงส์ดิ้นสุดฤทธิ์ ยุทธการดึงทหารและการเมืองกลับเข้ามา
"สุรามหาราษฎร" หรือ "สุราทิพย์" มาแล้วก็จากไป มีแต่ "แม่โขงกับกวางทอง" เท่านั้น ที่ต้องอยู่ตลอดไปเพราะเป็นของคนไทย

   
search resources

สุรามหาราษฎร
อุเทน เตชะไพบูลย์
ประสิทธิ์ ณรงค์เดช
สุเมธ เตชะไพบูลย์
Alcohol
เถลิง เหล่าจินดา
เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์




ในที่สุดการประมูลแม่โขงในช่วงที่ 3 ก็เริ่มในรัฐบาลชุดเกรียงศักดิ์ 2

“งานนี้เตชะไพบูลย์ประกาศอย่างหนักแน่นว่า แพ้ไม่ได้ เพราะเป็นศักดิ์ศรี เสียเท่าไรเท่ากัน แต่จะให้ฝ่ายเถลิงประมูลไปไม่ได้”

“ตระกูลเตชะไพบูลย์ค้าขายในหมู่คนจีนมานานแล้วและก็เป็นที่เคารพกันในหมู่พ่อค้าคนจีนด้วย พวกกลุ่มเตชะไพบูลย์ถือว่าถูกเถลิงลบเหลี่ยมทางการค้ามาตลอด มันก็เลยเป็นเรื่องต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเถลิงจะได้แม่โขงไปไม่ได้เพราะไม่งั้นแล้วคนอื่นจะไม่นับถือต่อไป” พ่อค้าคนจีนเล่าให้ฟัง

บุคคลที่ตกอยู่ในฐานะลำบากใจที่สุดในขณะนั้นคือ อุเทน เตชะไพบูลย์ ประธานบริษัทสุรามหาคุณ จำกัด เพราะฝ่ายหนึ่งคือ สุเมธ เตชะไพบูลย์ ผู้เป็นน้องชาย อีกฝ่ายคือ เถลิง เหล่าจินดา ผู้เป็นหุ้นส่วนและลูกน้องที่ตนรักใคร่ไว้วางใจมาตลอดเวลา ในตอนมีการประมูลเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันครั้งหลังสุดนี้ อุเทนได้แสดงความบริสุทธิ์ใจ และสปิริตของตัวเอง เซ็นชื่อในซองเปล่าของเถลิง เหล่าจินดา ซึ่งประมูลในนามบริษัทสุรามหาคุณ จำกัด ด้วย โดยไม่เห็นตัวเลขที่เถลิงเสนอ ขณะเดียวกันอุเทนก็ไม่ยอมเซ็นชื่อในซองประมูลของกลุ่ม “เตชะไพบูลย์” ที่ตนเป็นประธานอยู่ ทำให้สุเมธ เตชะไพบูลย์ ต้องยื่นประมูลเพียงซองเดียวคือซองของบริษัท สุรามหาราษฎร จำกัด ซึ่งสุเมธเป็นประธานเอง

ในการประมูลครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าธุรกิจของเหล้ากำลังเป็นธุรกิจเต็มตัวที่รัฐจะได้รายได้เป็นกอบเป็นกำแทนการต่อสัญญา ซึ่งใช้อำนาจและอิทธิพล

การประมูลนอกจากจะให้รายได้รัฐมากขึ้นแล้ว ก็จะเป็นการแสดงให้เห็นจริงๆ ว่าธุรกิจเหล้านั้นผู้ประกอบการมีกำไรเท่าใด และถ้าผู้ประกอบการต้องมาแข่งกันประมูลก็หมายความว่ากำไรที่ตัวเองเคยได้อย่างมหาศาลนั้นก็ต้องยอมลดไปโดยมอบให้รัฐ แล้วตัวเองก็จะได้ส่วนที่คิดว่าคุ้มกับการลงทุน

ในช่วงเกรียงศักดิ์ 2 นั้น สถานภาพทางทหารที่เคยมีเอกภาพได้หมดไป ไม่มีใครมีอำนาจเด็ดขาดเหมือนสมัยสฤษดิ์และถนอม ประภาส

เถลิงตัดสินใจเข้าหาประสิทธิ์ ณรงค์เดช ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ในขณะที่กลุ่มเตชะไพบูลย์ มุ่งไปยังเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

แล้วสงครามน้ำเมาบนรายได้เป็นหมื่นล้าน ก็เริ่มขึ้นอย่างถึงพริกถึงขิง!

ยกแรกรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมประกาศออกมาเลยว่าไม่จำเป็นว่าผู้ประมูลสูงสุดถึงจะได้ (ตัวเลขที่เสนอมาต้องเป็นไปได้)

ยกแรกเถลิงชนะเพราะสามบริษัทที่กระทรวงอุตสาหกรรมเลือกขึ้นมาเป็นสามบริษัทของเถลิงทั้งนั้น บริษัทสุรามหาราษฎรของกลุ่มเตชะไพบูลย์ ถูกตัดขาดไปเรียบร้อย

ข่าวนี้ทำเอาในวงการปั่นป่วนพอสมควรคิดว่ากลุ่มเตชะไพบูลย์จะต้องพ่ายเถลิงแน่ๆ

ยกที่สองเมื่อถึงวาระต้องเอาเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติ คำแรกที่พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในฐานะนายกฯ ได้ถามออกมา ถ้าเถลิงนั่งอยู่ด้วยก็คงจะต้องใช้ยาดมแน่ เพราะพลเอกเกรียงศักดิ์ถามว่าในบรรดาผู้ที่ประมูลมามีใครที่ให้ผลประโยชน์กับรัฐสูงสุด?

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประสิทธิ์ ณรงค์เดช ตอบว่า มี แต่ทำไม่ได้!

พลเอกเกรียงศักดิ์ไม่ยอมเพราะถ้ารัฐได้ประโยชน์สูงสุดก็ควรจะให้คนที่เสนอสูงสุดได้ไป ส่วนทำไม่ได้ก็มีเงื่อนไขบังคับและปรับอยู่แล้ว

ในที่สุดคณะรัฐมนตรีต้องลงคะแนนเสียงเพื่อตัดสินให้แน่ชัดว่าใครจะได้

สุรามหาราษฎรได้ไปด้วยคะแนนเสียงที่ชนะกัน 3 เสียง

“ในหมู่คนจีนเขาพูดกันเลยว่ากลุ่มเตชะไพบูลย์เหมือนเป็นผีในป่าช้าที่โดนขุดขึ้นมาแล้วปลุกให้เป็นคนออกมาสู้จนชนะ” พ่อค้าจีนคนเดิมเสริมต่อ

การพ่ายแพ้ครั้งนั้นของกลุ่มเถลิงเป็นการพ่ายแพ้อย่างยับเยิน ทั้งนี้เพราะเถลิงประมาทกลุ่มเตชะไพบูลย์จนเกินไป

“ทางเถลิงเขามองพวกเตชะไพบูลย์ผิดไปหลายขุม ทั้งๆ ที่เขาเองก็มั่นใจในเส้นสนกลในพอสมควรอย่าลืมว่าบริษัททีซีซีของเขานั้นมีพนักงานระดับบริหารคนหนึ่งซึ่งเป็นลูกเขยพลเอกพร ธนะภูมิ ซึ่งในขณะนั้นเป็นเลขาธิการนายกฯ เกรียงศักดิ์ อีกประการหนึ่งโรงเหล้าธาราเขาก็ซื้อไปจากคุณประสิทธิ์ ณรงค์เดช ซึ่งในเวลานั้นคือเจ้ากระทรวงอุตสาหกรรมเจ้าของเรื่องแม่โขง เรียกได้ว่าทุกอย่างมันอยู่ในกระเป๋าหมดแล้ว” พ่อค้าสุรารายขนาดกลางเล่าให้ฟัง

แต่ที่เถลิงคิดไม่ถึงคือ ผลประโยชน์ตอบแทนซึ่งกลุ่มเตชะไพบูลย์ได้มอบให้รัฐบาลถึง 45.67% ของราคาขายปลีก!

ความจริงงานนี้เตชะไพบูลย์ชนะได้เพราะหลักการเขาดีกว่าตรงที่ว่าเขาให้ผลประโยชน์รัฐสูงที่สุดซึ่งข้อนี้คนอื่นจะเถียงไม่ได้ และข้อกล่าวหาที่ว่าเขาจะทำไม่ได้ภายหลังนั้นก็ไม่ถูกเพราะเขาพิสูจน์แล้วว่าเขาทำได้ถึงแม้เขาจะลดราคาเหล้าลงต่อขวด ทำให้รัฐได้ผลประโยชน์น้อยลงแต่เมื่อเอาปริมาณเข้าวัด รัฐกลับได้มากขึ้น” เจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมพูดกับ “ผู้จัดการ”

ในช่วงนั้นพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นข่าวคราวขึ้นมาว่าได้ไปดูแลการประมูลถึงกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของนายกฯ จะต้องไป

“มีข่าวมาว่าคุณอุเทนได้ตีกอล์ฟตัวต่อตัวกับพลเอกเกรียงศักดิ์ก่อนการประมูล” นักสังเกตการณ์เรื่องเหล้าพูดออกมา

“ท่านนายกฯ มีส่วนได้ส่วนเสียก็คงจะถูก แต่คงไม่ใช่ส่วนตัว หากแต่ในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่ทำให้รัฐได้ค่าสิทธิ์สูงถึงร้อยละ 45.67 จนกระทั่งบัดนี้” ฝ่ายแม่โขงออกตัวมา

จะอย่างไรก็ตาม มันก็เป็นการยากที่จะไปล้มหลักการของกลุ่มเตชะไพบูลย์ที่เสนอสิทธิ์สูงสุดให้แก่รัฐ

พลเอกเกรียงศักดิ์กลับจะต้องเป็นฝ่ายตอบคำถามประชาชนทีหลังถ้าไม่ให้กลุ่มเตชะไพบูลย์เป็นผู้ชนะเพราะ “คุณมีเหตุผลอะไรมาอ้างว่าเขาทำไม่ได้ ถ้าคุณให้กลุ่มเถลิงชนะโดยค่าสิทธิ์น้อยกว่ากลุ่มเตชะไพบูลย์มาก คุณเกรียงศักดิ์เองนั่นแหละจะถูกประชาชนชี้หน้าว่ารับเงินของเถลิงเมาเท่าไร” เจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมคนเดิมพูดต่อ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us