20 ปีของธุรกิจที่ใช้กระบอกปืนเป็นเสาค้ำ
คงจะมีน้อยคนที่รู้ว่า ยุทธจักรแม่โขงที่รบรากันทุกวันนี้เริ่มมาจากคำพูดสั้นๆ
เพียงประโยคเดียวของ สหัส มหาคุณ
เมื่อคราที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยังมีอำนาจอยู่ พ่อค้าคนจีนที่เข้าจอมพลสฤษดิ์ได้จะมีเพียงไม่กี่คน
และหนึ่งในนั้นที่จอมพลสฤษดิ์รักมากที่สุดคือ สหัส มหาคุณ ซึ่งมีชื่อจีนว่า
"เตีย หลั่น ชิ้น"
วันหนึ่งสฤษดิ์ถามสหัสว่า "ลื้ออยากได้อะไรวะ" สหัส มหาคุณ เห็นช่องทางดีก็เลยขอสิ่งหนึ่งซึ่งตัวสหัสเองก็ไม่รู้ว่ายี่สิบกว่าปีให้หลังสิ่งนี้
ทำให้กลุ่มวงการธุรกิจต้องแยกกันออกมาตั้งป้อมและแบ่งพรรคแบ่งพวกดึงการเมืองและสื่อมวลชนเข้ามาเกี่ยวข้องกันให้ชุลมุนวุ่นวายไปหมด
สหัสวันนั้นตอบไปว่า "ผมขอทำแม่โขงขายครับ"
สหัสไม่มีทุนรอนมากมายนักก็เลยต้องไปดึงกลุ่มเตชะไพบูลย์ซึ่งมีพื้นฐานการทำเหล้าขาวมานานแล้ว
กับจุลินทร์ ล่ำซำ เข้ามาร่วมหนุนด้วยโดยทั้งสองฝ่ายใช้ฐานกำลังเงินและความสามารถในการค้า
และสหัสใช้อำนาจอิทธิพลของผู้ปกครองประเทศซึ่งเป็นทหารเข้ามาช่วย
ในช่วงของสัญญายุคแรกทุกอย่างก็เริ่มดำเนินไปด้วยดี ช่วงนั้นเป็นช่วงที่
เถลิง เหล่าจินดา อดีตเป็นคนจีนขายกาแฟอยู่อ่างทองก็เข้ามาร่วมเป็นฝ่ายการตลาดจากการดึงของอุเทน
ในเรื่องเงินทุนประกอบการนั้น สหัส มหาคุณ ไม่มีเงินลงจึงเป็นของกลุ่มเตชะไพบูลย์และกลุ่มล่ำซำ
ส่วนสหัส มหาคุณ ก็ได้หุ้นลมไป 20%
ในช่วงนั้นอุเทน เตชะไพบูลย์ เป็นประธานบริษัทและผู้อำนวยการใหญ่ กรรมการที่เหลือก็มี
บัญชา ล่ำซำ, เชษฐ บุรพวงศ์, สุรพันธ์ พิศาลบุตร, สุเมธ เตชะไพบูลย์, เถลิง
เหล่าจินดา และศุภสิทธิ์ มหาคุณ ซึ่งเป็นลูกเลี้ยงของสหัส มหาคุณ
หน้าที่ต่างๆ ก็ถูกแบ่งไปดังนี้
สุเมธ เตชะไพบูลย์ คุมด้านโรงงานและการจัดซื้อ
บัญชา ล่ำซำ คุมด้านธุรกิจ การโฆษณา
สุรพันธุ์ พิศาลบุตร (เป็นเขยฝ่ายล่ำซำ) เป็นเหรัญญิก
เถลิง เหล่าจินดา คุมด้านการค้า
ในการทำงานตอนแรกนั้นด้านการค้าหรือฝ่ายตลาดของแม่โขงนั้น เป็นเรื่องไม่ยากเย็นอะไรนัก
เพราะระบบการตลาดของแม่โขงจะถูกจัดไว้เรียบร้อยแล้วโดยการใช้ยี่ปั๊วทั้งหมด
ฉะนั้นทางฝ่ายการตลาดว่าไปแล้วกลับเป็นฝ่ายที่ไม่มีอะไรจะทำ
จากการที่เป็นเหล้าอิทธิพลที่ได้สัมปทานมาเพราะทหารเขาให้ ก็เลยต้องมีหน้าที่ส่งส่วยรายได้ให้กับบรรดาทหารใหญ่ๆ
ทั้งหลายและความข้อนี้ก็ไม่ใช่ความลับอะไรกันในสมัยนั้น เพราะธุรกิจในยุคทหารเป็นเผด็จการคือ
ธุรกิจที่นายทุนต้องเอาผลประโยชน์ให้ทหารถึงจะอยู่และทำต่อไปได้โดยการใช้อภิสิทธิ์นั้นๆ
"เถลิงเองเป็นคนคล่องและเข้าผู้ใหญ่เก่ง แกเป็นคนไม่ค่อยพูด แต่แกถึงลูกถึงคน สามารถจะเป็นคนที่นำผลประโยชน์ไปให้กลุ่มทหารได้ดีกว่ากลุ่มอื่น
อีกประการหนึ่งทางเตชะไพบูลย์กับล่ำซำก็รู้ดีว่าแม่โขงที่ได้มานั้นเป็นเพราะอิทธิพล
ฉะนั้นเมื่อทางนี้ลงเงินไปแล้วเขาก็ขอค้าขายอย่างเดียว ถ้าจะต้องจัดสรรและนำผลประโยชน์ไปให้ก็ต้องเป็นฝ่ายของ
สหัส มหาคุณ ซึ่งมีเถลิง เหล่าจินดา เป็นลูกน้องคนใกล้ชิดเป็นคนไปติดต่อผู้ใหญ่กับ
สหัส มหาคุณ" คนเก่าแก่ในวงการเหล้าพูดถึงปูมมหลังให้ฟัง
เถลิงเป็นคนคล่องและมีหน้าที่ต้องติดต่อผู้หลักผู้ใหญ่ ทั้งนี้เพราะแม่โขงได้มาเพราะอิทธิพล
การจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์ให้กับผู้มีอำนาจอิทธิพลก็ต้องทำกันตลอด รวมทั้งการหว่านผลประโยชน์เข้าไปในกลุ่มที่ยึดครองอำนาจอยู่และตลอดจนคอยเฝ้าดูว่าใครจะเป็นผู้รับช่วงอำนาจต่อไปด้วย
จากการที่ได้ติดต่อผู้หลักผู้ใหญ่พอจะทำให้เถลิงเห็นว่า การดึงผู้มีอำนาจเข้ามามีส่วนร่วมด้วยก็จะเป็นการเสริมฐานของแม่โขง
เป็นของธรรมดายิ่งมีหัวอย่างเถลิงแล้วก็พอจะทำให้เถลิงดูออกได้ว่า ที่แม่โขงมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ได้ก็เพราะ
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อจอมพลสฤษดิ์สิ้นชีวิตไป เป้าหมายคนต่อไปก็เป็นจอมพลประภาส
และถนอม แต่ก็เผอิญที่กลุ่มพวกนี้ยังมีคนดังๆ อีก 2-3 คนอยู่ด้วยเช่น พลอากาศเอกทวี
จุลละทรัพย์, พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิวงศ์ และพลตรีกฤษณ์ สีวะรา (ยศขณะนั้น)
ทั้งหมดนี้เถลิงเห็นว่าเป็นฐานอำนาจที่แท้จริง
"แทนที่จะเข้าไปที่คนใดคนหนึ่ง ก็เข้าไปจับเสียทั้ง 5 คนดีกว่า พลาดคนใดก็ยังมีอีกคนรองรับเอาไว้"
แหล่งข่าวคนเดิมเล่าให้ฟัง
และในที่สุดก็มีบริษัทบวรวงศ์เกิดขึ้น ซึ่งมีจอมพลถนอม ประภาส พลอากาศเอกทวี
จุลละทรัพย์ พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ และพลเอกกฤษณ์ สีวะรา เป็นผู้ถือหุ้น
จนกระทั่งถึงยุคแม่โขงยุคที่สองซึ่งต้องมีการต่อสัญญา
"คุณอย่าลืมว่าในยุคแรกนั้น สหัส มหาคุณ ไม่มีเงินแต่มีอิทธิพลที่ตัวเองพึ่งได้
ก็เลยต้องจำยอมรับหุ้นลม 20% แต่พอทำไป 10 ปี ในสัญญาช่วงแรกอย่างน้อยก็ต้องมีเงินขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย
และทางกลุ่มสหัสและเถลิงก็เห็นชัดๆ ว่า แม่โขงนี้ขอให้มีเงินเสียอย่างทำได้แน่ๆ
ด้วยตนเอง เพราะอิทธิพลก็มีอยู่ในมือแล้ว อีกประการหนึ่งใน 10 ปีที่ผ่านไปนั้นทางฝ่ายสหัสกับเถลิงเป็นฝ่ายที่ถือไพ่ใบสุดท้ายคือ
การเป็นตัวเชื่อมกับฝ่ายทหาร ฉะนั้นในช่วงแรกพวกนี้ก็ทำได้อย่างเดียวก็คือรอ"
แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว
ถ้าคนเราจะต้องรออะไรบางอย่างถึง 10 ปี แล้วอย่างน้อยที่สุดเมื่อการรอสิ้นสุดลงก็ต้องมีผลขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย
ผลที่เกิดขึ้นก็มีหลายทาง เช่น ค่าเช่าในสัญญาช่วงใหม่อีก 10 ปี จากปี
2513-2522 ตกเพียงปีละ 55 ล้านบาทเท่านั้น เพิ่มจากเดิมเพียง 25% เท่านั้น
(ค่าเช่าสัญญายุคแรกปีละเพียง 41 ล้านบาท)
ถึงแม้จะต้องให้ส่วนแบ่งรัฐอีกร้อยละ 25% ของผลกำไรสุทธิ แต่ "คุณก็รู้ว่าสถานภาพทางบัญชีในสมัยเก่าเป็นอย่างไร
กำไรจริง 1 บาท เก็บเข้าพกโดยผ่านทางอื่นแล้ว 75 สตางค์ เหลือแต่กำไรบนสมุดบัญชีเพียง
25 สตางค์ที่จะต้องแบ่งออก 25% ให้กับรัฐ" แหล่งข่าวกล่าวต่อ
ผลที่ได้อีกด้านก็คือ การที่กลุ่มทหารได้เข้ามาร่วมถือหุ้นในบริษัทสุรามหาคุณ
โดยใช้บริษัทบวรวงศ์ จำกัด เข้ามา ซึ่งหุ้นที่ถือนั้นเป็นหุ้นส่วนของ บัญชา
ล่ำซำ และ เตชะไพบูลย์ ที่ขายออกไปให้
"มันชัดมาก เพราะในธุรกิจแบบนี้ดูทีเดียวก็ดูออกว่า อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่ไหน
ทหารใหญ่ที่เคยมีรายได้จากการจัดสรรประจำก็คงจะเห็นว่ามันเป็นธุรกิจที่กำไรดี
ขนาดไม่ได้มีหุ้นแค่มียศเป็นนายพลยังมีเงินเข้ามาประจำ นี่แสดงว่า พวกที่ทำอยู่คงจะได้กำไรมากทีเดียว
เรียกว่าจัดสรรแล้วก็ยังคงเหลือแบ่งอีกมากมาย ถ้างั้นก็เข้าถือหุ้นเสียเลยอีกอย่างพวกทหารก็มีเถลิงเป็นตัวแทนอยู่แล้วที่จะดูแลผลประโยชน์ให้"
อดีตคนสนิทของพลเอกกฤษณ์ สีวะรา เล่าให้ฟังเพิ่มเติม
ทางฝ่ายเตชะไพบูลย์กับล่ำซำ ก้คงจะอยู่ในภาวะจำยอม เพราะต่างฝ่ายต่างก็รู้ว่าเงื่อนไขของแม่โขงอยู่ที่ไหน?
"แต่ถ้ามองกันให้ลึกลงไปแล้วอย่างยุติธรรมจริงๆ กลุ่มสหัสและเถลิงทำไม่ถูกเพราะได้เริ่มหุ้นส่วนกันด้วยความเข้าใจที่ว่าตัวเองไม่มีเงินต้องการนายทุนหนุนหลัง
แต่พอไปได้แล้ว ตัวเองก็หาทางหักขาด้วยวิธีนี้ ซึ่งในหมู่นักธุรกิจเก่าเขาไม่ทำกัน"
นักธุรกิจที่คร่ำหวอดกับกิจการเหล้าพูดให้ฟัง
และจากจุดนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของยุทธจักรแม่โขงที่ต้องฟาดฟันกันไปข้างหนึ่ง
ผู้ใหญ่ในขณะนั้น เช่น จอมพลประภาส ถนอม พลเอกกฤษณ์ สีวะรา พล.ต.อ.ประเสริฐ
รุจิรวงศ์ และอีกหลายคนเห็นว่าเถลิงเป็นคนเก่งสามารถจัดสรรรายได้ออกมาได้ดี
อำนาจของทางการเมืองที่เคยเข้ามาหนุนแม่โขงก็เลยพ่วงเอาเถลิงเข้าไปเป็นเงื่อนไขว่าแม่โขงต้องให้เถลิงเป็นคนทำ
ถึงแม้ฝ่ายเตชะไพบูลย์จะถือหุ้นมากกว่า
ในที่สุดแม่โขงยุคที่สองซึ่งมีสัญญาเริ่มจากปี 2513-2522 ก็เริ่มจาก เถลิง
เหล่าจินดา ได้เปลี่ยนตำแหน่งมาเป็นรองผู้อำนวยการและคุมฝ่ายโรงงานกับจัดซื้อ
ส่วนสุเมธ เตชะไพบูลย์ ถูกโอนกลับมาคุมทางฝ่ายตลาด ซึ่งไม่มีงานทำเพราะระบบตลาดถูกผูกไว้กับยี่ปั๊วหมดแล้ว
ฝ่ายจัดซื้อของแม่โขงนั้นเป็นฝ่ายที่สำคัญที่สุด เพราะต้องรับผิดชอบทุกอย่างที่เป็นในการผลิตแม่โขงออกมาตั้งแต่
ฝาจุก ขวด ฉลากเหล้า ฯลฯ
"ช่วงนี้แหละเป็นช่วงของการแตกแยก เพราะการจัดซื้อในช่วงนั้นสืบไปสืบมาปรากฏว่ากลุ่มต่างๆ
ที่ส่งของให้แม่โขงเป็นกลุ่มของเถลิงทั้งสิ้น คุณสุเมธตอนนั้นโกรธพี่ชายมากถึงกับไม่ยอมมาทำงาน"
พนักงานแม่โขงที่เกษียณแล้วเล่าให้ฟัง
บัญชา ล่ำซำ นั้นก็เริ่มถอนตัวออกเพราะ "ทางคุณบัญชาเองเห็นว่า ธุรกิจเหล้าที่ไปเกี่ยวพันกับอิทธิพลทางการทหารทำให้ภาพลักษณ์ของตัวเองไม่ดี
อีกประการหนึ่งคุณบัญชาก็ไม่พอใจคุณสุรพันธุ์ พิศาลบุตร เท่าไรนักที่ไปเข้าข้างคุณเถลิงครั้งหนึ่งในการลงคะแนนเสียงในกรรมการ
เกี่ยวกับเรื่องหนึ่ง" แหล่งข่าวคนเดิมพูดให้ฟัง (ซึ่งภายหลังในปี 2523
บุตรชายของสุรพันธุ์ พิศาลบุตร แต่งกับบุตรสาวของเถลิง)
เมื่อบัญชา ล่ำซำ ไม่อยู่ สุเมธ เตชะไพบูลย์ ไม่สนใจ ก็เหลือแต่ อุเทน
เตชะไพบูลย์ "คุณอุเทนเป็นสุภาพบุรุษ แกปล่อยให้คุณเถลิงบรรเลงเต็มที่ เถลิงเป็นรองผู้อำนวยการ
ฉะนั้นงานอะไรที่จะส่งไปหาผู้อำนวยการ คุณเถลิงก็กรองไว้หมด" พนักงานแม่โขงคนเดิมพูดต่อ
และช่วงสัญญาแม่โขงช่วงที่สองนี้เองที่เถลิง เหล่าจินดา ได้ เจริญ ศรีสมบูรณานนท์
มาเป็นลูกน้องคู่ใจ
"เจริญ เดิมทีเป็นพ่อค้าขายโชวห่วยจิปาถะในแม่โขงเก่า แกขายทุกอย่าง
ขี่จักรยานเข้ามาส่งตั้งแต่ไม้แขวนเสื้อ, แปรงล้างขวด, แปรงซักผ้า จนถึงของที่ใหญ่
เผอิญเป็นคนเข้าผู้ใหญ่เก่งมากพูดเก่งเอาใจเถลิงเป็น ตอนหลังเลยได้ขายเครื่องจักรให้แม่โขงโดยผ่านเถลิง
ผมนึกไม่ถึงว่าคนคนนี้ตอนนี้จะยิ่งใหญ่ถึงขนาดจะมาปะทะกับแม่โขง" พนักงานคนเดิมกล่าวต่อ
เจริญเป็นคนพูดเก่งเอาใจคนเก่ง เข้าผู้ใหญ่ได้นิ่มนวล ส่วนเถลิงเป็นคนพูดไม่เป็นมีแต่ความอึดและอดทน
เจริญก็เลยเป็นตัวแทนของเถลิงในการเข้าผู้หลักผู้ใหญ่
"พูดง่ายๆ เถลิงวางเป้าว่า จะเจาะใครแล้วส่งเจริญเข้าไปทาบ" คนวงในเล่าให้ฟัง
ฝ่ายเตชะไพบูลย์ซึ่งเติบโตมาจากธุรกิจเหล้าย่อมรู้ดีว่า การขายเหล้านั้นมีกำไรมากแค่ไหน
เฉพาะเหล้าขาวเองก็ทำกำไรหลายร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว เหล้าแม่โขงซึ่งผูกขาดขายทั่วประเทศน่าจะกำไรไม่น้อยไปกว่าเหล้าขาว
"คุณอุเทนไม่ใช่คนโง่ แกรู้หมดเพียงแต่พวกนี้ไม่พูด เพราะทุกอย่างต้องพึ่งอำนาจบารมีทางการเมืองมาค้ำเอาไว้"
คนแม่โขงเก่าแก่ที่เกษียณไปแล้วเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
สำหรับเตชะไพบูลย์ กำไรที่เคยได้นับวันก็น้อยลง ทั้งๆ ที่แม่โขงก็ขายดิบขายดี
เรื่องนี้เป็นเรื่องช้ำอกช้ำใจมาก
"ทางฝ่ายของเตชะไพบูลย์กับเถลิงเริ่มมองหน้ากันไม่สนิท มาตั้งแต่สัญญาช่วงที่สองเริ่มแล้ว"
แหล่งข่าวคนเดิมพูดขึ้นมา
เหตุการณ์ทางการเมือง 14 ตุลาคมที่เกิดขึ้นมาไม่ได้เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าทางการเมืองอย่างเดียว
แต่ในทางการทหารก็เป็นการเปลี่ยนหมากทั้งหมดเทมาสู่มือของพลเอกกฤษณ์ สีวะรา
ด้วย ซึ่งสำหรับเถลิงแล้วกลับเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะจากการที่ใช้ลูกปรายยิงหว่านไปก่อน
ในบรรดาทหารทั้งหลายก็มีชื่อ พลเอกกฤษณ์ สีวะรา ติดอยู่ตั้งแต่ต้นแล้ว นับว่าเป็นการแทงแบบแทงเพลส
ที่ได้ผลดีทีเดียว
"แม่ทัพกฤษณ์ตอนนั้นท่านเป็นคนมีบารมีมาก เรียกได้ว่า ถนนทุกสายมุ่งสู่พลเอกกฤษณ์
จะเป็นฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา หรือฝ่ายใดก็ตาม บารมีท่านทั้งหมด ก็ตัวอย่างง่ายๆ
อาจารย์คึกฤทธิ์ไปดัดหลังท่านไม่ให้เป็นรัฐมนตรีกลาโหม พอลงเลือกตั้งครั้งต่อไป
เขตดุสิต อาจารย์คึกฤทธิ์ก็หลุด" คนใกล้ชิดพลเอกกฤษณ์พูดให้ฟัง
ในเมื่อเป้าทางทหารแคบลงมาเพียงพลเอกกฤษณ์ สีวะรา เท่านั้นปัญหาแม่โขงที่จะต่อสัญญาช่วงที่สามก็แทบจะไม่มีเอาทีเดียว
แต่พลเอกกฤษณ์ สีวะรา เกิดตายเสียก่อนสัญญาแม่โขงจะหมด!
พลเอกกฤษณ์ สีวะรา สิ้นใจในปี 2517 อีก 6 ปี แม่โขงถึงจะหมดสัญญาช่วงที่สอง
"การตายของพลเอกกฤษณ์เท่ากับว่าโครงสร้างทางทหารซึ่งพังไปเมื่อนิสิตนักศึกษาโค่นจอมพลประภาส
และถนอม และพลเอกกฤษณ์กำลังสานโครงสร้างขึ้นมาใหม่ก็ต้องพังไปอีกครั้งหนึ่ง
พอจะพูดได้ว่า สถาบันทหารต้องตั้งต้นตัวเองใหม่ พลเอกบุญชัย บำรุงพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกช่วงนั้นก็ไม่มีบารมีมากพอที่จะสานใหม่ได้
ตอนนั้นก็มีแต่พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เท่านั้น ที่มีบุคลิกเป็นผู้นำทหารถึงหันไปพึ่ง
พลเรือเอกสงัด แต่ก็เป็นการพึ่งพาชั่วคราวเพื่อหาทาง รวมตัวเองทีหลัง" อาจารย์ทางรัฐศาสตร์ที่จุฬาฯ
อธิบายถึงโครงสร้างทางทหารให้ฟัง
การอสัญกรรมของพลเอกกฤษณ์ สีวะรา ได้เป็นจุดเริ่มต้นของแม่โขงที่ไม่มีอิทธิพลของทหารเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเห็นได้ชัด
และก็สามารถพูดได้ว่า จากนั้นมาบทบาทการใช้อิทธิพลของทหารกับแม่โขงก็เริ่มลดถอยลงไปเรื่อยๆ
จนหมดไปในที่สุดเมื่อก่อนสัญญาช่วงที่สองจะหมดไปในประมาณปีสองปี
"คงจะเป็นเพราะว่าไม่มีใครคิดว่าพลเอกกฤษณ์จะไปเร็วขนาดนั้น และอีกประการหนึ่งกระแสทางประชาธิปไตยสูงมากจนคนคิดว่าบทบาททางทหารสมัยหลัง
14 ตุลาคมจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว" อาจารย์รัฐศาสตร์ที่จุฬาฯ คนเดิมพูดต่อ
สำหรับเถลิง เหล่าจินดา แล้วก็คงพอจะมองออกว่าอีก 6 ปีข้างหน้า (2523)
การต่อสัญญาแม่โขงก็จะไม่ง่ายเหมือนเก่าและถึงต่อได้ถ้าขาดซึ่งผู้ใหญ่มาอุปถัมภ์ค้ำชูก็คงต้องสูญเสียอำนาจที่ตัวเองมีอยู่ในขณะนี้
เพราะกลุ่มเตชะไพบูลย์คงไม่ยอมแน่
2523 จึงเป็นปีที่ต้องเตรียมพร้อมทุกรูปแบบ!
ความจริงแล้วเหตุการณ์ 14 ตุลาคม และการตายของพลเอกกฤษณ์ สีวะรา ที่ทำให้สภาพของเงื่อนไขทางการเมืองเปลี่ยนไป
ได้ทำให้ทั้งกลุ่มเตชะไพบูลย์และเถลิง เหล่าจินดา รู้ว่าสัญญาช่วงที่สามคงจะไม่ง่ายเหมือนช่วงที่
2
"พลเอกกฤษณ์ตายก่อนสัญญาแม่โขงจะหมด 6 ปี ก่อนคุณกฤษณ์ตาย เถลิงเป็นคนคุมอำนาจ
และบริหารการตลาดคนเดียว กำไรแต่ละปีเถลิงรู้ตัวเลขจริงคนเดียว" แหล่งข่าวต่อ
และเมื่อเถลิงเองก็รู้ว่าพอสัญญาหมดแล้วคงจะร่วมกับกลุ่มเตชะไพบูลย์ไม่ได้แน่ๆ
ก็ต้องเตรียมตัวไว้รับศึก พอดีโรงงานทำเหล้าของธาราวิสกี้กำลังจะขายเพราะประสบปัญหาทางการเงินในปี
2519
เถลิงเข้าไปซื้อไว้ทันทีเพื่อเป็นฐานของตัวเองในอนาคต
ธาราเผอิญเป็นของ ประสิทธิ์ ณรงค์เดช ซึ่งต่อมาภายหลังประสิทธิ์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในยุคของการประมูลแม่โขงสัญญาที่สามพอดี
และหุ้นส่วนของธาราที่ยังคงอยู่ในธาราและเป็นส่วนสำคัญที่ได้ช่วยเถลิงภายหลังอย่างมาก
หุ้นส่วนนั้นคือ พงส์ สารสิน!
และนี่คือจุดแรกที่พงส์เริ่มเข้ามาพัวพันในยุทธจักรเหล้าอย่างเต็มตัว การซื้อโรงงานสุราธาราวิสกี้ของเถลิงครั้งนี้
เป็นแผนการที่ละเอียดลึกซึ้งมาก
ประการแรก ทำให้ฝ่ายอื่นที่เตรียมประมูลเข้าทำโรงงานสุราบางยี่ขันต้องคิดหนักในการเสนอค่าสิทธิ์หรือค่าผลประโยชน์แก่รัฐบาล
เพราะโรงงานสุราธาราวิสกี้ เป็นโรงงานเอกชนที่มีใบอนุญาตประกอบการเปิดช่องทางให้ผลิตและจำหน่ายสุราแข่งขันกับโรงงานสุราของรัฐ
และมีความได้เปรียบอยู่หลายทาง
ประการที่สอง ในยุทธจักรของผู้ทำสุราเป็นที่ทราบกันดีว่า เป้าหมายใหญ่อยู่ที่สุรา
"แม่โขง" ใครก็ตามที่สามารถเรียกความนิยมและตีตลาดสุรา "แม่โขง" เหล้าคู่บ้านคู่เมืองได้
ก็จะโกยเงินกำไรเป็นจำนวนมหาศาล เพราะเพียงค่าสิทธิ์อย่างเดียวหากไม่ต้องจ่ายให้รัฐแต่ละปีก็เป็นเงินนับพันล้านบาทแล้ว
และแผนนี้ก็มีการใช้ปฏิบัติในเวลาต่อมา ด้วยการพยายามทำลาย "ค่านิยม" แม่โขง