แม่โขงที่โรงงานสุราบางยี่ขัน ซึ่งตั้งอยู่ที่ปากคลองบางยี่ขัน ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก
ในท้องที่แขวงบางปูน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร อันเป็นโรงงานที่มีประวัติเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่ครั้งเริ่มสร้างกรุงเทพมหานคร
ซึ่งเคยเรียกกันว่ากรุงรัตนโกสินทร์
สุนทรภู่ บรมจินตกวีของไทยก็ยังเคยเขียนนิราศกล่าวถึงโรงงานสุราบางยี่ขันนี้
“ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง
มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา"
ในสมัยนั้นโรงงานสุราบางยี่ขัน เป็นสมบัติของนายอากร ซึ่งได้รับอนุญาตจากรัฐบาล
ให้ทำการผูกขาดผลิตสุราออกจำหน่ายในกรุงเทพมหานครซึ่งอาจรวมถึงหัวเมืองที่อยู่ติดต่อใกล้เคียงด้วย
สุราที่ผลิตคงเป็นสุราขาวหรือที่เรียกตามภาษาตลาดว่า เหล้าโรง
ในปี พ.ศ. 2457 โรงงานสุราบางยี่ขัน จึงได้ตกมาเป็นสมบัติแผ่นดินโดยบทบัญญัติของ
กฎหมายสุรา กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ได้เป็นผู้ปกครองดูแล โรงงานนี้ตลอดมา
แต่ได้เรียกประมูลเงินผลประโยชน์เข้ารัฐในรูปต่างๆ เช่น เงินพิเศษ เงินค่าปรับเนื่องจากจำหน่ายสุราต่ำกว่าจำนวนที่กำหนดในสัญญา
ฯลฯ แล้วตั้งผู้ประมูลได้ให้เป็นผู้รับอนุญาตผลิตสุราออกจำหน่าย ภายในเขตที่กำหนดให้เป็นเขตจำหน่ายสุราของโรงงานมา
พ.ศ.2470 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งการปกครองยังเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ครบกำหนดหมดอายุสัญญาอนุญาตให้ต้มกลั่นและจำหน่ายสุรา ซึ่งพระสวามิภักดิ์ภูวนารถเป็นผู้รับอนุญาตคู่สัญญากับกรมสรรพสามิตคนสุดท้าย
กรมสรรพสามิตจึงได้ระงับการอนุญาตให้เอกชนเป็นผู้รับอนุญาตผลิตและจำหน่ายสุรา
และกรมสรรพสามิตได้เข้าทำการผลิตสุราที่โรงงานสุราบางยี่ขันเอง แต่การจำหน่ายคงใช้วิธีประมูลเงินผลประโยชน์ตั้งผู้ทำการขายส่งเป็นเขตๆ
ไป
สุราที่กรมสรรพสามิตทำการผลิตจำหน่ายยังคงเป็นสุราขาวอยู่ตามเดิม แล้วภายหลังได้ผลิตสุราผสมโดยใช้เครื่องสมุนไพรตามเภสัชตำรับของยาดองเหล้าในครั้งโบราณสกัดโดยแช่สุราดีกรีสูงทำเป็นน้ำเชื้อ
แล้วนำมาปรุงแต่ง รส กลิ่น สี และแรงแอลกอฮอล์ตามกรรมวิธีเป็นสุราผสมโดยใช้ดื่มโดยไม่ผสมกับโซดา
ทั้งนี้เพื่อสนองความต้องการของประชาชนที่นิยมดื่มยาดองเหล้าแทนสุราขาว
ต่อมากรมสรรพสามิตได้พยายามพัฒนาการทำสุราผสมไปเป็นการทำสุราปรุงพิเศษ
โดยค้นคว้าทดลองสกัดทำน้ำเชื้อที่จะใช้ในการปรุงจากเครื่องสมุนไพรต่างชนิดกับที่ใช้ในการทำสุราผสม
และสุราปรุงพิเศษนี้จะดื่มโดยผสมโซดาหรือไม่ผสมโซดาก็ได้ เพราะกำลังมีผู้นิยมดื่มสุราผสมโซดากันอย่างแพร่หลาย
ซึ่งก็มีแต่สุราประเภทวิสกี้จากต่างประเทศเท่านั้น ต้องอาศัยเป็นผู้มีรายได้สูงจึงจะดื่มได้
เพราะวิสกี้มีราคาแพง ถ้าหากหันมาดื่มสุราปรุงเศษของไทย แทนวิสกี้ ก็จะเป็นการประหยัดและไม่สิ้นเปลืองเงินตราต่างประเทศในการสั่งซื้อวิสกี้เข้ามาจำหน่าย
สุราปรุงพิเศษที่กรมสรรพสามิตได้ผลิตจากโรงงานสุราบางยี่ขัน ออกจำหน่ายเป็นครั้งแรกคือ
สุรา ว.ก. (เรียกแทนวิสกี้) และสุรา บ.ด. (เรียกแทนบรั่นดี)
ต่อมาในไม่ช้าประเทศไทยเรียกร้องดินแดนที่ฝรั่งเศสได้ใช้อำนาจบีบบังคับเอาไปผนวกเข้ากับประเทศในอาณานิคมของตนคืนจากฝรั่งเศส
จนเกิดกรณีพิพาทกันขึ้นและหลวงวิจิทรวาทการได้ประพันธ์เพลงปลุกใจคนไทยให้รักชาติ
และกล้าเข้าสู่สมรภูมิ ดูเหมือนเพลงจะชื่อว่า “ข้ามโขงไปสู่แคว้นแทนไทย”
และ “โขงสองฝั่งเหมือนฝั่งเดียวกัน” อิทธิพลของเพลงจูงใจให้กรมสรรพสามิตตั้งชื่อสุราปรุงพิเศษ
35 ดีกรี ที่ได้ผลิตขึ้นใหม่ในปี 2484 ว่า “แม่โขง” อันนับได้ว่าเป็นนามตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
จนกระทั่ง ณ บัดนี้ นับเวลาได้ 40 ปี ก็ยังคงดำรงอยู่และจะคงดำรงต่อไปชั่วกาลนาน
ในสมัยที่มีการผลิตสุราแม่โขงออกสู่ตลาดนั้น น.ต.จบ ศิริไพบูลย์ ร.น. เป็นผู้อำนวยการ
โรงงานสุราบางยี่ขัน หลวงบรรณกรรัชตภัณฑ์ เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงงาน และนายประเสริฐ
เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นพนักงานชั้นหัวหน้าของโรงงงาน
เมื่อได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวงอุตสาหกรรมขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม
2486 ซึ่งเป็นระยะที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ขยายตัวมาสู่เอเชียบูรพา และประเทศไทยได้เข้าอยู่ในสถานะสงครามด้วย
โรงงานสุราบางยี่ขันพร้อมด้วยโรงงานสุราจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และโรงงานสุราจังหวัดสงขลา
ได้ถูกโอนจากกรมสรรพสามิตมารวมเป็นโรงงานสุราในกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นส่วนราชการของกระทรวงอุตสาหกรรม
โดยพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
หลวงบรรณกรรัชตภัณฑ์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงงานสุรา
กรมโรงงานอุตสาหกรรม ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2488 แทน น.ต.จบ ศิริไพบูลย์
ร.น. ซึ่งได้ถึงแก่กรรม
นอกจากได้ริเริ่มที่จะใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์แผนใหม่ในบางขั้นตอนของการผลิตสุราแม่โขงเป็นการเร่งผลิต
ทั้งในคุณภาพและปริมาณในขั้นต่อไปดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังเป็นผู้ทำการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของสุราแม่โขงอีกหลายอย่าง
เป็นต้นว่า ได้เปลี่ยนใช้ขวดกลมขาว ขนาด 750 ลูกบาศก์เซนติเมตร บรรจุแทนขวดกลมสีเขียวขนาด
625 ลูกบาศก์เซนติเมตร ที่ใช้อยู่เดิม ส่วนฉลากก็เปลี่ยนจากฉลากพื้นขาวลวดลายเขียนอย่างง่ายๆ
สีเขียวมาใช้ฉลากพื้นขาวมีคำว่า “แม่โขง” เขียนเป็นลวดลายสีแดง ซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์ของสุราแม่โขงมาจนกระทั่งปัจจุบัน
ปากขวดเดิมใช้ชุบครั่งแดงหุ้มจุก ก็ได้เปลี่ยนใช้แคปซูลตะกั่วผลิตจากโรงงานกษาปณ์กระทรวงการคลังแทน
ซึ่งเป็นการเปลี่ยนโฉมสร้างความน่าดูและความเชื่อถือในคุณภาพให้แก่สุราแม่โขงยิ่งขึ้น
ส่วนประกอบต่างๆ ของสุราแม่โขงนี้ ได้รับการปรับปรุงวิวัฒนาการในสมัยหลวงบรรณกรรัชตภัณฑ์
เป็นผู้อำนวยการ และในสมัยต่อมาอีกหลายประการ รวมทั้งได้ใช้ขวดแบนสีขาว ขนาด
375 ลูกบาศก์เซนติเมตร และ 187.5 ลูกบาศก์เซนติเมตร ออกจำหน่ายด้วย
ความต้องการบริโภคสุราแม่โขงได้เพิ่มตัวสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง โดยความขาดแคลนสุราต่างประเทศในระหว่างสงครามโลกครั้งที่
2 กำลังดำเนินอยู่ เป็นกำลังกระตุ้นเตือน แต่เมื่อได้หมดภาวะสงคราม มีสุราต่างประเทศตกเข้ามีปริมาณเพิ่มอยู่เรื่อยๆ
ความต้องการบริโภคสุราแม่โขงก็คงยังมีเพิ่มขึ้นมากตลอดมา ทำให้การบรรจุสุราลงขวดเพื่อส่งออกจากโรงงานไปเพื่อการจำหน่าย
จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรกลเข้าช่วยนับตั้งแต่ชั้นทำความสะอาดของขวดจนถึงการบรรจุสุราลงขวด
จึงได้มีการสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อตั้งเครื่องล้างขวด และบรรจุสุรา
และได้ทำการสั่งซื้อเครื่องจากประเทศฝรั่งเศสในสมัยนายนิตย์ ใบเงิน เป็นผู้อำนวยการโรงงานสุรา
แต่ด้วยความจำเป็นบางประการ ได้ระงับการประกอบติดตั้งเครื่อง ซึ่งได้เข้ามาถึงแล้ว
ต่อมารัฐบาลในปี พ.ศ.2502 มีนโยบายให้เอกชนเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันไปทำการผลิตสุราออกจำหน่าย
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 เป็นต้นไป มีกำหนดระยะเวลา 10 ปี ซึ่งบริษัทสุรามหาคุณ
จำกัด ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้เช่าโดยเสียค่าเช่าปีละ 41 ล้านบาท แล้วภายหลังบริษัทนี้ได้รับการต่อสัญญาอีก
10 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 โดยเสียค่าเช่าปีละ 55 ล้านบาท กับส่วนแบ่งผลกำไรสุทธิอีกร้อยละ
25
บริษัทสุรามหาราษฎร จำกัด ได้เข้าสู่การประมูล ในปี พ.ศ.2522 ให้เงินค่าสิทธิสูงสุด
และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้เช่าโรงงานสุราบางยี่ขัน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 มีกำหนด
15 ปี