เสื้อเชิ้ตยี่ห้อ แวน ฮูเซ็น เป็นเสื้อที่เริ่มมาจากสหรัฐฯ โดยใช้เชื่อว่า
PHILIP VAN HEUSEN ต่อมาก็ขยายไปในอังกฤษโดยใช้แต่ชื่อ แวน ฮูเซ็น เท่านั้น
นับว่า แวน ฮูเซ็น อยู่ในตลาดเสื้อเชิ้ตมาก็พอสมควร
แค่ 60 ปีเท่านั้น !
แวน ฮูเซ็น จะเน้นเสื้อเชิ้ตแขนยาวและแขนสั้นเท่านั้น หรือที่ฝรั่งเขาเรียกว่า
DRESS SHIRT
ในตลาดเสื้อเชิ้ตเมืองไทย ที่แอร์โรว์ขายเดือนละมากมายมหาศาล และขายดีที่สุด
แวน ฮูเซ็น ยังคิดว่าตลาดเสื้อเชิ้ตยังมีที่ว่างพอจะเข้าไปร่วมในตู้เสื้อผ้าได้
แต่แวน ฮูเซ็น มาในนามของสหยูเนี่ยน
“ท่านประธานอานันท์ (อานันท์ ปันยารชุน) เป็นคนไปติดต่อเซ็นสัญญามาค่ะ
ความจริงเราติดต่อมาหลายปีแล้วแต่เขายังไม่พร้อม เพิ่งจะมาพร้อมปีนี้”
วัญจนา เทพสุธา พูดกับ “ผู้จัดการ”
“แวน ฮูเซ็นเขาไม่ค่อยให้ไลเซนส์กับใครหรอก ในเอเชียมีแค่ญี่ปุ่น ฮ่องกง
และประเทศไทยเท่านั้น” ชาญวิทย์ เรืองวิริยะ พูดให้ฟังเพิ่มเติม
ทั้งชาญวิทย์ เรืองวิริยะ และวัญจนา เทพสุธา เป็นผู้บริหารสินค้า แวน ฮูเซ็น
และเสื้อชั้นในสตรีที่ชื่อวาซาเร็ท
ชาญวิทย์ในฐานะเป็นผู้ชายก็ต้องหนักไปทางแวน ฮูเซ็น ส่วนวัญจนาที่รู้เรื่องสัดส่วนของผู้หญิงก็มาคุมทางวาซาเร็ท
“แต่เราช่วยกันดู ช่วยซึ่งกันและกันค่ะ” วัญจนาพูดเสริม
ชาญวิทย์เคยไปบริหารด้านเสื้อยืดแกรนด์สแลม ซึ่งเป็นของบริษัทยูเนี่ยน ยูนิเวอร์ส
ที่เป็นบริษัทในเครือของสหยูเนี่ยน
ส่วนวัญจนานั้นอีกหน้าที่หนึ่งคือ ประชาสัมพันธ์ของสหยูเนี่ยน และพักหนึ่งเคยไปช่วยที่คอมพิวเตอร์
ยูเนี่ยน ก่อนจะมาดูแลสายเสื้อผ้าอย่างเต็มตัว
แวน ฮูเซ็น เป็นเสื้อเชิ้ตซึ่งมีอยู่สามระดับคือคลาสสิก สำหรับนักบริหารหนุ่ม
ราคาอยู่ในวง 200-300 กว่า ระดับสองคือ ซาวัลล์ (ใช่ครับคำว่า SAVILLE ของรถคาดิแลคนั่นแหละ)
ระดับราคาประมาณ 300-600 บาท ระดับสุดท้าย เคน ซิงตัน (KENSINGTON) ซึ่งเป็นเสื้อระดับนักบริหารระดับสูง สนนราคามีถึง
1,500 บาท เรียกได้ว่าราคาบอกฐานะเชียวละ
“แวน ฮูเซ็นเป็นเสื้อที่ขายดีที่สุดในยุโรป อีฟแซงค์ หรือคริสเตียนดิออร์
สู้ไม่ได้เลย เพราะจุดเด่นของแวน ฮูเซ็นอยู่ที่คอปก และข้อมือซึ่งไม่มีใครทำได้ดีเท่า
อีกประการหนึ่งแวน ฮูเซ็นพิถีพิถันกับเรื่องเนื้อผ้ามาก” ชาญวิทย์อธิบาย
ในการผลิตแวน ฮูเซ็นนั้นก็คงจะเป็นอินเฮาส์แทบทั้งหมด
”เราใช้โรงงานทอผ้าตามแบบที่เราต้องการและตัดเย็บโดยโรงงานของสหยูเนี่ยน”
วัญจนาพูดเสริม
ส่วนเรื่องคุณภาพนั้นชาญวิทย์บอกว่าทางแวน ฮูเซ็นส่งทีมงานมาถึง 3 ครั้ง
ซึ่งครั้งหลังตัวกรรมการผู้จัดการของแวน ฮูเซ็นในอังกฤษถึงกับมาเอง มาดูขั้นตอนการผลิต
การห่อ การวาง และการตลาด
“เขาพอใจมาก โดยเฉพาะการตัดเย็บของเรา” ชาญวิทย์พูดให้ฟัง
วัญจนาได้ทดลองส่งเสื้อแวน ฮูเซ็นไปให้ผู้หลักผู้ใหญ่ ตั้งแต่ ผู้จัดการใหญ่
และกรรมการธนาคารทดลองดู ปรากฏว่า “ดีค่ะ ชมมาว่า เสื้อดี คอปกสวย”
แต่ข้อบกพร่องก็ยังมีอยู่บ้าง “เราพบว่าคนไทยไม่ค่อยชอบช่วงระหว่างกระดุมข้อมือถึงข้อศอกที่ใหญ่เกินไป ซึ่งผิดกับทางยุโรป เราก็เลยแก้จุดนั้น”
ชาญวิทย์อธิบาย
ผ้าที่ใช้ตัด ทอโดยกลุ่มสหยูเนี่ยนนั้นยังไม่มาก ผ้ายังต้องสั่งมาจากนอก
และเท่าที่ “ผู้จัดการ” เห็นลายแล้วก็เป็นลายแถบกับเส้นตามความนิยมในปีนี้
แวน ฮูเซ็นจะออกสู่ตลาดในกลางเดือนนี้ (เมษายน) โดยจะเลือกวางตามจุดที่กลุ่มคนเข้ามีกำลังซื้อ
เช่น ไดมารู เดอะมอลล์ (หัวหมาก) บางกอกโกรเซอรี่ (สยามสแควร์)
“เราจะไม่ทำใหญ่โตจะค่อยๆ วาง และค่อยๆ ขยายไปในจุดที่คิดว่ามีลูกค้า
เพราะเสื้อแวน ฮูเซ็นเป็นเสื้อระดับสูงขึ้นมา” ชาญวิทย์ตบท้ายพร้อมกับขยับคอปกเสื้อ
แวน ฮูเซ็นที่ตัวเองใส่