|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
การประกาศยื่นล้มละลายของสายการบิน 'เจแปน แอร์ไลน์' เป็นการส่งสัญญาณเตือนว่าแม้แต่ธุรกิจการบินยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียยังล้มคลืนลงมาได้ ขณะที่สายการบินที่มีอยู่จะมีชะตาเหมือนกับเจแปน แอร์ไลน์หรือไม่ต้องจับตา
ว่ากันว่าปี 2010 นับเป็นปีที่ธุรกิจการบินมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำกลับไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เลย เห็นได้ชัดเจนคือเมื่อสิ้นปี 2552 ที่ผ่านมา สายการบินแอร์เอเชีย สามารถลดต้นทุนดำเนินงานได้มากกว่า 29 ล้านดอลลาร์สหรัฐทีเดียว แต่การอยู่บนความไม่ประมาทในธุรกิจการบิน ส่งผลให้แอร์เอเชียพยายามหาช่องทางประคองตัวให้ยืนอยู่บนเส้นทางธุรกิจได้
ล่าสุด การเป็นพันธมิตรของเจ็ทสตาร์ของแควนตัส แอร์ไลน์ส จะทำให้ 2 สายการบินสามารถประหยัดต้นทุนการดำเนินงานได้ถึง 183 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับที่ โทนี่ เฟอร์นันเดส ซีอีโอของแอร์เอเชีย กล่าวว่า ปีนี้แอร์เอเชียดำเนินนโยบายลดต้นทุน ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจในเอเชียจะเติบโตดี ทำให้การขนส่งของสายการบินต้นทุนต่ำขยายตัวดีกว่าปีก่อน
ในอนาคตทั้งสองบริษัทกำลังมีแผนจะร่วมมือกันลดต้นทุนและราคาตั๋วเครื่องบินของสายการบิน ซึ่งถือเป็นก้าวแรกในข้อตกลงความร่วมมือกันของสายการบินทั้งสองแห่ง ที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในตลาดธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ
สอดคล้องกับที่ บรูซ บิวคานัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของเจ็ทสตาร์ที่ระบุว่า ความร่วมมือกันครั้งนี้อาจทำให้สายการบินต้นทุนต่ำทั้งสองแห่งสามารถประหยัดต้นทุนได้หลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ
'การร่วมมือกันและมีเป้าหมายในจุดเดียวกัน ที่สามารถลดต้นทุนได้จริง ก็จะช่วยกระตุ้นโอกาสให้กับเราได้ด้วย' บิวคานัน กล่าว
ว่ากันว่า แผนความร่วมมือของทั้งสองสายการบินในครั้งนี้ ยังจะรวมไปถึงการร่วมมือกันจัดหาเครื่องบินลำใหม่ การสั่งซื้อเครื่องยนต์ และการบำรุงรักษาเครื่องบินรวมไปถึงการลำเลียงผู้โดยสารของสายการบินทั้งสองที่ต้องติดค้างอยู่ตามสนามบิน ในกรณีที่สายการบินใดสายการบินหนึ่งต้องหยุดให้บริการ
ขณะที่ข้อตกลงความร่วมมือในฐานะพันธมิตรนี้ จะทำให้สายการบินต้นทุนต่ำทั้งสองแห่งสามารถแข่งขันในธุรกิจสายการบินในภูมิภาคเอเชียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ในอนาคตสายการบินทั้งสองแห่งอาจเข้ามามีอิทธิพลต่อธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำในเอเชียมากขึ้น และคาดว่าอาจจะประกาศขยายความร่วมมือด้านการลงทุนไปยังภูมิภาคอื่นเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ สายการบินเจ็ทสตาร์ซึ่งมีเครื่องบินประจำการในฝูงบินกว่า 60 ลำ ถือเป็นสายการบินต้นทุนต่ำเส้นทางบินไกลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่แอร์เอเชียถือเป็นสายการบินชั้นนำในตลาดธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำของเอเชีย โดยมีเครื่องบินประจำการ 85 ลำ และเส้นทางบินมากกว่า 60 แห่ง
นับตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา ในภูมิภาคเอเชียจะมีสายการบินต้นทุนต่ำเกิดขึ้นหลายแห่ง ทำให้ธุรกิจการบินในเอเชียจะเติบโตขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกในอีก 20 ปีข้างหน้า ขณะที่กลยุทธ์การเป็นพันธมิตรของ 2 สายการบินต้นทุนต่ำจะส่งผลทำให้ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ไม่ว่าจะเป็น แอร์บัส จากสหภาพยุโรป หรือค่ายโบอิ้ง จากสหรัฐอเมริกา มีโอกาสเจาะตลาดธุรกิจการบินในภูมิภาคนี้มากขึ้น
สอดคล้องกับผู้บริหารของ โบอิ้ง ที่ต่างเชื่อมั่นว่าภายในปี 2030 ธุรกิจการบินในเอเชียจะเติบโตมากกว่า 40% และในภูมิภาคนี้จะมีความต้องการเครื่องบินพาณิชย์ 8,960 ลำ มีมูลค่าการตลาด 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ด้าน นายบรูซ บูคานัน ซีอีโอของสายการบินเจ็ทสตาร์ กล่าวว่า การจับมือเป็นพันธมิตรกับแอร์เอเชียนับเป็นครั้งแรกสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำ นอกจากนี้ในอนาคต 2 สายการบินจะร่วมการใช้โค้ด แชริ่งในการจองตั๋วโดยสารในเส้นทางการบินเดียวกัน ลดค่าใช้จ่ายโรงแรมที่พักพร้อมออกแพกเกจลดค่าใช้จ่ายร่วมกัน
นายอลัน จอยซ์ ผู้บริหารสายการบินแควนตัส กล่าวว่า ข้อตกลงนี้จะช่วยให้สายการบินทั้งสองได้เปรียบในตลาดการบินเอเชีย ขณะที่นักวิเคราะห์ระบุว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อครองตลาดการบินต้นทุนต่ำในเอเชียที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มที่ทั้งสองสายการบินจะขยายการร่วมทุนมากขึ้น
ที่ผ่านมาเจ็ทสตาร์และแอร์เอเชียเป็นผู้บุกเบิกริเริ่มจัดตั้งรูปแบบธุรกิจการบินระยะไกลที่มีค่าโดยสารราคาประหยัด การประกาศจัดตั้งพันธมิตรการบินใหม่ในวันนี้เป็นการพลิกรูปแบบพันธมิตรการบินจากเดิมสู่พันธมิตรการบินแบบใหม่ที่มุ่งเน้นลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน สำหรับตลาดการบินในภูมิภาคเอเชียเป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างเด่นชัดและมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วตลอดปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีสภาวะการดำเนินงานที่ยากลำบาก แต่มีการคาดการณ์ว่า จะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น ดังนั้น การผนึกกำลังเป็นพันธมิตรครั้งนี้จะมอบโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และสร้างความคุ้มค่าสูงสุดให้กับทั้งสองสายการบินดังกล่าว
|
|
|
|
|