|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เฮาส์แบรนด์ โตสวนกระแสเศรษฐกิจ
ค่ายค้าปลีกระดมสินค้าสู่ตลาด ปรับคอนเซ็ปต์ ปูพรม กินตลาดทุกเซกเมนต์
จากสงครามราคา พัฒนาสู่พรีเมียมโปรดักส์
ล่าสุดอัปเกรดไปสู่การส่งออก เพิ่มช่องทาง สร้างโอกาสขาย
เฮาส์แบรนด์เปลี่ยนยุค จากสงครามราคา อัปสู่พรีเมียมโปรดักส์ ล่าสุดพัฒนาสินค้า สร้างแบรนด์ ยกระดับสู่การส่งออก โดยเฉพาะ ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่พยายามสร้างความแตกต่าง หนีการไล่ล่าของสงครามราคาจากบรรดาดิสเคานต์สโตร์ทั้งหลายที่กระหน่ำสงครามราคา ทว่าสินค้ายังมีจุดด้อยเรื่องคุณภาพ ดังนั้น ท็อปส์จึงพยายามยกระดับตัวเองและสร้างความแตกต่างโดยมีสินค้าเฮาส์แบรนด์เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะสร้างความแตกต่าง
ท็อปส์ทุ่มงบ 90 ล้านบาทในการโปรโมตเฮาส์แบรนด์ โดยเรียกชื่อใหม่ให้เป็นโอนแบรนด์เพื่อสร้างความแตกต่างจากคำว่าเฮาส์แบรนด์ของบรรดาดิสเคานต์สโตร์ โดยมีการทำดิสเพลย์ให้โดดเด่น ดึงดูดให้ผู้บริโภคทดลองใช้ จนเกิดการซื้อซ้ำและขยายกลุ่มไปสู่สินค้าโอนแบรนด์อื่นๆ ทั้งนี้ สินค้าโอนแบรนด์หรือเฮาส์แบรนด์ถือเป็นสินค้าที่สามารถสร้างมาร์จิ้นได้สูงกว่าการจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมทั่วไป
ปัจจุบัน ท็อปส์ มีสินค้าโอนแบรนด์กว่า 1,000 รายการ จากจำนวนสินค้าที่มีทั้งหมดกว่า 16,000 รายการ โดยสินค้าโอนแบรนด์สร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วน 2% ของยอดขายทั้งหมดของท็อปส์ ทั้งนี้ ท็อปส์ตั้งเป้าว่าจะสามารถเพิ่มสัดส่วนรายได้จากสินค้าโอนแบรนด์เป็น 4% ในปีนี้และสามารถทำรายได้คิดเป็นเม็ดเงิน 750 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่คาดว่าจะปิดยอดขายสินค้าโอนแบรนด์ได้ 450 ล้านบาท
นอกจากนี้ท็อปส์ยังมีการส่งออกแบรนด์ Cooking for Fun และ My Choice ไปสู่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างการยอมรับแบรนด์มาสู่ผู้บริโภคชาวไทยมากขึ้น ปัจจุบันสินค้าเฮาส์แบรนด์ในตลาดโลกได้รับการยอมรับมากขึ้นโดยเฉพาะในทวีปยุโรปมีสินค้าเฮาส์แบรนด์กว่า 50% ในโมเดิร์นเทรด ขณะที่ในอเมริกามีสินค้าเฮาส์แบรนด์ประมาณ 25-30% ส่วนตลาดเอเชียมีเพียง 10% ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการที่ผู้บริโภคเอเชียให้การยอมรับและเชื่อถือสินค้าแบรนด์เนมมากกว่า จึงต้องใช้เวลาในการสร้างตลาดสินค้าเฮาส์แบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น
ขณะที่ เทสโก้ โลตัส มีสินค้าเฮาส์แบรนด์กว่า 9,000 รายการ สร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วน 10% ของยอดขายของ เทสโก้ โลตัส ขณะที่คาร์ฟูร์มีสินค้าเฮาส์แบรนด์กว่า 6,000 รายการ เพิ่มขึ้นจาก 2 ปีที่แล้วที่มีอยู่ 3,000 กว่ารายการ โดยสัดส่วนรายได้จากสินค้าเฮาส์แบรนด์ของคาร์ฟูร์มีสัดส่วนสูงถึง 12% เพิ่มจากแต่ก่อนที่มีสัดส่วน 10%
ส่วน บิ๊กซี ทุ่มงบ 20 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมาเพื่อเปิดตัวเฮาส์แบรนด์ใหม่ 'แฮปปี้บาท' ในกลุ่มสินค้า นอน-ฟู้ด เฟรชฟู้ด ดรายฟู้ด ภายใต้แนวคิด ราคาประหยัดมากขึ้น โดยมีระดับราคาถูกกว่าสินค้าทั่วไป 40% โดยช่วงเริ่มต้นมีสินค้า 73 รายการ และได้เพิ่มเป็น 200 รายการในปีเดียวกันนี้ ส่วนเฮาส์แบรนด์ 'บิ๊กซี' ปัจจุบันมี 1,000 รายการ
ก่อนหน้านี้ เทสโก้ โลตัส มีการตั้งศูนย์วิจัยผลิตภัณฑ์ Tesco Research Center เพื่อรุกตลาดเฮาส์แบรนด์โดยโฟกัสไปที่สินค้าในกลุ่มเครื่องสำอาง เครื่องใช้ในครัวเรือน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศไทย และยังมีแผนที่จะส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ โดยบริษัทมีการใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาทในการควบคุมคุณภาพสินค้าเฮาส์แบรนด์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเครื่องอุปโภค บริโภค ภายใต้แบรนด์ เทสโก้ และแบรนด์คุ้มค่า และยังมีเพอร์ซันนัลแคร์ภายใต้แบรนด์สกิน วิสดอม
นอกจากนี้ เทสโก้ โลตัส ยังมีการเจรจาเพื่อนำสินค้าเฮาส์แบรนด์ที่ผลิตในประเทศไทยไปจำหน่ายในห้างเทสโก้ในอังกฤษซึ่งมีสาขารวมกว่า 1,000 สาขา
นอกจากห้างดิสเคานต์สโตร์และซูเปอร์มาร์เกตแล้วยังมีร้านค้าปลีกสุขภาพและความงามอย่างวัตสัน ที่มีสินค้าเฮาส์แบรนด์เกือบพันรายการ โดยมียอดการเติบโตกว่า 2 หลัก ซึ่งมีสินค้าทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ โดยบริษัทมีแผนที่จะใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการผลิตสินค้าเฮาส์แบรนด์เพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศทั้งในยุโรป และอาเซียน
ทั้งนี้ สาขาของเทสโก้ โลตัส ในต่างประเทศมีสัดส่วนยอดขายสินค้าแบรนด์เนมทั่วไป 65% ที่เหลือ 35% เป็นรายได้จากสินค้าเฮาส์แบรนด์ ซึ่งในกลุ่มเฮาส์แบรนด์แบ่งเป็นสัดส่วนรายได้จากกลุ่มอาหารสูงถึง 75% คิดเป็นสินค้า 12,000 รายการ ซึ่งสูงกว่าการบริโภคสินค้าเฮาส์แบรนด์ในเมืองไทย ดังนั้น บริษัทจึงเชื่อว่ายังมีโอกาสอีกมากในการสร้างตลาดสินค้าเฮาส์แบรนด์ให้เติบโตและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคไทย ซึ่งหลังจากเฮาส์แบรนด์มีการพัฒนาข้ามยุคของสงครามราคา ไปสู่การเป็นพรีเมียมโปรดักส์ รวมถึงการส่งออกแล้ว เชื่อว่าจะสร้างการยอมรับในสินค้าเฮาส์แบรนด์ได้มากขึ้น
จุดเริ่มเฮาส์แบรนด์ สานต่อสงครามราคา ตอบสนอง Value for Money
ราคาถือเป็นกลยุทธ์หลักของธุรกิจดิสเคานต์สโตร์ที่ใช้เป็นจุดขายในการดึงดูดผู้บริโภคในยุค Smart Age ที่ไม่ยึดติดกับแบรนด์มากนัก แต่จะพิจารณาจากคุณสมบัติการใช้งาน คุณภาพของสินค้า ควบคู่กับราคาว่าเหมาะสมหรือไม่ มีความคุ้มค่าคุ้มราคาเพียงใด ส่งผลให้บรรดาดิสเคานต์สโตร์ต้องเร่งขยายสาขาเพื่อครอบครองตลาดและสร้างอำนาจต่อรองในการสั่งซื้อสินค้าเพื่อให้ได้ต้นทุนในระดับที่ถูกกว่าคู่แข่ง และทำให้บริษัทสามารถทำราคาขายได้ถูกใจลูกค้ามากกว่า
ทว่า กลยุทธ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อหลายๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นซัปพลายเออร์ที่นอกจากจะถูกกดราคาแล้ว ยังต้องเผชิญกับการหารายได้ของห้างดิสเคานต์สโตร์ในรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากการขายปรกติเช่นค่าธรรมเนียมแรกเข้า ค่าหัวเชลฟ์ ทำให้ซัปพลายเออร์มีต้นทุนทางธุรกิจที่สูงขึ้น ขณะที่ร้านค้ารายย่อยตั้งแต่ ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ลงไปถึงโชวห่วยที่ไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับการแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ ต่างก็ได้รับความเดือดร้อนจึงเกิดการรวมตัวเรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎเพื่อควบคุมการขยายตัวของดิสเคานต์สโตร์รายใหญ่ๆ ตั้งแต่การจัดโซนนิ่ง ควบคุมการขยายสาขาของห้างใหญ่ ล่าสุดกรมการค้าภายในได้ร่างกฎหมายบังคับใช้เพื่อควบคุมการทุ่มตลาดหรือการทำลายคู่แข่งด้วยการขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าทุน โดยกฎหมายดังกล่าวมีการกำหนดคำนิยามเกี่ยวกับต้นทุนสินค้า การขายสินค้าต่ำกว่าทุน โดยครอบคลุมเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการขายเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ เทสโก้ โลตัส มีการทำแคมเปญ Roll Back ลดราคาสินค้าโดยอ้างว่าเป็นการลดต้นทุนสินค้าในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเช่นเกี่ยวกับระบบคลังสินค้า ระบบขนส่งต่างๆ ซึ่งเมื่อกฎหมายไม่ถือว่าเป็นต้นทุนสินค้า ก็จะทำให้ เทสโก้ โลตัส ใช้เป็นข้ออ้างในการลดราคาสินค้าไม่ได้ อย่างไรก็ดี กฎหมายดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. แต่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในอีกไม่นานนี้
ดังนั้น แนวทางที่จะทำให้ดิสเคานต์สโตร์สามารถชูจุดขายเรื่องราคาต่อไปได้คือการหันมาเน้นสินค้าเฮาส์แบรนด์ให้มากขึ้นเนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำ ไม่มีค่าการตลาดมากเท่ากับสินค้าแบรนด์เนมที่ต้องทุ่มงบโฆษณามหาศาลเพื่อสร้างการรับรู้ จดจำ และนำไปสู่การทดลองใช้ และซื้อซ้ำ
อย่างไรก็ดี แม้จะมีการทำตลาดสินค้าเฮาส์แบรนด์กันมานาน ทว่าภาพลักษณ์ของสินค้าเหล่านี้ในสายตาผู้บริโภคไทยในยุคแรกยังรู้สึกว่าเป็นสินค้าราคาถูกที่ด้อยคุณภาพ โดยเฉพาะในช่วงแรกสินค้าเฮาส์แบรนด์มีการเลียนแบบแบรนด์เนม ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการจ้างบริษัทดังกล่าวผลิตสินค้าให้ด้วย บางส่วนอาจจ้างที่อื่นผลิต แต่ซัปพลายเออร์ก็ไม่กล้าโวยวายเนื่องจากดิสเคานต์สโตร์เหล่านี้ปูพรมขยายสาขาจนครอบคลุมทั่วตลาด หากมีปัญหากันจะทำให้เสียโอกาสในการขายได้ แต่สิ่งเหล่านี้ยิ่งสะท้อนภาพลักษณ์ในเชิงลบว่าเฮาส์แบรนด์เป็นของปลอม ของเลียนแบบ หลายคนอาจเคยหยิบสินค้าผิดเพราะแพกเกจจิ้งใกล้เคียงกันมาก และยังวางใกล้กันอีก ส่งผลให้เฮาส์แบรนด์ในเมืองไทยยังไม่เติบโตเท่าที่ควร
ด้วยความที่สินค้าเฮาส์แบรนด์ในยุคแรกไม่มีการทำการตลาด เน้นแนวคิดในการลดต้นทุนอย่างเดียว ทำให้มีต้นทุนที่ต่ำ ไม่มีการโฆษณา ขายได้เท่าไรหักต้นทุนการผลิตและดำเนินการ ที่เหลือเป็นกำไรล้วนๆ ทำให้บรรดาดิสเคานต์สโตร์ยังคงรักษาสินค้าเฮาส์แบรนด์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังสามารถนำมาใช้ทำโปรโมชั่นตัดราคากับคู่แข่งทั้งแบรนด์เนมและเฮาส์แบรนด์ของห้างอื่นๆ
เฮาส์แบรนด์ถือเป็นอาวุธสำคัญของบรรดาห้างค้าปลีกค้าส่งโดยเฉพาะดิสเคานต์สโตร์ ซึ่งรุกตลาดเมืองไทยเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว โดยมีการเร่งขยายสาขาเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้างและเป็นการสร้างอำนาจต่อรองในการสั่งซื้อสินค้าจากซัปพลายเออร์ เพื่อขายสินค้าได้ในราคาถูกกว่าคู่แข่ง ต่อมาก็เริ่มมีการทำเฮาส์แบรนด์ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานเนื่องจากเป็นตลาดที่ไม่มีความภักดีต่อแบรนด์มากนัก เช่นสินค้าประเภทข้าวสาร น้ำตาล เกลือ ต่อมาก็เพิ่มจำนวนรายการสินค้าเฮาส์แบรนด์มากขึ้น
เฮาส์แบรนด์ เป็นสินค้าที่เกิดขึ้นในบ้านเรามากว่า 20 ปีแล้ว โดยห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเป็นผู้เริ่มแนวคิดนี้ขึ้น ทว่าสินค้าเฮาส์แบรนด์เริ่มมีบทบาทชัดเจนมากขึ้นในธุรกิจค้าปลีกเมืองไทยเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา จากการรุกตลาดอย่างหนักของบรรดาดิสเคานต์สโตร์อย่าง เทสโก้ โลตัส คาร์ฟูร์ บิ๊กซี ตลอดจนซูเปอร์มาร์เกตอย่างท็อปส์ก็มีเฮาส์แบรนด์ของตัวเอง ทั้งนี้ สินค้าเฮาส์แบรนด์เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ และราคาน้ำมันในตลาดมีการปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าทำให้บรรดาแบรนด์เนมต้องมีการปรับราคาสินค้า ส่งผลให้ค่าครองชีพของผู้บริโภคสูงขึ้น พฤติกรรมการบริโภคเริ่มเปลี่ยนไป ผู้บริโภคพิจารณาความคุ้มค่าคุ้มราคาของสินค้ามากกว่ามองเรื่องแบรนด์ จึงเป็นโอกาสของเฮาส์แบรนด์ซึ่งมีต้นทุนที่น้อยกว่าแบรนด์เนมเพราะไม่มีค่าการตลาดเหมือนแบรนด์เนมที่ต้องโฆษณา จัดกิจกรรมให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภค
ดังนั้น เฮาส์แบรนด์จึงสามารถชูจุดขายในเรื่องของราคาสินค้าที่ถูกกว่าท้องตลาด โดยจะเน้นการลดต้นทุน ลดความเข้มข้นของส่วนผสมหรือใช้ส่วนผสมที่มีราคาต่ำทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีคุณภาพต่ำกว่าแบรนด์เนม รวมถึงการทำแพกเกจจิ้งเลียนแบบสินค้าที่วางจำหน่ายในท้องตลาดยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ของการเป็นผู้ตาม
|
|
|
|
|