|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
กูเกิล ไอโฟน แบล็กเบอร์รี่ เอชทีซี โนเกีย บิ๊กเพลเยอร์ยักษ์ใหญ่ของโลกกำลังสร้างบิ๊กเกมกับสนามรบสุดร้อนแรงแห่งปี "สมาร์ทโฟน" ที่กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ระดับโลก ว่าใครกันแน่ที่จะครอบครองอาณาจักรแห่งนี้ เมื่อทุกค่ายมีจุดเด่นจุดแตกต่างที่สามารถสร้างเกมการแข่งขันให้ปะทุขึ้นทั่วโลก สร้างแฟนคลับของตนเองให้ออกมาบลัฟฟ์คู่แข่งขัน ยิ่งการปรากฏโฉมอย่างเป็นทางการในการทำตลาดของ "เน็กซัสวัน" (Nexus One) จากกูเกิล ยิ่งกลายเป็นตัวเร่งเร้าให้ศึกสมาร์ทโฟนครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งมหากาพย์ของวงการมือถือโลก
ความสมบูรณ์ของภาพการแข่งขันสมาร์ทโฟนเกิดขึ้นในวันที่ 5 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา หลังจากกูเกิลเปิดตัวสมาร์ทโฟนใหม่ "เน็กซัสวัน" สู่ตลาด หลังจากที่กูเกิลได้นำร่องระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ไปกับค่ายผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือยี่ห้ออื่นตั้งแต่ปลายปี 2551
อาณาจักรของสมาร์ทโฟนจึงถูกจับตามองจากผู้บริโภคทั่วโลกว่าจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อกูเกิลมีเน็กซัสวัน แอปเปิลมีไอโฟน รีเสิร์ช อินโมชั่นมีแบล็กเบอร์รี่ และอีก 2 ยักษ์ใหญ่สมาร์ทโฟนโลกอย่างโนเกียและเอชทีซี
เน็กซัสวันเป็นสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์รุ่นใหม่ล่าสุดที่ได้ชื่อว่า "กูเกิลโฟน" ซึ่งกูเกิลลงมาดูแลเทคโนโลยีบริการภายในเครื่องพร้อมจัดจำหน่ายด้วยตัวเอง ต่างจาก "แอนดรอยด์โฟน" ทั่วไปที่มาพร้อมระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เท่านั้น ส่วนเทคโนโลยีภายในเครื่องและการวางจำหน่ายจะอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ผลิต เช่น ซัมซุง แอลจี ฯลฯ
เน็กซัสวันเป็นฝีมือการผลิตของเอชทีซี (HTC) จุดนี้ ปีเตอร์ โชว ซีอีโอเอชทีซีการันตีว่า เน็กซัสวันนั้นมีความบางเทียบเท่าดินสอธรรมดาแท่งหนึ่ง และมีน้ำหนักไม่เกินพวงกุญแจมีดพับสารพัดประโยชน์ Swiss Army
เอริค เซง วิศวกรของกูเกิลยกย่องเน็กซัสวันว่าเป็นการรวมตัวของดีไซน์และฟังก์ชั่นการทำงานที่ลงตัว มาพร้อมระบบปฏิบัติการ Android 2.1 เช่นเดียวกับดรอยด์ (Droid) แอนดรอยด์โฟนของโมโตโรล่าซึ่งสามารถรองรับภาพ 3D ได้ ความพิเศษของเน็กซัสวันอยู่ที่ฟังก์ชั่นการส่งข้อความเสียงในรูปอีเมล และการเอื้อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงบริการนานาชนิดของกูเกิลได้ ทั้งการค้นหาข้อมูล และบริการแผนที่
กูเกิลได้เปิดร้านจำหน่ายเน็กซัสวันอย่างเป็นทางการที่ www.google.com/phone ในราคา 529 เหรียญสหรัฐ (ราว 18,000 บาท) ไร้สัญญาผูกมัดกับโอเปอเรเตอร์รายใด ผู้บริโภคในสหรัฐฯ สามารถเลือกซื้อกับโอเปอเรเตอร์อย่างทีโมบายล์ (T-Mobile) ก็ได้ในราคา 179 เหรียญ (ราว 6,000 บาท) แต่ต้องผูกสัญญา 2 ปี
นอกจากทีโมบายล์ กูเกิลระบุว่ามีการเจรจากับโอเปอเรเตอร์รายอื่นของสหรัฐอเมริกา อย่างเวอริซอน (Verizon) และโวดาโฟน (Vodafone) โอเปอเรเตอร์ในยุโรปด้วย ซึ่งคาดว่าความร่วมมือระหว่างกูเกิลและโอเปอเรเตอร์รายอื่นๆ จะทยอยเปิดตัวตามมาในช่วงกลางปีนี้
กูเกิลระบุว่าจะจัดส่งผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟนรุ่นแรกของตัวเองไปจำหน่ายยังตลาดสิงคโปร์ ฮ่องกง อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับอย่างดีเพราะเน็กซัสวันถูกออกแบบมาให้สามารถใช้งานได้บนเครือข่ายโทรคมนาคมที่หลากหลาย
ปัจจุบัน สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ในท้องตลาดมีจำนวนมากกว่า 20 รุ่นแล้วหลังจากทีโมบายล์เปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นจีวัน (G1) ออกมาเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคมปี 2551 แน่นอนว่าเน็กซัสวันคือคู่แข่งรายสำคัญของสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์หลากหลายแบรนด์ อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของแบรนด์สมาร์ทโฟนกลับมองว่าเน็กซัสวันไม่ใช่คู่แข่ง แต่ช่วยกระตุ้นกระแสแอนดรอยด์ให้เป็นที่สนใจของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น และผู้ผลิตรายอื่นๆ ก็สามารถอัปเดตซอฟต์แวร์ภายในให้เหมือนกับที่มีในเน็กซัสวันได้อยู่แล้ว
นักวิเคราะห์นั้นมองว่าการเปิดตัวเน็กซัสวันของกูเกิลช่วยกระตุ้นตลาดแอนดรอยด์ได้ดี โดยเฉพาะในแง่ของการกระตุ้นนักพัฒนาให้ลงมือสร้างแอปพลิเคชั่นสำหรับแอนดรอยด์ให้มากขึ้น เนื่องจากขณะนี้แอปพลิเคชั่นของแอนดรอยด์ยังมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับยักษ์ใหญ่อย่างไอโฟน ทำให้การทำงานของสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ไม่หลากหลายเท่าไอโฟน
ที่สำคัญ ดูเหมือนว่าเอชทีซีจะไม่ยอมให้กระแสเน็กซัสวันผ่านไปแบบไร้ประโยชน์ โดยประกาศว่าจะวางจำหน่าย HTC Bravo ซึ่งมีหน้าตาลักษณะคล้ายกับเน็กซัสวันในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เป็นการวางจำหน่ายในประเทศไทยโดยเอชทีซีเอง
ที่ผ่านมาเอชทีซีมีการทำตลาดสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ในประเทศไทยแล้ว 3 รุ่น ได้แก่ เอชทีซีเมจิก เอชทีซีฮีโร่ และเอชทีซี TATTOO ได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี และในปีนี้ทางเอชทีซีก็มีแผนที่จะนำสมาร์ทโฟนที่ใช้แอนดรอยด์เข้ามาสู่เมืองไทยอีกหลายรุ่น น่าที่จะเป็นอีกหนึ่งสีสันที่ช่วยทำให้ตลาดสมาร์ทโฟนยิ่งคึกคัก
อีกด้านหนึ่งของเอชทีซีนั้น ก็มีสมาร์ทโฟนที่ใช้วินโดวส์โมบายในการทำตลาด อย่างไรก็ตามในช่วงหลังสมาร์ทโฟนที่ใช้วินโดวส์โมบายกระแสสู้คู่แข่งขันอื่นๆ ไม่ได้ ทำให้เชื่อว่าเอชทีซีจะให้น้ำหนักกับระบบแอนดรอยด์มากขึ้นเรื่อยๆ
ผู้บริหารของเอชทีซีประเทศไทย มองว่าต่อไปในอนาคตการทำตลาดแอนดรอยด์โฟนจะเน้นเจาะไปที่ตลาดคอนซูเมอร์เป็นหลัก ส่วนตลาดที่เป็นวินโดวส์โมบายนั้นจะอยู่ในกลุ่มคอร์ปอเรตมากกว่า
ไอโฟนยังถือเป็นสมาร์ทโฟนที่ได้รับการมองว่ายังคงเป็นสมาร์ทโฟนที่ทุกคนต้องการอยากได้ และในปีนี้การมาของเน็กซัสวัน ก็น่าที่จะทำให้ไอโฟนมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งเพื่อรับน้องที่เพิ่งจะมาใหม่ โดยมีข่าวลือว่าอาจจะเกิดไอโฟน 4G ในช่วงกลางปีนี้
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาผลสำรวจในสหรัฐอเมริกาพบว่าส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนของไอโฟนนั้นสูงกว่าสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์โมบายเป็นครั้งแรกแล้ว นั่นแสดงให้เห็นว่าไอโฟนนั้นเป็นที่ต้องการของตลาดสูงมาก
แบล็กเบอร์รี่หรือบีบีคืออีกหนึ่งค่ายที่ไม่สามารถมองข้ามได้จากตลาดสมาร์ทโฟน จากผลงานที่โดดเด่นในช่วงปี 2552 ทำให้บีบีคือหนึ่งในผู้นำตลาดสมาร์ทโฟนของโลก ยิ่งในประเทศไทย กระแสบีบีฟีเจอร์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ
และอย่างช่วงปลายปี 2552 ที่ผ่านมา บีบีก็ช็อกวงการสมาร์ทโฟนด้วยการประกาศตัวเลขกำไรพุ่งแบบก้าวกระโดดกว่า 59% ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 โดยมีตัวเลขที่น่าสนใจของผลประกอบการที่แสดงว่าผู้ซื้อแบล็กเบอร์รี่มากกว่า 80% เป็นผู้บริโภคธรรมดาๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคอร์ปอเรต ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่แสดงถึงกระแสความนิยมบีบีของกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเพื่อผู้บริโภครายอื่นๆ ต้องเฝ้าติดตามกระแสบีบีอย่างใกล้ชิด
และในปีนี้บีบีก็จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็น โบลด์รุ่นใหม่และสตรอมทู ซึ่งน่าจะทำให้ตลาดตื่นตัวขึ้นไปอีก
กลับมาในฟากฝั่งโนเกีย คงจะต้องมีการปรับตัวขนาดใหญ่เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่เกิดขึ้น กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ โดยโนเกียเตรียมวางจำหน่ายโนเกีย N900 ในประเทศไทย เร็วๆ นี้
ปัจจุบันในตลาดโลกสัดส่วนของสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการซิมเบียนยังเป็นอันดับหนึ่งที่ 49% วินโดวส์โมบายและแบล็กเบอร์รี่มีสัดส่วนเท่ากันคือ 16% รองลงมาคือไอโฟน 9% และอีก 5% เป็นระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ซึ่งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์รวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
การ์ทเนอร์ระบุว่ายอดจำหน่ายโทรศัพท์สมาร์ทโฟนในปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วน 14% ของตลาดโทรศัพท์มือถือรวมทั่วโลก คาดว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 38% ในปี 2556
|
|
|
|
|