"ชาติศิริ โสภณพนิช" บิ๊กแบงก์กรุงเทพ (BBL) หวังอีก 2 ปีข้างหน้า หนี้เน่าแบงก์ลดเหลือ
5% หรือประมาณ 3.36 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบัน 23% ตัดภาวะถ่วงธุรกิจและรายได้ โชว์ยุทธศาสตร์จัดกลุ่มลูกค้า
4 กลุ่มทำกลยุทธ์ดูแลตามเป้าหมาย เสนอผลิตภัณฑ์และบริการตอบสนองลูกค้าตรงความต้องการ
พร้อมดันแผนแม่บทเพิ่มธุรกิจ เพิ่มรายได้ ด้านไทยพาณิชย์ (SCB) ฝันขายเอ็นพีเอ
1.1 แสนล้านบาท หมดภายใน 3 ปี
หนี้เน่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทยปัจจุบัน รวมกันประมาณ 7.7 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังพยายามแก้ให้ได้เบ็ดเสร็จ
เพื่อผลักดันระบบเศรษฐกิจไทยพลิกฟื้นต่อเนื่อง และเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่จะต่อยอดภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมไทย
เดินหน้าผลิตได้เต็มที่
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงเทพ เปิดเผยว่าธนาคารมีเป้าหมายจะแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
(เอ็นพีแอล) กลับสู่ภาวะปกติ คาดว่าอีก 2 ปีข้างหน้า ธนาคารจะลดหนี้เน่าเหลือ 5%
ของพอร์ต สินเชื่อรวมของธนาคาร ซึ่งถือเป็นระดับปกติ และดำเนินธุรกิจได้ตามกลไก
และการแข่งขันในตลาดได้
เอ็นพีแอลธนาคาร ขณะนี้ 23% ของสินเชื่อทั้งหมด หรือ ประมาณ 1.55 แสนล้านบาท
ซึ่งถือว่าสูงอยู่ โดยธนาคารเร่ง แก้ไขต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินธุรกิจคล่องตัวมากขึ้น
คาด ว่าสิ้นปีนี้ เอ็นพีแอลธนาคารจะลดเหลือ 18-15%
อย่างไรก็ตาม เอ็นพีแอลที่มีอยู่ขณะนี้ ไม่ถือว่าเป็นปัญหากับธนาคาร เนื่องจากตั้งสำรองครบเกินเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย
หวังจัดการหนี้เน่าเบ็ดเสร็จอีก 2 ปี
"ปัญหาของสถาบันการเงินในขณะนี้ คือเรื่องเอ็นพีแอล ที่ต้องเร่งแก้ไข โดยเชื่อว่าแบงก์ทุกแห่งกำลังดำเนินการอยู่เพื่อให้เข้าสู่ภาวะปกติ
แบงก์กรุงเทพให้ความสำคัญกับเรื่องจัดการหนี้อย่างมากในอีก 2 ปีข้างหน้า ไม่ให้เป็นภาระต่อการประกอบธุรกิจของแบงก์
และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดได้" นายชาติศิริกล่าว
ดูแลลูกค้า 4 กลุ่มทำกลยุทธ์
ส่วนอีกด้าน ธนาคารต้องเน้นขยายธุรกิจเพื่อ ให้มีรายได้ชดเชยส่วนที่หายไปกับเอ็นพีแอล
โดยธนาคารจัดกลุ่มลูกค้าเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มลูกค้าบุคคล ลูกค้ารายย่อย รายกลาง
และลูกค้าขนาดใหญ่ เพื่อจะให้ดูแลและหาผลิตภัณฑ์ หรือให้บริการตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด
ซึ่งแต่ละกลุ่ม จะมีกลยุทธ์ดำเนินธุรกิจต่างกัน ซึ่งธนาคารพัฒนา และปรับปรุงระบบภายใน
ทั้งระบบบริหารความเสี่ยง รวมทั้งเพิ่มศักยภาพการแข่งขันที่พัฒนาต่อเนื่องทุกปี
เขาเชื่อว่าเมื่อแผนแม่บททางการประกาศใช้ ธนาคารน่าจะเข้าสู่ระบบแข่งขันได้
ยาหอมแผนแม่บทเพิ่มธุรกิจเพิ่มรายได้
อย่างไรก็ตาม นายชาติศิริกล่าวว่าธนาคารจะขอดูรายละเอียดแผนแม่บทก่อน ว่าเกณฑ์อย่างไรบ้าง
เพื่อปรับปรุงพัฒนาระบบ หรือโครงสร้างธนาคาร ให้สอดคล้องแผนแม่บททางการ
อย่างไรก็ตาม เท่าที่เขาติดตามจากหนังสือพิมพ์ ถือว่าเป็นแผนที่ดีน่าสนใจ ด้านธุรกิจต่างๆ
ที่ทางการอนุญาตดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มบทบาท หรือเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน
ที่จะให้สถาบันการเงินเลือกทำธุรกิจที่ถนัด เมื่อรายละเอียดชัดเจนแล้ว จะพิจารณาอีกครั้ง
เพื่อให้สอดคล้องตามความถนัดพนักงาน การบริหารงาน และบริหารความเสี่ยง ธนาคาร ว่าจะสามารถรองรับได้แค่ไหน
หากขยายธุรกิจเพิ่ม
"หากแผนแม่บทที่ออกมาของแบงก์ชาติ ทำ ให้ธนาคารสามารถขยายธุรกิจได้มากขึ้น ก็จะเป็น
ผลดีต่อสถาบันการเงิน เพราะจะสามารถสร้างราย ได้เพิ่มขึ้น มีทางเลือกในการทำธุรกิจให้มีความหลาก
หลายกว่าในปัจจุบัน แต่ในส่วนของแบงก์กรุงเทพเอง คงต้องดูรายละเอียดที่ชัดเจนของแผนแม่บทอีกครั้ง
ก่อนตัดสินใจ" นายชาติศิริกล่าว
ใบโพธิ์ฝันขายหนี้เน่าหมดใน 3 ปี
ทางด้านนายการุณ เลาหรัชตนันท์ ผู้จัดการบริหารทรัพย์สิน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าธนาคารตั้งเป้าอีก
3 ปี นับจากปี 2547 เป็นต้นไป จะจัดการทรัพย์สินรอการขาย (เอ็นพีเอ-สินทรัพย์เน่า)
กว่า 1.3 หมื่นล้านบาทหมดแน่นอน ปัจจุบัน ธนาคารมีเอ็นพีเอ 13,069 ล้านบาท และตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญแล้ว
2,000 ล้านบาท
ตั้งแต่ต้นปีนี้ถึงสิ้นไตรมาส 3 ธนาคารขาย หนี้เน่าได้แล้ว 1,782 ล้านบาท จากเป้าเดิม
ที่คาด ว่าทั้งปีจะขายได้ 1,600 ล้านบาท ทำให้ธนาคารต้องปรับเป้าใหม่เป็น 2,600
ล้านบาท คาดว่าจะทำได้ตามเป้า เนื่องจากยังมีทรัพย์อยู่ระหว่างขาย และรอเซ็นสัญญามูลค่ากว่า
500 ล้านบาท
งวด 9 เดือนแรกปีนี้ เอ็นพีเอไหลเข้าใหม่ 1,000-1,500 ล้านบาท จากหนี้เน่าทั้งหมดของธนาคารปัจจุบันประมาณ
1.1 แสนล้านบาท เกิด จากโอนทรัพย์ชำระหนี้ และจากการประมูลทรัพย์ใหม่ คาดว่าไตรมาสสุดท้ายปีนี้
จะมีทรัพย์ใหม่อีก 1,000 ล้านบาท เพราะคาดว่ารัฐจะไม่ต่อมาตรการลดหย่อนภาษีอสังหาริมทรัพย์
นายการุณกล่าวว่า ทรัพย์ที่ธนาคารขายได้ ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย ที่เดิมเคยขายได้เดือนละ
60 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งแสดงว่ารายย่อยยังต้องการซื้อต่อเนื่อง
เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐ ดอกเบี้ยต่ำ ประกอบกับที่ดินธนาคารอยู่ในทำเลศักยภาพ
ซึ่งจะต่อเนื่องถึงปี 2547 ที่กำลังซื้อรายย่อยยังต่อเนื่อง ปีหน้า ธนาคารจะเน้นขายมากกว่าจะซื้อ