ควบรวม "ไทยธนาคาร-ไอเอฟซีที" สะดุดข้อกฎหมาย หลังกฤษฎีกาชี้ขาดกฎหมายเดิมไม่เปิดทางให้ควบรวม
ต้องออกเป็นพระราชกำหนดฉบับใหม่แทน ขณะที่คลังมั่นใจดำเนินการได้ทันตามกำหนดเดิม
ชี้หากไม่ควบรวมจะเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนผู้เสียภาษี
ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึง ความคืบหน้าการควบรวมกิจการของธนาคารไทยธนาคาร
(BT) และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ไอเอฟซีที) ว่า ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือตอบข้อหารือทางกฎหมายมายังกระทรวงการคลัง
เกี่ยวกับกรณีควบรวมกิจการของทั้งสองแห่งว่าภายใต้กฎหมายไม่สามารถให้ทั้งสองสถาบันการเงินควบรวมกันได้
จึงต้องมีการออกกฎหมายขึ้นมารองรับการควบรวมกิจการสถาบันการเงินทั้ง 2 แห่ง
โดยการประเมินเบื้องต้น ในขณะนี้คงจะต้องเป็นการออกเป็นพระราชกำหนด เพื่อให้การควบรวมกิจการ
สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จทันสิ้นปี 2546 ตามกำหนดเดิมที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้การควบรวมกิจการของทั้ง 2 สถาบันการเงินนี้ จะหารือเรื่องข้อกฎหมายกับ
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วันที่ 8 ตุลาคม
2546 ในเรื่องรายละเอียดในการออกกฎหมายว่า จะต้องมีการดำเนินการอย่างไรบ้าง แต่เชื่อว่ากระบวนการคงใช้ระยะเวลาไม่นาน
เพราะการออกเป็นพระราชกำหนดจะใช้เวลาไม่มาก และคาดว่าจะได้รับความเห็นชอบจากทางสมาชิก
รัฐสภา และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศชาติ
"เรื่องนี้เป็นเรื่องของความแข็ง แกร่งของสถาบันการเงินทั้งสองแห่ง ถ้าไม่ทำในเรื่องนี้ก็จะทำให้ต้องมีการเพิ่มทุนในอีก
2-3 ข้างหน้า ซึ่งก็จะเป็นภาระให้กับประชาชนผู้เสียภาษี และท่านนายกก็มีนโยบายที่ชัดเจนอยู่แล้ว
ว่า จะต้องมีการควบรวมกิจการของทั้งสองสถาบันการเงินนี้" ร.อ.สุชาติ กล่าว
ด้านนายสมหมาย ภาษี รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะรองประธานคณะกรรมการไอเอฟซีที
กล่าวว่า หลังจากที่คณะทำงานในการศึกษาการควบรวม ซึ่งประกอบ ด้วยกระทรวงการคลัง
ธปท. ไทยธนาคาร และไอเอฟซีที ได้มีการหารือกันมา ระยะหนึ่งก็ได้ส่งหนังสือไปหารือข้อกฎหมายจากทาง
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าสามารถดำเนินการได้ภายใต้กฎหมายเดิมหรือไม่
โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาให้เห็นว่า กฎหมายเดิมที่มีอยู่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากไอเอฟซีทีจัดตั้งภายใต้กฎหมายพิเศษฉบับหนึ่ง คือ พ.ร.บ.ในการจัดตั้งบรรษัทเงินทุนแห่งประเทศไทย ขณะที่กิจการธนาคารพาณิชย์ก็อยู่ภายใต้กฎหมายอีกฉบับ
คือ พ.ร.บ. ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ดังนั้นการที่จะควบรวมจำเป็น ที่จะต้องมีกฎหมายใหม่ขึ้นมา
นอกจากนี้ ร.อ.สุชาติ ยังกล่าวถึง ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นแตะ 38.9 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งมากขึ้นจึงทำ ให้มีความเชื่อมั่นมากขึ้นและก็ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นตามไปด้วย
ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่น่าเป็นกังวลใดๆ เพราะธปท. ได้มีการดูแลอย่างใกล้ชิด รวมทั้งไม่ได้มีการสั่งการอะไรเป็นพิเศษแต่อย่างใด
ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลว่า จะมีการเข้าเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์นั้น ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีการเก็งกำไรในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
แต่อย่าให้มีการเก็งกันมาก จนเกิดความเสียหายเท่านั้น