เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ไม่น่าจะต้องมาเกี่ยวพันกับผมหรือกับแอ็ดวานซ์มีเดียเลย
แต่ผลกระทบของมันทำให้การทำงานของผมต้องยากลำบากมากกว่าเก่า
เมื่อตอนที่ผมออกจากหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ในธันวาคม 2518 นั้น ณรงค์
เกตุทัต ได้เอา ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา เข้ามาแทนเพื่อเปลี่ยนนโยบายหนังสือ
และจะด้วยเหตุใดก็ไม่ทราบได้มีการนัดหยุดงานกันทั้งโรงพิมพ์ ตั้งแต่ฝ่ายขาย
กองบรรณาธิการ ไปจนถึงช่างเรียง จนในที่สุดก็มีการไล่พนักงานออกร้อยกว่าคน
และก็ได้มีการต่อสู้กันอย่างยืดเยื้อในศาลเป็นเวลาหลายปี จนสุดท้ายฝ่ายนายจ้างต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้เป็นเงินทั้งหมดล้านกว่าบาท
หลังจากนั้นอีกไม่นานพอเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เกิดขึ้น หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยก็ถูกทางการสั่งปิด
ถึงแม้ว่าใน 4-5 เดือนก่อนถูกปิด แนวนโยบายหนังสือพิมพ์จะย้อนกลับไปสู่อนุรักษนิยมกึ่งๆ
ขวาจัดก็ตาม หนังสือพิมพ์อีกฉบับคือประชาชาติ (ปัจจุบันคือมติชน) ก็ถูกปิดเช่นกัน
ข้อแตกต่างระหว่างการถูกปิดของประชาชาติและประชาธิปไตยในสายตาของผู้อ่านแล้ว
ประชาชาติถูกปิดอย่างมีศักดิ์ศรีมากกว่า เพราะประชาชาติได้ยึดมั่นในหลักการของความเป็นธรรมตั้งแต่วันแรกที่ออกตีพิมพ์จนถึงวันสุดท้ายที่ถูกสั่งปิด
บรรดาผู้ที่ทำประชาชาติยุคนั้นต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมจนลมหายใจเฮือกสุดท้าย
ส่วนประชาธิปไตยนั้นเปลี่ยนสีเปลี่ยนจุดยืนเพียงเพื่อหวังจะเอาตัวรอดในวินาทีสุดท้ายแต่ก็ไม่สามารถจะรอดพ้นชะตากรรมได้
ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะประชาธิปไตยมีลักษณะซ้ายแต่อาจจะเป็นเพราะสมัยนั้น สมัคร
สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย และประชาธิปไตยเป็นหนังสือพิมพ์ของ สนั่น เกตุทัต
พ่อตาของ ดำรง ลัทธพิพัฒน์ คู่ต่อสู้ทางการเมืองของสมัคร สุนทรเวช แต่นี่ก็อาจจะไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริงก็ได้
จะอย่างไรก็ตาม เมื่อทุกคนที่เคยอ่านหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับมาพูดย้อนหลังถึงเหตุการณ์ในอดีตแล้ว
จะมีแต่ประชาชาติเท่านั้นที่ยังอยู่ในความทรงจำในช่วงตอน 6 ตุลาคม 2519
ในยุคนั้นซึ่งหลายคนเรียกมันว่ายุคมืดหรือยุคที่ท้อแท้หรือยุคทมิฬ สุดแล้วแต่ใครจะได้รับความเจ็บปวดกับมันมากเพียงใด
6 ตุลาคม 2519 ก็เป็นบทพิสูจน์จุดยืนของนักหนังสือพิมพ์ประเภทคอลัมนิสต์หลายคน
ซึ่งถ้าจะลำเลิกกันแล้ว ก็พอจะเห็นสัจธรรมบางสิ่งบางอย่างกันได้ว่า “กาลเวลาทำให้คนเราฉลาดขึ้น”
ในช่วงก่อน 6 ตุลาคม 2519 นั้นถ้าลองวิเคราะห์หนังสือพิมพ์กันให้ดีๆ แล้ว
เราจะเห็นว่าหนังสือพิมพ์ เช่น ประชาชาติ ประชาธิปไตย เป็นเสียงใหม่ของคนหนุ่มที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงในสังคมซึ่งอย่างที่ผมเคยเขียนไปเมื่อตอนแรกๆ
ว่า เสียงที่เรียกร้องนั้นเป็นเสียงที่ถูกปิดเงียบมานาน พอถูกเปิดด้วยความที่สังคมไม่เคยชินกับการเรียกร้องมาก่อน
พอเจอเข้าก็ตกใจหาว่ารุนแรง ประกอบกับการต่อสู้ของฝ่ายขวาจัดที่ใส่ไคล้ว่าเป็นแนวทางของมาร์กกับเลนินก็เลยกลายเป็นหนังสือพิมพ์ซ้ายไปเลย
เมื่อเวลาผ่านไปสักพักหนึ่งพอมาถึงปัจจุบัน สิ่งที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการกระทำของคอมมิวนิสต์เมื่อก่อน
6 ตุลาคม 2519 กลับเป็นสิ่งที่ทุกคนเรียกร้อง เช่น การสังคายนากรมตำรวจ การปฏิรูปข้าราชการพลเรือน
การเรียกร้องค่าแรงของคนงานให้ดีขึ้น แม้แต่นโยบาย 61/2523 ความจริงแล้วมันก็คือสิ่งที่ปัญญาชนและพวกหัวก้าวหน้าทั้งหลายที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ได้เรียกร้องเมื่อ
10 ปีที่แล้ว
แม้แต่การพาดหัวของไทยรัฐทุกวันนี้ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของตำรวจ ถ้าไปพาดหัวเช่นนั้นในช่วงก่อน
6 ตุลาคม 2519 รับรองได้ว่าต้องถูกเพ่งเล็งว่าเป็นแนวร่วมคอมมิวนิสต์ที่ต้องการจะทำลายสถาบัน
บางครั้งผมได้มีโอกาสนั่งคุยกับบรรดาคนที่เคยร่วมทำหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยและประชาชาติเมื่อเร็วๆ
นี้ เราจะเห็นพ้องกันว่าความคิดพวกเราเร็วกว่าหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นเพียงแค่
10 ปีเท่านั้น เพราะพวกคอลัมนิสต์ทั้งหลายเมื่อ 10 ปีที่แล้วที่โจมตีเราว่าเป็นพวกซ้ายจัด
ทุกวันนี้สิ่งที่พวกนี้เขียนคือสิ่งที่เราได้เรียกร้องกันมาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
หรือเป็นสิ่งที่ อิศรา อมันตกุล ได้เขียนมาเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว หรือเป็นสิ่งที่สุวัฒน์
วรดิลก ต้องติดคุกติดตะรางมาเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว แต่อย่างน้อยผมก็ดีใจที่เพื่อนในวงการถึงแม้จะมองอะไรไม่เห็นเมื่อสัก 10 ปีที่แล้ว แต่ก็เริ่มเห็นแสงสว่างกันขึ้นมาบ้าง
6 ตุลาคม 2519 ทำให้คนที่มีความคิดก้าวหน้าถูกปิดกั้นทางปัญญาทันที บรรยากาศของสังคมอยู่ในภาวะที่หดหู่
เป็นครั้งแรกในสังคมที่แบ่งออกให้เห็นเป็น 2 ฝ่าย อย่างชัดเจนโดยไม่มีเหตุผล
ในสมัยนั้นถ้าใครไม่เห็นด้วยกับคุณธานินทร์ กรัยวิเชียร คนนั้นก็ต้องเป็นคอมมิวนิสต์ไปโดยปริยาย
คนที่เคยทำงานและมีความคิดก้าวหน้าแทบจะหมดสิ้นอนาคตไป คนที่อยู่ในวงการสื่อมวลชนที่มีหัวคิดก้าวหน้าต้องตกงานกันเป็นแถว
หลายคนต้องหนีไปต่างประเทศเพราะถูกคุกคาม
คนพวกนี้ถูกผลกระทบทางการเมืองรังแกอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้ลูกเมียและครอบครัวต้องเดือดร้อน
แต่นี่มันก็เป็นข้อเท็จจริงในชีวิตเหมือนกันที่ต้องยอมรับและกัดฟันสู้มันเข้าไป
อย่าลืมว่าถ้าเรามองอีกมุมหนึ่งว่าในช่วงที่เลนินขึ้นมายึดอำนาจในรัสเซีย
ก็มีคนจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นคนดีแต่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มพระเจ้าซาร์นิโคลาสหรือกลุ่มเลนินก็ต้องพลอยรับกรรมไปด้วยเช่นกัน
บทเรียนทางประวัติศาสตร์ก็สอนให้ผมรู้ว่า ความเป็นกลางในโลกนี้คือจุดร่วมที่ฝ่ายซ้ายและขวามาสัมผัสพึ่งพิงชั่วคราว
ตราบใดที่ยังไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับชัยชนะโดยเด็ดขาด
ในภาวการณ์แบบนั้นก็ต้องมีคนฉวยโอกาสเป็นธรรมดาอยู่แล้ว และการฉวยโอกาสก็ไม่มีอะไรเสียหาย
จะผิดก็ตรงที่ คนฉวยโอกาสไม่ควรจะตักตวงผลประโยชน์เข้าตัวเองโดยการใส่ร้ายผู้อื่น
และในช่วงหลัง 6 ตุลาคม 2519 ได้มีผู้ฉวยโอกาสแบบนี้เยอะ
แม้แต่บุญชู โรจนเสถียร ก็ยังท้อแท้ใจ ผมจำได้ว่าบุญชูพูดว่า เขาไม่เห็นอนาคตของการเมืองไทยถ้ารัฐบาลชุดนี้
(ธานินทร์ กรัยวิเชียร) ยังอยู่ และในต้นปี 20 เขาก็กลับไปสู่ฐานเดิมคือธนาคารกรุงเทพ
ในฐานะผู้จัดการใหญ่
การกลับเข้าไปธนาคารของบุญชูนั้นมาจากสาเหตุ 2 ประการ
ประการแรก บุญชูถูกเพ่งเล็งร่วมกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มากว่าเป็นตัวบ่อนทำลายรัฐบาล
ธานินทร์ กรัยวิเชียร ถึงกับมีข่าวว่าทางรัฐบาลกำลังจับตาดูความเคลื่อนไหวทุกฝีก้าว
บุญชูเองไม่ใช่นักต่อสู้ทางการเมืองประเภทเดินหน้าเข้าชน ก็เลยต้องหาทางทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเพื่อหลีกเลี่ยงข้อสงสัยจากรัฐบาล
และวิธีการก็คงจะไม่ดีไปกว่าการเข้าไปทำงานธนาคารเหมือนเดิม และการเป็นผู้จัดการใหญ่ของธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ
แท้ที่จริงแล้วก็คือ นายกฯ ในภาคเอกชนนั่นเอง
ประการที่สอง บุญชู ก็ถูก ชิน โสภณพนิช ขอร้องให้กลับเข้าไปโดยเร็ว เพื่อไปช่วยจัดรูปแบบของการบริหาร
และเพื่อฝึกฝนให้ชาตรีขึ้นไปเป็นผู้จัดการใหญ่ใน 2-3 ปีข้างหน้า อีกประการหนึ่งในระยะนั้นความขัดแย้งระหว่าง ชาตรี กับ โชติ โสภณพนิช กำลังทำให้ชินต้องปวดศีรษะเป็นอย่างมาก และบุญชูแต่ผู้เดียวที่เป็นคนนอกครอบครัวที่มีบารมีมากพอจะทำให้การประนีประนอมหย่าศึกของทั้งสองได้
แอ็ดวานซ์มีเดียในช่วงหลัง 6 ตุลาคม 2519 ก็เป็นสำนักพิมพ์ที่มุ่งมั่นจะสร้างผลงานและต้องการจะเปิดแนวใหม่ในด้านธุรกิจสื่อสาร
และจากการที่บุญชูกลับเข้าไปสู่ธนาคารอีกครั้งก็ทำให้ พร สิทธิอำนวย มีเวลาให้บริษัทในเครือมากขึ้น
เพราะก่อนหน้านั้นพรต้องไปช่วยบุญชูในด้านนโยบายอย่างมาก และปล่อยให้สุธี
นพคุณ ดูแลพีเอสเอเสียส่วนใหญ่
จากการที่นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ที่ถูกแรงกดดันของ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้ต้องตกงานเป็นแถว
ก็เลยเป็นผลให้ผมมีโอกาสได้เลือกคนที่มีฝีมือให้เข้ามาร่วมงานได้มากกว่าธรรมดา
ในด้านพ็อกเก็ตบุ๊กนั้น สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้เข้ามาบริหาร และสามารถพูดได้ว่า
ผลงานของพ็อกเก็ตบุ๊กที่มีชื่อเสียงของแอ็ดวานซ์มีเดียในสมัยนั้นเป็นผลผลิตจากมันสมองของสุจิตต์
วงษ์เทศ ทั้งสิ้น
สุจิตต์เป็นคนแรกที่เริ่มระบบค่าเรื่องของนักเขียนโดยคำนวณรายได้จาก 10%
ของราคาปกหนังสือคูณด้วยจำนวนพิมพ์ และทันทีที่หนังสือออกวางตลาดนักเขียนก็จะได้เงินค่าเรื่องทันที
นโยบายนี้ทำให้วงการสำนักพิมพ์ปั่นป่วนไปหมดเพราะฉีกออกจากแนวเดิมที่นักเขียนมักจะต้องเป็นฝ่ายยอมเจ้าของสำนักพิมพ์ตลอดในเรื่องของค่าเรื่องโดยไม่มีมาตรฐานใดๆ
เป็นเครื่องวัด ในปัจจุบันมาตรฐานที่สุจิตต์ได้ตั้งไว้ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในวงการ
แต่ผลร้ายของการเช่นนั้นก็มีเพราะการที่เราไปเดินทวนกระแสน้ำที่ชาวบ้านเขากระทำกันเป็นประจำ
และจากการที่เราเป็นแอ็ดวานซ์มีเดียซึ่งมีพีเอสเอหนุนอยู่ ทำให้วงการเกิดความกลัว
หมั่นไส้และรวมหัวกันทำลายเราทุกวิถีทาง
นี่ก็คือบทเรียนของการทำงานอีกบทหนึ่งที่ว่าถ้าเราจะทำอะไรที่ขัดธรรมเนียมการปฏิบัติของชาวบ้านเขาละก้อ
ทำเงียบๆ ดีกว่า
การทำอะไรให้ดังนั้นจะเป็นเป้านิ่งให้เห็นและมีโอกาสถูกทำลายได้ง่าย
ผมจำได้ว่าวันหนึ่งในขณะนั้นผมได้ไปรับประทานอาหารกับแขกในภัตตาคารจีนแห่งหนึ่ง
ซึ่งข้างๆ ห้องที่ผมทานมีการเลี้ยงโต๊ะแชร์ของบรรดาเจ้าของสำนักพิมพ์และโรงพิมพ์ทั้งหลายซึ่งคุยกันเสียงลั่นห้อง
และเรื่องที่คุยกันคือเรื่องบิดามารดาของผมซึ่งทั้งหมดบนโต๊ะแชร์ไม่รู้จักท่านหรอก
และก็ไม่รู้จักผม แต่พากันก่นโคตรเหง้าผมอย่างมันปาก เพียงเพราะว่าเสี่ยเจ้าของสำนักพิมพ์คนหนึ่งโพล่งว่า
“ไอ้เ-ี้ยสนธิ โคตร...มันทำให้ราคานักเขียนในท้องตลาดเสียหมด เดี๋ยวนี้นักเขียนมันไม่ยอมเราง่ายๆ
เหมือนก่อน”
แขกร่วมโต๊ะผมมองหน้าผมอย่างอึดอัดใจเพราะได้ยินร่วมกันกับผม ผมก็ได้แต่ยักไหล่และก็ต้องใช้ขันติเข้าช่วย
นโยบายของสุจิตต์ วงษ์เทศ ในเรื่องพ็อกเก็ตบุ๊กได้ผลมาก เพราะทุกวันจะมีแต่นักเขียนเดินเข้ามาเสนอเรื่องให้เลือก
ทำให้แอ็ดวานซ์มีเดียสามารถจะเลือกเรื่องได้ก่อนคนอื่น และเรื่องในสต็อกเรามีสูงถึง
100 เรื่อง คิดเป็นค่า inventory ประมาณ 300,000 บาทได้ เพราะเราจ่ายให้ส่วนหนึ่งก่อนทันทีที่รับเรื่องไว้
ในการจัดเรื่องออกสู่ตลาดนั้นเรามีความเห็นพ้องกันว่า ในเมื่อเราต้องการจะอยู่ในตลาดอย่างถาวรและเราเองก็พอจะมีทุนรอน
ดังนั้นเราน่าจะเริ่มสำนักพิมพ์พ็อกเก็ตบุ๊กด้วยเรื่องที่มันมีคุณค่าแล้วค่อยสลับเรื่องทางการบันเทิงและเรื่องแปลไปตามแต่ละโอกาส
ผมจำได้ว่าเล่มแรกที่เราออกไปคือ หนังสือศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงซึ่งหอสมุดแห่งชาติต้องการจะพิมพ์นานแล้ว
แต่ไม่มีใครกล้าพิมพ์เพราะจำนวนขายน้อยมากต้องขาดทุนเป็นเงินก้อน
หนังสือเล่มนี้ถึงเราจะขาดทุน แต่ในแง่ภาพลักษณ์กลับเป็นตัวเชิดชูสำนักพิมพ์ เพราะเป็นหนังสือที่มีคุณค่ามหาศาลและทุกวันนี้ก็ไม่มีอีกแล้ว
หลังจากนั้นแอ็ดวานซ์มีเดียก็เริ่มบุกหนักทางด้านพ็อกเก็ตบุ๊กทันที โดยออกเฉลี่ยเดือนละ
4 เล่ม และ
สุจิตต์เป็นคนแรกที่จัดระบบการลงหลักฐานในหนังสือที่เป็นระบบบอกว่าพิมพ์ครั้งที่เท่าไร?
จำนวนเท่าไร? เรื่องเป็นประเภทใด? และหมายเลขหอสมุดเลขใด รวมทั้งการออกแบบปกที่ทันสมัยและการทาสีเหลืองที่ข้างๆ
หนังสือให้เด่น
พูดง่ายๆ ว่าปี 2520 เป็นปีที่วงการหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กได้วิวัฒนาการใหม่หมด
และเป็นจุดเริ่มต้นนำมาสู่รูปแบบของพ็อกเก็ตบุ๊กในปัจจุบันโดยคนที่ชื่อ
สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นผู้ริเริ่ม
ผมจำได้ว่าพอเราเริ่มประกาศนโยบายพ็อกเก็ตบุ๊กออกไปก็เป็นที่ตื่นเต้นของนักเขียนมาก
โดยเฉพาะบรรดาครูบาอาจารย์ที่อยากจะเสนอความรู้ออกไป แต่ไม่มีใครรับพิมพ์เพราะยอดจำหน่ายหนังสือพวกนี้จะต่ำและไม่คุ้มค่าการลงทุนในระยะสั้น เพราะหนังสือพวกนี้ต้องใช้เวลาขายสัก
3 ปี ถึงจะขายได้สัก 3,000-5,000 เล่ม ซึ่งเป็นยอดพิมพ์ที่อยู่ในระดับคุ้มทุน
แต่เราคิดว่าหนังสือพวกนี้มีคุณค่าเพราะเป็นการอุทิศความรู้ให้กับสังคมและเป็นการส่งเสริมให้บรรดาครูบาอาจารย์เขียนตำรากันมากขึ้น
ถึงแม้จะใช้เวลาขายนานสักหน่อย แต่เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยที่ต้องแบกแล้วก็ยังพอมีกำไรบ้าง
จะเสียก็ในแง่บัญชีซึ่งสินค้าคงเหลือถ้าเกิน 1 ปีแล้วจะมีปัญหาในการลงบัญชี
ฉะนั้นในงบดุลเราจะเห็นว่าแผนกพ็อกเก็ตบุ๊กตัดมูลค่าสินค้าคงเหลือลงไปกว่าครึ่งหนึ่ง
ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้น
และในปี 2520 แอ็ดวานซ์มีเดียก็ได้สร้างประวัติศาสตร์พ็อกเก็ตบุ๊กขึ้นมาด้วยผลงานของ
“พงษ์พินิจ” หรือ “พินิจ พงษ์สวัสดิ์” ในเรื่องที่ชื่อ “สิ้นชาติ”
การพิมพ์ “สิ้นชาติ” เป็นตัวอย่างในการตัดสินใจทางธุรกิจที่พิสูจน์ให้เห็นชัดได้ว่าการเสี่ยงในธุรกิจถ้าอัตราการเสี่ยงสูงกำไรก็ย่อมสูงเป็นเงาตามตัว
สุจิตต์ วงษ์เทศ เข้ามาหารือกับผมวันหนึ่งว่า พินิจ พงษ์สวัสดิ์ มีเรื่องแปลเรื่องหนึ่งคือ
บันทึกของเหงียนเกากี ซึ่งเขาตั้งชื่อว่า “สิ้นชาติ”
หนังสือเล่มนี้ พินิจ พงษ์สวัสดิ์ เคยเสนอขายให้ ก.สัมพันธ์ เพื่อเอาไปพิมพ์
แต่ ก.สัมพันธ์ ไม่กล้า เพราะกลัวสภาพทางการเมืองยุคธานินทร์ กรัยวิเชียร
ก็เลยเอามาเสนอแอ็ดวานซ์มีเดีย
ผมกับสุจิตต์ต้องคิดหนัก เพราะสภาพของแอ็ดวานซ์มีเดียเองก็ถูกทางการเพ่งเล็งว่ารับนักหนังสือพิมพ์ที่ถูกทางการปิดไว้เยอะ จนมีข่าวลือในวงการว่าเป็นแหล่งซ่องสุมฝ่ายซ้าย
แต่หนังสือเล่มนี้เย้ายวนมากเพราะเนื้อหามันเหมาะกับเหตุการณ์ในเมืองไทยขณะนั้นเป็นอย่างมาก
เพราะเนื้อหาบรรยากาศเป็นเรื่องของเหงียนวันเทียว ได้พยายามทำลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับเขาทุกวิถีทาง
โดยกล่าวหาคนที่รักชาติแต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการของเขาว่าเป็นคอมมิวนิสต์
จนกระทั่งในที่สุดเหงียนวันเทียวถูกอำนาจครอบงำ และฝ่ายคอมมิวนิสต์เวียดกงได้รับแนวร่วมจากฝ่ายปัญญาชนและฝ่ายหัวก้าวหน้าอย่างมหาศาลจนสามารถขับไล่เหงียนวันเทียวให้ไปอยู่ไต้หวัน
และยาตราทัพเข้ายึดกรุงไซ่ง่อนได้ในที่สุด
มันช่างเหมือนเหตุการณ์ในเมืองไทยเสียจริงๆ ในขณะนั้นเพราะพิษสงของรัฐบาลชุดนั้นเริ่มทำให้คนที่เคยเป็นแนวร่วมของรัฐบาลเมื่อ
6 ตุลาคม 2519 มีหลายฝ่ายที่เริ่มหันมามองตัวเองแล้วครุ่นคิดว่าตัวเองหนุนคนผิดหรือเปล่า
ความเสี่ยงของผมก็มีอยู่ว่าถ้าใครคนหนึ่งในรัฐบาลเกิดลมเสียกับหนังสือเล่มนี้แล้วหาเรื่องปิดบริษัทอะไรจะเกิดขึ้น?
ผมต้องปรึกษาสำนักงานทนายความที่ปรึกษาของบริษัท และสรุปออกมาว่าหนังสือเล่มนี้เป็นพ็อกเก็ตบุ๊ก
ถ้ามีปัญหาหนังสือเล่มนี้ก็จะถูกยึด ผู้แปลจะถูกเล่นงานพร้อมผู้จัดพิมพ์ซึ่งจะมีเจ้าของโรงพิมพ์และผมในฐานะกรรมการผู้จัดการ
ส่วนบริษัทนั้นเป็นนิติบุคคลก็ไม่มีปัญหาอะไร
ผมถามพินิจว่าเขาต้องโดนด้วยนะถ้ามีปัญหา เขาจะว่าอย่างไร?
พินิจบอกว่าเขาไม่กลัว!
ก็ในเมื่อพินิจ พงษ์สวัสดิ์ เป็นพนักงานธนาคารกรุงเทพ มีลูกมีเมียที่จะต้องรับผิดชอบยังไม่กลัว
แล้วผมจะไปกลัวอะไร อีกประการหนึ่ง เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็ทำให้เราไม่มีอะไรจะต้องกลัวมากไปกว่านั้นอีกแล้ว
“สิ้นชาติ” ก็ออกสู่ตลาดในระยะเวลาอันสั้น
และพิมพ์ครั้งแรกก็หมดลงในเวลาไม่ถึง 7 วัน หนังสือพิมพ์ต่างๆ ซึ่งอัดอั้นตันใจมานานแล้วเพราะถูกห้ามไม่ให้พูดถึงรัฐบาลชุดนั้นในแง่เสียหาย
ก็เริ่มบรรเลงกันใหญ่ ตีวัวกระทบคราดโดยด่าเหงียนวันเทียว และยุให้ทุกคนอ่านสิ้นชาติจะได้รู้ว่าชาตินั้นสิ้นอย่างไร?
ยอดพิมพ์ทั้งหมด 80,000 ฉบับ
ทำลายสถิติพ็อกเก็ตบุ๊กทั้งหมดตั้งแต่ประเทศไทยเคยมีมา
เฉพาะค่าเรื่องอย่างเดียวที่พินิจได้รับตกประมาณ 200,000 บาท
และหนังสือสิ้นชาติก็เป็นแรงดลใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยมีการโค่นล้มรัฐบาลชุดธานินทร์
กรัยวิเชียร ในที่สุด เพราะ “สิ้นชาติ” อ่านกันในหมู่กลุ่มทหารกุมกำลังทั้งหมด
และเป็นหัวข้อการสนทนากันในหมู่คนถือปืน
แอ็ดวานซ์มีเดียก็ได้ผลพลอยได้เหมือนกัน นั่นคือ กำไรจากสิ้นชาติประมาณเกือบ
1 ล้านบาท
แต่ถ้ามองในแง่มุมกลับ ถ้าหนังสือเล่มนี้ถูกสั่งเก็บและผู้จัดพิมพ์ถูกเล่นงาน
สถานภาพผมก็คงจะไม่ดีเท่าไรนักเพราะ...
ในช่วงนั้น สุธี นพคุณ เข้ามาบอกผมว่าบริษัทแอ็ดวานซ์มีเดียถูกทางการเพ่งเล็งมากว่าเป็นแหล่งซ่องสุมฝ่ายซ้าย
และเขาอยากจะให้คนที่ผมรับเข้ามาช่วยงานออกไปเสีย คนเหล่านั้นก็มีเช่น สุจิตต์
วงษ์เทศ เธียรชัย ลาภานันท์ และอีกหลายคน
ผมก็ได้แต่รับฟังเพราะผมไม่เชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น จากอดีตที่ผมเคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย
ทำให้ผมเองก็มีแหล่งข่าวในสันติบาล และในกรมประมวลข่าวกลางเหมือนกัน ซึ่งผมตรวจสอบดูแล้ว
กลับเป็นว่าทางการสงสัยว่าบุญชูซึ่งมีลูกน้องชื่อพรตั้งบริษัทแอ็ดวานซ์มีเดียขึ้นมา
เป็นแหล่งรับฝ่ายซ้ายเข้ามาทำงานเพื่อเตรียมตัวทำงานด้านข่าวสารที่จะล้มล้างรัฐบาลชุดธานินทร์
ผมเพิ่งจะมีความรู้สึกตอนนั้นเองว่าบ้านเรามีคนบ้ามากกว่าคนดี!
แต่ก็จะไปตำหนิเขาไม่ได้เพราะคนเราถ้าใหญ่ขึ้นมาด้วยการทำลายคนอื่นแล้ว
ชั่วชีวิตก็จะอยู่ได้ด้วยความระแวงและความหวาดกลัวว่าคนอื่นจะจ้องทำลายตัวเองอยู่
มันเป็นกฎแห่งกรรมที่พิสูจน์มาตั้งแต่สมัยโบราณกาลนานแล้ว
ผมเอาเรื่องนี้ไปเล่าให้คุณบุญชูฟังที่ธนาคารเพราะมันเป็นเรื่องที่พาดพิงไปถึงตัวเขา
คุณบุญชูก็ไม่ได้พูดอะไรไปมากกว่าว่า “มันจะบ้ากันไปใหญ่แล้ว”
คุณบุญชูก็ยังแนะนำว่าพวกนั้น (พวกสุจิตต์ วงษ์เทศ) ไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่มีความจำเป็นจะต้องให้ออก
แต่ผมก็เกริ่นๆ เรื่องนี้ให้ทุกคนรู้ ปรากฏว่า สุจิตต์ วงษ์เทศ ก็ขอลาออก
เพื่อให้ผมสบายใจ โดยขอไปรับงานที่บ้านเป็นเล่มแทนกินเงินเดือน ส่วน เธียรชัย
ลาภานันท์ กับพวก ซึ่งขณะนั้นรับผิดชอบด้านบทความและสารคดีป้อนให้กับหนังสือทุกฉบับของแอ็ดวานซ์มีเดีย
ก็ยกพวกออกไปรับจ้างแอ็ดวานซ์มีเดียทำงานโดยตั้งเป็นสำนักพิมพ์เทียนทองขึ้นมา
จากการที่สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ออกไปทำให้แผนงานด้านพ็อกเก็ตบุ๊กต้องชะงักไปบ้าง
แต่ที่สำคัญที่สุด คือการขาดมันสมองในการกลั่นกรองเรื่องและการวางแผนในระยะสั้นและยาว
ทั้งๆ ที่ขณะนั้นโครงการพ็อกเก็ตบุ๊กกำลังเริ่มไปได้ดี เราผลิตหนังสือดีๆ
ออกไปมาก เช่น “โชกุน” แปลโดย ธนิต ธรรมสุคติ กวี “ชักม้าชมเมือง” โดย เนาวรัตน์
พงษ์ไพบูลย์ “บันทึกรักเพชรา เชาวราษฎร์” โดย ศิลา ยิ่งสุขวัฒนา ซึ่งเป็น
Autobiography เรื่องแรกของไทยที่ทำ และได้มีโครงการทำอีกหลายคน เพียงแต่ว่าศิลาด่วนจากโลกไปเสียก่อน
“ล่าตำรวจ” นิยายสมัยใหม่ โดย ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์