ความจริงธุรกิจธนาคารที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โครงสร้างของผู้ถือหุ้นมีส่วนอยู่กว่าครึ่ง
ที่ทำให้เกิดปัญหาผูกขาด และการสร้างชนชั้นอภิสิทธิ์โดยอิทธิพลของเงินตราขึ้นมา
การกระจายรายได้และความมั่งมีที่รัฐบาลและประเทศพยายามจะทำในสองทศวรรษที่ผ่านมากระทำไม่ได้ผลเท่าใดนัก
เพราะโครงสร้างของผู้ถือหุ้นในกลุ่มธนาคารซึ่งเมื่อนับดูแล้วจะวนเวียนกันไปมาในไม่กี่ตระกูลนี้เอง
การเจริญของสังคมธุรกิจซึ่งจะนำไปสู้การกระจายรายได้ให้กว้างขึ้นนั้นจะต้องมีกลุ่มผู้ประกอบการ
(ENTREPRENEURS) มากขึ้นกว่าปัจจุบันนี้มาก แต่การที่โครงสร้างของผู้ถือหุ้นในสถาบันการเงินยังไม่ได้ออกสู่มหาชนอย่างแท้จริงแล้วการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการก็จะลำบาก
ถึงแม้ธนาคารกรุงเทพหรือธนาคารกสิกรไทย หรือธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือธนาคารแหลมทอง
ฯลฯ จะมีผู้ถือหุ้นเป็นพันเป็นหมื่นคนแต่เมื่อมาดูเนื้อแท้ของผู้ถือหุ้นแล้วก็จะเห็นว่ายังคงอยู่ในมือของกลุ่มตระกูลผู้ก่อตั้งทั้งสิ้น
ซึ่งแน่นอนที่สุดไม่มีตระกูลไหนที่จะทำอาชีพธนาคารเพียงอย่างเดียว ฐานทางธุรกิจส่วนตัวหรือของวงศาคณาญาติและมิตรสหายก็ถูกขยายไปตามสิทธิและอำนาจของการเป็นผู้บริหารธนาคาร
โดยเอาเงินประชาชนเข้ามาเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความร่ำรวยและจากการกุมอำนาจเช่นนี้ไว้เป็นเวลาเกือบสามทศวรรษ ก็ย่อมทำให้กิจการธนาคาร โดยเฉพาะในด้านการให้สินเชื่อระดับเล็กและกลางซึ่งเป็นระดับเริ่มต้นของธุรกิจที่เกิดขึ้นโดยผู้ประกอบการยังคงอนุรักษนิยมอยู่เหมือนเดิม
ข้ออ้างของคนพวกนี้ ก็จะออกมาในรูปที่ว่าการปล่อยสินเชื่อให้กับอะไรที่ไม่แน่นอนคือ
การไม่รักษาผลประโยชน์ของประชาชน พร้อมกับเอาตัวเลขหนี้สูญออกมาแสดงให้ดู
แต่ตัวเลขเหล่านั้นกลับเป็นภาพลวงตา เพราะบรรดาบริษัทในเครือญาติทั้งหลายถึงจะขาดทุน แต่จะไม่เป็นหนี้สูญเพราะยังมีเงินที่สามารถจะถมลงไปได้อีกมากเพื่อรอจังหวะฟื้นตัว
แต่ถ้าธุรกิจของผู้ประกอบการเกิดติดขัดก็เป็นอันเชื่อได้ว่า การขอเงินมาถมเพิ่มเติมคงจะยากเย็นยิ่งกว่าการเชิญอบ วสุรัตน์ มากินข้าวตัวต่อตัวกับสมหมาย ฮุนตระกูล
เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ เคยเขียนหนังสือเล่มหนึ่งถึงตระกูลและธุรกิจผูกขาดในประเทศไทย
เมื่อมาอ่านแล้วจะเห็นสายโยงซึ่งพอจะพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าเป็นจริง
แม้แต่การสมรสกันระหว่างบุตรหลานของแต่ละตระกูลก็ยังต้องอยู่ในเหล่าและกอของกลุ่ม
ในต่างประเทศเรามักจะเห็นชื่อเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่เศรษฐีใหม่เหล่านี้กลับไม่ใช่คนที่หลอกลวงเอาเงินประชาชนมาใช้
แต่พวกเขาเกิดขึ้นเพราะความสามารถในการประกอบการ (ENTREPRENEURSHIP) เขาอาจจะเป็นอัจฉริยะทางคอมพิวเตอร์ที่คิดเครื่องขึ้นมา
หรือเป็นผู้ที่มีความสามารถในเรื่องการค้าและพัฒนาที่ดิน (REAL ESTATE
DEVELOPER)
หรืออาจจะเป็นคนที่สามารถจัดระบบการขนส่งได้ดี ฯลฯ
คนต่างๆ เหล่านี้เป็นคนมีความคิดแต่ไม่มีเงิน
แต่ระบบสังคมและระบบการเงินของเขาเอื้ออำนวยและส่งเสริมให้คนมีความคิดได้ประกอบการได้
ทศวรรษนี้กับเมื่อทศวรรษที่แล้วตระกูลเช่น ร็อกกี้ เฟลเลอร์ หรือฟอร์ด
หรือดูปองต์ หรือรอชไชลด์ แตกต่างกันมาก
ตระกูลเหล่านี้ไม่ได้จนลงมากมายนัก แต่ตระกูลเหล่านี้หาได้ขยายตัวเองไปจนครอบคลุมเศรษฐกิจทั้งหมดได้ทั้งนี้เพราะกฎหมายและกติกาของการสร้างเนื้อสร้างตัวของต่างประเทศเขายุติธรรมตั้งแต่ภาษีมรดกที่เข้มงวด เพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบกันในการแข่งขันระหว่างลูกนายฟอร์ดที่พ่อแม่ทำทิ้งไว้ให้กับลูกนายอะไรก็ได้ที่พ่ออาจจะเป็นกรรมกรโรงงานถลุงเหล็ก
สำหรับบ้านเราแล้วจะกี่ทศวรรษก็ตามใน 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา เราจะเห็นการขยายตัวของแต่ละตระกูลมากขึ้นเป็นทวีคูณ
และก็จะมีกลุ่มตรงกลางเพิ่มมากขึ้นแต่กลุ่มนี้แทนที่ส่วนหนึ่งจะเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่แล้วกลับเป็นลูกจ้างมืออาชีพไปเสีย
และพวกนี้มีอาชีพรับจ้างกลุ่มตระกูลไม่กี่ตระกูลในนี้
ภาพลวงตานี่คือกลุ่มชนชั้นกลางที่รัฐบาลพากันภูมิใจว่า กำลังเพิ่มขึ้นทำให้เสถียรภาพทางสังคมแข็งขึ้นถ้ามีกลุ่มนี้อยู่มากๆ
แต่เราลืมนึกไปอย่างหนึ่งว่า เสถียรภาพทางสังคมนี้ น่าจะเป็นเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าที่จะทำให้สังคมแข็งแรงจริงๆ
และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจจะเป็นฐานที่สำคัญของเสถียรภาพทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
เพราะถ้าเรามุ่งสร้างแต่ชนชั้นกลางขึ้นโดยละเลยการสร้างฐานผู้ประกอบการ
ในที่สุดแล้วเราก็จะมีแต่กลุ่มตระกูลซึ่งยึดครองอำนาจเศรษฐกิจและเป็นนายจ้างเพียงไม่กี่รายของชนชั้นกลางของเรา
ภาพนี้กลับจะเป็นอันตรายต่อสังคมเรามากในระยะยาว
แต่ถ้าเราสามารถสร้างผู้ประกอบการขึ้นมามากๆ ฐานทางชนชั้นกลางของเราก็จะขยายตัวได้มากขึ้นเป็นหลายสิบเท่า
และภาวะการผูกขาดทางเศรษฐกิจจะน้อยลงอย่างทันตาเห็น
การเกิดของบริษัทเงินทุนทั้งหลายอย่างมากมายนั้นถ้าจะมองกันให้ลึกลงไปแล้วเป็นการหาทางออกของผู้คนที่ไม่มีฐานทางการเงินโดยไม่ได้อยู่ในกลุ่มตระกูลเหล่านั้น
ฉะนั้นบริษัทเงินทุนที่ตั้งขึ้นมาเพื่อระดมเงินประชาชนมาใช้ในการลงทุนของตัวเองจึงขึ้นมาราวกับดอกเห็ด
ในช่วงปี 2520 หลังจากที่ต้องอดทนอดกลั้นกับการติดต่อสถาบันการเงิน เช่น
ธนาคารมานานแล้ว
และในบรรดาบริษัทเงินทุนต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาก็มีอยู่ไม่มากที่ทำเป็นสถาบันการเงินอย่างมืออาชีพจริงๆ
ที่เหลือก็เป็นการลงทุนในกิจการตัวเองหรือของญาติพี่น้อง
พวกนี้ไม่ผิด เพราะพวกนี้ก็คือผู้ประกอบการส่วนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จมาแล้วจากการทำธุรกิจอยากจะทำใหญ่ขึ้นแต่ติดขัดเรื่องเงินทุน
พวกนี้อาจจะมีเครดิตสัก 20-30 ล้านแต่จะเอาเงินไปทำธุรกิจเช่น พัฒนาที่ดิน
ซึ่งต้องใช้เงินสัก 50-100 ล้านนั้น จากธนาคารคงจะไม่ได้ บริษัทเงินทุนคือทางออก
และประจักษ์พยานอีกประการหนึ่งซึ่งเห็นได้ชัดว่า แม้แต่บริษัทเงินทุนถ้าเกี่ยวพันหรือมีสายสัมพันธ์กับธนาคารแล้วก็จะเป็นบริษัทเงินทุนที่ใหญ่แห่งหนึ่ง
และจาก 10 อันดับบริษัทเงินทุนที่ใหญ่ที่สุด ในประเทศนั้นทั้ง 10 อันดับก็ต่างมีความสัมพันธ์กับธนาคารทั้งสิ้น
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว นิสิตนักศึกษาและคนหนุ่มคนสาวพากันเรียกร้องให้รัฐยึดธนาคารเพราะเหตุผลเดียวกันกับบทความนี้
แต่นิสิตนักศึกษาเหล่านั้นกลับถูกกล่าวหาว่า เป็นคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
จากกลุ่มนายทหารต่างๆ
พอมาถึงเดือน เมษายน 2524 กลุ่มยังเติร์กเอง ซึ่งเป็นทหารกลับเรียกร้องให้ยึดธนาคารเสียเอง
2525 พลโทหาญ ลีนานนท์ อภิปรายถึงปัญหาการผูกขาดของธนาคารและเรียกร้องให้ยึดธนาคาร
พลโทชวลิต ยงใจยุทธ ถึงแม้จะมาในเสียงที่นุ่มกว่าพลโทหาญ ในการให้สัมภาษณ์ แต่กับคนใกล้ชิดพลโทชวลิตก็ไม่ได้มีความเห็นต่างกับพลโทหาญเท่าใดนัก
พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ในการพูดเรื่องเศรษฐกิจในงานครบรอบหนึ่งปีของหนังสือผู้นำก็พูดตักเตือนธนาคารโดยผ่านคำว่าขอร้องออกไป
สำหรับสาธารณชนแล้วความรู้สึกที่มีต่อธนาคารใน 2527 กับเมื่อ 10 ปีที่แล้วต่างกันมาก
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ความรู้สึกของสาธารณชนที่มีต่อบทบาทของธนาคารยังเป็นกลางอยู่มาก อาจจะเป็นเพราะบทบาทเศรษฐกิจของไทยเมื่อ 10 ปีก่อน ยังไม่มากพอที่จะให้คนไทยได้เห็นบทบาทของสถาบันการเงินในปัจจุบัน
ทุกวันนี้ถ้าถามนักธุรกิจที่จะได้คำตอบว่า “ทำงานให้แบงก์ ส่งแต่ดอกเบี้ย”
สำหรับนักธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง แล้วแทบจะไม่มีภาพลักษณ์บวกเลยกับธนาคาร
บางรายถึงกับผรุสวาทเอาอย่างหยาบๆ คายๆ
สำหรับประชาชนทั่วไปความรู้สึกเปลี่ยนจากความเป็นกลางมาเป็นความรู้สึกว่า
ธนาคารเป็นผู้กุมเศรษฐกิจ (ซึ่งก็ไม่ไกลความจริงไปเท่าใดนัก) ไปจนถึงการสูบเลือดประชาชนโดยระบบธนาคาร
แม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังเองก็เริ่มจะเอาจริงกับการกระจายหุ้นของกลุ่มตระกูลต่างๆ ของธนาคาร (บางกระแสข่าวมองลึกไปว่า เป็นการคุมไม่ให้พวกโสภณพนิชมีอำนาจมากเกินไป
เพราะธนาคารกรุงเทพใหญ่จนเกินไปและมีผลต่อประเทศชาติมาก) อย่างเช่นธนาคารกรุงเทพเองก็เริ่มรู้สึกและพยายามแก้ภาพลักษณ์จากธนาคารซึ่งเกี่ยวพันกับการเมืองมาตลอด
(ตั้งแต่พลเอกเผ่า ศรียานนท์ มาจอมพลประภาส จารุเสถียร มาถึงบุญชู โรจนเสถียร)
โดยเอาอำนวย วีรวรรณ เข้ามาบริหาร
แต่ในสายตาของสีเขียวและกลุ่มเก่าทางศักดินาก็ยังคงมองธนาคารกรุงเทพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ชาตรี โสภณพนิช อย่างระวังตัวพอสมควร อาจจะเป็นภาพลักษณ์ของชาตรีเอง ตั้งแต่การที่กุมบังเหียนธนาคารที่มีอิทธิพลต่อชาติมากที่สุด แต่พูดไทยไม่ชัด ว่ามีส่วนเป็นคนจีนมากกว่าคนไทย
ยิ่งชาตรีขยายตัวด้านฐานการเงินเช่น สินเอเซีย และร่วมเสริมกิจ ยังไม่นับกิจการอีก 108 พันประการ ของเขาและเพื่อนสนิทมิตรสหาย เช่น เครือศรีกรุงวัฒนา ฯลฯ ก็ยิ่งทำให้หน่วยข่าวกรองของทหารต้องติดตามความเคลื่อนไหวของเขาตลอด
ในช่วงปฏิวัติของเดือนเมษายนของกลุ่มยังเติร์กก็ยังมีการพูดถึงวิธีแก้ปัญหาของเศรษฐกิจ
โดยการกำจัดคนที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจชุดหนึ่ง และชื่อหนึ่งในตอนต้นชื่อก็มีชื่อของชาตรี
โสภณพนิช อยู่ด้วย
ถึงแม้ชาตรีจะพยายามส่งสว่าง เลาหไทย แห่งเครือศรีกรุงวัฒนาเข้าหา
พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ตลอดเวลาจนเป็นที่รู้จักกันทั่วๆ ไป แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า
ภาพลักษณ์ของชาตรีจะดีขึ้น เพราะการมองชาตรีในสายตาที่สงสัยนั้นกลับมาจากระดับกุมกำลังเสียมากกว่า
และระดับพวกนี้บางครั้งนิยมแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่เด็ดขาด
อำนวย วีรวรรณ เองก็ทราบดีว่า ปัญหาของธนาคารกรุงเทพในแง่ภาพลักษณ์อยู่ที่ใด
และอำนวยก็พยายามที่จะนำธนาคารให้เป็นธนาคารของมหาชน แม้กระทั่งการประกาศขยายกิจการในเครือธนาคารเสียให้หมดเพื่อตัดทอนข้อครหานินทาว่าธนาคารไปทำธุรกิจอื่นๆ ด้วย
แต่ข้อเท็จจริงก็ยังคงอยู่ว่า การตัดสินใจที่แท้จริงในธนาคารกรุงเทพก็คือ
ชาตรี โสภณพนิช นั่นเองและก็คงต้องเป็นตัวชาตรีเองซึ่งจะต้องเป็นผู้เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของตน
กระแสคลื่นต่อต้านกลุ่มตระกูลใหญ่ๆ ที่ฝังตัวเองในระบบธนาคารนั้นได้เริ่มก่อตั้งมาอย่างช้าๆ บางคลื่นก็มองเห็นแต่บางคลื่นก็เป็นคลื่นใต้น้ำ
เมฆหมอกของพายุก็เริ่มจะตั้งเค้าขึ้นมาบ้างแล้ว เสียงเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงกันจริงๆ กลับไม่ได้มาจากกระทรวงการคลังหรือธนาคารชาติ แต่กลับมาจากกลุ่มทหารหนุ่มๆ ที่กุมกำลังและความคิดนี้ก็เริ่มมาหลายปีแล้ว ทหารหนุ่มเหล่านั้นก็มีทหารหนุ่มใหม่เข้ามาแทนและทหารหนุ่มใหม่พวกนั้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน
ส่วนหนึ่งก็เป็นคนหนุ่มในยุคการเปลี่ยนแปลงเมื่อ 14 ตุลาคม
ในบรรดากลุ่ม THINK TANK ของทหารกลุ่มต่างๆ พากันไม่ปฏิเสธว่า บทบาทของตระกูลต่างๆ ในธนาคารนั้นเป็นบทบาทที่มีลักษณะเป็นดาบสองคม ถ้าใช้ให้ดีแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติมาก
แต่ถ้าไม่ระวังแล้วคมอีกด้านจะบาดประเทศชาติและเป็นแผลเป็นให้เห็นไปตลอดกาล
ปลายทศวรรษนี้กับทศวรรษหน้าจะเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ที่น่าจับตาดูอยู่อย่างใกล้ชิดว่า
ดาบสองคมนี้จะถูกใช้ไปในรูปแบบใด?