ฟิลิปส์ ชูคีย์ซัคเซส ครีเอตแวลูด้วยการลอนช์สินค้ารุ่นใหม่ที่มีมูลค่าสูงขึ้น ล่าสุดส่ง แอลอีดีทีวี รุกตลาดพรีเมียมทีวี เจาะตลาดกลางขึ้นบน พร้อมอัปเกรดไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคให้เปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีที่ดีขึ้น เพื่อสร้างมูลค่ายอดขาย
สภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้พฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยมีการจับจ่ายน้อยลง เนื่องจากไม่มั่นใจรายได้ในอนาคต อีกทั้งยังเลือกมากขึ้น มีการหาข้อมูลสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อเพื่อเปรียบเทียบแบรนด์ต่างๆ โดยเฉพาะฐานล่างของพีระมิดที่เน้นราคามากกว่า และยังเป็นกลุ่มที่มีการสวิตชิ่งแบรนด์ได้ง่ายกว่ากลุ่มกลางพีระมิดและกลุ่มยอดของพีระมิด ซึ่ง 2 กลุ่มดังกล่าวจะเน้นเรื่องเหตุผลในการตัดสินใจซื้อมากกว่าเรื่องของราคา และเป็นกลุ่มที่ฟิลิปส์มุ่งเจาะตลาดมากกว่าฐานล่างของพีระมิด
นอกจากนี้กลุ่มลูกค้าระดับกลางและระดับยอดพีระมิด ยังเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ขึ้นอยู่กับว่าแบรนด์ใดจะสามารถทำให้ลูกค้าเหล่านี้ยอมควักเงินซื้อสินค้า นำไปสู่วิสัยทัศน์ของฟิลิปส์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าสูงขึ้นเพื่อเพิ่มมาร์จิ้นและเป็นการชดเชยกับปริมาณการซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง นอกจากนี้ ฟิลิปส์ยังใช้กลยุทธ์ Conversion เพื่ออัปเกรดให้ผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีขึ้น ซึ่งหมายถึงมูลค่าที่สูงขึ้นด้วย
ในปีที่ผ่านมาฟิลิปส์มีการลอนช์แอลซีดีทีวีรุ่นใหม่คือ Philips Cinema 21:9 โดยชูฟังก์ชั่นในการชมภาพยนตร์ซึ่งเป็นจุดขายของพลาสม่าทีวีมาโดยตลอด นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยี Perfect Pixel HD Engine 2009 ประมวลสัญญาณภาพได้ 500 ล้านจุดภาพต่อวินาทีและให้สีสันมากถึง 2,250 ล้านล้านสี จอภาพขนาด 2560x1080p Full HD 8.3 ล้านพิกเซล ซึ่งสูงกว่า Full HD TV ทั่วไปที่มีความละเอียดขอจอภาพอยู่ที่ 2 ล้านพิกเซล หรือ 1090x1080p พร้อมด้วยระบบ 200 Hz Clear LCD TV เพิ่มความละเอียดและความคมชัดให้กับภาพเคลื่อนไหว ด้วยค่าการตอบสนองภาพ (Response Time) เพียง 1 มิลลิวินาที ระบบ Perfect Contrast ยังช่วยเพิ่มระดับความแตกต่างระหว่างส่วนมืดและสว่างได้ในอัตราส่วนถึง 80,000:1
นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติในการเป็นอินเทอร์เน็ตทีวี ตลอดจนเทคโนโลยี Ambilight Spectra ลิขสิทธิ์เฉพาะฟิลิปส์ โดยระบบ Ambilight จะส่องแสงจากหลอดไฟ LED ออกรอบข้างโทรทัศน์ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านบน ด้านล่าง และด้านข้าง เพื่อสร้างบรรยากาศให้ผู้ชมเสมือนเข้าไปอยู่ในภาพยนตร์ที่กำลังรับชมอยู่ นอกจากนี้ สีและความเข้มของแสงจะปรับเปลี่ยนไปตามภาพยนตร์
ทั้งนี้ ฟิลิปส์ ซีนีม่า แอลซีดีทีวี จะมีราคา 299,990 บาท ที่ขนาดหน้าจอ 56 นิ้ว ซึ่งแพงกว่าพลาสม่าทีวีรุ่นล่าสุดของซัมซุง ซึ่งขนาด 63 นิ้ว มีราคา 229,990 บาท ดังนั้น ฟิลิปส์จึงมีการทำโปรโมชั่นโดยการเปิดตัว ฟิลิปส์ ซีนีม่า แอลซีดีทีวี ในงาน Power Mall Electronica Showcase ได้มอบสิทธิพิเศษให้กับลูกค้า 20 รายแรกซึ่งจะได้รับชุดโฮมเธียเตอร์ Soundbar เทคโนโลยี Ambisound รุ่น HTS8140 มูลค่า 29,000 บาท เครื่องเล่น Blu-ray Disc รุ่น BDP7200 มูลค่า 27,990 บาท และบัตรสมาชิกสำหรับห้องพักจากโรงแรมในเครือเซ็นทารามูลค่า 30,000 บาท เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อแอลซีดีทีวีสำหรับการชมภาพยนตร์แทนการใช้พลาสม่าทีวี
ล่าสุดฟิลิปส์ลอนช์ แฟลตพาแนล เทคโนโลยีใหม่คือ แอลอีดีทีวี 3 รุ่น ใหม่ ในขนาด 40, 46 และ 52 นิ้ว ที่มาพร้อมกับจอภาพเทคโนโลยี LED backlighting ให้ความคมชัดของภาพระดับ High Definition นอกจากนี้ยังมีระบบ 200 Hz Clear LCD TV ที่ช่วยเพิ่มความคมชัดให้กับภาพเคลื่อนไหว ตลอดจนคุณสมบัติในการเป็นอินเทอร์เน็ตทีวี ซึ่งทำให้สามารถใช้งานออนไลน์ได้ และยังสามารถเลือกการต่อเชื่อมกับอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยช่องต่อแบบ HDMI 5 ช่อง ทำให้สามารถเชื่อมต่อในระบบ DLNA และ Wi-Fi
โดยราคา Philips LED TV รุ่น 40PFL9704H อยู่ที่ 94,990 บาท, รุ่น 46PFL9704H ราคา 119,990 บาท และ Philips 52PFL9704H ราคา 159,990 บาท ในขณะที่ซัมซุงซึ่งเป็นผู้บุกเบิกตลาดแอลอีดีทีวีในเมืองไทยมีราคาเริ่มต้นที่ 79,990 บาท ที่ขนาดหน้าจอ 40 นิ้ว แพงสุดที่ 174,990 บาท ที่ขนาดหน้าจอ 50 นิ้ว ส่วนแอลจี ลอนช์ แฟลตพาแนลซีรีส์ใหม่ LG Live) BORDERLESS ซึ่งรวมแอลซีดีทีวี และแอลอีดีทีวี เข้าเป็นเซกเมนต์เดียวกัน โดยชูดีไซน์ขอบจอหนา 3 เซนติเมตร พร้อมฟังก์ชั่นในการเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือผ่านบลูทูธ สามารถชมภาพและเสียงเพลงจากโทรศัพท์มือถือบนหน้าจอ โดยมีราคาสูงสุดที่ 109,990 บาท
ทั้งนี้ สมรภูมิรบแฟลตพาแนลทีวีในยุคแรก ผู้ผลิตพลาสม่าทีวีและแอลซีดีทีวีต่างเคลมตัวเองว่ามีเทคโนโลยีและคุณภาพที่เหนือกว่า แต่ในเชิงของการแข่งขันไม่ได้ฟาดฟันกันอย่างเต็มที่ เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของเทคโนโลยีที่ทำให้แอลซีดีทีวีไม่สามารถทำขนาดจอให้ใหญ่ได้ ตลาดจึงแยกออกจากกัน โดยจอที่ต่ำกว่า 37 นิ้วจะนิยมใช้แอลซีดีทีวี ส่วนจอที่มีขนาดเกิน 37 นิ้วก็จะเป็นของพลาสม่าทีวี แต่เนื่องจากแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคนิยมทีวีที่มีจอขนาดใหญ่มากขึ้น ทำให้แอลซีดีทีวีพยายามพัฒนาตัวเองจนมีขนาดใหญ่ขึ้นมา ปัจจุบันแอลซีดีทีวีสามารถทำขนาดให้ใหญ่ได้มากกว่า 50 นิ้ว ซึ่งเป็นขนาดที่ใหญ่พอที่จะสู้กับพลาสม่าทีวี ทว่าก็ยังไม่ใหญ่ที่สุดเท่าที่พลาสม่าทีวีทำได้ ซึ่งปัจจุบันพานาโซนิคมีพลาสม่าทีวีขนาด 103 นิ้ว
เส้นแบ่งของตลาดพลาสม่าทีวีและแอลซีดีทีวีจึงขยับขึ้นมาอยู่ที่หน้าจอขนาด 50 นิ้ว โดยค่ายผู้ผลิตแอลซีดีทีวีพยายามที่จะตอกย้ำในเรื่องการประหยัดพลังงานของแอลซีดีทีวีที่มีเหนือพลาสม่าทีวี รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดจุดด้อยในเรื่องโมชั่นพิกเจอร์หรือการให้รายละเอียดภาพเคลื่อนไหวที่คมชัดมากขึ้น ในขณะที่ผู้ผลิตพลาสม่าทีวีก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลบจุดอ่อนในเรื่องของหน้าจอที่สะท้อนแสงทำให้รบกวนการดู ควบคู่ไปกับความพยายามในการพัฒนาจอพลาสม่าให้ใหญ่ขึ้นเพื่อหนีแอลซีดีทีวี
ทว่าในขณะนั้นพลาสม่าทีวียังไม่สามารถใช้งานร่วมกับคอมพิวเตอร์ได้ ส่งผลให้ตลาดแอลซีดีทีวีได้รับการยอมรับมากขึ้น แม้ในช่วงแรกจะมีระดับราคาแพงกว่าพลาสม่าทีวี 2-3 เท่าตัว แต่เมื่อผู้ผลิตแอลซีดีทีวีสามารถสร้างอีโคโนมีออฟสเกลได้ ก็ส่งผลให้ราคาแอลซีดีทีวีมีความแตกต่างจากพลาสม่าทีวีไม่กี่หมื่นบาท หรือบางรุ่นอาจจะมีราคาไม่แตกต่างกัน แนวโน้มดังกล่าวทำให้หลายแบรนด์หันมารุกตลาดแอลซีดีทีวีมากขึ้น
แม้กระทั่งเจ้าแห่งเทคโนโลยีพลาสม่าอย่างพานาโซนิคยังต้องหันมาผลิตแอลซีดีทีวีควบคู่ไปกับการทำตลาดพลาสม่าทีวี ขณะที่ไพโอเนียร์ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในผู้พัฒนาเทคโนโลยีพลาสม่าทีวีก็มิอาจต้านทานกระแสแอลซีดีทีวีได้ ส่งผลให้บริษัทต้องปิดโรงงานผลิตพาแนลเพื่อลดต้นทุนการผลิตพลาสม่าทีวี โดยหันไปซื้อพาแนลจากผู้ผลิตรายอื่น ซึ่งทำให้ภาพความเป็นผู้นำเทคโนโลยีพลาสม่าทีวีที่ได้ชื่อว่าให้รายละเอียดของโทนสีดำได้ชัดเจนที่สุดต้องหมดไป
อย่างไรก็ดี ตลาดพลาสม่าทีวียังสามารถประคองตัวอยู่ได้ เพราะนอกจากค่ายญี่ปุ่นแล้ว ก็ยังมีค่ายเกาหลีทั้งซัมซุง และแอลจี ที่ต่างก็ทำตลาดดังกล่าวด้วย ส่งผลให้มีการกระตุ้นตลาดเป็นระยะ เช่น ซัมซุง ร่วมมือกับ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จัดกิจกรรมดูหนังมาราธอนเพื่อโปรโมตพลาสม่าทีวีและสร้างการรับรู้ไปสู่กลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชอบการชมภาพยนตร์ โดยพยายามสร้างบรรยากาศในการชมพลาสม่าทีวีที่บ้านให้ได้รับอรรถรสเหมือนการชมภาพยนตร์ในโรง ซึ่งผู้แข่งขันนอกจากจะต้องดูหนังมาราธอนในโรงแล้ว ยังมีช่วงหนึ่งของการแข่งขันที่ให้ผู้สมัครได้สัมผัสกับประสบการณ์ในการรับชมภาพยนตร์ผ่านพลาสม่าทีวี 63 นิ้วของซัมซุง ณ Samsung Relax Zone
ทว่าจุดเด่นที่พลาสม่าทีวีเคยมีเหนือแอลซีดีทีวีกำลังจะหมดไป หลังจากการลอนช์ ฟิลิปส์ ซีนีม่า แอลซีดีทีวีที่ให้อรรถรสในการชมภาพยนตร์ที่สมจริงกว่า เหลือเพียงรอว่าเมื่อไรแอลซีดีทีวีซีนีม่าจะมีราคาถูกลงมาเท่านั้น อย่างไรก็ดี สมรภูมิแฟลตพาแนลทีวียังคงไม่สิ้นสุด เมื่อแอลซีดีทีวีกลายเป็นตลาดแมส ก็มีการโปรโมตแอลซีดีทีวี ฟูลเอชดีเพื่อสร้างมูลค่าให้ตลาดและเป็นการอัปเกรดไลฟ์สไตล์ให้กับผู้บริโภค แม้แนวโน้มแอลซีดีทีวีดูเหมือนจะกินขาดเทคโนโลยีพลาสม่าแล้วก็ตาม แต่ก็ถูกไล่ล่าด้วยแอลอีดีทีวี ที่เป็นเทคโนโลยีที่รวมจุดเด่นของพลาสม่าและแอลซีดีทีวีเข้าด้วยกัน อีกทั้งยังตอบโจทย์ในการเป็นสินค้าประหยัดพลังงาน เหลือเพียงแค่ระดับราคาที่ยังคงสูงอยู่
ทั้งนี้ แอลอีดีทีวีจะประหยัดไฟกว่าแอลซีดีทีวีทั่วไปอยู่ 40% ในขณะที่มีระดับราคาเฉลี่ยอยู่ที่หลักแสนบาท ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าให้กับตลาดทีวี ทั้งนี้หากเทียบราคา แอลอีดีทีวี กับแอลซีดีทีวีที่เป็นไฮเอนด์หรือระดับ Full HD แล้ว แอลอีดีทีวีจะมีราคาแพงกว่า 15% แต่ถ้าเทียบกับ แอลซีดีทีวี ธรรมดาแล้ว แอลอีดีทีวี จะมีราคาแพงกว่า 2 เท่าตัว
|